fbpx
Statement Ceilings: เพดานประกาศศักดา

Statement Ceilings: เพดานประกาศศักดา

เทรนด์นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางๆ ปีที่แล้ว แต่มาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงต้นปีนี้

เทรนด์อะไรนะ – หลายคนอาจจะยังไม่รู้ถ้าไม่ได้อยู่ในแวดวงนักออกแบบตกแต่งภายใน

เทรนด์ที่ว่าก็คือ Statement Ceilings หรือแปลให้โอเวอร์หน่อยๆ ได้ว่า ‘เพดานประกาศศักดา’

ว่าแต่ว่า อะไรคือ Statement Ceilings กันแน่

แน่นอน ถ้าคุณเคยเข้าไปในวังหรืออาคารสถานที่สำคัญๆ ทั้งหลายในโลก ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น พระราชวังแวร์ซายส์ หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งกรุงเวียนนา คุณอาจตกตะลึงไปกับสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร แต่สิ่งที่นักออกแบบถือกันว่าเป็น Statement หรือคำประกาศแห่งความหรูหราที่สุด ไม่ใช่เครื่องประดับผนังหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ หรอกนะครับ สิ่งที่หรูที่สุดคือสิ่งที่อยู่สูงที่สุด

นั่นก็คือเพดาน

นั่นคือเหตุผลที่มิเคลันเจโล ต้องไปวาดภาพประดับเพดานของซิสทีนชาเพลในวาติกัน กระทั่งกลายเป็นภาพกำเนิดอดัมอันลือลั่น แต่นอกจากภาพนี้แล้ว มิเคลันเจโลยังรังสรรค์ภาพเขียนเอาไว้บนเพดานเต็มทั้งโบสถ์ด้วย

วาดภาพประดับเพดานของซิสทีนชาเพลในวาติกัน | ภาพจากเว็บไซต์ tiqets
วาดภาพประดับเพดานของซิสทีนชาเพลในวาติกัน | ภาพจากเว็บไซต์ tiqets

เพดานทำนองนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในอาคารสาธารณะ ตามบ้านทั่วไปมักจะไม่ได้มีเพดานที่โอ่อ่าอลังการอะไรมากนัก อย่างมากก็มีการตกแต่งเพดานเพียงเล็กน้อย เช่น ยกขึ้นไปเป็นหลุม แต่อาคารสมัยใหม่โดยทั่วไปจะเป็นเพดานแบบที่เรียกว่า Dropped Ceiling คือทำเป็นฝ้าต่ำลงมาจากเพดานจริงด้านบน เพื่อประโยชน์ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สายไฟหรือท่อ ที่อาจดูแล้วรกตาไม่สวยงาม ดังนั้น การประดับตกแต่งเพดานแบบนี้ที่เราพบเห็นมากที่สุด ก็คือการติดตั้งไฟแบบฝังเข้าไปในฝ้า แต่ที่เหลือก็มักจะปล่อยเรียบๆ หรือมีเส้นสายบ้างก็เพียงเล็กน้อย

เพดานแบบเรียบๆ คือการ ‘ลดทอน’ ความโอ่อ่าอลังการแบบยุคก่อนสงครามโลก เพราะนับตั้งแต่ทศวรรษสี่ศูนย์เป็นต้นมา (คือระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) การตกแต่งเพดานเพื่อความอลังการก็ค่อยๆ หายไป ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ เหตุผลง่ายที่สุดก็คือความประหยัด แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การออกแบบสไตล์โมเดิร์นที่ลดทอนรายละเอียดต่างๆ ลงไป (ซึ่งจริงๆ ก็ช่วยเรื่องประหยัดงบประมาณด้วยนั่นแหละครับ) ไม่นิยมเสริมแต่งอะไรที่หรูหราฟู่ฟ่าเกินความจำเป็นลงไป

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไปดูใน Pinterest ปีนี้ คุณจะพบว่าการเสิร์ชหาคำว่า Statement Ceilings นั้น มีสถิติพุ่งสูงขึ้นถึงราว 300 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลนี้มาจากบทความนี้ ในนิตยสนาร Vogue) และถ้าไปดูเว็บไซต์เกี่ยวกับเทรนด์ตกแต่งบ้านอื่นๆ เราก็จะพบแนวโน้มเดียวกัน นั่นคือเพดานที่เคยถูกทิ้งให้ว่างเปล่าขาวโพลน กำลังได้รับความสนใจใหม่อีกครั้งหนึ่ง

Statement Ceilings | ภาพจากเว็บไซต์ Vogue
Statement Ceilings | ภาพจากเว็บไซต์ Vogue
Statement Ceilings | ภาพจากเว็บไซต์ Vogue
Statement Ceilings | ภาพจากเว็บไซต์ Vogue

แต่แน่นอนครับ Statement Ceilings หรือ ‘เพดานประกาศศักดา’ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ย่อมไม่เหมือนกับเพดานสลักเสลาวิจิตรบรรจง หรือมีภาพวาดของศิลปินระดับโลกไปประดับเหมือนในยุคโบราณ

เพราะนี่คือการประกาศศักดาแบบสมัยใหม่โมเดิร์น เราจึงเริ่มพบเห็นเพดานประกาศศักดาแบบใหม่ๆ ได้เต็มไปหมด

เพดานประกาศศักดา (หรือจริงๆ ก็คือ ‘ตัวตน’ ของผู้เป็นเจ้าของ) ที่น่าจะได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้ น่าจะเป็นการเอากระดาษปิดผนังขึ้นไปปิดไว้บนเพดาน โดยต้องเลือกลวดลายที่เหมาะสมกับรสนิยมและตัวตนของเจ้าของบ้าน เทรนด์นี้ถ้าทำดีๆ สามารถก่อให้เกิด ‘ดราม่า’ ในทางสายตาได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกแพทเทิร์นของลวดลายที่เป็นแบบเดียวกันทั้งห้อง หรือเลือกลวดลายที่ตัดกันกับส่วนอื่นๆ เพื่อขับเน้นส่วนเพดานให้โดดเด่นขึ้นก็ตาม

เพดานอีกแบบหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึง ‘มรดก’ ความสืบเนื่องทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ (แต่เป็นที่นิยมในบ้านทางตะวันตกเท่านั้นนะครับ) คือเพดานแบบที่โชว์คานไม้

ที่จริง เพดานแบบนี้ไม่ใช่ของแปลกใหม่ เพราะถ้าเราไปดูบ้านเก่าแก่อายุเป็นร้อยๆ ปี หรือบ้านที่ดัดแปลงจากโรงเรือนในฟาร์ม (หรือที่เรียกว่า Barnhouse) เราจะพบเห็นเพดานที่มีการโชว์คานไม้แบบนี้ได้มากมาย ซึ่งบางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ค่อยชอบ

แต่ในโลกยุคใหม่ เพดานแบบนี้ถือเป็นหนึ่งใน ‘เพดานประกาศศักดา’ กับเขาด้วยเหมือนกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพดานเก่าแก่จริงๆ แต่มีการปรับนำคานไม้เข้ามาประยุกต์กับการออกแบบที่เป็นสไตล์อื่นๆ ได้หมด แม้กระทั่งแบบโมเดิร์น เป็นการแสดงให้เห็นถึงรสนิยมและตัวตนของเจ้าของ ว่าเป็นคนที่รักความเป็นธรรมชาติและความดิบ (Rustic) ของไม้ นอกจากนี้ ยังบอกเป็นนัยด้วยว่าคนที่ชอบอะไรแบบนี้น่าจะเป็นคนที่ ‘มีราก’ อะไรบางอย่าง ไม่ใช่คนสมัยใหม่ที่คุ้นชินกับการตกแต่งโมเดิร์นจ๋าเพียงอย่างเดียว ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดการผสมผสานของสไตล์การตกแต่งขึ้นมา

Statement Ceilings | ภาพจากเว็บไซต์ Vogue
Statement Ceilings | ภาพจาก Pinterest

Statement Ceilings อีกแบบหนึ่งที่แสดงถึงความ ‘กล้า’ (Boldness) ในทางการตกแต่ง ก็คือการใช้ลายแถบ (Stripes) บนเพดาน โดยอาจใช้แม่สีหรือสีที่ตัดกันกับสีห้อง (เช่นสีขาวดำ) ก็ได้ เพื่อสร้างความแตกต่างขึ้นมา เพดานแบบนี้เป็นวิธีตกแต่งแบบ ‘มากถึงมากที่สุด’ (Maximalism) ซึ่งเกิดขึ้นมาต่อต้านการตกแต่งแบบ ‘น้อยถึงน้อยที่สุด’ (Minimalism) ที่ครองโลกมาเป็นเวลายาวนาน แต่เพดานแบบนี้ถือว่าทำให้ดูดีได้ยากเพราะความเยอะของมัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นความเยอะนี่แหละครับ ที่ทำให้เจ้าของสามารถแสดงออกซึ่งตัวตนได้มากที่สุดตามไปด้วย

การตกแต่งอีกแบบหนึ่งที่หลายคนชอบและเป็นเทรนด์มานานแล้ว ก็คือการตกแต่งแบบลอฟท์หรือแบบอุตสาหกรรม ที่มีที่มาจากการดัดแปลงโกดังเก่าให้กลายเป็นที่อยู่อาศัย ในอดีต การตกแต่งแบบอุตสาหกรรมย่อมไม่ต้องการอะไรมาก เช่น เพดานก็เป็นปูนเปลือย มีท่อเหล็กเอาไว้ร้อยสายไฟต่างๆ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว แต่ในปัจจุบัน เมื่อเทรนด์ Statement Ceilings มาแรง การออกแบบแบบอุตสาหกรรมก็มีความพิสดารพันลึกมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะดูเรียบง่าย แต่ที่จริงแล้วการออกแบบแบบอุตสาหกรรมนั้น เอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ของ ‘วัสดุ’ คือมีการนำวัสดุที่หลากหลายมาใช้ประดับตกแต่งได้มาก ทั้งเหล็ก อลูมิเนียม เซรามิก ปูนเปลือย ท่อโลหะแบบต่างๆ ตั้งแต่ทองแดงจนถึงพลาสติก ดังนั้น Statement Ceilings ในแบบอุตสาหกรรมจึงเป็นที่กล่าวถึงกันว่าน่าตื่นเต้นที่สุด เพราะมันเปลี่ยนโฉมการออกแบบแบบลอฟท์ที่เคยแข็งกระด้างไปโดยสิ้นเชิง แถมยังเริ่มผสมผสานกับการออกแบบสไตล์อื่นๆ อีกด้วย

เพดานประกาศตัวตนอีกแบบหนึ่งที่ยังพบเห็นไม่มากนัก ก็คือการใช้กระเบื้องมากรุเพดานเสียเลย ซึ่งมักจะพบในห้องน้ำ ด้วยการใช้กระเบื้องลวดลายเดียวกันไล่เรียงขึ้นไปจนกระทั่งถึงเพดานด้านบน แต่แน่นอน นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเลือกสรรลวดลายกระเบื้องที่เหมาะเจาะพอดี

ส่วนเพดานประกาศตัวตนที่น่าจะยากและอลังการที่สุด ก็คือเพดานแบบที่จ้างคนมาวาดหรือเขียน (Muraled Statement Ceiling) กันเลย คล้ายๆ กับที่วาติกันจ้างมิเคลันเจโลมาวาดนั่นแหละครับ เพดานแบบนี้จะบ่งบอกตัวตนของเจ้าของได้ดีที่สุด แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการวาดอะไรง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อนเป็นงานศิลปะขนาดนั้น เช่น เป็นภาพทิวทัศน์หรือท้องฟ้าที่เรียบง่ายมากกว่า

ที่ว่ามาทั้งหมด คือ Statement Ceilings ในรูปแบบต่างๆ ที่เอาเข้าจริงก็อาจมีความพิสดารพันลึกไปได้มากกว่านี้อีกเยอะแยะ แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมถึงเกิด Statement Ceilings ขึ้นมาในช่วงเวลานี้จนกระทั่งกลายเป็นเทรนด์ที่นักออกแบบทั่วโลกต่างจับตามอง

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ‘ทำไม’ เทรนด์นี้ถึงมาแรง?

ผมลองค้นหาคำอธิบายในเรื่องนี้ แต่พบว่านอกจากในด้านการตกแต่งแล้ว แทบไม่มีใครอธิบายเอาไว้เลยว่าเพราะอะไรเพดานแบบนี้จึงได้รับความนิยม

เศรษฐกิจดีขึ้น? คนสนใจการเมืองเรื่องอัตลักษณ์มากขึ้น? เราหวนหาวันคืนเก่าๆ มากขึ้น? ฯลฯ

แม้ยังไม่มีคำตอบ – แต่อยากลองชวนมาสังเกตดูเพดานที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ๆ ในโลกสมัยใหม่ ว่ามีลักษณะเป็น Statement Ceilings มากขึ้นหรือเปล่า และการเกิดขึ้นของ Statement Ceilings ในแต่ละที่นั้น – บอกอะไรเราบ้างไหม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save