fbpx
เยือนสุสานเติ้งลี่จวิน ฟังความสัมพันธ์สองแผ่นดินจีน

เยือนสุสานเติ้งลี่จวิน ฟังความสัมพันธ์สองแผ่นดินจีน

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่อง

ความสนใจเรื่องปัญหาจีน-ไต้หวัน กลับมาอยู่ในสายตาประชาคมโลกอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในกฎหมาย Taiwan Travel Act ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่ง จนถึงขั้นส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงมาลาดตระเวนบริเวณช่องแคบไต้หวัน พร้อมกับการขึ้นครองอำนาจอย่างไม่จำกัดวาระของสีจิ้นผิงในการประชุมสมัชชาใหญ่สภาประชาชนครั้งล่าสุด ที่ประกาศแนวคิดระยะยาวเพื่อผนวกรวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งเดียว

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างช่องแคบไต้หวันนี้ คงมีสายตาคู่หนึ่งมองอยู่จากปรภพ สายตาของผู้ที่ขับขานบทเพลงให้ชนชาติจีนซึมซาบความรู้สึกในดนตรีข้ามความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองไปเอาชนะความรู้สึกของคนได้

เติ้งลี่จวิน (鄧麗君: Deng Li Jun) หรือ เทเรซ่า เติ้ง (Teresa Teng) เกิดที่เมืองเป่าจง จังหวัดหยุนหลิน สาธารณรัฐจีน (เกาะไต้หวัน) ในครอบครัวนายทหารกว๋อหมินต่าง เข้าเรียนในโรงเรียนสตรีกินหลิง ก่อนจะเริ่มสายอาชีพนักร้องด้วยการชนะการประกวดร้องเพลงประกอบภาพยนตร์งิ้วของชอว์บราเดอร์ เรื่อง “ม่านประเพณี” หลังจากนั้น ไต้หวันปฏิรูปอุตสาหกรรมและผลิตแผ่นเสียงเองได้ ธุรกิจค่ายเพลงและดนตรีเฟื่องฟูเป็นอย่างมากจนครอบครัวอนุญาตให้เติ้งลี่จวินลาออกจากการเรียนมาเป็นนักร้องเต็มตัว

เติ้งลี่จวินเข้ามาอยู่ในสายตามหาชนเป็นดาราดวงเด่นจากการเข้าร่วมงานร้องเพลงขาวแดง โคฮาคุ อุตะ กัสเซน ที่ญี่ปุ่น ในปี 1973 ด้วยเพลงยอดฮิต โทคิโนะนากาเระนิมิโอ๊ะนาคาเสะ 時の流れに身をまかせ หรือเวอร์ชันจีน หว่อจื้อไจ้หูหนี่ 我只在乎你 จากนั้นเติ้งลี่จวินก็โด่งดังเป็นพลุแตกในโลกภาษาจีนทั่วทั้งเอเชีย เสียงเพลงเติ้งลี่จวินได้ยินในทุกชุมชนคนจีน ไชนาทาวน์ และหมู่บ้านจีนอพยพตั้งแต่โยโกฮาม่าถึงจาการ์ต้า ตั้งแต่ตึกระฟ้าในฮ่องกงจนถึงหมู่บ้านของกองพลอพยพของนายพลต้วนที่เชียงราย ข้ามไปถึงชุมชนชาวจีนในยุโรปและอเมริกา ไม่ว่าจะไปจากแผ่นดินใหญ่หรือเกาะไต้หวันก็ตาม

บนดอยแม่สลอง เมื่อผมเล่าให้ชาวจีนเชื้อสายทหารก๊กมินตั๋ง เจ้าของรีสอร์ทกลางไร่ชาฟังว่าไปเที่ยวไต้หวันมา เขาก็ถึงกับหัวเราะแล้วกล่าวว่า “ไปเที่ยวทำไมไต้หวัน มีแค่รถไฟความเร็วสูงกับเติ้งลี่จวินเท่านั้นที่ไม่มีเหมือนไทย”

ด้วยภูมิหลังความเป็นลูกสาวนายทหาร เติ้งลี่จวินกลายเป็นนักร้องปลอบขวัญทหารของสาธารณรัฐจีนในภารกิจตั้งพลต่อต้านจีนแดง ด้วยเพลงปลุกใจสาธารณรัฐจีนเช่น เหมยฮวา 梅花 อันเป็นสัญลักษณ์ของกว๋อหมินต่างและไต้หวัน

แต่เพลงของเติ้งลี่จวินก็มิได้ซาบซึ้งแต่เฉพาะชาวจีนไต้หวันเท่านั้น ความไพเราะและเนื้อหาหวานซึ้งในน้ำเสียงหยดย้อยของเธอได้จับใจชาวจีนแผ่นดินใหญ่หลังยุคปฏิวัติวัฒนธรรมที่โหยหาความดีงามและไพเราะวิจิตรที่ถูกทำลายสูญหายไปในยุคแห่งความบ้าคลั่งนั้นด้วย

ทั้งเพลงร้อง เพลงประกอบละคร และเพลงประกอบภาพยนตร์ ต่างกลายเป็นเพลงยอดฮิตติดอันดับแทบทุกเพลง ไม่ว่าจะเป็น เถียนมีมี่ 甜蜜蜜 หนี่เจินเม่อซัว 你怎么说 เยวี่ยเหลียงต้ายเปียวหว่อตีซิน 月亮代表我的心 Goodbye my love  再見! 我的愛人 และอัลบั้มเด่นที่นำเอาบทกวียุคราชวงศ์ถัง-ซ่ง มาร้องเป็นเพลงอย่างวิจิตรไพเราะคืออัลบั้ม “ต้านต้านโหย่วฉิง” 淡淡幽情 ซึ่งมีเพลงเด่นจากบทกวีขึ้นชื่อของซูซื่อ หรือซูตงปอ “ต้านหยวนเหรินฉางจิ่ว” 但願人長久 จากลำนำ “สุ่ยเตียวเก๋อโถ่ว” 水调歌头 อันเลื่องชื่อในประวัติศาสตร์จีน

มีคำกล่าวในยุคนั้น ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงเป็นใหญ่บนแผ่นดินจีนแดงว่า

“เติ้งหนึ่งปกครองยามทิวา แต่อีกเติ้งหนึ่งทรงฤทธายามราตรี” และ “คนฟังเติ้งใหญ่ตอนกลางวันเพราะถูกบังคับ แต่ฟังเติ้งน้อยยามกลางคืนเพราะอยากฟัง” เนื่องจากทั้งสองคนคือ เติ้งเสี่ยวผิง และเติ้งลี่จวินต่างมีแซ่ “เติ้ง” เหมือนกัน

ในระยะแรก รัฐบาลแผ่นดินใหญ่แบนเพลงของเติ้งลี่จวิน เพราะเห็นว่ามีความเป็นชนชั้นนายทุนมากเกินไปแต่ทุกคนก็แอบฟังกัน จนในที่สุด แม้กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เคยร้องขอให้เติ้งลี่จวินไปเปิดการแสดงที่เมืองจีน เธอตอบรับ บัตรคอนเสิร์ตขายหมดทุกรอบภายในวันเดียวแต่ก็ถูกพรรคคอมมิวนิสต์ยกเลิกในนาทีสุดท้ายเพราะหัวใจของลูกทหารกว๋อหมินต่าง และความนิยมในระบบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเธอได้เติบโตมาหลังยุคยกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เกรงว่า เติ้งลี่จวินจะไปปราศรัยกระทบกับระบอบการปกครองพรรค จนเติ้งลี่จวินโกรธจัด ประกาศว่า “จะไม่ไปเหยียบแผ่นดินใหญ่จนกว่าจีนจะเป็นประชาธิปไตย” และเมื่อเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบที่เทียนอันเหมิน เติ้งลี่จวินก็ได้จัดคอนเสิร์ตเพื่ออุทิศให้แก่ประชาธิปไตยในจีน ชื่อ หมินจู่เกอซงเสียนจงหัว 民主歌聲獻中華  หรือ Concert For Democracy In China

เสียดายที่เติ้งลี่จวินไม่ได้เห็นวันนั้น เธอมาเสียชีวิตลงด้วยโรคหอบหืดอันเป็นโรคประจำตัว ที่เชียงใหม่ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 1995 เสียก่อน สิริอายุ 42 ปี

ทิ้งไว้แต่เสียงเพลงอันเป็นอมตะนิรันดร์กาล ที่ลูกหลานชาวจีนทุกคนจะต้องเคยได้ยินติดหูอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ทุกวันนี้เพลงของเติ้งลี่จวิน ยังอยู่กับชาวจีนและอารยธรรมที่ใช้ภาษาจีน หนัง ละคร การแสดง ต่างหยิบยกเอาเพลงของเธอไปใช้ประกอบ ร้องใหม่ ดัดแปลง และอ้างอิงถึง เช่น เถียนมีมี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว (Comrades: Almost a Love Story)

ร่างของเติ้งลี่จวินที่สุสานสวนไผ่ (อวิ๋นหยวน 筠園) หรือที่ชาวเมืองเรียกกันว่าสวนที่ระลึกเติ้งลี่จวิน (เติ้งลี่จวินกงหยวน 鄧麗君紀念公園) เขาจินเป่าซาน เมืองจินซาน ตอนเหนือของไทเป ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่แฟนเพลงจากทุกสารทิศบนโลกมาสักการะและแสดงความเคารพในเสียงเพลงอันอมตะของเติ้งลี่จวินอย่างไม่ขาดสาย เดินทางมาได้โดยรถประจำทางสายท่องเที่ยวชายฝั่งเหนือ (North Coast Line) จากท่ารถบัสหน้าสถานีรถไฟตั้นสุ่ย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที หรือขับรถหรือนั่งแท็กซี่มาจากตัวเมืองไทเปใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง

สุสานสวนไผ่ (อวิ๋นหยวน 筠園)

สุสานสวนไผ่ (อวิ๋นหยวน 筠園)

สุสานสวนไผ่ (อวิ๋นหยวน 筠園)

หลุมศพเติ้งลี่จวิน

หลุมศพของเธอพิงภูเขาจินซานหันหน้าเข้าหาฝั่งทะเลตามหลักฮวงจุ้ย รายรอบหลุมศพเป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์ เก้าอี้รูปคีย์บอร์ดเปียโน ประติมากรรมรูปเครื่องดนตรี และอนุสาวรีย์เติ้งลี่จวินสีทองอร่ามสะท้อนแสงอาทิตย์วาววับ ยืนถือไมโครโฟนร้องเพลงอยู่ท่ามกลางเสียงบทเพลงที่เปิดคลอเบาๆ ในสวน ทอดสายตาไปถึงช่องแคบไต้หวันและชายฝั่งฝูเจี้ยนที่อยู่ตรงข้าม

เหมือนกับว่าเธอยังคอยวันจะได้กลับไปเยือนแผ่นดินใหญ่ และไม่ได้ตายจากเราไปไหนเลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save