fbpx
ถอดรหัสการพัฒนาเมืองแบบฉลาดสไตล์สิงคโปร์

ถอดรหัสการพัฒนาเมืองแบบฉลาดสไตล์สิงคโปร์

เคยนึกสงสัยกันไหมว่าทำไมเมืองต่างๆ ในประเทศไทยถึงพัฒนาไปอย่างเชื่องช้าไร้ทิศทาง ไม่ค่อยดูเจริญหูเจริญตาเหมือนเมืองประเทศอื่นๆ เขา ทั้งที่ประเทศของเราก็ดูจะเพียบพร้อมในแง่ของทรัพยากรและกำลังคน

นั่นสิ ทำไม?

 

สาเหตุอาจเกิดจากโมเดลการพัฒนาเมืองของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

โมเดลการพัฒนาเมืองนี่แหละที่เป็นตัวชี้ขาดว่าเมืองจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยดีขึ้นหรือไม่

วันนี้เราจะพาไปดูว่าในประเทศที่เจริญแล้วอย่าง ‘สิงคโปร์’ เขามีแนวทางการพัฒนาเมืองกันอย่างไร

 

สิงคโปร์: City of the Smartness

 

อย่างที่หลายคนรับรู้กัน สิงคโปร์นั้นเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ในอาเซียน มีสภาพเป็นเกาะ ไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวางอะไร โดยถ้าจะวัดกันจริงๆ สิงคโปร์มีพื้นแผ่นดินรวมกันเพียง 719 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น และในส่วนของประชากรก็มีเพียง 5.6 ล้านคน แถมสิงคโปร์ก็ยังเป็นประเทศเกิดใหม่ที่มีอายุแบเบาะเพียง 50 ปี จึงทำให้ดูเหมือนไม่มีรากฐานทางวัฒนธรรมแต่อย่างใด

ด้วยต้นทุนอันน้อยนิดของสิงคโปร์ จึงทำให้หลายคนเคยมองว่า อย่างไรก็แล้วแต่ สิงคโปร์ก็ไม่มีวันพัฒนาขึ้นมาอยู่ในกลุ่มเสือของอาเซียนได้หรอก

แต่สิงคโปร์ก็สามารถพิสูจน์ให้เพื่อนบ้านและชาวโลกได้เห็นว่าถึงจะเล็กแต่ก็แจ๋วได้ ดูได้จากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์สามารถพัฒนาเศรษฐกิจจนแซงหน้าเพื่อนๆ ในอาเซียนไปได้แบบขาดลอย ในปี 2016 สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวถึง 52,600 ดอลลาห์สหรัฐ ขณะที่ไทยและอินโดนีเซียมีเพียงเพียง 6,901 และ 3,974 ดอลลาห์สหรัฐ ตามลำดับ

Calestous Juma แห่ง Harvard Kennedy School เคยให้เหตุผลว่า ที่สิงคโปร์มาไกลได้ถึงเพียงนี้ ก็เพราะว่ารัฐบาลมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติระยะยาว และสามารถเดินตามแผนดังกล่าวมาได้อย่างสม่ำเสมอ จนทำให้ประเทศสิงคโปร์ขึ้นชื่อว่า ‘Smart Nation’ หรือ ‘ประเทศอัจฉริยะ’ และเป็นศูนย์รวมของทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ (แบบฉลาดมากๆ) จากทั่วโลกมาร่วมกันพัฒนาประเทศ

Juma บอกย้ำว่า การเปลี่ยนสิงคโปร์จากประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ เลย ให้เป็นประเทศที่มีศักยภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไม่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นลอยๆ แบบคิดจะพัฒนา ก็เอาเงินไปลงหรือทุ่มกันแบบไม่คิดน่าคิดหลัง (เหมือนบางประเทศ) แต่ต้องมีการขับเคลื่อนประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ หรือย่างก้าวแบบมีชั้นเชิง เขามองว่าที่สิงคโปร์พัฒนาชาติจนสำเร็จผล ก็เพราะว่าให้ความสำคัญกับ ‘การพัฒนาเมือง’ เป็นอันดับต้นๆ มาตั้งแต่แรกนี่แหละ

ในช่วงห้าสิบปืที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์พยายามพัฒนาเมืองให้เป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’ (Smart City) ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมายกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น โดยเป้าหมายของการพัฒนาเมืองแบบนี้ นอกจากจะเป็นไปเพื่อทำให้คนในประเทศใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายแล้ว ยังจะเป็นการสร้างจุดสนใจให้คนเก่งๆ จากต่างประเทศย้ายเข้ามาอยู่และทำงานในประเทศสิงคโปร์มากขึ้นอีกด้วย

ดูเหมือนแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของสิงคโปร์จะได้ผล ดูได้จากในปี 2017 นิตยสาร Forbes จัดให้เมืองสิงคโปร์เป็นเมืองที่อัจฉริยะติดอันท็อป 3 ของเอเชีย

 

พัฒนาเมืองอัจริยะในแบบชาวสิงโตทะเล

 

ในปี 2017 นิตยสารออนไลน์ Global-is-Asian ของ Lee Kuan Yew School of Public Policy ได้สัมภาษณ์ Liu Thai Ker บิดาแห่งการผังเมืองของสิงคโปร์ และผู้ที่วางรากฐานการพัฒนาเมืองสิงคโปร์ตั้งแต่ตั้งหลังได้รับเอกราชในปี 1965 ถึงแนวทางการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สิงคโปร์มาไกลถึงขนาดนี้

Liu ถอดบทเรียนและพบว่าปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองอัจฉริยะมีอยู่ 4 ประการ

ปัจจัยแรกคือ ความมุ่งมั่นทางการเมือง (Political will) เขาเล่าว่า เนื่องจากผู้นำทางการเมืองรุ่นแรกๆ ของสิงคโปร์ โดยเฉพาะ Lee Kuan Yew มีวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่ในการเปลี่ยนเมืองที่ล้าหลังให้เป็นเมืองที่ทันสมัยมากขึ้น จึงทำให้การพัฒนาเมืองได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่สองคือ การวางผังเมืองระยะยาว (Long-term urban planning) สิงคโปร์เริ่มวางผังเมืองระยะยาวตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้รัฐบาลรู้ว่าจะจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานเมื่อไหร่และอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและรองรับความต้องการในอนาคตได้ดีที่สุด

ปัจจัยที่สามคือ การลงทุนอย่างชาญฉลาด (Wise investments) หมายความว่าเวลาที่รัฐบาลจะลงทุนอะไร รัฐบาลมักจะลงทุนเกี่ยวกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในบริเวณที่มีแนวโน้มว่าจะพัฒนากลายเป็นเมืองในอนาคต เนื่องจากว่าดอกผลของการลงทุนจะสร้างรายได้มหาศาล (ที่มักเป็นกำไร) กลับคืนสู่รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็สามารถหมุนเงินจากรายได้ดังกล่าวเพื่อต่อยอดการพัฒนาเมืองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ปัจจัยสุดท้าย คือ บทบาทของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและการเคหะ (Role of Housing & Development Board (HDB)) Liu บอกว่า HDB มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเมืองของประเทศ เพราะหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานเดียวที่ได้รับอำนาจให้สามารถพัฒนาเมืองครอบคลุมทุกมิติ พูดอีกอย่างก็คือเวลามีประเด็นการพัฒนาเมือง HDB ก็จะได้เป็นเจ้าภาพไปเลย ไม่ต้องไปแย่งอำนาจหรือทรัพยากรจากหน่วยงานอื่น ทำให้ HDB ทำงานได้คล่องตัว ในปี 1960 เมืองสิงคโปร์ยังมีสภาพไม่น่าอยู่ ดูได้จาก ชาวสิงคโปร์ราวสองในสามของประเทศ (1.6 ล้านคน) ต้องอยู่อาศัยในเขตสลัม แต่ด้วยการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยของ HDB แบบต่อเนื่องและเข้มข้น ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ก็ได้มีที่อยู่อาศัยที่ทันสมัยและถูกสุขภาวะในที่สุด

จากบทเรียนนี้ ทำให้เราเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองอัจฉริยะชั้นนำของโลกนั้น ไม่ใช่เพราะ ‘เทคโนโลยีที่ทันสมัย’ แต่เป็น ‘แนวคิดการพัฒนาเมือง’ ของชาวสิงคโปร์ยุคบุกเบิกต่างหาก ที่ช่วยวางรากฐานอันแข็งแรงในการพัฒนาเมืองที่พร้อมสำหรับคนรุ่นหลังและการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคต

 

ย้อนกลับมาดูประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่การกลายไปเป็นเมืองอัจฉริยะหรือเมือง 4.0 ของหลายมืองยังเป็นเรื่องยาก ทั้งที่พยายามร่างแผนหรือประกาศวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเป็น ‘Smart City’ มานักต่อนักแล้วก็ตาม

บางทีเราอาจต้องกลับมาย้อนดูตัวเองเสียหน่อย ว่าเรายึดติดอยู่กับ ‘เทคโนโลยีอันแสนทันสมัย’อยู่ถ่ายเดียว โดยไม่สนใจการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอย่างถึงรากหรือเปล่า

ถึงสิงคโปร์จะมีบริบททางสังคมและภูมิศาสตร์ที่ต่างจากเราไม่น้อย แต่เราก็น่าจะเรียนรู้จากเขาได้บ้าง

 

เอาเข้าจริง การปรับทัศนคติของ ‘ผู้นำ’ ในการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องจำเป็นมาก หากต้องการให้การพัฒนาเมืองในประเทศไทยเดินหน้าต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม

ข้อมูล GDP per capita ของประเทศไทย จาก Trading Economics

ข้อมูล GDP per capita ของประเทศสิงคโปร์ จาก Trading Economics

ข้อมูล GDP per capita ของประเทศอินโดนีเซีย จาก Trading Economics

บทความ เรื่อง The Smartest Cities In The World For 2017 จาก Forbes

บทความ เรื่อง SINGAPORE: A MODEL FOR SUSTAINABLE URBAN GROWTH จาก Future Cities

บทความ เรื่อง Singapore’s success in urban planning: Learning from father of city planning Dr Liu Thai Ker จาก Global-is-Asian

บทความ เรื่อง Development: Learning from Singapore’s Lee Kuan Yew โดย Calestous Juma จาก Belfer Center

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save