fbpx
แบบไหน - หาอะไร : แอปนัด :) กับการเมืองเรื่องเพศ

แบบไหน – หาอะไร : แอปนัด :) กับการเมืองเรื่องเพศ

แม้จะไม่มีเส้นแบ่งอย่างเป็นทางการ แต่เราเชื่อว่าการมาถึงของคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตไฮสปีดเร็วปรู๊ดปร๊าดคือหมุดหมายสำคัญของโลกความรักในยุคสมัยใหม่

อย่างที่คุณแม่ สวีทนุช ได้ร้องเพลงบันทึกกาลสมัยเอาไว้ว่า ในโลกไฮเทคทุกอย่างเล็กลงแต่รักฉันคงยิ่งใหญ่เหมือนเดิม

จะไม่ให้เล็กลงได้อย่างไรกัน ในเมื่อตอนนี้แค่เปิดแอปพลิเคชั่นมาปัดซ้ายปัดขวา คุยไปคุยมา ความรักอาจจะมาหาแบบไม่ต้องเดินออกจากบ้านให้เมื่อย!

ยิ่งถ้าลองมาดูข้อมูลทางสถิติ ความสะดวกสบายของความรักดิลิเวอรี่ในโลกยุคใหม่ดูจะถูกจริตคนยุคนี้อยู่ไม่น้อย – ในสหราชอาณาจักร 11.7 ล้านปอนด์คือจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากค่าใช้จ่ายในการออกเดทแต่ละครั้งของหนุ่มสาวที่เจอกันผ่านบริการหาคู่ ส่วนในสหรัฐอเมริกา บริการหาคู่ออนไลน์ทำรายได้ไปถึงสองพันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี ด้วยรายได้ที่เติบโตขึ้นถึงปีละ 5%

จากการสำรวจของ Pew Research Center ในปี 2013 แม้ว่าผู้คนในช่วงก้าวสู่วัยผู้ใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ใช้บริการมากที่สุด (อย่างที่เราพอจะเดากันได้) แต่ลุงป้าวัยห้าสิบหยกๆ หกสิบหย่อนๆ เองก็ยังมาปัดจอหารักกันเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับลูกๆ หลานๆ ไม่แพ้กัน

มองในมิติเชิงธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ คงไม่ต้องสงสัยว่าบรรดาบริการหาคู่ยุคใหม่ได้เข้ามามีบทบาทและยิ่งใหญ่มากแค่ไหน แต่ในอีกฟากหนึ่งไม่ใกล้ไม่ไกล ยังมีบริการหาคู่แบบเฉพาะกลุ่มที่สร้างพลังสะเทือนในภาพการเมืองทั้งระดับสังคมและในกลุ่มด้วยกันเอง

แอป ‘นัดยิ้ม’ คือสิ่งที่เรากำลังพูดถึง

สแลงคำนี้ไม่ได้หมายถึงนัดกันไปฉีกยิ้ม ถ้าจะเทียบเคียงก็มีความหมายคล้ายกับคำว่า ‘Hook Up’ ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึงการเจอกันเพื่อมีเพศสัมพันธ์ แน่นอนว่าในวงการแอปพลิเคชั่นหาคู่ของชาวเกย์และชายไบเซ็กซ์ชวล การนัดยิ้มที่ว่าได้กลายเป็นภาพลักษณ์ของมันแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปเรียบร้อย (หมายเหตุไว้ตัวโตๆ ว่าที่จริงแล้วแอปอย่าง Tinder ที่เน้นไปที่การหาคู่ของชายหญิงก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือนัดยิ้มได้เช่นเดียวกัน แต่ศัพท์นี้ไม่ได้ใช้กันแพร่หลายเท่า)

ตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2009 แอปพลิเคชั่นหาคู่สำหรับชาวเกย์และไบฯ อย่าง Grindr กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ของ gay culture ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับภูมิทัศน์ความสัมพันธ์ของกลุ่มชายรักเพศเดียวกันไปไม่น้อย

จากเดิมที่การสานสัมพันธ์จะเกิดขึ้นเฉพาะในย่านเกย์ที่มีผับบาร์เฉพาะทาง (หรือตามเว็บบอร์ดสาธารณะ) แต่ตอนนี้แค่สไลด์หน้าจอ Grindr ก็ทำให้เราได้เห็นคนที่เป็นเกย์และอยู่ในรัศมีรอบตัวพร้อมให้กดปุ่มเซย์ฮัลโหลในเสี้ยววินาที จนมันกลายเป็นจำเลยในข้อหาทำให้ผับบาร์ในย่านเกย์ของประเทศฝั่งตะวันตกซบเซาลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต ร้อนถึง Joel Simkhai เจ้าของแอปต้องบอกว่าไม่จริงหรอก Grindr ต่างหากที่เป็นตัวช่วยเริ่มบทสนทนาสำหรับคนที่ขี้อายเกินกว่าจะไปแอ๊วใครในผับ!

ในทุกๆ วัน ชาวเกย์กว่า 2.4 ล้านคนออนไลน์บน Grindr จาก 196 ประเทศทั่วโลก แต่ละคนใช้แอปเพื่อหาคู่ (ทั้งคู่รักและคู่นอน) โดยเฉลี่ยคนละ 165 นาทีต่อสัปดาห์ สูงที่สุดในบรรดาแอปพลิเคชั่นหาคู่ทั้งหมด ความฮิตของมันกลายข้อเสียในประเทศที่ยังมีกฎหมายระบุให้การมีความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันเป็นความผิด เช่นในประเทศอียิปต์ ที่ตำรวจท้องถิ่นใช้ Grindr เป็นเครื่องมือระบุที่อยู่ของชาวเกย์ตามปาร์ตี้หรือแหล่งแฮงก์เอาท์ต่างๆ บางคนถูกหลอกพูดคุยในแอปเพื่อนัดเจอตามร้านกาแฟเพื่อรวบตัวเข้าคุก

แต่ในข้อเสียของความฮิตที่ว่า Grindr (และแอปนัดยิ้มอื่นๆ ที่มีคอนเซ็ปต์เดียวกัน) ก็ยังมีข้อดีอยู่บ้างในฐานะของฐานที่มั่นเพื่อการแสดงออก ‘ทางการเมือง’ ในโลกยุคใหม่

ด้วยคุณสมบัติที่สามารถระบุตำแหน่งผู้ใช้ได้อย่างละเอียดยิบ จากที่ฟีเจอร์นี้เคยถูกใช้เพื่อส่องหนุ่มๆ รอบตัว นักการเมืองและแอคทิวิสต์หลายกลุ่มก็เริ่มหันมาใช้ประโยชน์จากมันเหมือนกัน

ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่นักการเมืองออสเตรเลียหลายคนของพรรค Australians Greens ที่มีนโยบายสนับสนุนสิทธิของคนเพศหลากหลายก็เลือกใช้แอปนี้เพื่อลงโฆษณาหาเสียงกับชาวเกย์ในพราห์ราน เขตเล็กๆ ในเมืองเมลเบิร์นให้ออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับผู้สมัคร หรือในสหรัฐอเมริกาเอง กลุ่ม Human Rights Campaign ได้ใช้ Grindr ลงแบนเนอร์โฆษณาแสดงจุดยืนต่อต้านชาวเกย์ที่สนับสนุนแนวคิดพรรครีพับลิกัน (แต่ยังเปิดแอปหาคนไปยิ้ม) ในช่วงที่งาน Consevative Politial Action Conference หรือ CPAC จัดขึ้นในรัฐแมรีแลนด์ ด้วยข้อความ อย่ามาชวนพวกเราขึ้นห้อง ถ้ายังต่อต้านเราในงาน CPAC!

นอกจากโฆษณาเชิงการเมืองที่มาลงในแอป หลายคนบอกว่าการมาถึงของเครื่องมือนัดยิ้มออนไลน์เหล่านี้เป็นเหมือนยุค ‘เรอเนสซองต์’ ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเพศหลากหลาย หลังจากเจ้าของแอปหลายรายเริ่มเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการเป็นเพียงแอปแก้เหงา ให้เป็นแพลตฟอร์มแสดงจุดยืนทางการเมือง และช่วยสร้างคอนเน็กชั่นในโลกการเมืองมากกว่าจะจบลงแค่บนเตียง

โปรเจ็คต์ Grindr for Equality คือความพยายามของ Grindr ที่ต้องการขยายความเป็นไปได้ของแอปหาคู่นอนให้เป็นเครื่องมือสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมของกลุ่มเพศหลากหลาย และรวบรวมพลังชาวเกย์เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้ฟีเจอร์ในแอปให้เป็นประโยชน์ เช่นการส่งข้อความให้โชว์บนหน้าจอของผู้ใช้ในประเทศเลบานอน เพื่อให้ข้อมูลกับผู้ลี้ภัยจากซีเรียว่ามีที่ไหนบ้างที่ให้บริการด้านสุขภาพและกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ หรือในช่วงที่มีการเลือกตั้ง แอปก็จะส่งข้อความชวนไปลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมืองที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศให้กับผู้ใช้งานในประเทศต่างๆ รวมไปถึงการให้ข้อมูลด้านสุขภาพอย่างการใช้ยา PrEP และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ตรวจ HIV ในแต่ละประเทศ

ความพยายามสร้างพื้นที่ในแอปให้เป็นที่รวมตัวเพื่อส่งเสียงทางการเมืองยังตามมาในอีกหลายๆ แอป ทั้งใน Hornet, SCRUFF หรือ Blued ปรากฎการณ์ที่ว่าทำให้ Mark Stein นักวิชาการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์กลุ่มเควียร์มองว่าสิ่งนี้ใกล้เคียงกับช่วงเวลาในยุค 50s ถึง 80s ที่มีการรวมตัวของคนเพศหลากหลายทางจดหมายผ่านกลุ่ม pen pal หรือนิตยสาร LGBTQ+ ที่ผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น ซึ่งช่วยขยายการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขาไม่ต่างกับสิ่งที่แอปต่างๆ พยายามจะทำในยุคนี้

ขณะที่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นพยายามจะ ‘รวบรวม’ กลุ่มผู้ใช้ให้เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ในอีกด้านหนึ่ง ดูเหมือนว่าผู้ใช้เองกลับสร้าง ‘กำแพง’ ภายในกลุ่มให้ก่อตัวสูงขึ้นมากเรื่อยๆ

‘รุก ชอบแมนๆ ขอไม่สาว ไม่อ้วน’ ‘รับ ขอแมน ล่ำๆ’ ประโยคแบบนี้เจอได้บ่อยๆ ในโปรไฟล์ของคนที่ใช้แอปหาคู่ของกลุ่มเกย์

ในต่างประเทศ บางคนถึงขั้นเขียนไว้ว่า ‘no black’ (ไม่สนคนผิวสี) ‘no rice’ (ไม่เอาคนเอเชีย) ‘no spice’ (ไม่ชอบคนลาติน) หรือ ‘no curry’ (ไม่กินคนอินเดีย) เพื่อบอกให้คนที่เข้าข่ายรู้ว่าไม่ต้องทักมา ฉันไม่สนเธอ

การบอกสเป็กของตัวเองเอาไว้ในหน้าโปรไฟล์แบบนี้เป็นเพียงการประกาศ ‘รสนิยมทางเพศ’ หรือเป็นหนึ่งในการ ‘เหยียดชาติพันธ์ุ (รวมไปถึงอายุหรือรูปร่าง)’ คำถามนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันในสังคมของคนเพศหลากหลาย แต่จากงานวิจัยของกลุ่มนักวิชาการชาวออสเตรเลียที่สอบถามความเห็นเกี่ยวกับชาติพันธุ์และการหาคู่จากชาวเกย์และไบเซ็กซ์ชวลกว่า 2,000 คน และนำมาเทียบกับดัชนีชี้วัดการเหยียดเชื้อชาติ Quick Discrimination Index (QDI) ที่ผู้ถูกสอบถามได้ทำ ผลที่ออกมาทำให้เราได้รู้ว่าสองสิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องกัน คนที่มองว่าการใส่ข้อความ ‘ไม่เอา…’ ไว้ในโปรไฟล์เป็นเพียงการบอกรสนิยมทางเพศ ผลจากการวัดดัชนี QDI ก็จะโน้มเอียงไปในเชิง ‘เฉยๆ’ กับการเหยียดเชื้อชาติตามไปด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากวิถีการเลือกปฏิบัติและการเหยียดกันในคนในแอปทำให้เกิด ‘แอปพลิเคชั่นเกย์แบบเฉพาะทาง’ ตามมา เช่นแอปอย่าง Growlr แอปสำหรับเกย์หมีและเกย์รูปร่างอ้วนที่มองว่าพื้นที่ในแอปหาคู่แมสๆ อย่าง Grindr ทำให้พวกเขาถูกกีดกันและต้องหาพื้นที่ใหม่ให้กับตัวเอง

“เคยส่งข้อความใน Hornet ไปหาคนนึง หน้าตาดีมาก แต่พอเขาตอบกลับมาแทบอึ้ง เขาบอกกับเราว่า ‘อีอ้วน ยังจะกล้าทักกูนะ’ ตอนนั้นร้องไห้เลย แทบคิดว่าที่ยืนในสังคมของตัวเองคงจะไม่มี” เกย์ชาวไทยวัย 25 ปีกล่าวไว้ในงานวิจัยกลุ่มผู้ใช้แอป Growlr ชิ้นหนึ่ง

มองในแง่ดี การเกิดขึ้นของแอปหาคู่ใหม่ๆ แบบนี้อาจเป็นการสร้าง ‘พื้นที่ทางการตลาด’ แบบเฉพาะทางเพื่อสร้างโอกาสในการหาคู่ แต่บนพื้นที่การต่อสู้ทางการเมืองนอกห้องนอน การเกิดขึ้นของแอปเฉพาะกลุ่มแบบนี้ทำให้เราเห็นว่าการรวมกลุ่มกันของชาวเกย์อย่างที่หลายแอปพยายามผลักดัน –

อาจเป็นเพียงความพยายามที่สูญเปล่า, หรือเปล่า?

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง Tinder economy worth £11.7bn จาก tsb

บทความเรื่อง Of Love and Money: The Rise of the Online Dating Industry จาก nasdaq

บทความเรื่อง Grindr Founder Responds To Claim That The Hook-Up Is Killing Gay Bars จาก huffingtonpost

ข่าว Egypt’s police ‘using social media and apps like Grindr to trap gay people’ จาก independent

ข่าว The Human Rights Campaign used Grindr to send a message to closeted Republicans จาก pinknews

บทความเรื่อง Can Hookup Apps Inspire a Gay Political Renaissance? จาก vice

คำจำกัดความของโปรเจ็คต์ Grindr for Equality

งานวิจัยเรื่อง Is Sexual Racism Really Racism? Distinguishing Attitudes Toward Sexual Racism and Generic Racism Among Gay and Bisexual Men จาก researchgate

บทความเรื่อง พวกเราโดนไล่มาเล่นในนี้?: โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและอารมณ์ในแอปพลิเคชันกลุ่ม “เกย์หมี” — GROWLr จาก academia

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save