fbpx
Sextortion : เมื่อร่างกายถูกใช้เป็นเหยื่อคอร์รัปชัน

Sextortion : เมื่อร่างกายถูกใช้เป็นเหยื่อคอร์รัปชัน

เมื่อไม่กี่วันก่อน ข่าวใหญ่ในวงการสตาร์ทอัพที่โด่งดังไปทั่วโลกเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องฉาวที่หนังสือพิมพ์ The New York Times ออกมาแฉพฤติกรรมคุกคามทางเพศของ Dave McClure

 

เดฟคือผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ 500 Statups บริษัทบ่มเพาะสตาร์ทอัพ (Startups Incubator) จากสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ทั้งอำนาจการต่อรองและความเป็นชายเพื่อคุกคามผู้หญิงกว่า 12 คนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ตั้งแต่ผู้สมัครเข้ามาทำงานในบริษัท ไปจนถึงผู้บริหารกองทุนรัฐบาลที่เป็นหญิง และมาชวนเขาลงทุนด้วย

ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ก็เพราะก่อนหน้านี้ เดฟเป็นผู้บริหารที่มีภาพลักษณ์เปิดกว้างกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในวงการสตาร์ทอัพ เช่นเดียวกับบริษัทของตัวเองที่มีภาพลักษณ์ด้านนี้มาตลอด พอข่าวหลุดออกมา เขาถึงกับต้องเขียนจดหมายขอโทษอย่างเป็นทางการ และลาออกจากการเป็นซีอีโอและหุ้นส่วนทันที

สิ่งที่น่าสนใจคือการคุกคามทางเพศที่เดฟทำกับผู้หญิงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะทั้งการลวนลามด้วยคำพูดว่า ‘ผมไม่รู้ว่าควรจะจ้างคุณหรือจีบคุณดี’ หรือการพยายามมีเซ็กซ์โดยที่ฝ่ายหญิงไม่ยินยอม สิ่งที่ตามมาไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อมคือการงานของผู้ถูกกระทำที่โดนกระทบไปเต็มๆ (การสมัครงานถูกยกเลิกเมื่อไปเล่าให้คนในบริษัทฟัง หรือไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเพราะกลัวจะกระทบกับการลงทุนที่เดฟกุมการตัดสินใจอยู่)

หากมองเผินๆ เคสที่ว่าอาจถูกเข้าใจว่าเป็นแค่เคส sexual harassment ธรรมดา แต่ที่จริงพฤติกรรมแบบนี้ – หากเกิดขึ้นในระดับใหญ่ขึ้นไปถึงรัฐ – นี่คือส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชัน ภายใต้ชื่อ ‘Sextortion’

อธิบายอย่างง่าย, Sextortion คือผลพวงจากสมการของ Sex + Corruption

เมื่อไหร่ก็ตามที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย (ไม่ว่าจะเป็นเพศใด) เกิดมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกุมอำนาจเหนือกว่า แล้วใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือต่อรองเพื่อให้อีกฝ่ายต้องยอมใช้ร่างกายเข้าแลกเพื่อผลประโยชน์ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเพศสัมพันธ์กันเสมอไป อาจจะเป็นแค่ให้แลกกับการโชว์อวัยวะเพศ ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ฯลฯ นี่ก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ถูกเรียกว่า Sextortion ไปเรียบร้อย

ถ้าจะเปรียบเทียบกับการคอร์รัปชันทั่วไป ในที่นี้ ‘เซ็กซ์’ หรือ ‘ร่างกาย’ ของฝ่ายที่อำนาจน้อยกว่าก็เป็นเหมือนเงินที่พวกเธอและเขาต้องใช้ยัดใต้โต๊ะไม่ต่างกัน (ในภาษาละติน ใช้ประโยคว่า Quid Pro Quo หรือ แลกสิ่งนี้เพื่ออีกสิ่งหนึ่ง)

มีหลายต่อหลายกรณีที่การ Sextortion เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม เช่นในปี 2010 ที่สหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองถูกจับได้ว่าข่มขู่หญิงสาวคนหนึ่งให้มีเซ็กซ์กับเขาเพื่อแลกกกับการอนุมัติกรีนการ์ด โดยขู่ว่าถ้าไม่ยอม เขาจะปฏิเสธคำขอและส่งญาติๆ ของเธอกลับประเทศ หรือในยุโรปเอง ชะตากรรมของผู้หญิงชาวซีเรียและอิรักที่ลี้ภัยสงครามเข้ามา บางคนต้องเจอกลับคนจากเครือข่ายผิดกฎหมายที่ข่มขู่ให้เธอเอาเรือนร่างแลกกับความรวดเร็วในการเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียน

และแม้เราจะบอกว่าไม่ว่าจะเป็นเพศไหนๆ ก็มีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อของ Sextortion ได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง กลุ่มคนที่เสี่ยงที่สุดที่จะกลายเป็นผู้ถูกกระทำคือผู้หญิงที่มีฐานะยากจนและมีการศึกษาน้อย พวกเธอจำเป็นต้องเข้าถึงบริการของรัฐ (ระบบสาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ) เหมือนทุกคน เพียงแต่พอเป็นผู้หญิง แถมยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทำให้เธอไม่รู้ว่าบริการรัฐพวกนั้นเป็น ‘สิทธิ์’ ของตัวเอง

เมื่อเจอกับเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ใช้ช่องว่างนี้เพื่อหาประโยชน์ทางอ้อม ร่างกายของพวกเธอจึงถูกใช้เป็นราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเข้าถึงบริการพื้นฐานเหล่านี้

นี่คือเหตุผลว่าทำไม Sextortion จึงเป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชันเมื่อมันมาอยู่ในระดับของรัฐ

 

แต่แม้จะฟังดูเป็นคดีที่ผิดกฎหมาย นี่มันโดนสองกระทงทั้งคอร์รัปชันและคุกคามทางเพศเชียวนะ! แต่เชื่อไหมว่าในหลายประเทศ กฎหมายท้องถิ่นกลับไม่ได้มองการคุกคามทางเพศเพื่อผลประโยชน์แบบนี้เป็นการคอร์รัปชันแบบหนึ่ง (ด้วยเหตุผลที่ว่าการบัญญัติความหมายของการคอร์รัปชันยังจำกัดอยู่แค่เรื่องเงินๆ ทองๆ เท่านั้น) หรือถึงแม้จะมี แต่ผู้ใช้กฎหมายก็ไม่ได้เอามันมาใช้ลงโทษจริง เพราะเห็นว่า Sextortion อยู่บนพื้นฐานของการ ‘แลกเปลี่ยนผลประโยชน์’ มากกว่า

ดังนั้นสิ่งแรกสุดที่ควรทำคือการ ‘เปลี่ยนมุมมอง’ ว่าการคุกคามทางเพศเพื่อต่อรองผลประโยชน์ แม้ว่าสุดท้ายอีกฝ่ายจะยอมหรือไม่ คือการ ‘คอร์รัปชัน’ รูปแบบหนึ่ง ที่สถาบันการเมืองในประเทศ องค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจต้องเข้ามาลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายให้บังคับใช้ได้จริง ไม่ต่างกับการสร้างกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย

ที่สำคัญ เช่นเดียวกับผู้ที่ถูกข่มขืนที่ไม่กล้าออกมายืนหยัดกับความถูกต้องเพราะสังคมยังมองว่าการข่มขืนเป็นความผิดของเหยื่อ – ผู้หญิง (หรือเพศอื่นๆ) ที่ถูก Sextortion เอง แม้จะรู้ว่าตัวเองถูกกระทำ แต่ก็ไม่กล้าที่จะออกมาบอกหรือฟ้องร้องเหมือนกัน เพราะกลัวว่าถ้าบอกไปแล้ว หน้าที่การงาน เงินทองของตัวเองที่มีอยู่อาจสูญเสียไปเพราะต่อกรกับผู้ที่มีอำนาจมากกว่าก็ได้

ระบบปกป้องเหยื่อ การให้ความสำคัญกับความลับและตัวตนของผู้ฟ้องจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กับการออกแบบบังคับใช้กฎหมาย เพราะถ้ามีกฎหมาย แต่ไม่มีใครกล้าฟ้อง การคอร์รัปชันในรูปแบบนี้ก็จะยังคงอยู่เรื่อยๆ ต่อไปโดยที่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้กับความถูกต้อง

 

Sextortion จึงไม่ใช่แค่การกระทำที่ควรได้รับความสนใจในแง่ที่มันเป็นความรุนแรงและการใช้อำนาจทางเพศเพื่อกดขี่ผู้หญิง (หรือเพศอื่นๆ) เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องชี้วัดด้วยว่าในสังคมนั้นๆ ให้ค่ากับการจัดการคอร์รัปชันมากแค่ไหน มองความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องปกติหรือไม่ ระบบกฎหมายของสังคมให้ความสำคัญกับปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่างเพศด้วยหรือเปล่า

หรือยังคงมองการคอร์รัปชันในแบบเดิมๆ โดยไม่ใส่บริบทความรุนแรงทางเพศเข้าไปในสมการนี้เลย

 

ที่มาข้อมูล

บทความเรื่อง 500 Startups เด้ง Dave McClure จากตำแหน่งซีอีโอ หลังเรื่องอื้อฉาวทางเพศ โดย อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ จาก Brand Inside ตีพิมพ์เมื่อ วันที่ 1 กรกฎาคม 2560

บทความเรื่อง Dave McClure ลาออกจาก 500 Startups ข่าวฉาวโผล่ต่อเนื่อง พยายามบังคับสาวมาเลย์มีเซ็กซ์ด้วย โดย อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ จาก Brand Inside 

อินโฟกราฟิกเรื่อง Stopping the Abuse of Power through Sexual Exploitation : WHAT IS SEXTORTION? จาก  IAWJ website

บทความเรื่อง SEXTORTION: UNDERMINING GENDER EQUALITY จาก TRANSPARENCY INTERNATIONAL ตีพิมพ์เมื่อ 7 มีนาคม 2559

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save