fbpx
'ขอนแก่นโมเดล' พัฒนาเมืองด้วยพลังคนเมือง : คุยกับ สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย

‘ขอนแก่นโมเดล’ พัฒนาเมืองด้วยพลังคนเมือง : คุยกับ สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย

วชิรวิทย์ คงคาลัย เรื่อง

สมัชญา แซ่จั่น ภาพ

 

ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมองไปทางไหน คำว่า ‘เมือง’ หรือ ‘การพัฒนาเมือง’ มักจะปรากฏให้เห็นเต็มตาไปหมด

แต่ก็นั่นแหละ การได้เห็นว่าเมืองไหนจะลุกขึ้นมาพัฒนาเมืองอย่างจริงจังดูจะเป็นเรื่องยากเสียจริง สิ่งที่เห็นคือ การได้เห็นวิสัยทัศน์และแบบแปลนของเมืองในอนาคตบนกระดาษเท่านั้น

หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เมืองในบ้านเราคงจะไปไม่เดินหน้าไปไหนอย่างแน่นอน และผลที่ตามมาก็คือ พวกเราในฐานะผู้อาศัยในเมืองก็พลอยจะเดือดร้อนตามไปด้วย

‘เมืองขอนแก่น’ เป็นเมืองแรกๆ ในประเทศไทยที่ลุกขึ้นมาพัฒนาเมืองอย่างจริงจัง

ขอนแก่นโมเดล คือ โมเดลในการพัฒนาเมืองที่พยายามวางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้แก่เมือง (Transit-Oriented Development: TOD) ผ่านการลงทุนของ ‘นักธุรกิจ’ 20 คนในจังหวัดขอนแก่น

ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในเมืองขอนแก่นอย่างชัดเจน ชนิดที่เรียกว่า ขอนแก่นได้กลายเป็น ‘Smart City’ อย่างสมบูรณ์ แต่ต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลาในการพัฒนาเมืองขอนแก่นที่ผ่านมา 8 ปี ขอนแก่นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่การพัฒนาเมืองของประเทศไทยอย่างมาก

ขอนแก่นโมเดล เป็นรูปแบบการพัฒนาเมืองแรกๆ ที่ใช้การพูดคุยเป็นฐานในการเชื่อมร้อยพันธมิตรหลากที่มาเพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองได้อย่างสำเร็จผล ขอนแก่นโมเดล เป็นที่แรกๆ ที่เสนอให้ท้องถิ่นและเอกชนมีบทบาทนำในการพัฒนาเมืองอย่างจริงจัง

และที่สำคัญกว่านั้น คือ ขอนแก่นโมเดลเป็นเมืองแรกของประเทศไทยที่จะสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบา

ในอีกไม่เกินสองปี หากขอนแก่นโมเดลประสบความสำเร็จ มันจะพลิกโฉมรูปแบบการพัฒนาเมืองของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์

ถึงกระนั้น เรายังอยู่แค่ระหว่างทาง แต่ก็ต้องบอกเลยว่า กว่าที่ขอนแก่นจะเดินทางมาถึงทุกวันนี้ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน

คุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) – 1 ใน 20 นักธุรกิจขอนแก่นที่ร่วมลงขันเงินกันเพื่อพัฒนาเมืองขอนแก่น และรองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนขอนแก่นโมเดลมาเกือบ 10 ปี ได้เจอทั้งอุปสรรค ความประทับใจ และที่สำคัญ ความหวังของอนาคตลูกหลานไทย ในมุมมองของเขา ‘การพัฒนาเมือง’ คือ จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะทำให้อนาคตของประเทศไทยสดใสกว่าเดิม

วันนี้ เขาจะมาบอกเล่าเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวข้องกับที่มาและที่ไปของการพัฒนาเมืองแบบขอนแก่นโมเดล และทำไมขอนแก่นโมเดลถึงเป็นความหวังของประเทศไทย

 

 

ทำไมถึงเริ่มทำขอนแก่นโมเดล และทำไมต้องเริ่มที่เรื่องคมนาคมก่อน  

เราในฐานะนักธุรกิจคิดว่าการพัฒนาจังหวัดนั้น หากรองบประมาณจากส่วนกลาง มันแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว 25 ปีผ่านมา เราต้องหาวิธีการใหม่ เราเลยมานั่งตกผลึกความคิด เพื่อจะให้เกิดการพัฒนาเมืองด้วยตัวเอง

คำถามสำคัญคือ ทำไมต้องเป็นขนส่งมวลชน ง่ายๆ ก็คือ ผลกระทบของการทำระบบรางเนี่ย ในแง่การลงทุน มันได้ประโยชน์หลายมิติที่สุด เช่น หนึ่ง ถ้าคุณไปสร้างห้างสรรพสินค้าหนึ่งแห่ง แล้วคุณบอกว่าเป็นการพัฒนาเมือง คุณแค่ได้ด้านเศรษฐกิจค้าขาย แต่ถ้าคุณสร้างระบบขนส่งมวลชน ระบบราง ให้เกิดขึ้นในเมืองได้ สิ่งที่จะได้คือ ‘economic multiply’ ที่หมายความว่าค่าทวีคูณด้านเศรษฐกิจ ซึ่งระบบรางสามารถทำได้ถึง 4 เท่า ในเมืองพอร์ตแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ค่าทวีคูณด้านเศรษฐกิจมีถึง 42 เท่า หมายความว่า ลงทุน 1 บาท จะได้กลับมา 42 บาท

ส่วนผลกระทบข้อสองคือ การสร้างระบบรางมันเป็นการแก้ปัญหาไปในตัวด้วย อย่างปัญหารถติด ถ้ามีระบบขนส่งมวลชนที่ดีเกิดขึ้น ก็สามารถช่วยได้อยู่แล้ว

ส่วนผลกระทบข้อที่สาม ในแง่โครงสร้างของเมือง ก็จะถูกปรับทำให้การใช้รถยนต์น้อยลง ผู้ใช้บริการขนส่งมวลชนก็จะเยอะขึ้น ซึ่งถ้าเทียบจริงๆ คนที่ใช้ขนส่งมวลชนที่ขอนแก่นน่าจะสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย รองลงมาจากกรุงเทพ นี่คือสิ่งที่เรามอง

เราไม่ทำอะไรที่เหมือนโยนก้อนหินลงในแม่น้ำ แล้วไม่เกิดแรงกระเพื่อม ระบบราง ระบบขนส่งมวลชนที่ดี เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมที่ดีที่สุด

 

ตกลงแล้วขอนแก่นโมเดลที่กำลังทำอยู่นี่คืออะไรกันแน่

ในการวางระบบรางตามขอนแก่นโมเดล เรามีการศึกษา โดยระบบรางที่จะเกิดขึ้นมีอยู่ทั้งหมด 5 สาย โดยเรียงตามสายเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงสายกลางเมือง

ตอนนี้เมืองโตแบบเริ่มขยายออกมาข้างนอก เราต้องจำกัดการเจริญเติบโตของเมืองให้อยู่ในขอบเขตเพื่อสร้างความกระชับ คือ เราต้องสร้าง ‘Compact City’ หรือ ‘เมืองกระชับ’ เราจะสร้างสายเหนือ-ใต้ก่อน เพราะจะทำให้เกิดเมืองกระชับ นั่นคือสามารถป้องกันการเจริญเติบโตแบบไร้ทิศทาง ส่วนสายตะวันออก-ตะวันตก จะเป็นสายฟื้นฟูเมือง พวกย่านเมืองเก่า ห้องแถวต่างๆ ที่เป็นของขอนแก่นซึ่งถูกปิดอยู่ จึงเป็นการนำเอาสินทรัพย์ของเมืองที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาเมือง หลายคนบอกว่าให้ไปสร้างเมืองใหม่ แต่เงินใครล่ะ เอาล่ะเงินเอกชนก็จริง แต่ถ้าคุณฟื้นฟูเมืองขึ้นมาได้ นั่นเท่ากับว่าคุณใช้ของเก่าทำมาหากิน สะดวก สบาย เร็ว ง่าย นั่นจึงเข้ากับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่พยายามใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

นอกจากที่การคมนาคมจะมีประโยชน์ต่อตัวเมืองเองแล้ว มันยังส่งผลดีไปในระดับภูมิภาคหรือต่างประเทศหรือไม่

แน่นอน! วันนี้รัฐบาลมีดำริที่จะทำรถไฟทางคู่ หรือรถไฟความเร็วสูงใช่ไหม นี่ถ้าเกิดสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือทางคู่เสร็จ ถ้าคุณเดินลงมาจากรถไฟฟ้าทางคู่ คุณก็จะเจออะไร รถสองแถวหรอ สามล้อหรอ (เสียงสูง)

วันนี้เรากำลังเป็นตัวอย่างของการทำ ‘Connectivity’ หรือ ‘การเชื่อมต่อ’ ในเมือง ซึ่งรัฐบาลลงทุนแล้ว แต่รัฐบาลอาจจะเหนื่อย วันนี้เราต้องช่วย คือมันต้องคิดไงว่า พอสิ่งเหล่านี้มาหาบ้านฉัน ฉันจะทำขนส่งมวลชนเตรียมต่อเชื่อมไว้ให้นะ และการเชื่อมต่อยังเป็นตัวหนึ่งในการสร้างเสน่ห์สำหรับนักลงทุนอีกด้วย หากคุณต้องการให้คนมาจีบ คุณก็ต้องสวย ถึงแม้ว่าจะสวยอยู่แล้วโดยธรรมชาติ คุณก็ต้องแต่หน้าเขียนคิวทาปาก นั่นคือ การสร้างการเชื่อมต่อนี่คือสิ่งที่ขอนแก่นทำเป็นตัวอย่างในประเทศไทย

 

มีคนถามมาครับว่า หากนำระบบขนส่งทางรางไปสร้างที่ขอนแก่นแล้ว คนที่นั่นเขาจะเปลี่ยนมาใช้กันเลยหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่ก็ใช้รถส่วนตัว มอเตอร์ไซค์หรือสองแถวกันอยู่

นี่เป็นคำถามที่คิดว่า ขอนแก่นเป็นบ้านนอก (ยิ้มที่มุมปาก) พวกนั้นยังขี่เกวียนอยู่ คนที่ถามคงยังไม่เคยไปขอนแก่น วันนี้ เรามี Smart Bus แล้ว รถบัสเราดีกว่ากรุงเทพ เด็กนักศึกษาของเราซึ่งไม่เคยมากรุงเทพ แต่ครั้งหนึ่งเขาได้มา เขาถามผมว่า “อาจารย์ ทำไมรถบัสกรุงเทพไม่เห็นเหมือนรถบัสที่ มข. เรา ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมยังมีคนมาเขย่ากระบอกเก็บตังค์อยู่”

ตอนนี้เราได้สร้างพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่แล้ว ให้พวกเขารู้จักขนส่งมวลชน ให้เขารู้จักการรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น การเลือกว่าจะขี่มอเตอร์ไซค์หรือนั่งรถโดยสาร แบบไหนดีกว่ากัน ซึ่งตอนนี้พวกเขาเริ่มลังเลมากขึ้นกับการใช้มอเตอร์ไซค์ ไม่ใช่ เอะอะอะไร ก็บอกว่า ผมสะดวก จะใช้แต่มอเตอร์ไซค์ ตอนนี้ทุกคนมองเห็นประโยชน์ของขนส่งมวลชน เรามีรถเมล์อย่างดีให้บริการตั้งแต่เช้าถึงเย็น นั่งแล้วสบายไม่ต้องตากแดด และเมื่ออยู่บนรถก็นั่งแชท เล่นไลน์อะไรก็ว่ากันไป เพราะว่าเน็ตแรง

นอกจากนี้ เนื่องจากระบบรางจะเป็นระบบหลัก เราก็คุยกับสองแถวแล้วเรื่องการเชื่อมต่อ โดย re-route แบ่งเส้นทางกัน สองแถวออกไปรับคนที่มาจากที่ไกลๆ แล้วนำมาส่งที่ระบบราง เห็นไหม ทั้งสองแถวและระบบรางสามารถอยู่ด้วยกันได้

เห็นไหม เราทำใช่ว่าเราจะไม่มีการเตรียมการ ไม่ใช่ว่าพอทำเสร็จ แล้วมาถามว่าใครจะมาใช้รถราง มันไม่ใช่ (เสียงแข็ง)

วิธีคิดของการพัฒนาเมืองแบบขอนแก่นคือ ‘คิดครบ’ เมืองมันไม่ใหญ่มาก มันเลยคิดครบได้ วันนี้เรามีการให้การศึกษา และเมื่อมีระบบราง ทุกคนก็จะเปลี่ยนโหมดจากโหมดธรรมดา ก็ค่อยๆ ทยอยมาสู่ระบบใหม่

เมื่อพูดถึงเรื่องการให้การศึกษา เราสอนเด็กรุ่นหลังทั้งเมือง ว่ารถรางคืออะไร พลังงานสะอาดคืออะไร การรักษาสิ่งแวดล้อมคืออะไร และพวกเขาจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง และมันดีนะ เพราะมันทันสมัย รสบัสมันมีแอปพลิเคชันด้วยนะ มันรู้นะว่ารถจะมาเมื่อไหร่ ไม่ต้องรอตากแดดเหมือนกรุงเทพนะ

 

พูดอย่างนี้ได้ไหมว่า สำหรับการพัฒนาเมืองแบบขอนแก่น นอกจากปรับที่โครสร้างแล้ว ทัศนคติของคนก็ต้องเปลี่ยนด้วย

แน่นอน รู้ไหมว่าอย่างแรกที่ทำคืออะไร เราไม่ต้องไปสร้างตึกหรือสร้างอะไรหรอก ที่ทำคือการเปลี่ยนวิธีคิดของคน สร้างรถบัสขึ้นมาเพื่อเป็นกิมมิก และให้คนยอมรับว่า ‘มันใช่’ จากนั้นก็บอกว่ารถรางมันจะดีกว่านี้อีกนะ คนก็เลยเปลี่ยนวิธีคิด ตอนนี้ถึงขั้นที่เขาบอกว่า “มาเหอะ เดี๋ยวจะใช้ให้ดู มาเหอะ เดี๋ยวจะจ่ายภาษีให้”

 

 

กลับมาเรื่องรถราง ทำไมถึงใช้ ‘Tram’ หรือ ‘รถไฟฟ้ารางเบา’ แทนที่จะเป็นรถไฟประเภทอื่น โดยเฉพาะ รถไฟฟ้าโมโนเรล  

รถรางประเภท ‘Tram’ ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ล้านกว่ากิโลเมตร เป็นระบบเปิด ที่ไม่ถูกผูกขาด นั่นคือ มีหลายเจ้าที่ผลิตทั้งรถทั้งอะไหล่ และเทคโนโลยีก็มีหลากหลาย เราสามารถหาซื้ออะไหล่ได้จากหลายที่ ทำให้เราสามารถต่อรองการซื้ออะไหล่ได้ ซึ่งหากเป็นโมโนเรล ค่อนข้างเป็นระบบปิด เพราะมีจำหน่ายอยู่ไม่กี่เจ้า มันก็หาอะไหล่ยาก ต่อรองเลยยาก ราคาที่ต้องจ่ายจึงสูง สุดท้ายเราก็เอาเงินภาษีไปอุดหนุนของแพง Tram จึงเป็นระบบที่ราคาถูกที่สุด

นี่ถือเป็น ‘สามัญสำนึก’ (common sense) วิธีการพัฒนาเมืองของขอนแก่นคือใช้สามัญสำนึกซึ่งถือเป็นวิธีคิดสำหรับการบริหารเมืองทั่วไป วันนี้ที่เป็นประเทศไทยโดนบิดเบี้ยวขนาดนี้ ก็เพราะประเทศไทยทำผิดสามัญสำนึก เพราะประเทศเราผิดปกติ ทุกวันนี้เถียงแต่เรื่องผลประโยชน์ การพัฒนาออกแบบเมืองต้องมองถึงอนาคตข้างหน้าด้วย เช่น การซ่อมบำรุง การเพิ่มเติมต่อขยาย ซึ่งต้องทำง่าย เพราะสุดท้ายต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้จ่ายและพัฒนาประเทศต่อไป

 

ทำไมท้องถิ่นถึงลุกขึ้นมาทำเอง

ถ้ารอนี่ก็คงไม่ทันกินอะไร ผมยกตัวอย่างการทำรถไฟสายหนึ่ง ถ้าดำเนินตามกระบวนการของภาครัฐปกติ ซึ่งอย่างที่รู้กันหน่วยงานของภาครัฐที่ดูแลในแต่ละเรื่องนี่มีเยอะมาก กว่าจะเดินเรื่องไปแต่ละขั้นตอนใช้เวลายาวนาน

คุณรู้ไหมค่าเฉลี่ยของการทำรถไฟรางหนึ่งของประเทศไทยใช้เวลาเท่าไหร่ ค่าเฉลี่ยคือ 7 ปี ทำไมถึงช้าขนาดนั้น หากเราต้องการทำโครงการรถไฟฟ้าหนึ่งราง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การศึกษาก่อนครับ ประเทศไทยนี่ชอบศึกษามากนะ หนึ่งปีแรกพอศึกษาเสร็จ ก็ได้แผนแม่บท ซึ่งอยากสร้าง ยังสร้างไม่ได้ เพราะถ้าจะลงไปสร้างจริงๆ ต้องศึกษาอีกปีหนึ่งอีก พอศึกษาเสร็จอีกครั้ง กำลังจะสร้าง ก็ตามหาเจ้าภาพ ไปที่หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง เขาก็บอกว่า ยังไม่พร้อมครับ ตอนนี้รับผิดชอบโครงการระดับประเทศอยู่ ยังไม่มีปัญญาไปทำให้ท้องถิ่น

คราวนี้ก็วิ่งไปหาหน่วยงานของรัฐแห่งที่สอง พอ รฟม. ได้ผลการศึกษามา เขาก็บอกว่า มันยังไม่ละเอียด ถ้านั้นขอศึกษาอีกทีหนึ่ง ตอนนี้ปีที่สามแล้ว พอศึกษาเสร็จ ผลปรากฏว่า ไม่มีตังค์ ประเทศไม่มีตังค์ ทำอย่างไรต่อ เขาบอกให้หาเอกชนมาร่วมทุน ซึ่งใช้เวลาอีก 2 ปี เป็น 5 ปีแล้วนะครับ พอหาทุนอะไรได้แล้ว ก็นำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และพอพิจารณาก็บอกว่า ที่ศึกษามาเมื่อ 6 ปี ต้นทุนมันเพี้ยนแล้ว ต้องมาศึกษาอีกทีหนึ่ง พอถึงตรงนี้ จะเกิดการทะเลาะกัน กว่าจะได้ทำอะไรก็ปีที่ 7

ด้วยสาเหตุนี้ ชาวขอนแก่นจึงบอกว่า ถ้าเราไปรอแบบนี้ ตายแน่นอน พวกเราเลยว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า เราตั้ง ‘หน่วยงาน’ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งนั่นก็คือ บริษัทของเทศบาลในจังหวัดขอนแก่น – ‘บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด’ นั่นเอง คล้ายๆ กับ ‘บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด’ ของกรุงเทพมหานคร

หากรู้เรื่องระบบราชการหน่อย ก็คือว่า ถ้าเป็นการให้เงินระหว่างรัฐต่อรัฐนี่สามารถทำได้เลย ดังนั้น ก็ให้รัฐมอบเงินแก่บริษัทลูกหรือบริษัทเทศบาลนั่นแหละ และจากนั้นบริษัทเทศบาลก็สามารถนำเงินไปว่าจ้างเอกชนให้ทำโครงการต่างๆ ได้ ซึ่งการว่าจ้าง ก็ไม่ต้องไปติดกระบวนการที่นานถึง 7 ปี  เพราะว่าบริษัทเทศบาลไม่อยู่ในเงื่อนไขของราชการ เลยมีความคล่องตัวสูง ทำให้พอมีเงินพร้อม อะไรพร้อม ก็สามารถดำเนินการได้เลย นี่คือวิธีที่ขอนแก่นทำอยู่

 

คิดว่าในระหว่างที่พัฒนาเมืองขอนแก่น ได้พบเจออุปสรรคอะไรบ้าง

อุปสรรค คือ ความคิด หมายความว่าคนอื่นไม่เข้าใจชาวขอนแก่น หลายหน่วยงานราชการยังไม่รู้เลยว่าพวกเรากำลังทำอะไร

ส่วนอุปสรรคที่สอง คือ แกล้งไม่รู้ เพราะผลสำเร็จของการพัฒนาเมืองขอนแก่นที่จะเกิดขึ้นจะไปลอกคราบหน่วยงานต่างๆ มันจะเป็นการรบกวนอำนาจของบางหน่วยงาน

 

นอกจากเอกชนแล้ว ดึงใครเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมพัฒนาเมืองอีกบ้าง

ขอนแก่นเราโชคดี ในจังหวัดขอนแก่น ทั้งผู้ว่าราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม NGO ในจังหวัด ทุกคนช่วยกันทำงาน ทุกคนแฮปปี้ สนุกกับการทำงาน เพราะมันไม่เคยเกิดการบูรณาการที่แท้จริงอย่างนี้มาก่อน

คำว่า ‘บูรณาการ’ มีในประเทศไทย แต่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง การที่หน่วยงานนี้ช่วยคุยกับหน่วยงานนี้ แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย มันไม่มี เจอแต่ห่วงอำนาจ กลัวไม่ได้หน้า ประเทศไทยเป็นอย่างนี้

พอหน่วยงานราชการมาร่วมพัฒนาเมืองกับเราแล้ว ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม

ต้องบอกว่า เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (เน้นเสียง) เพราะวันนี้ทุกคนสนุกกับการทำงาน อย่างแรกที่พวกเราประชุมเพื่อบูรณาการ ทุกหน่วยยังทำหน้าเซง เหมือนตั้งแง่ว่า “คุณจะทำได้หรอ ใช่หรอ” ผลปรากฏว่าพอทำไปสักระยะหนึ่ง มันได้รับการยอมรับ แต่ละหน่วยงานที่มาร่วมกันพัฒนา เขาได้รับการยอมรับในระดับประเทศ เวลาที่แต่ละหน่วยงาน เข้ามาประชุมที่กรุงเทพ เขามักจะถูกทักว่า “เอ้ย ขอนแก่นหรอ เมืองเอ็งเจ๋งโว้ย สุดยอด พวกยูว์ ทำได้ไงวะ” พวกหน่วยงานราชการก็เลยคิดได้ว่า สิ่งที่พวกเราทำนี่ก็เจ๋งนี่หว่า

ตอนนี้อารมณ์การประชุมที่ขอนแก่น จะเป็นอารมณ์การประชุมแบบสร้างสรรค์ พี่เร็วๆ หน่อยนะ เดี๋ยวผมจะได้พูดต่อ หน่วยงานผมรออยู่ ต่างฝ่ายต่างพร้อมจะเดินมาช่วยกัน แต่ก่อนนี่ได้แต่นั่งรอ บอกมาสิ ว่าจะให้ทำอะไร

ตอนนี้ขอนแก่นโมเดลได้กลายเป็นสิ่งที่สื่อถึง ‘ความสามัคคี’ ไปๆ มาแต่ละที่ก็บอกว่า เวลาจะทำอะไร ก็ให้ทำตาม ขอนแก่นโมเดล เอาจริงๆ ที่เราทำเรื่องความสามัคคี นี่ก็คือสามัญสำนึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรมีมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เรื่องอะไรใหม่

 

 

ทำไมถึงเลือกใช้คำว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ ไม่เป็น ‘สมาร์ทขอนแก่น’ อะไรเทือกนั้น

เรื่องนี้มีที่มาที่ไป ตอนแรกที่เราคุยกันแล้วคิดว่าจะใช้ชื่ออะไรในการเรียกสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ มีคนเสนอมาหลายชื่อ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ขอนแก่นโมเดล’ พอเสนออันนี้ขึ้นมา บางคนบอก อย่าใช้เลย เพราะว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดี นั่นคือ ตอนนั้น คำว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ จะถูกโยงเข้าเรื่องการเมือง เสื้อสีอะไรพวกนั้นไป

พวกเรามองว่า เอาอย่างนี้ ใช้คำว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ นี่แหละ เรียกง่าย อีกอย่างคือ เราต้องการจะเปลี่ยนความหมายของคำนี้ใหม่ด้วย ซึ่งแน่นอนขอนแก่นก็จะถูกมองในแง่ดีขึ้น ผลก็เป็นไปตามคาด ความหมายของคำนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไป

 

ใช้วิธีการใดที่ดึง ‘คนรุ่นใหม่’ เข้ามาร่วมพัฒนาเมือง

เราใช้ ‘การสานเสวนา’ เราคุย! ไม่มีอะไรนอกจากคุย คุยกันแล้วอย่ามี ‘อีโก้’ ทุกคนถอดหมวก ไม่ว่าจะเป็นใคร ทุกคนคือคนขอนแก่น เป็นคนไทย เราต้องมาคุยกันว่าประเทศเรา จังหวัดเราคืออะไร จะปล่อยไปอย่างนี้ไหม หรือจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เราใช้เวลาค่อยๆ คุยถึง 2 ปี เราคุยทุกๆ 4 เดือน ในการตกผลึกความคิด ขอนแก่นคือ ‘Big Bang’ 8 ปีที่แล้ว ตู้ม ขึ้นมา มันเกิดความยุ่งเหยิง ต่างคนต่างคิด แต่มันต้องช่วยกันคิด คิดไปคิดมา มันก็เริ่มเป็นระเบียบมากขึ้น ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง โลกเริ่มเย็นลง และมีน้ำ โลกเลยเริ่มน่าอยู่

โลกก็คือสิ่งที่ตกผลึกออกมา มันก็เหมือนกัน คุณต้องใช้เวลา ไม่มีอะไรได้มาง่าย เหมือนการปลูกมะม่วง หากคุณอยากได้ผล แต่คุณยังไม่ปลูกเลย จะได้กินไหม สำหรับขอนแก่น เราค่อยๆ ทำตั้งแต่ปลูก ลดน้ำ พรวนดิน เฝ้าดูแลรอวันที่จะออกดอกออกผล

 

หลังจากที่ใช้ Smart Bus ชาวขอนแก่นพอใจกันไหม

ก็มีบ่นอยู่บ้าง ไม่ตรงเวลา เพราะบางคนยังไม่รู้ว่า เวลาที่บอกรถมาในแอปพลิเคชันบางทีก็ไม่ตรงเป๊ะได้ มีอาจารย์มหาลัยบางคนออกไปจับเวลา แล้วบอกว่า นี่ผมออกมา ต้องรอ กว่าจะมา เวลามันบวกลบไป 30 วินาที แหม่ แต่คุณจะเอาอะไร เมืองนอกยังทำไม่ได้เลย แล้วคุณจะเอาแบบตรงเป๊ะ มันเป็นไปไม่ได้

ลองสาธิตใช้แอปพลิเคชัน Smart Bus ให้ดูหน่อย

(หยิบโทรศัพท์ออกมา พร้อมเปิดแอปพลิเคชัน) นี่คือ ตัวรถบัสในตัวเมืองขอนแก่นทั้งหมด ซึ่งอยู่ตามเส้นทางหลักของเมืองขอนแก่น เมื่อเราเอามือไปแตะที่ตัวรถ เราจะเห็นชื่อคนขับ ป้ายทะเบียน อัตราความเร็วของรถ จะวิ่งถึงป้ายต่างๆ เมื่อไหร่ เมื่อเรานั่ง และเห็นว่าคนขับไม่ดี เราสามารถแคปหน้าจอและส่งให้เจ้าหน้าที่เพื่อร้องเรียนได้

 

 

ได้งบประมาณจากภาครัฐเข้ามาลงทุนใน Smart Bus บ้างไหม

ไม่มี! เอกชนลงทุนเอง แต่ก็เป็นบริการสาธารณะทั่วไปนะ ทำง่ายจะตาย ทำแป๊ปเดียว 4 เดือนเสร็จ และได้รางวัลด้วย แต่แค่นี้ยังไม่พอไง เมืองนอกเขาหาว่า ทำแค่นี้ได้รางวัล ประเทศไทยกระจอกจัง เราเลยคิดว่า มันต้องทำอะไรที่ดีกว่านี้ เจ๋งกว่านี้

คิดว่าการพัฒนาเมืองโดยเน้น TOD จะเป็นเทรนด์ ในอนาคตไหม

ตอนนี้ประเทศไทยเรากำลังแก้กฎหมายในเรื่องนี้ โดยจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองแบบเน้น TOD มากขึ้น

คิดว่าประเทศไทยมีความหวังกับการพัฒนาเมืองในปัจจุบันไหม

มีแน่นอน เราต้องมีความหวัง ต้องมีฝัน ประเทศไทยต้องมีฝัน เด็กต้องมีความหวังความฝันอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น หากเราบอกว่าระบบราชการทำให้เราหมดหวัง เราทำของเราไปเรื่อยๆ พวกเราทำไป ดันไป เลือกตั้งใหม่ นักการเมืองเข้ามา ก็มาว่ากัน หากพวกท่าน (นักการเมือง) ไม่เอาด้วย ผมก็หยุด แต่ถ้าวันไหนพวกท่านลง พวกผมก็จะทำต่อ ฉะนั้น จึงอย่าหยุด อย่าอ้างว่าเพราะอย่างนู้นอย่างนี้

มองมาที่ขอนแก่น เราเป็นอย่างนี้ หลายคนไม่อยากจะเชื่อว่าฝันของชาวขอนแก่นวันนี้เริ่มจะเป็นความจริงได้ แต่ถ้าเราเดินได้เร็วกว่านี้ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากกว่านี้ เราคิดว่าจะไปถึงฝันได้เร็วขึ้น

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022