fbpx
sexism มาจากไหน? : อะไรคือสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิง

sexism มาจากไหน? : อะไรคือสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิง

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

 

เมื่อวันก่อนได้ข่าวจากว่าเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งที่ผมรู้จักกำลังตัดสินใจเลิกรากับสามีที่แต่งงานมีลูกกันมาแล้วเกือบ 10 ปี สาเหตุมาจากฝ่ายชายได้ลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อนผู้หญิงคนนั้นตอนที่ทะเลาะกัน

ไม่ว่าสาเหตุเป็นเพราะเรื่องอะไรก็ตามที มันเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเกิดขึ้นแล้วในสังคม ทั้งด้านกฎหมายและศีลธรรม แต่เชื่อไหมว่าตามรายงานจาก UN (United Nations) ผู้หญิงมากกว่า 600 ล้านคนทั่วโลกนั้นอาศัยอยู่ในประเทศที่การทำร้ายร่างกายและคุกคามทางเพศนั้นไม่ผิดกฎหมาย เป็นตัวเลขที่ทำให้หัวใจร้องไห้ แต่ในอีกด้านหนึ่งต้องยินดีว่าผู้หญิงอีกว่า 3 พันล้านคนนั้นอยู่ในประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าในบางครั้งผู้กระทำผิดนั้นไม่ได้รับโทษอย่างที่ควรก็ตาม (เพื่อนผมก็เลือกที่จะไม่แจ้งความเอาเรื่องและให้จบไปแบบนั้น)

 

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ตัวเลขของคดีทำร้ายร่างกายและทารุณทางเพศนั้นก็ยังสูงมากอยู่ดี ในอเมริกามีผูหญิงกว่า 15% ที่บอกว่าตนเองนั้นเคยถูกข่มขืน ทั่วโลกกว่า 30% ที่เคยประสบกับความรุนแรงทางเพศในความสัมพันธ์ที่ผ่านมา เริ่มต้นที่ 16% ในเอเชียตะวันออกเลยไปถึง 65% ในแอฟริกาใต้สะฮารา แม้แต่ UN ที่มีมิชชั่นในการป้องกันสิทธิ์พื้นฐานของมนุษย์และโปรโมทความก้าวหน้าของสังคม ยังโดนข้อหาข่มขืน การแสวงหาประโยชน์ทางเพศและใช้อำนาจในทางที่ผิดด้วยเช่นเดียวกัน (ลองหาข่าวอ่านกันดูครับผม น่าสนใจไม่น้อยเลย)

แล้วทำไมการใช้ความรุนแรงทางเพศถึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ และทำไมมันถึงแตกต่างกันออกไปในแต่ละที่ด้วย? โดยคำตอบแรกของคำถามข้างต้นถูกนำเสนอในหนังสือ A Natural History of Rape โดย นักชีววิทยา Randy Thornhill และ นักมนุษย์วิทยา Craig Palmer โดยเขาทั้งสองคนพยายามโต้แย้งว่าการข่มขืนเป็นการปรับตัวสำหรับวิวัฒนาการ เพื่อให้ผู้ชายสามารถสืบทอดยีนของตัวเองไปยังคนรุ่นต่อไปได้

แน่นอนว่าข้อสันนิษฐานของพวกเขานั้นสร้างความไม่พอใจให้กับคนทั่วไปเป็นอย่างมาก Tim Birkhead ที่มหาวิทยาลัย the University of Sheffield ในสหราชอาณาจักรถึงกับบอกว่ามันเป็น “เรื่องไร้สาระที่ขัดศีลธรรม” และมีหลักฐานมากมายที่ต่อต้านข้อสันนิษฐานอันนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาอันหนึ่งที่บอกว่าผู้หญิงจะมีโอกาสท้องเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าเมื่อถูกข่มขืนมากกว่าการมีเซ็กซ์แบบทั่วไปก็ตาม (แม้ว่าจะมีการกินยาป้องกันหลังจากเกิดเหตุ) อย่าลืมว่าข้อสันนิษฐานนี้ไม่ได้รวมผู้ชายและเด็กที่เป็นเหยื่อด้วยเหมือนกัน และอีกอย่างหนึ่งที่หลักฐานไม่เพียงพอเลยคือถ้าการข่มขืนเป็นการปรับตัวเพื่อให้ยีนของตนเองนั้นถูกส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป มันต้องมียีนที่แตกต่างจากปกติและมีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดแล้ว

ถ้าย้อนกลับดูช่วงแรกของประวัติศาสตร์มนุษย์ที่เป็นนักล่าสัตว์ ภาวะที่ผู้ชายเป็นผู้นำในสังคมนั้นยังไม่เกิดขึ้น ไม่มีวัฒนธรรมที่ผู้หญิงต้องย้ายออกจากครอบครัวไปอยู่บ้านของสามี ในช่วงนั้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของชายหญิงนั้นมีให้เห็นในสังคม แต่ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวๆ 12,000 ปีก่อนในยุคที่ปศุสัตว์และการทำไร่ทำสวนเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมมนุษย์มากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยพละกำลังของร่างกายของผู้ชายในการปกป้องคุ้มครอง ดูแลสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม ปู่ พ่อ ลุง ลูกชาย กลุ่มของผู้ชายก็เริ่มก่อตัวอาศัยอยู่ใกล้เคียงการ มีการสืบทอดและส่งต่อที่ดินและทรัพย์สมบัติให้กับสายเลือดผู้ชายมากกว่าผู้หญิง นั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นสังคมที่ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าผู้หญิงและปัญหา sexism ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้

แล้วถ้าเรามองความแตกต่างของสังคมในแต่ละที่จะทำให้เราเห็นรากฐานของความรุนแรงทางเพศในสังคมนั้นๆ รึเปล่า?

ในข้อมูล World Report on Violence and Health ของ WHO (World Health Organization) เตือนว่าเรามีข้อมูลที่ไม่มากเพียงพอ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามที่ การวิเคราะห์โดยละเอียดจากข้อมูลที่เรามีนั้นก็บ่งบอกถึงอะไรที่น่าสนใจหลายอย่างเลยทีเดียว อย่างแรกเลยคือความรุนแรงทางเพศนั้นไม่ได้กระจุกตัวในสังคมที่มีจำนวนผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือในสังคมที่มีอิสรภาพทางความคิดทางเพศ หรือแม้แต่สังคมที่ไม่ยอมรับและกดขี่ผู้ชายที่มีเพศสภาพที่แตกต่างออกไป สำหรับเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังแล้ว นักมนุษย์วิทยา Peggy Reeves Sanday และทีมของเธอที่ของมหาวิทยาลัย University of Pennsylvania พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยเน้นไปที่การศึกษาสังคมของชนเผ่า (tribal societies) โดยพวกเขาจัดแยกกลุ่มสังคมที่มีอัตราการข่มขืนสูง 18 กลุ่มจากทั้งหมด 156 กลุ่ม โดยกลุ่มเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างโดดเด่นเลยคือเป็นกลุ่มใช้ความรุนแรงสูงโดยทั่วไป ขาดการดูแลจากบุคคลที่เป็นพ่อ นับถือความแข็งแกร่งของเพศชายเป็นอย่างมาก ทั้งการเอาชนะและความเข้มแข็งของร่างกาย ไม่เคารพผู้หญิงในสังคมแถมไม่พอยังปฎิบัติกับผู้หญิงเหมือนเป็นสิ่งของและกีดกันออกจากสังคมและการบริหารงานของสังคม

Reeves Sanday ใช้เวลาหลายสิบปีในสังคมที่มีความรุนแรงทางเพศต่ำมากที่สุดอย่าง Minangkabau ที่ อินโดนีเซีย (ถูกเรียกว่าว่าเป็น rape-free society เลยทีเดียว) โดยงานของเธอบอกว่าถ้าเราต้องการลดความรุนแรงทางเพศในสังคมลง สิ่งที่ต้องทำเลยคือการผลักดันให้เพศหญิงนั้นขึ้นมาเป็นผู้นำ (matriarchic) ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าให้ผู้ชายด้อยอำนาจลงไปทั้งหมด แต่เป็นการใช้ชีวิตร่วมกันในทุกๆ เรื่องของชีวิตประจำวัน ซึ่งก็เหมือนกับรายงานของ WHO ที่สรุปว่า “ความไม่เท่าเทียม” กันคือรากเหง้าของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในสังคมนั้นๆ Cynthia Enloe ที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศและสงครามที่มหาวิทยาลัย Clark University รัฐ Massachusetts กล่าวว่า

“การข่มเหงทางเพศนั้นล้วนเกี่ยวกับอำนาจทั้งนั้น และทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้คือจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันในสังคมให้ได้”

ในหนังสือ “The Big Push” ของเธอบอกว่าเราต้องทำให้สังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่นั้นทันสมัยมากขึ้น ไม่ใช่ลบล้างมันไปทั้งหมด การกอบกู้และสร้างความมั่นคงให้กับแนวคิดของความเท่าเทียมกันในสังคมต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย เหมือนเป็นการจัดสมดุลของสังคมใหม่ แทนที่ผู้ชายจะนั่งบนบัลลังค์และชี้นิ้วสั่งภรรยาให้ทำนี้นั่น (ถ้าเป็นผู้เขียนคงหัวแตกตั้งแต่ปริปากแล้วล่ะครับ) ให้ผู้ชายนั้นมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกทำหน้าที่ของพ่อ การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ให้อำนาจทั้งชายและหญิงเท่าๆ กัน มีกฎหมายคุ้มครองเพื่อลดความไม่เท่าเทียมในเรื่องรายได้แรงงาน การศึกษา การหย่าร้าง กรรมสิทธิ์ทางกฎหมายและทุกอย่างในสังคม สิ่งเหล่านี้จะเป็นเข็มทิศที่ดีในการนำพาสังคมเราไปถึงจุดนั้นได้

 

แน่ล่ะ มันเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะไม่งั้นคงเกิดขึ้นไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความหวังซะเลยทีเดียวเพราะดูอย่างการเคลื่อนไหว #MeToo บนโลกโซเชียลมีเดียที่ได้สร้างกระแสไปทั่วโลก ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ กว่าจะไปถึงจุดนั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save