fbpx

คำ ผกา อ่านใหม่ ‘แผ่นดินของเรา’ : ว้าเหว่ ว่างเปล่า เสื่อมถอย

เมื่อพี่หนุ่มโตมร ชวนมาเขียนคอลัมน์ลง 101 ก็คิดหนักมาก ว่าจะเขียนอะไร

ชีวิตนี้ลำพังเขียนลงมติชนสุดฯ ทุกสัปดาห์ เขียนลง The Momentum ทุกปักษ์ พูดที่ Inherview ทุกวัน – ก็หมดเรื่องเขียนและพูดแล้ว กอปรกับมิใช่คนปราดเปรื่อง อ่านหนังสือก็น้อย หนังก็ไม่ดู ดนตรีก็ไม่ฟัง งานอดิเรกมีแค่สองอย่างคือ กินอาหารกับฝึกโยคะ

เออ…น่าจะ turn him down ปฏิเสธไปสวยๆ ว่าไม่เขียนดีไหม?

แต่รู้ไหมว่า วิญญาณนักเขียนน่ะ มันเต้นเร่าๆ อยากเขียนอยู่เสมอแหละ โดยไม่แคร์เท่าไหร่หรอกว่า สิ่งที่เขียนมีค่าควรแก่การอ่านหรือไม่ เวลามีใครมาชวนเขียน มันจะมีไฟปรารถนาลุกโชน อยากเขียนอย่างช่วยไม่ได้ โดยที่ไม่รุ้ว่าจะเขียนอะไรนั่นแหละ (เชิญด่าตามสบาย ด่าแรงก็ได้)

สุดท้าย ตกลงใจว่าจะเขียนในทำนอง revisit งานวรรณกรรมสมัยใหม่ที่เก่าแล้ว
ไม่ได้ revisit จะให้เป็น ‘กระทู้ดอกทอง’ เพราะจะไม่โฟกัส ไปที่ความเป็นจริง หรือ ความเป็นชาย แต่แค่อยาก revisit โดยไม่มีเฟรมความคิดอะไรเลย แล้วไปเสี่ยงเอาข้างหน้าว่าจะเห็นอะไรจากการ revisit นี้
ไม่เป็นวิชาการ – ขีดเส้นตายสามเส้น เน้นตัวหนา ไฮไลท์ สีแดง
ไม่ใช่งานวิจารณ์วรรณกรรม
แต่เป็นแค่การอ่านของผู้หญิงอายุ 45 ที่กลับไปอ่านงานที่เธอเคยอ่านเมื่อเธออายุ 15 จนถึงประมาณ 25 แล้วไม่ได้กลับไปอ่านอีก
เท่านั้นจริงๆ
เพราะฉะนั้นหากคาดหวังว่าจะได้อ่านอะไรที่มีสาระ ก็โปรดเดินไปจากข้อเขียนนี้เสียตั้งแต่บรรทัดนี้

ในชีวิตนี้น่าจะอ่าน ‘แผ่นดินของเรา’ ของ มาลัย ชูพินิจ แค่ครั้งเดียว เมื่อตอนอายุ 20 หรือ 21 โดยปราศจากความซาบซึ้งหรือประทับใจใดๆ ไม่มีความทรงจำใดๆเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องนี้นอกจาก ภัคคินี นางเอก หนีตามนเรนทร์ คู่หมั้นของพี่สาว ด้วยอารมณ์รักอย่างปราศจากเหตุผลที่สมควร สุดท้าย นเรนทร์ติดเหล้า ยากจน ภัคคินี ขายตัวหาเงินมารักษานเรนทร์ที่ป่วย

จำได้เท่านี้จริงๆ – ลึกๆ ก็แอบสมน้ำหน้า ภัคคินีอยู่ – ก็อยากโง่เอง ช่วยไม่ได้

จากนั้นก็ไม่หยิบมาอ่านอีก ด้วยเห็นว่า โหรงเหรง ไร้สาระ ไม่มีแก่นสารอะไรให้คิดต่อเลย เป็นเพียงเรื่องราวของครอบครัว ‘ขุนนางเก่า’ ที่วันๆคิดแต่เรื่องจะให้ลูกสาวได้แต่งงานกับใครดี พอไม่สมหวังดั่งใจก็หัวใจแหลกสลายตายตกไปตามกันทั้งบ้านเท่านั้น

แต่เมื่อกลับมาอ่านใหม่อีกครั้ง พบในสิ่งที่ต่างออกไปจากที่เคยอ่านเล็กน้อย

สิ่งแรกที่สะดุดคือ นวนิยายรักอันไร้แก่นสาระนี้ทำไมจึงชื่อ ‘แผ่นดินของเรา’ ซึ่งฟังดูขึงขัง รักชาติ รักมาตุภูมิ และโดยเซนส์นี้ มาลัย ชูพินิจ เคยเขียนไว้ในนวนิยายเรื่อง ‘ทุ่งมหาราช’ !

แล้วพลันคำถามก็บังเกิด ทำไมเป็น ‘ทุ่งมหาราช’ ล่ะ มันแค่เป็นเรื่องราวของพ่อค้าไม้ที่กำแพงเพชร ที่พยายามจะสร้างอาณาจักรของตนเองขึ้นมาใน ‘หัวเมือง’ แล้วเหตุใดจึงมีชื่อใหญ่โตว่า ‘ทุ่งมหาราช’

‘แผ่นดินของเรา’ แต่งขึ้นมาในปี 2486 ปีนั้น นายกรัฐมนตรีชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

มาลัย ชูพินิจ เริ่มประกอบอาชีพครั้งแรกโดยรับราชการครู ที่โรงเรียนวัดสระเกศ เมื่อ ปี พ.ศ. 2467 สองปีต่อมาก็ลาออกจาก อาชีพครูเนื่องจากพอใจกับงานหนังสือพิมพ์มากกว่า เริ่มต้นด้วยการล่องใต้ไปจังหวัดสงขลาทำหนังสือพิมพ์ไทยใต้ ในตำแหน่งบรรณาธิการช่วงระยะหนึ่งปี แล้วกลับกรุงเทพฯ เข้าทำงานหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ‘สุภาพบุรุษ’ ของกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นเวลา 2 ปี ไปอยู่หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ อีก 1 ปี ออกจากไทยใหม่ ได้รวบรวมเพื่อนๆ ออกหนังสือพิมพ์ผู้นำ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2475 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ และประชาชาติรายสัปดาห์ ตามลำดับก็ได้ร่วมงานด้วยเช่นกัน

ช่วงปี พ.ศ. 2479 มาลัย ชูพินิจ หยุดงานหนังสือพิมพ์ระยะหนึ่ง แล้วหันไปทำสวนมะพร้าวที่ภาคใต้ และไร่ถั่วเหลืองที่อ่าวพนังตัก จังหวัดชุมพร เป็นเวลา 1 ปีก็เลิก เดินทางกลับกรุงเทพฯ รวบรวมเพื่อนฝูงอีกครั้งเพื่อออกประชามิตรรายวัน จน พ.ศ. 2490 ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยและเขียนหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ด้วย

ข้อมูลคล้ายกัน แต่มีชีวิตชีวากว่า บรรยาย มาลัย ชูพินิจ เอาไว้ว่า

มาลัย ชูพินิจ ได้เริ่มการเขียนข่าวครั้งแรกในโลกน้ำหมึกที่เขาชอบมากที่สุดและเป็นครูในวิชาชีพจากหนังสือพิมพ์ ไทยใต้ ที่จังหวัดสงขลาได้ไม่นาน กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ชักชวนมาเขียนเรื่องลงที่บางกอกการเมือง แต่ก็พบกับปัญหามิตรสหายในบางกอกการเมืองบางคนเขียนบทความรุนแรง จนนายทุนให้ออก มาลัยผู้มีความรักเพื่อนพ้องก็เลยลาออกด้วย ไม่ใช่แต่เล่มนี้เล่มเดียว หลังจากนั้นเขาได้ไปทำหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ แต่ก็ต้องเลิกกิจการแม้ว่าจะมีนวนิยายหลายเรื่องเรียกบรรดาหนอนหนังสือ แต่เพราะว่าทุกคนไม่มีหัวการค้าและทุกคนทำงานหนังสือพิมพ์ด้วยใจรัก เช่นที่มาลัยได้เขียนไว้ในคำปราศรัยในหนังสือพิมพ์ประชามิตรสุภาพบุรุษในฉบับที่ 21 มีนาคม 2481 ว่า

“เนื่องจากพวกเราแลเห็นเงินเป็นก้อนกรวดไปหมด”

จากการลาออกครั้งนั้นเอง เขาและเพื่อนๆ ได้มาตั้งหนังสือพิมพ์ ผู้นำ ที่มาลัยเป็นคนตั้งชื่อเอง ระหว่างนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ได้ดำริที่จะออกหนังสือพิมพ์ใหม่ชื่อ ประชาชาติ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านประชาธิปไตย จึงให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ และมาลัย ชูพินิจ เป็นหัวหน้าแผนกสารคดีและบันเทิงคดี ณ ที่นี้เอง มาลัยได้เริ่มแนวคิดสำคัญด้านจริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์ตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ดังที่เขาบอกว่า

“เป็นมหาวิทยาลัยในการทำหนังสือพิมพ์ของพวกเรา มหาวิทยาลัยที่ได้จากความชำนาญ ได้จากการต่อสู้ดิ้นรน และการบำเพ็ญกรณียกิจของหนังสือพิมพ์ตามความหมายของมัน”

การทำความเข้าใจสภาวะ ‘หยุดการเขียน’ ของมาลัย ชูพินิจ จำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้าใจความขัดแย้งของปัญญาชนสองกลุ่มในสังคมไทยในช่วง พ.ศ. 2470 – 2490

พูดอย่างรวบรัด ก่อนและหลัง 2475 มีการช่วงชิงกันระหว่างเรื่องเล่า 2 ชุด คือ ชุดที่สนับสนุนอำนาจเก่าและชุดที่สนับสนุนประชาธิปไตย

หลังกบฎบวรเดช และการจับกุมนักคิด นักเขียน ที่สนับสนุน ‘ระบอบเก่า’ ทำให้ ปัญญาชนส่วนหนึ่งกลายเป็นนักโทษการเมือง (ที่มาของภาพจำจอมพลป. เป็นเผด็จการ จำกัดเสรีภาพของปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์)  และในช่วง 2480-2490 ที่การต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจของคณะราษฎร และขั้วอำนาจอื่นๆ รวมทั้งการฟื้นตัวของกลุ่มผู้สนับสนุนอำนาจเก่าแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ นักคิด นักเขียนที่เป็นนักโทษการเมือง ได้รับการปล่อยตัวออกมาหลังสงครามโลก นักเขียนกลุ่มนี้ เช่น สอ เสถบุตร  ชุลี สารดุสิต โชติ คุ้มพันธุ์ พายัพ โรจนวิภาค ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน์ หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา หลุยส์ คีรีวัต ไทยน้อย (เสลา เรขะรุจิ)  เกียรติ (สละ ลิขิตกุล)  ฟรีเพรสส์ (วิชัย ประสังสิต) นายหนหวย (ศิลปชัย ชาญเฉลิม)

งานเขียนของนักเขียนกลุ่มนี้ที่ส่งอิทธิพลมาถึงนักคิด นักเขียนรุ่นต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน หรืออาจพูดได้ว่ากลายเป็น เรื่องเล่ากระแสหลักว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย เช่น ฝันจริงของข้าพเจ้า (2491) จอมพลในทัศนะของข้าพเจ้า (2491) ประชาธิปไตย 17 ปี (2493) ปทานุกรมการเมือง (2493) ฯลฯ ทั้งหมดนี้พยายามอธิบายว่าการเมืองในเงื้อมมือของคณะราษฎรนั้นเป็นการปกครองแบบเผด็จการมิใช่ประชาธิปไตย[1] เป็นระยะเวลาที่เมืองไทยเต็มไปด้วยความแตกแยก ปราศจากศีลธรรม นำมาแต่ความวิปโยค สูญเสีย จากนั้นสร้างวาทกรรม “เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี” ผ่านวรรณกรรมการเมืองในสกุลนี้ (อ่านเพิ่มเติมใน “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” โดย ณัฐพล ใจจริง. หน้า 54-55)

มาลัย ชูพินิจ ก็เป็นหนึ่งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่โหยหาอดีตเมื่อครั้ง ‘บ้านเมืองยังดี’ ด้วย

เกือบทั้งหมดของการพูดถึงนวนิยายเรื่อง ‘แผ่นดินของเรา’ คนจะจำวรรคทองของนวนิยายเรื่องนี้ที่ขึ้นต้นว่า

“ดอกจันทน์กะพ้อร่วงพรู แต่มิได้หล่นลงสู่พื้นดินเสียทีเดียว”

แต่ในการกลับไปอ่านครั้งนี้ ฉันสนใจประโยคที่ตามมามากกว่า นั่นคือ

“กลีบสีขาวของมันน้อยๆ และอ่อนนุ่ม ปลิวกระจายตามลมเหมือนฝูงผึ้งแตกรังไปตกที่นั่นนิด ที่นี่หน่อย  ท่ามกลางความมืดมิดของราตรีที่ดึกสงัด ปราศจากทั้งแสงเดือนแสงดาว  น้ำค้างที่เย็นยะเยือก และลมหนาวที่พัดมาจากทางทิศเหนือ …

“จิระเวสน์” มิใช่ “จิระเวสน์” ดั้งเดิมอีกต่อไป จากกรรมสิทธิ์ของหม่อมอ่อนมาสู่ทายาท จากทายาทมาสู่มือของผู้จัดการผลประโยชน์ และที่สุดก็เลหลัง ไม่มีอะไรจะคงที่ ไม่มีอะไรจะจีรัง กาลเวลาเปลี่ยนไป ชีวิตเปลี่ยนไป ประเทศสยามเปลี่ยนไป จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตย จากอาณาจักรของคนที่อยู่ร่วมกันด้วยใจมาสู่อาณาจักรที่อยู่ร่วมกันด้วยผลประโยชน์ เพราะมนุษยชาติไม่มีเปลี่ยน กฎธรรมดาไม่มีเปลี่ยน แต่ต่อหน้าภาวะที่ผันแปร”

เหตุใดเรื่องรักใคร่จึงไปเกี่ยวข้องกับ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และประชาธิปไตยไปเสียอย่างนั้นเมื่อเรื่องราวว่าด้วยความรักของหนุ่มสาวในนวนิยายเรื่องนี้จบลง?

แผ่นดินของเราเป็นเรื่องของใคร?

ตัวละครใน ‘แผ่นดินของเรา’ ประกอบด้วย

-ธำรง โรจนคุปต์ : ผู้ชายที่เป็นผู้ชายทุกกระเบียดนิ้ว  อดีตข้าราชสำนัก ที่ตัดสินใจทิ้งพระนครไปทำ สวนมะพร้าวที่ทุ่งวัวแล่น ชุมพร เนื่องจากช้ำรักจากราชนิกูลท่านหนึ่ง

-พระวรนารถประนต : ข้าราชการ ซึ่งในครอบครัวของ พระวรนารถประนตหรือผิน ประกอบไปด้วย เพทาย หญิงสาวชาวพะเยา ภรรยาน้อย ที่เมื่อภรรยาหลวงเสียชีวิต เธอจึงได้ขยับชั้นมาเป็นภรรยาเอก

ครอบครัวนี้มีลูกสาว 3 คนคือ อัจฉรา, สายสวรรค์ และ ภคคินี

อัจฉราและสายสวรรค์ เป็นลูกที่เกิดจากภรรยาเก่าคือ รำเพย อดีต ‘ชาววัง’

หญิงสาว 3 คน มีนิสัยแตกต่างกันออกไปดังนี้ อัจฉรา สวย สง่างาม เคร่งครัดในระเบียบ ประเพณี ความถูกต้อง เข้มงวด

สายสวรรค์ เป็นหญิงที่มีสติปัญญา เรียนเก่งและมุ่งหวังจะยึดอาชีพครู

ส่วนภัคคินี ถูกเรียกในนวนิยายว่า ‘กุหลาบป่าแห่งเวียงเหนือ’ เนื่องจากแม่ของเธอเป็นคนพะเยา มีนิสัยซึ่งได้รับการบรรยายเอาไว้ว่า ‘หญิงสาวผู้ไม่เคยใช้ชีวิตตามบงการของใครนอกจากใจตนเอง’

นเรนทร์ เนติบัณฑิตหนุ่มจากฝรั่งเศส คู่หมั้นของอัจฉรา

สุดา เพื่อนนักเรียนนอกของนเรนทร์ที่ดูหัวสมัยใหม่ที่สุด (แต่ปลายทางของเธอคือแต่งงานกับชายอัปลักษณ์ที่ฐานะดีคนหนึ่งและมีชีวิตอย่างสงบสุข)

แล้วเรื่องราวในนวนิยายก็ดำเนินไปอย่างแก่นสารเช่นนั้น ชีวิตของสามสาวมีเรื่องสำคัญที่สุดคือหาผัว เพื่อให้ผัวมารับช่วงเลี้ยงดูเธอต่อจากพ่อแม่ พวกเธอเรียนหนังสือพอประมาณ เล่นปิอาโนได้ เคยถูกส่งตัวเข้าวัง จากนั้นก็ใช้ชีวิตไปวันๆ กับการวิ่งเล่น ร้องเพลง คุยกัน ดูหนัง แล้วก็นั่นแหละ ปลายทางคือมีผัวสักคน

แม้แต่คุณพระประณตฯ เอง เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาทำการงานอันใดในส่วนของการเป็นข้าราชการ เพราะดูแล้วเป็นคนที่ไม่มีจุดเด่นหรือความสามารถพิเศษอะไรเลย ดูเป็นคนนุ่มๆ ช้าๆ รับราชการ และรับเงินเดือนไปวันๆ เท่านั้นเอง

ครอบครัวพระวรนารถประณตไปตากอากาศที่สวนมะพร้าวของธำรง จบลงด้วยการที่ธำรงกับภัคคินีตกหลุมรักกันแล้วแต่งงาน ส่วนอัจฉรารอการแต่งงานกับนเรนทร์ คู่หมั้นที่ตอนนี้เรียนกฎหมายอยู่ฝรั่งเศส ข้อกังวลของอัจฉราคือ นเรนทร์ เป็นผู้ชายที่หัวสมัยใหม่ ฝรั่งจ๋า ไม่แคร์ขนบประเพณี หละหลวม สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการที่นเรนทร์กับภัคคินี ลักลอบเป็นชู้กัน สุดท้ายสองคนนั้นก็หนีออกจากบ้านไปตกระกำลำบากที่นครสวรรค์ ส่วนอัจฉราที่ท้องกับนเรนทร์ก็หนีความอับอายไปฝังตัวที่ทุ่งวัวแล่น

หลังการหนีตามกันไปของภัคคินีกับนเรนทร์ ก็เหมือนว่าความผิดหวังอับอายครั้งนี้ทำให้ทุกคนเสียศูนย์ไปหมด อัจฉราเหมือนหญิงบ้า เก็บกด คุณพระฯ และภรรยา กลายเป็นหมดอาลัยตายอยาก มีชีวิตไปวันๆ รอความตาย ธำรงนั้นหัวใจสลายแต่พยายามประคองสถานการณ์ และเป็นที่พึ่งให้ทุกคน

ความน่าฉงนคือ แค่ลูกสาวคนหนึ่งหนีตามคู่หมั้นของพี่สาวไป จึงกลายเป็นจุดจบของตระกูลไปได้?

เพราะเรื่องราวหลังจากนั้น มันดำเนินไปราวกับว่าไม่มีใครมีกำลังใจจะทำอะไรอีก คุณพระฯ ต้องไปยืมเงินคนมาดำรงชีวิต อันเป็นเหตุให้ต้องขายบ้านในกาลต่อมา

หรือจุดยึดเหนี่ยวในชีวิตของคนเหล่านี้มันเปราะบางเกินไป ฉันไม่แน่ใจว่าพวกเขาล่มสลายลงจากความ ‘อับอาย’  หรือแค่ขาดทักษะการใช้ชีวิต ‘ตัวละครทุกตัวในแผ่นดินของเรา’ ล้วนเปราะบางเหมือนไข่ในหิน เกิดมาไม่เคยพานพบปัญหา อุปสรรคใดๆ ในชีวิต พอเจอความซับซ้อนในชีวิตเข้าไปนิดเดียวก็ล้มครืน อ่านแล้วอยากคำรามว่า

 ทำไมชีวิตพวกมึงพังง่ายจังวุ้ย เรื่องแค่นี้เนี่ยนะ

 

ชีวิตอัจฉราพังง่ายกว่านั้นอีก ตอนจบเกือบมีความสุขแล้ว เพราะเกิดความเข้าอกเข้าใจกับธำรงเข้า ก็จะแต่งงานกัน กลับกลายเป็นว่า เช้าวันแต่งงานดันไปอ่านหนังสือพิมพ์ เจอข่าวนเรนทร์โดนจับข้อหาฉ้อโกง เท่านั้นเอง เป็นลม ชักตาตั้ง ร้องชื่อ นเรนทร์ นเรนทร์ แล้วตายห่าไปเลย

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของนวนิยายเรื่อง ‘แผ่นดินของเรา’ คือ เมื่ออ่านแล้ว เราไม่เห็น ‘สังคมไทย’ ในนวนิยายเลย ถ้าเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามตัวละครแล้วย้ายไปอินเดีย เปลี่ยนตัวละครเหล่านี้เป็นครอบครัวข้าราชการอาณานิคมชาวอังกฤษ ชายหนุ่มสอง – สามคนในเรื่องเป็นข้าราชการหนุ่มจากอาณานิคม ส่วนธำรงอาจเป็น อดีตข้าราชการในอาณานิคมที่ตัดสินใจไปบุกเบิกทำไร่ชา แทนสวนมะพร้าว มีบริวาร แรงงานเป็นคนพื้นเมืองที่เรียกเขาว่า ‘นาย’ – มันก็ยังคือนวนิยาย ‘แผ่นดินของเรา’ นั่นเอง

‘แผ่นดินของเรา’ อาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำตรงที่ไม่แม้แต่จะบรรยายสภาพบ้านเมือง ผู้คน ถนนหนทาง การเมือง การค้า ฯลฯ  ตัวละครทุกตัวใน ‘แผ่นดินของเรา’ เหมือนชีวิตอยู่ในห้องกระจกแก้วใสๆ เป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยวอะไรกับคนไทยอื่นๆ หรือไม่มีสังคมไทยในฐานะที่เป็นฉากหลังเลย จะมีก็เบาบางมากในฐานะ ‘คนพื้นเมือง’ ที่ไม่มีเสียง ไม่มีตัวตน เว้นแต่เราจะสงสัยว่าใครทำสวน ใครซักผ้า ใครทำอาหารให้ตัวละครแสนบอบบางเหล่านี้กิน – อ่านๆ ไป ก็เริ่มรู้สึก อีคนพวกนี้ มันเป็นใครกัน?

การปรากฎตัวของ ‘คนพื้นเมือง’ ในนวนิยายเรื่องนี้มากที่สุดคือ การปรากฎตัวในฐานะ ‘เมียชาวบ้าน’ ของนเรนทร์ เช่น

“สาวเสียด้วย หน้าตาก็ไม่เลว ดูเหมือนจะเป็นลาวพวน นเรนทร์บอกว่าที่นั่นเป็นบ้านพักของเขาทุกคราวที่ขึ้นมาว่าความที่นี่” (หน้า 287)

จนเมื่ออ่านบทสุดท้ายของนวนิยาย

““จิระเวสน์” มิใช่ “จิระเวสน์” ดั้งเดิมอีกต่อไป จากกรรมสิทธิ์ของหม่อมอ่อนมาสู่ทายาท จากทายาทมาสู่มือของผู้จัดการผลประโยชน์ และที่สุดก็เลหลัง ไม่มีอะไรจะคงที่ ไม่มีอะไรจะจีรัง กาลเวลาเปลี่ยนไป ชีวิตเปลี่ยนไป ประเทศสยามเปลี่ยนไป จากสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ประชิปไตย จากอาณาจักรของคนที่อยู่ร่วมกันด้วยใจมาสู่อาณาจักรที่อยู่ร่วมกันด้วยผลประโยชน์”

แม่อนงค์ไม่ได้เขียนถึงเรื่องความรักอันขาดความยับยั้งชั่งใจของภัคคินีหรือความเหลวแหลกของนเรนทร์หรอก

แม่อนงค์กำลังเขียนถึงชะตากรรมของสังคมไทยโดยแทนสังคมไทยด้วย ‘บ้านจิระเวศน์’ แต่สังคมไทยของแม่อนงค์ ไม่มี ‘คนไทย’[2] แบบเราๆ ท่านๆ แต่เป็นสังคมไทยของพวก ข้าราชการอาณานิคม ที่ทำมาหากินไม่เป็น ขาดทักษะการใช้ชีวิต มีลูกสาวก็หวังแค่ลูกสาวได้สามีมั่งคั่งก็จะได้ช่วยเลี้ยงดูกันต่อไป  ถ้าเรื่องราวไม่เป็นอย่างที่ปูทางเอาไว้ ก็ง่อยเปลี้ยเสียขา ตายตกตามกัน (แกนกลางของความล่มสลายของครอบครัวนี้คือเรื่องคู่ครองของลูกสาวสองคน)

จากความล่มสลายอันนี้ ทำให้ สังคมไทยต้องถูกเปลี่ยนมือจาก ‘เจ้าของ’ มาอยู่ในมือของ ‘ผู้จัดการผลประโยชน์’  (ช่วยไม่ได้ที่คำว่า นายกฯ ซีอีโอ จะแว่บเข้ามาในหัวสมองในทันใด)

บ้านจิระเวสน์ คือ สังคมไทย

ภัคคินีคือคนไทยที่หลงผิดไปหลงรัก ‘เนติบัณฑิตหนุ่มเสรีนิยมจากประเทศตะวันตกอย่างฝรั่งเศส’ ที่ดูผิวเผินแล้วช่างหล่อเหลา ทันสมัย เฉลียวฉลาด เปี่ยมเสน่ห์ เต็มไปด้วยความฝัน และอนาคตที่น่าตื่นตาตื่นใจ ถ้อยคำที่วิจารณ์ความคร่ำครึของ ‘คนเก่าๆ’ ก็ช่างน่าฟัง

ด้วยเหตุนี้ ภัคคินีจึงทิ้งธำรง สามี ‘แก่คราวพ่อ’ ที่แสนดี หนักแน่น มั่นคง เปี่ยมไปด้วยความเป็น ‘ชายแท้’ มีวิริยะอุตสาหะในการทำมาหากิน ไปหาเนรนทร์ผู้เก๋ไก๋ เพื่อจะพบว่า ความฝันต่างๆ นานา นั้นไม่มีจริง และนเรนทร์ก็เป็นเพียงผู้ชายโหลยโท่ย ทำมาหากินไม่เป็น ติดเหล้า เจ้าชู้ ความหลงใหลของภัคคินีที่มีต่อเนรนทร์นั้นมากถึงขั้นที่เธอยอม ‘ขายตัว’ เพื่อหาเงินมาดูแลเขายามที่เขาป่วย

สำหรับแม่อนงค์

ธำรงคือระบอบเก่า

นเรนทร์คือ ประชาธิปไตย (ฝรั่งเศส คณะราษฎร ปรีดี  พิบูลฯ)

ภัคคินี ไม่ใช่ใครอื่น คนไทยที่หลงผิดไปสนับสนุนคณะราษฎร

ประเทศไทยใต้เงื้อมมือ คณะราษฎร นักการเมือง (ผู้จัดการผลประโยชน์ มิใช่เจ้าของ) ย่อมเดินไปสู่ความหายนะ –หายนะถึงขั้นต้อง ขายตัว เลี้ยงดูกัน!

ฉากสุดท้ายจริงๆ ในนวนิยายเรื่องนี้คือ ธำรง กลับมาประมูลบ้านจิระเวศน์คืน เพื่อไม่ให้ต้องตกไปอยู่ในมือของ ‘คนอื่น’ หรือ ผู้จัดการผลประโยชน์ถ่อยๆ อย่างที่เคยเป็น

ส่วนนเรนทร์ ผู้เป็นวัณโรค ผู้ซอมซ่อ ก็ได้ใช้เงินสตางค์สุดท้ายของเขากลับมาที่บ้านจิระเวศน์ เพื่อที่จะพบกับธำรงและจำนนต่อความพ่ายแพ้ของตนเอง

ส่วนภัคคินีนั้นมีชีวิตงดงามเป็นอมตะอยู่ในฐานะรูปภาพวัยสาวที่วาดโดยจิตรกรชาวอิตาลีในสมัยที่เธอยังอยู่ในวัง – นั่นคือสิ่งที่ปรากฎอยู่ในห้วงคิดของธำรงและคือสิ่งที่เขาปราถนาจะเห็นเมื่อการประมูลบ้านจิระเวศน์ สิ้นสุดลง

“มีอะไรเหลืออยู่เล่าสำหรับเขา นอกจากความว้าเหว่ของอดีต ความว่างเปล่าของปัจจุบัน และความเสื่อมถอยของอนาคต”

นั่นคือส่วนหนึ่งของบทสุดท้ายของนวนิยายเรื่องนี้

 

ไม่มีอะไรจะสะท้อนสภาวะจิตใจของบรรดาผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรในช่วงเปลี่ยนผ่านของสยามประเทศได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว

พวกเขาว้าเหว่ – ว่างเปล่า และเห็นอนาคตคือความเสื่อมถอย

และนั่นทำให้พวกเขาไม่เคยหยุดที่จะทำทุกวิถีทางที่จะนำความเรืองรองแบบเก่าที่พวกเขาวางใจกลับคืนมา

 

[1] แม้แต่ละครเวทีเรื่อง “ศรีบูรพา” เวอร์ชั่นปี 2557 ที่กำกับโดย ประดิษฐ์ ปราสาททอง ก็อยู่ภายใต้เรื่องเล่าชุดนี้

[2] คนพะเยาก็เป็นแค่ ‘กุหลาบเมืองเหนือ’ ผู้หญิงผิวขาว มีเสน่ห์ เมียน้อย ที่พอมีลูกก็ได้ลูกแบบภัคคินี ที่ ‘เสรีเริงร่าราวกับนกป่า’  ไม่แคร์สื่อ ไม่แคร์บาปบุญคุณโทษ แย่งผัวพี่สาวก็ได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save