fbpx
ตามรอย 3 บาร์ลับกลางกรุงที่รู้แล้วอย่าลืมเหยียบให้มิด!

ตามรอย 3 บาร์ลับกลางกรุงที่รู้แล้วอย่าลืมเหยียบให้มิด!

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่อง

วสุธร ตันเตชสาธิต ภาพ

“มึง คืนนี้ว่างไหม” ผมต่อสายหาเพื่อนสนิทในค่ำวันอาทิตย์คืนหนึ่ง

สำหรับหลายคน – โดยเฉพาะเหล่ามนุษย์เงินเดือน – แสงแดดที่หมดลงในปลายสัปดาห์อย่างนี้อาจคล้ายจุดเริ่มต้นคำสาปแห่งระบบทุนนิยมที่คืบคลานเข้ามาในชื่อของ ‘วันจันทร์’ และคงไม่มีใครที่จะตั้งใจออกตระเวนหาแหล่งปาร์ตี้ชนแก้วให้เมามาย เพราะนั่นอาจหมายถึงบททดสอบคลาสแอคติ้งที่คุณอาจต้องโทรไปไอค่อกแค่กใส่พี่สาวแผนกเอชอาร์เพื่อขอลาป่วยด้วยอาการมึนหัว (ปล. จากฤทธิ์แอลกอฮอล์)

นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไม คืนวันอาทิตย์จึงเป็นเวลาพอเหมาะพอเจาะที่ผมจะได้ทำตัวเก๋ ออกกระทำการ ‘Bar Hopping’ เดินสายทัวร์บาร์ในกรุงเทพมหานครอย่างไม่เกรงกลัวปีศาจวันจันทร์ที่กำลังจะมาถึง เพราะนอกจากเวลาการทำงานจะพอเอื้ออำนวยให้รู้สึกผิดน้อยลงบ้าง (นี่เอ็งถามหัวหน้ารึยัง!) จำนวนคนที่กล้าจะมาเมาในวันนี้ก็ไม่ได้มากมายจนทำให้เสียการดื่มด่ำบรรยากาศ

อันที่จริงแล้วก็ไม่ต้องรบกวนเพื่อนให้มาเป็นเพื่อนหรอกครับ ถ้าเส้นทางที่จะไปวันนี้เป็นบาร์ทั่วๆ ไปอย่างที่ใครเค้าไปกัน แต่บังเอิญว่าดันเปรี้ยวเหลือเกินที่เลือกจะไป บาร์ลึกลับ ตามซอกหลืบของกรุงเทพมหานคร ซึ่งพอมีคุณสมบัติของความลึกลับมาแนบท้าย คนไทยหัวใจอินโทรเวิร์ต (แน่ะ อย่าเพิ่งแซะ) อย่างข้าพเจ้าจึงต้องการเพื่อนมาเป็นคู่หู เดินเข้าไปนั่งที่เคาน์เตอร์ ยิ้มให้มิกซ์โซโลจิสต์ก่อนหลับตาจิ้มสั่งเครื่องดื่มในเมนูมาซักอัน แฮฟอะสมอลล์ทอล์กกับคนที่กำลังเขย่าเชคเกอร์แบบเฝื่อนๆ ก่อนจะนั่งจิบค็อกเทล ซึมซับบรรยากาศหว่องๆ ไปด้วยกัน

แค่คิดก็ทำตัวไม่ถูกแล้วครับ

 

“เออได้ แต่พรุ่งนี้มีบินไฟลต์ตีห้าอะมึง คงไปด้วยได้แค่ที่เดียว เอ้อ กินเหล้าไม่ได้นะ” เพ่ือนผู้ทำงานในออฟฟิศที่ระดับความสูง 35,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลบอกมาตามสาย – เอาวะ ร้านเดียวก็ยังดี

แพลนเดินสายของผมในวันนี้มีด้วยกันสามร้าน ตั้งต้นจากย่านราชดำเนิน ก่อนจะเข้าไปเกือบถึงกลางไชน่าทาวน์ และทุกร้านแม้ว่าจะมีรายชื่อรีวิวแบบจริงจังจากเว็บไลฟ์สไตล์กินเที่ยวดื่มหลายเจ้า แต่เชื่อเถอะว่าแหล่งข้อมูลแรกที่ผมได้เห็นหน้าตาร้านเหล่านี้ล้วนมาจากการบอกต่อจากเพื่อนๆ ในหน้าฟีดเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมกันทั้งนั้น

สถานะของการต้องบอกต่อแบบปากต่อปาก เห็นจากรูปที่เพื่อนโพสต์แบบติดโลเคชั่นพร้อมข้อความเล็กๆ น้อยๆ ให้ดูน่าสนใจแบบนี้ (ตัดเรื่องที่ว่าสมัยนี้อะไรๆ ก็ต้องได้รับการลงเว็บ ‘รีวิว’ จนโกแมสออกไปก่อนนะครับ) ที่จริงก็คล้ายกับจุดกำเนิดของความเป็นบาร์ลับๆ อยู่ไม่น้อย เพราะร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท ‘Speakeasy’ ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1880 ก็อาศัยความหลบๆ ซ่อนๆ ต้องบอกต่อกันเบาๆ อย่างนี้เหมือนกัน

ที่ต้องเรียกว่า Speakeasy ก็เพราะเครื่องดื่มที่บาร์พวกนี้ขายคือเหล้าเถื่อน ผิดกฎหมาย เจ้าของร้านเลยต้องมีโค้ดลับให้คนที่จะกินเหล้าพวกนี้บอกให้เป็นที่รู้กัน และขอความร่วมมือขาดริ๊งก์ทั้งหลายให้ ‘จุ๊ๆ’ (speak easy) พูดกันเบาๆ หน่อยนะเวลาอยู่ข้างนอก เดี๋ยวตำรวจจะมาได้ยินเข้าจะซวยเอา

แรกๆ ก็ยังไม่ได้บูมกันมากมาย แต่พอถึงช่วงปี 1920 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศใช้บทแก้ไขที่ 18 ของรัฐธรรมนูญที่เรียกกันว่า National Prohibition Act ซึ่งห้ามการผลิตและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท (เป็นผลพวงจากความพยายามของกลุ่มเคลื่อนไหว Temperance Movement ในยุคต้นๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ส่งเสริมให้ผู้คนใช้ชีวิตแบบพอดี ไม่ตกอยู่ในวังวนอบายมุขและสุราเมรัย) ความที่กฎหมายเข้ามากดทับมากๆ เข้า บาร์แบบ Speakeasy ก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด พร้อมๆ กับการมาถึงของบรรดามาเฟีย โสเภณี และอาชญากรรมใต้ดินทั้งหลายแหล่

ลักษณะเฉพาะของ Speakeasy คือการทำตัวเป็นบาร์แบบลึกลับ ที่ดูภายนอกจะไม่รู้เลยว่าข้างในมีเหล้าขายอยู่ ด้วยหน้าตาที่เหมือนกับคาเฟ่ขายชากาแฟทั่วไป แต่ถ้ามีบัตรสมาชิกหรือรู้รหัสลับ ของเหลวผิดกฎหมายในยุคนั้นก็จะเทใส่มาให้ในแก้วกาแฟ ความป๊อปแบบลับๆ อย่างนี้ทำให้ Speakeasy กลายเป็นสถานที่รวมคนหลายวรรณะหลายชนชั้นตั้งแต่มาเฟียร่ำรวยยันคนยากคนจนให้มาร่ำสุรา พูดคุยสังสรรค์กัน ก่อนจะเดินออกไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในร้านกาแฟแห่งนั้น

ว่ากันว่าในยุคนั้น ที่นิวยอร์กซิตี้มีบาร์ลับกระจายตัวอยู่่ถึง 100,000 แห่ง ไม่รวมอีกมากที่อยู่ตามเมืองต่างๆ แต่เมื่อปี 1933 ที่กฎหมายห้ามขายเหล้าถูกยกเลิก ความลับที่เคยจำเป็นก็ไม่จำเป็นที่ต้องลับอีกต่อไป

 

ตัดภาพกลับมาที่กรุงเทพมหานคร ผมและเพื่อนขับรถไปตามถนนพระสุเมรุ จากหมุดในแผนที่ที่ได้พิกัดมาจากอินสตาแกรมของเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่ง เรากำลังเดินทางไปที่ 苦 หรือ Kǔ Bar บาร์ลึกลับแห่งแรกของค่ำคืนนี้ที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘ขม’ หรือ ‘ความเจ็บปวด’

หากคุณคุ้นเคยกับร้าน Brown Sugar ขอให้เดินตามป้ายไฟนีออนสีชมพูสดมาเรื่อยๆ สังเกตซอยเล็กๆ ข้างร้าน หากเจอกระจกเงาที่เขียนตัวอักษรบอกเวลาเปิดปิดร้านและคำว่า ‘ค็อกเทล’ ด้วยลิขวิดเปเปอร์สีขาว ก็แสดงว่ามาถูกทาง เดินตรงเข้าไปตามลูกศร เห็นศาลพระภูมิแล้วให้ยกมือไหว้เสริมศิริมงคลสักหน่อย แล้วเดินผ่านประตูไม้ขึ้นบันไดไปที่ชั้นสามของตึก ก็จะเจอลานปูนโล่งๆ ประดับไฟนีออนสีฟ้าสลัว (“รีบเข้าเถอะกูกลัว” เพื่อนของผมบอกออกมาเบาๆ หลังเห็นบรรยากาศรอบตัว) และประตูทางเข้าทางด้านซ้าย

ที่นี่เป็นตึกโรงพิมพ์เก่าที่ถูกแปลงสภาพให้เป็นบาร์ เจ้าของร้านผู้ควบหน้าที่มิกซ์โซโลจิสต์บอกกับผมว่าที่เลือกตั้งร้านแบบลับๆ ก็เพราะงบประมาณที่ไม่เอื้ออำนวยให้เช่าที่ติดถนนเหมือนอย่างตั้งใจไว้ ระยะเวลาห้าเดือนของร้านที่เปิดมาจึงอยู่กันอย่างลับๆ ตรงนี้

จะโดยตั้งใจหรือไม่ ก็ถือว่าที่นี่สอบผ่านในเรื่องของการสร้างบรรยากาศ หากพื้นที่ด้านนอกทำให้คุณขนหัวลุกกับความมืดสลัว การเปิดประตูเข้ามาด้านในแล้วพบกับต้นกล้วย กระดานไม้อัด ผนังและเพดานปูนเปลือยกระดำกระด่าง คราบเขม่าไฟนีออนที่ยังหลงเหลือ เมื่อมาอยู่คู่กับเคาน์เตอร์บาร์หินอ่อนยาวพร้อมเสียงเพลงแอมเบียนท์และกีตาร์สดจากดีเจอย่างสกอร์ในหนังอินดี้ซักเรื่อง ก็ทำให้บรรยากาศของ ‘ความเจ็บปวด’ ชัดเจนอย่างสมชื่อร้าน

หญิงสาวหน้าหมวยลุคเฉี่ยวตามสมัยนิยมเสิร์ฟน้ำเปล่าให้เราพร้อมเมนูเครื่องดื่มที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนกันในแต่ละเดือน จากที่กวาดสายตา ดูเหมือนค็อกเทลของบาร์นี้จะเน้นความเป็นตะวันออกจากส่วนผสมหลัก แต่ด้วยความที่ผมเองก็ไม่ใช่คนที่ลิ้นลุ่มลึกหรือรู้ดีเรื่องส่วนผสมอะไรมากมาย เลยตัดสินใจเลือกจากความ ‘ว้าว’ ของวัตถุดิบเป็นหลัก จนมาลงตัวที่ 10 herb (360 THB) ค็อกเทลที่มีเบสเป็นเหล้าจินผสมกับจับเลี้ยง ส่วนเพื่อนที่ต้องเตรียมไปบินเช้ามืดเลือกเป็น pandan (200 THB) ชาเขียวมัทฉะผสมใบเตยและน้ำตาลสดแบบไม่ผสมเหล้า

แก้วของผมถูกยกมาวางตรงหน้าหลังเวลาผ่านไปซักพัก (ระหว่างที่รอมีคนที่หลงเดินขึ้นมา เปิดประตูมาสำรวจเหมือนรายการ ล่าท้าผี แล้วปิดประตูออกไปอย่างเงียบๆ) กลิ่นหอมน้ำผึ้งดอกลำไยลอยกระทบจมูก รสสัมผัสขมนิดๆ ของเหล้าจินถูกกลบด้วยความหอมของน้ำจับเลี้ยงและความหวานแบบไม่แสบคอของน้ำผึ้ง จบด้วยความหวานติดริมฝีปากจากน้ำตาลทรายไหม้ที่ลอยบนครีมไข่ขาวด้านบน

รสชาติซับซ้อนในแต่ละจิบทำให้ปัจจัยเรื่องราคาไม่บาดใจผมเท่าไหร่แม้ปริมาณจะมาในแก้วขนาดกะทัดรัด ที่สำคัญ หากคุณอยากได้บรรยากาศเหงาๆ แบบหนังหว่องการ์ไว ที่นี่เรียกได้ว่าตอบโจทย์ มาคนเดียวได้ไม่ต้องเป็นแคร์สายตาใคร (ขัดใจนิดหน่อยที่พี่สาวหน้าหมวยรีบเก็บแก้วไปหน่อยหลังดื่มหมด)

แอมเบียนท์หลอนๆ จากดีเจจบลง เพลงในร้านกลายเป็นเปียโนคอนแชร์โตของใคร หมายเลขเท่าไหร่ไม่อาจทราบได้ ผมนั่งมองเจ้าของร้านตรงหน้าเขย่าเชคเกอร์ตามออร์เดอร์ของลูกค้ารายถัดไปเหมือนวาทยกรผู้คุมจังหวะบทเพลงนั้นอยู่ซักพัก ก่อนจะออกเดินทางไปที่บาร์ลับแห่งต่อไป

 

ซอยนานา (ที่ไม่ได้อยู่ที่ถนนสุขุมวิท) เป็นจุดหมายต่อไปของผม หลังบอกลากับเพื่อนเสร็จสรรพ ภาวะอินโทรเวิร์ตเขินอายเริ่มเข้าจู่โจม เดินโต๋เต๋อยู่ในถนนเล็กๆ ใกล้วงเวียนโอเดียนอยู่ซักชั่วครู่ ผมก็เดินเข้ามาที่บาร์ลับแห่งที่สองที่มีชื่อว่า 八號 (อ่านว่า ป๊า-ฮ่าว) หรือ ‘หมายเลขแปด’ – เอ๊ะ ทำไมคืนนี้มีแต่บาร์ชื่อภาษาจีน…

หากเป็นคนที่สันทัดเรื่องบาร์เล็กบาร์น้อยสักหน่อย คุณอาจรู้ว่าที่ซอยนานาแห่งนี้นี่ล่ะที่เป็นสถานที่ซ่อนของบาร์หลากหลายธีมให้ได้เดินสำรวจเป็นว่าเล่น ท่ามกลางบ้านคนที่เป็นตึกแถวไม้ยุคโบราณ สิ่งที่แทรกตัวอยู่มีทั้งบาร์ในแบบไทยเดิม วัยรุ่นจ๋า สายอาร์ตเสพย์งานศิลป์ ไปจนถึงแบบจีนๆ ที่ผมกำลังนั่งอยู่ที่เคาร์เตอร์ตรงนี้

ป๊าฮ่าวอาจจะไม่ใช่บาร์ลับในความหมายที่มันแอบซ่อนตัวในสถานที่ที่ไม่มีใครนึกถึงเหมือนร้านก่อนหน้าสักเท่าไหร่ ด้วยหน้าร้านที่เปิดกว้างเห็นด้านในได้แต่ไกล แต่ถ้าจะบอกว่าการมาตั้งอยู่ในซอยเล็กๆ แบบนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่าลับเมื่อเทียบกับบาร์ติดถนนใหญ่ย่านทองหล่อ คำที่ผมใช้ก็คงไม่ผิดนัก

“ตรอกซอยซอยแถวนี้มันไม่เหมือนถนนพระรามสี่ แต่ละร้านมันก็น่ารัก เดินสำรวจได้ มันมีเรื่องราวของมัน แล้วแต่ละร้านที่นี่จะไม่ทำธีมทับไลน์กันนะครับ” เจ้าของร้านที่ดูท่าทางกรึ่มได้ที่เล่าความลับของที่นี่ให้ผมฟัง

ในโลกของเมืองสมัยใหม่ ความลึกลับแบบนี้ถูกเรียกกันในชื่อของ ‘Secret Urbanism’ ที่เกิดขึ้นมาเป็นขั้วตรงข้ามของโลกที่เราเชื่อกันว่ากำลังขับเคลื่อนไปด้วยความ ‘เปิดและเป็นอิสระ’ ที่เกิดจากพลังของอินเทอร์เน็ต เทรนด์การทำให้องค์ประกอบของเมืองในหน่วยย่อยๆ ประกอบขึ้นจากความลึกลับ เอ็กซ์คลูซีฟ ทำให้ความน่าตื่นเต้นในการค้นหามีมากขึ้น เพิ่มคุณค่าและคุณภาพในสายตาของคนที่พบเจอให้มากขึ้น จนหลายแบรนด์ หลายธุรกิจก็เอาคุณสมบัติของความลึกลับนี้เป็นจุดขาย สร้างความน่าสนใจไปอีกแบบ

แม้จะฟังดูขัดๆ กับความคิดที่ว่าเมืองควรจะเข้าถึงทุกคนได้ แต่ความลึกลับของบางสถานที่ บางทีก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสร้างแรงดึงดูดให้เราเข้าไปค้นหามัน จริงไหมครับ

กลับมาที่ป๊าฮ่าว – ที่นี่อาจไม่เหมาะกับคนที่ค้นหาบรรยากาศเงียบๆ นั่งจิบค็อกเทลอยู่กับตัวเองซักเท่าไหร่ เพราะนอกจากจะไม่ได้เน้นที่นั่งตรงบาร์มากเท่ากับร้านที่แล้ว เสียงเพลงยังดังกลบความเหงาที่คุณอาจจะอยากตามหาก็ได้ (และเพลงที่ว่าเป็นเพลงป๊อปสากล โถ่ ไม่คุมธีมเลย)

นอกจากค็อกเทล ถ้าหิวข้าว ร้านบรรยากาศโรงเตี๊ยมแห่งนี้ก็มีอาหารหนักให้ได้ทานเหมือนกันนะครับ หลังจากผมสั่ง Five Rivers (288 THB) ค็อกเทลเบสเหล้ารัมผสมเครื่องเทศจีนเสิร์ฟในถ้วยยาจีนปากกว้างมานั่งจิบ จากที่คิดว่าจะได้กลิ่นของเครื่องดื่มอย่างที่ตั้งใจ ก็กลับได้กลิ่นหมูแดงที่ตุ๋นอยู่ตรงครัวเปิด – บริเวณเดียวกับที่มิกซ์โซโลจิสต์ผสมเครื่องดื่ม – ลอยเตะจมูกให้งงๆ กลิ่นไปซะอย่างนั้น

ถ้าจะนับเรื่องของความซับซ้อนทางรสชาติ ก็ขอบอกตามตรงว่าแยกไม่ค่อยออกเท่าไหร่ ตัวค็อกเทลมีความเปรี้ยวและรู้สึกได้ถึงรสชาติแบบยาจีน แต่เพราะกลิ่นหมูแดงชวนหิวตรงหน้าที่กลบเสียมิด เอกลักษณ์สัมผัสด้านกลิ่นเลยไปไม่ถึง Olfactory Bulb แบบเต็มที่ ยกเว้นตอนใกล้จบถ้วยที่ฝุ่นผงสมุนไพรตกลงบนลิ้นพร้อมเมล็ดเก๋ากี้บนน้ำแข็ง นั่นล่ะครับคือช่วงเวลาที่คุณจะได้รับรู้ถึงความจีนในเครื่องดื่มถ้วยนี้

ความน่ารักอีกอย่างของที่นี่คือ หลังจากบอกคิดเงินเสร็จสรรพ คุณจะได้บิลมาในถ้วยสังกะสีพร้อมขนมเซียงจาหนึ่งห่อด้านใน ผมเลยใส่เงินทอนที่ได้มาเพื่อเป็นเงินแลกขนม ก่อนจะเดินออกจากร้านแบบกรึ่มๆ ไปยังบาร์ลับสุดท้ายที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล

 

เดินตรงไปไม่ถึงห้าสิบก้าว แสงไฟจากป้ายอีโมจิหน้าร้องไห้ (ToT) ของร้าน Teens of Thailand คือสัญญาณบอกที่ตั้งร้านสุดท้ายของค่ำคืน ก่อนที่สติของผมจะกระจัดกระจายไปมากกว่านี้

สารภาพตามตรง ก่อนหน้านี้ที่ผมมาเดินแวะเวียนแถวซอยนานาบ้าง หน้าตาของร้านที่ดูลึกลับจากบานประตูไม้เล็กๆ ประดับด้วยสติ๊กเกอร์ลายห่ามๆ เต็มกำแพงปูนเปลือยพร้อมชื่อร้านฟอนต์เวรี่สตรีทด้านบน ทำให้ความรู้สึกสองแบบเกิดขึ้นในหัว

หนึ่ง – อยากรู้เหลือเกินว่าข้างในจะเป็นอย่างไร และสอง – น่ากลัวเหลือเกินจ้ะพี่บัวลอย

นี่สินะครับ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของเทรนด์ Secret Urbanism…

แต่วันนี้ด้วยหน้าที่การงานและความกรึ่มจากค็อกเทลขนานแรงทั้งสองแก้ว ทำให้ผมไม่รีรอที่จะผลักประตูบานน้อยเข้าไป (ถึงมึนแค่ไหนก็ไม่ลืมก้มห้วเพราะกลัวชนดังปั้กแล้วจะไม่คูล) ก่อนจะพบกับเสียงเพลงที่ดังมาก!!!!!!!!! ดังถึงขนาดที่ทุกคน (ที่ดูคูล) ในร้านต้องตะโกนคุยกัน ดังนั้นตัดไปได้เลยเรื่องบรรยากาศคนเหงา ที่นี่ไม่เหมาะกับคุณ ยกเว้นว่าอยากจะเล่นเป็น เหลียงเฉาเหว่ย ในบทบาทของตำรวจหมายเลข 633 ที่ยืนหน้าร้านฮอทด็อกใน Chungking Express

Teens of Thailand ให้บรรยากาศเป็นร้านนั่งชิลแถวทองหล่อ มากกว่าจะเป็นบาร์ลับในซอยเงียบๆ กลางไชน่าทาวน์ เต็มไปด้วยชาวต่างชาติที่มาฟุดฟิดฟอไฟ สปีคอิงลิชกันอย่างกระหน่ำ แถมการจัดผังโต๊ะก็ไม่ได้ให้คุณเผชิญหน้ากับมิกซ์โซโลจิสต์ซักเท่าไหร่ แต่เป็นการออเดอร์เครื่องดื่ม จากนั้นก็นั่งรอเหงาๆ (หากมาคนเดียว) หรือนั่งตะโกนคุยกับเพื่อน (หากมาเป็นกลุ่ม) พร้อมแทะเกาลัคคั่วที่มีเสิร์ฟให้ฟรี (อันนี้ประทับใจครับ)

บรรยากาศที่นี่ถึงจะบังคับให้คุณนั่งด้วยขนาดพื้นที่ที่ไม่พอจะแดนซ์ตามเพลย์ลิสต์ที่ออกมาจากลำโพง แต่ก็มีอะไรให้มองและสำรวจอยู่ไม่น้อย อย่างโปสเตอร์หนัง ซาลาเปาเนื้อคน ที่ติดอยู่ข้างผนัง และหนังไทยเก่าอื่นๆ ที่มีอีกมากมาย  หรือจะหันหลังดูการผสมเครื่องดื่มที่บาร์ด้านในก็เพลินตาดี

ผมสั่ง Jackfruit Gin (360 THB) ที่ในเมนูอธิบายเอาไว้ว่าเป็นค็อกเทลที่ให้อารมณ์แบบ Bangkok Street ที่ใช้เบสเป็นเหล้าจินของ Bombay Sapphire ผสมกับโทนิกและเลม่อนพร้อมสมุนไพรอีกนิดหน่อย รสชาติที่ออกมาเลยมีความเปรี้ยวของซิตรัส ซ่าของโทนิก ผสมกับสมุนไพรในแก้วที่มีใบไทม์หอมกระแทกจมูกลอยอยู่พร้อมเมล็ดพริกไทย ดื่มเข้าไปได้ทั้งความหอม เปรี้ยว และเผ็ดร้อน สมกับแท็กไลน์ที่ว่าเป็นริมถนนของกรุงเทพจริงๆ

นั่นคือคุณไม่รู้เลยว่าจะเจอความบ้าบอของถนนหนทางเมื่อไหร่

เหมือนที่ไม่รู้เลยว่าเมล็ดพริกไทยจะลอยเข้าปากในอึกไหน!

 

ผมนั่งเหงาแทะเมล็ดเกาลัคต่อไปสักพัก ร้านก็ได้เวลาปิด พร้อมๆ กับค็อกเทลแก้วใหญ่ที่ใกล้หมดลงในเวลาเกือบเที่ยงคืน และทริปตะลอนบาร์ลับในคืนนี้ที่จบลงพร้อมความมึนในหัวที่คงต้องอาศัยเวลาเยียวยาซักพักตามสังขารที่ไม่ใคร่จะเซี้ยวได้เหมือนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย

นอกจากสามที่ที่ผมตามไปนั่งในค่ำคืนนี้ ยังมีบาร์ลึกลับอีกมากที่ซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบของกรุงเทพมหานครที่รอให้คุณไปค้นพบก่อนเวลาเที่ยงคืน (ยกเว้นร้านเปิดหลังตีสอง บางครั้งคนที่หาไม่เจออาจเป็นตำรวจในท้องที่ที่บังเอิ๊ญบังเอิญมองไม่เห็น) และตามธรรมเนียมของต้นตำรับของร้านแบบ Speakeasy,

รู้แล้วก็เงียบไว้ อย่าไปบอกใครล่ะ!

 

อ่านเพิ่มเติม

ความหมายของ Speakeasy

Definition and Summary of the Speakeasies จากเว็บไซต์ american-historama

ตำนานคำอเมริกัน : Bootlegging ตำนานขบวนการมาเฟียในอเมริกัน จากเว็บไซต์ formumandme

บทความเรื่อง Trend 2: Secret Urbanism And New Exclusivity จากเว็บไซต์ popupcity

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save