fbpx
เทรนด์ใส่นาฬิกาหรู : ความเข้าใจในศิลปะหรือภาวะอวดรวย (ให้คนจนดู)

เทรนด์ใส่นาฬิกาหรู : ความเข้าใจในศิลปะหรือภาวะอวดรวย (ให้คนจนดู)

ข่าวคนใหญ่คนโตใส่นาฬิกาแพงๆ โดยไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินทำให้ผมนึกถึง ‘ศิลปะ’ ของการประกอบนาฬิกาประเภทกลไกเหล่านี้

 

หลายคนสงสัยว่า นาฬิกาพวกนี้ยังมีฟังก์ชั่นในโลกสมัยใหม่อยู่อีกหรือ เมื่อไม่นานมานี้ Forbes ก็เคยมีบทความตั้งคำถาม (ดูทีี่นี่)  ว่าการใส่นาฬิกาแพงๆ พวกนี้ เป็นเรื่องที่ ‘มีเหตุผล’ หรือเปล่า

ถ้าดูจากหน้าที่การใช้งานของนาฬิกาพวกนี้ ต้องบอกว่ามันก็ใช้ดูเวลานี่แหละ แล้วนาฬิกาที่เอาไว้ดูเวลา (เฉยๆ) ทำไมต้องราคาแพงถึงขนาดนั้นด้วย เดี๋ยวนี้เราใช้ดูเวลาจากมือถือก็ได้ แถมมือถือยังตรงกว่าด้วยซ้ำ เพราะเวลามาจากบริษัทผู้ให้บริการที่มีการตั้งกันอยู่ตลอดเวลาตรงกันทั่วบ้านทั่วเมืองไม่มีผิดเพี้ยน

ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกยุคใหม่ นาฬิกาที่เรียกว่า Smartwatch หรือ ‘นาฬิกาฉลาด’ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าแรกอย่าง Pebble หรือต่อมาก็มีทั้ง FitBit รวมไปถึง Garmin และแม้กระทั่ง Apple Watch เอง (และอีกหลากหลายเจ้า) ก็ทำหน้าที่ได้เหนือกว่าการเป็นนาฬิกาด้วยซ้ำ เพราะสามารถวัดค่าโน่นนั่นนี่ของร่างกายได้มากมาย จึงเป็นนาฬิกาที่เหนือกว่าในแง่ฟังก์ชั่นการใช้งาน และราคาก็ถูกกว่านาฬิกาแบรนด์หรูพวกนั้นเหมือนฟ้ากับเหว

คิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (หรือมี Rationality) Smartwatch ต้องเข้ามาทดแทนนาฬิกาแบรนด์หรูแน่ๆ

เวลาพูดถึงนาฬิกาแบรนด์หรู ใครๆ ก็ต้องนึกถึงสวิตเซอร์แลนด์ใช่ไหมครับ เพราะนาฬิกาสวิส (Swiss Watch) นั้น ถือว่าเป็น ‘โอท็อป’ คู่บ้านคู่เมืองสวิสมาช้านาน ถ้าเรามาดูยอดขายนาฬิกาสวิส ตั้งแต่ปี 2000 – 2016 (ดูได้ที่นี่) จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าในแทบทุกตลาดของนาฬิกาสวิสนั้น ไม่เคยเลยที่ยอดขายจะตก มันพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงปี 2015

และแล้ว ในปี 2016 ยอดขายนาฬิกาสวิสก็ ‘ตก’ ลงมาเป็นครั้งแรกในแทบทุกตลาด หลายคนบอกว่า นี่ไงล่ะ นาฬิกาที่มีแต่รูปลักษณ์แบรนด์หรูเท่านั้น ยังไงก็ไม่สามารถทำลายกำแพงความมีเหตุมีผลของผู้บริโภคไปได้หรอก

แต่แล้วในเดือนตุลาคม 2017 ก็มีตัวเลขของสมาพันธ์นาฬิกาสวิส (Federation of the Swiss Watch Industry หรือ FH) ออกมาบอกว่าจู่ๆ ความนิยมในนาฬิกาสวิสก็พุ่งสูงกลับขึ้นไปใหม่ (ดูได้ที่นี่)

คือในปี 2016 นั้น ยอดขายต่ำลงจริง แต่หลังต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2017 แล้ว ยอดการส่งออกนาฬิกาก็กลับดีดตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับสูงสุดในรอบปีเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เชื่อได้ว่า เดี๋ยวก็ต้องมีบทวิเคราะห์ออกมาบอกว่า นาฬิกากลไกไม่เคยตาย เพราะนาฬิกากลไกก็เหมือนแผ่นเสียงหรือหนังสือ แม้ว่าจะมี ‘คู่แข่ง’ ที่เป็น Smartwatch หรือระบบ Streaming เพลงต่างๆ หรือหนังสือแบบ ebook แต่ ‘ตัวจริง’ ที่มีความเป็น ‘ศิลปะ’ อยู่ในตัว จะสามารถอยู่ต่อไปได้เสมอไม่มีวันล้มตาย

ศิลปะในเสียงของแผ่นเสียงกับศิลปะการผลิตหนังสือนั้นไม่เป็นที่กังขา แต่ ‘ศิลปะ’ ในนาฬิกานี่สิ หลายคนยังงงว่ามันเป็นศิลปะเข้าไปได้อย่างไร

ช่วงที่ทำงานนิตยสาร ผมมีโอกาสได้ไปเยือนเมืองทำนาฬิกาแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใน ‘หุบเขานาฬิกา’ (Watch Valley) ของสวิตเซอร์แลนด์หลายต่อหลายครั้ง

หุบเขานาฬิกาที่ว่า ก็คือบริเวณเทือกเขา Jura ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเทือกเขานี้ยาวเหยียดจากเจนีวาถึงบาเซิลนะครับ (บาเซิลเป็นเมืองที่มีเทศกาลนาฬิการะดับโลกทุกปี) โดยเมืองสำคัญเมืองหนึ่งที่มีบริษัทนาฬิกาไปกระจุกตัวรวมกันอยู่มาก ก็คือเมืองลาโชเดอฟองส์ (La Chaux-de-Fonds) ซึ่งอยู่ในแคว้นนูชาแตล (Neuchatel) ของสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็น Corum, Ebel, Omega, Rolex, Movado, Brietling และอีกหลายแบรนด์นาฬิกาดัง

วิธีผลิตนาฬิกาที่เมืองนี้ไม่ได้แค่ประณีตพิถีพิถันกับการสวมกล้องเล็กๆ เข้ากับตา ใช้คีมเล็กๆ หยิบจับชิ้นส่วนจิ๋วๆ ทั้งหลาย ประกอบกันเข้าไปในตัวเรือนนาฬิกา จนกระทั่งกลายออกมาเป็นนาฬิกากลไกเท่านั้นนะครับ มันคือ ‘ศิลปะ’ ที่รวมร่างเข้ากับกลไกการคำนวณและระบบวิศวกรรมจิ๋วที่ละเอียดมากๆ ไม่ใช่ใครก็สามารถประกอบนาฬิกาได้ แต่ต้องร่ำเรียนและต้องฝึกฝน นักประกอบนาฬิกาชั้นยอดนี่ อายุมากๆ กันทั้งนั้น

ถ้าได้ไปเห็น บางทีคุณอาจออกปากบอกเองเลยก็ได้ว่า เอาไปเถอะ ให้เลยเรือนละสิบล้านยี่สิบล้าน เพราะนาฬิกากลไกพวกนี้ถูกออกแบบมาให้ทำงานได้มากที่สุดเท่าท่ีจะมากได้ เช่น บอกเวลา บอกการโคจรของดวงจันทร์ ฯลฯ โดยผ่านการคำนวณมาแล้วในทางกลไกให้ทำงานเหล่านี้ไปได้เป็นร้อยปีพันปี จึงไม่เหมือนกับระบบดิจิทัลที่อาศัยการบอกจากศูนย์กลางที่ไหนสักแห่ง

การประกอบนาฬิกาไม่ได้เป็นแค่งานศิลปะที่สืบเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น แต่เมืองอย่างลาโชเดอฟองส์นี่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพราะ ‘การออกแบบเมือง’ ด้วยนะครับ

เอ๊ะ! แล้วการออกแบบเมืองมาเกี่ยวอะไรกับการประกอบนาฬิกา – คุณอาจจะถาม

เกี่ยวสิครับ ตอนที่ได้ยินเรื่องนี้ครั้งแรก ผมก็นึกว่าคนเล่า (ที่เป็นคนทำงานอยู่ที่นั่น) โม้ให้ฟังเหมือนกัน แต่พอมารู้ทีหลังว่ายูเนสโก้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพราะเหตุนี้ก็เลยต้องเชื่อ

เขาบอกว่า โชคดีอย่างหนึ่งที่เมืองนี้เคยถูกไฟไหม้เสียราบเลย ทำให้สามารถสร้างเมืองขึ้นมาใหม่เกือบทั้งหมดได้ในศตวรรษที่ 19 (โชคดีอะไรอย่างนี้!) โดยในตอนนั้น ทั้งเมืองแทบจะทำนาฬิกากันอย่างเดียว (อีกอุตสาหกรรมหนึ่งคือถักลูกไม้) เพราะฉะนั้น พอจะสร้างเมืองใหม่ ก็เลยมีการตกลงกันว่าจะออกแบบให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมนี้

คือต้องบอกคุณก่อนว่า การประกอบนาฬิกาชั้นเลิศแบบนาฬิกาสวิสนี่ ไม่ใช่จะทำที่ไหนก็ได้นะครับ แต่ต้องทำที่นี่ ในหุบเขา Jura ที่มีลักษณะเฉพาะเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เช่น ไม่มีแรงสั่นสะเทือนจากพื้นดินมาก ที่ไม่สั่นสะเทือนนั้นมีหลายเหตุผล เช่นเมืองลาโชเดอฟองส์อยู่ในเขตปลอดจากแผ่นดินไหว รวมทั้งมีระดับความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม เพราะสูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,000 เมตร ด้วย

ทีนี้ยิ่งมาได้รับการออกแบบเมืองให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมนาฬิกา ก็เลยยิ่งยอดเยี่ยมกระเทียมดองไปกันใหญ่ เพราะการประกอบนาฬิกานั้น แสงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เมื่อวางผังเมืองใหม่ จึงวางผังให้เปิดพื้นที่ขนานและผสมผสานกันไประหว่างที่พักอาศัยกับเวิร์กช็อปประกอบนาฬิกา เพื่อให้แสงที่ตกลงมานั้นทำองศาเหมาะสมกับการทำงาน (ไปดูภาพได้ที่นี่ ว่าแสงมันตกลงมาในเมืองยังไง) ทำให้ในต้นศตวรรษที่ 20 นาฬิกามากกว่าครึ่งในโลกนี้ ผลิตมาจากเมืองลาโชเดอฟองส์และเมืองใกล้ๆ

เพราะฉะนั้น นาฬิกาหนึ่งเรือนที่มาจากลาโชเดอฟองส์ (หรือนาฬิกาอย่าง Richard Mille ที่ก็ผลิตจาก Watch Valley เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ลาโชเดอฟองส์) จึงไม่ใช่แค่นาฬิกา แต่ถือเป็น ‘มรดก’ ของศิลปะอย่างหนึ่ง

ที่สำคัญก็คือ มันไม่ใช่แค่ศิลปะเฉยๆ ทว่าเป็นศิลปะที่ผูกรวมเข้ากับกลไกวิศวกรรมอันละเอียดอ่อนเล็กจิ๋วซุกรวมอยู่่ในนาฬิกาเรือนเล็กๆ ทว่าเมื่อ ‘ขยาย’ ออกมา เราก็จะเห็นภาพด้วยว่า นาฬิกาเหล่านั้นถูกผลิตสร้างขึ้นจากจักรวาลแห่งเนื้อเมืองที่ได้รับการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ทั้งในเรื่องแสง สถาปัตยกรรม ความชื้นสัมพัทธ์ และความสั่นสะเทือน

การที่นาฬิกาเรือนหนึ่งจะมีราคาเป็นล้านหรือหลายๆ ล้าน จึงเป็นไปได้ เพราะผู้ซื้อมองว่ามันคือ ‘งานศิลปะ’ แบบเดียวกับภาพเขียนทั้งหลายที่มีราคาสูงได้เป็นพันๆ ล้าน แต่นาฬิกาถูกกว่านั้น และสามารถใส่ไว้บนข้อมือของตัวเองนำไปอวดคนอื่นได้ด้วย

ที่จริง แนวคิดเรื่องงานศิลปะของนาฬิกากับแนวคิดเรื่องการซื้อภาพเขียนมาสะสมเอาไว้จนกลายเป็นเศรษฐีสร้างพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นแนวคิดแบบเดียวกัน คือเป็นแนวคิดเพื่อแสดงถึงภาวะ Elitism หรือการแสดงให้คนอื่นรู้ถึงทั้งฐานะและรสนิยมของตัวเอง

การแสดงภาวะ Elitism นั้น มีได้สองแบบ คือแบบที่แสดงรสนิยมและความเข้าใจทางศิลปะ และแสดงภาวะอวดรวยโดยไม่ได้เข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ในครอบครองนั้นมันมี ‘คุณค่า’ ในทางศิลปะอย่างไร รู้แต่เพียงว่าสิ่งที่มีอยู่เป็นสิ่งที่ ‘คนทั่วไป’ (ที่เป็นคนจน อย่างน้อยก็จนกว่าตัวเอง) ไม่มีความสามารถในทางเศรษฐกิจจะซื้อหามาได้ ดังนั้น การหาซื้ออะไรแบบนี้มาใส่จึงเป็นการแสดง ‘สถานะ’ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางรสนิยมและความเข้าใจ หรือสถานะทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกคุณไว้ตรงนี้ด้วยนะครับว่า ไม่ว่าจะเห็นคุณค่าของงานศิลปะ ไปศึกษาคุณค่าต่างๆ ของมันมาอย่างดี หรือแค่อวดรวยอวดความเป็นเศรษฐีแบบที่เรียกกันอย่างไม่พีซี (politically correct) ว่าเป็นสามล้อถูกหวย ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย ถ้ามีเงิน ใครก็ทำได้ทั้งนั้นแหละครับ

เรื่องผิดมีอยู่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คือถ้าเงินที่เอาไปซื้อภาพเขียนหรือนาฬิกาแพงๆ เหล่านี้ เป็นเงินที่ไม่ได้ได้มาอย่าง ‘ชอบธรรม’ นั่นเอง

 

สำหรับบุคคลในข่าวเรื่องนาฬิกาหรูนั่น ไม่มีใครแน่ใจได้หรอกครับว่าการใส่นาฬิการาคาแพงของเขา เป็นการใส่ในฐานะที่เป็นงานศิลปะอันละเมียดละไมหรืออวดร่ำอวดรวยเฉยๆ

แต่ในฐานะบุคคลสาธารณะ เรื่องที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ – ทรัพย์สินราคาแพงขนาดนี้มีที่มาที่ไปอยู่ในครอบครองได้อย่างไร

เก็บเงินชั่วชีวิตมาซื้อ, ถูกสลากกินแบ่ง, หรือว่ามีคนเอามาให้เป็นของกำนัล (ซึ่งในบางแห่งเรียกว่าสินบน) – ก็ควรจะตรวจสอบกันได้

แต่ก็ไม่รู้เหมือนว่า – ในสังคมแสนดีแห่งนี้, กระบวนการตรวจสอบมันจะทำงานหรือเปล่า!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save