fbpx
COMMUNICATION (IS ACTUALLY) ARTS : ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นัก ‘สื่อสาร’ ที่มองมากกว่าการ ‘สื่อ’ แค่ ‘สาร’

COMMUNICATION (IS ACTUALLY) ARTS : ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นัก ‘สื่อสาร’ ที่มองมากกว่าการ ‘สื่อ’ แค่ ‘สาร’

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่อง

สมัชญา แซ่จั่น ภาพ

อาจเป็นเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจ ที่ทำให้เวลาเราพูดถึงเรื่องของ ‘การเมือง’ โดยเฉพาะการต่อสู้ ขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ มักพ่วงมาด้วยภาพของความดุเดือดเลือดพล่าน อารมณ์และความขัดแย้ง การโต้เถียงที่พาลจะกันให้คนทั่วไปไม่สนใจ ทั้งที่ประเด็นนั้นอาจมีศักยภาพที่จะส่งเสียงไปได้ไกลมากกว่านั้น

และอาจเป็นเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจ ที่ทำให้ในอีกโลกหนึ่งอย่างการโฆษณา กลายเป็นการสื่อสารประเด็นที่ชวนให้เราคล้อยตามได้อย่างไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ แถมยังเพลิดเพลินไปกับการชม ทั้งที่รู้ว่าปลายทางคือการขายของแบบตีหัวเข้าบ้าน

ฟังดูเป็นสองเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่ในสายตาของ ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ อดีตนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้จับพลัดจับผลูมาเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย หรือ LLTD ในยุคเริ่มแรก,

การสื่อสารประเด็นการเมืองให้เป็นเรื่องดึงดูดสายตา คือสิ่งที่เป็นไปได้

ประสบการณ์จากการผลักดันให้ LLTD กลายเป็นกลุ่มการเมืองในธรรมศาสตร์ที่หลายคนจับตามอง เรื่อยมาจนถึงการเป็นผู้วางแผนการสื่อสารให้กับโปรเจ็กต์การเมืองน้อยใหญ่หลังจบจากรั้วมหาวิทยาลัย สิ่งที่เราได้เห็นจากผลงานของเขา คือความใส่ใจกับ ‘หีบห่อ’ ไม่แพ้ ‘ประเด็น’

เช่นเดียวกับโปรเจ็กต์ล่าสุดที่ปราบร่วมกันทำกับเพื่อนๆ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในชื่อ Rethink Thailand ที่เป็นพื้นที่ให้คนทำงานเนื้อหายากๆ มาพบกับนักสื่อสารในรูปแบบคลิปวิดีโอ เพื่อเผยแพร่ความรู้ในแบบเข้าใจง่าย ไม่ถูกปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล และตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ‘งานเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องทำฟรีเสมอไป’

ตลอดระยะเวลาที่เขาเดินมาบนเส้นทางของการเป็น ‘นักวางแผนการสื่อสาร’ ให้กับการเคลื่อนไหวต่างๆ (หรือที่ปราบเรียกตัวเองว่าเป็น Solution Provider) ทำให้กลายเป็นความอินจนเดินทางไปเรียนต่อด้านการสื่อสารของมนุษย์ในเชิงลึกในสายวิชา Communication and Information Science ที่ Tilburg University ประเทศเนเธอร์แลนด์ – เราเชื่อว่าการเปลี่ยนความสนใจของเขาจากเด็กบัญชีธรรมดา มาเป็นคนที่สนใจกับ ‘การสื่อสาร’ อย่างจริงจังขนาดนี้ น่าจะขับเคลื่อนด้วยความเชื่ออะไรบางอย่าง

บางอย่างเกี่ยวกับการสื่อสารเรื่องการเมือง ที่ปราบเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการสร้าง ‘ความเข้าใจ’

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์

โปรเจ็กต์ Rethink Thailand ที่กำลังทำอยู่ เริ่มต้นขึ้นจากอะไร

มันเกิดจากการคุยกันมานานแล้วว่าเราอยากจะมีอินโฟกราฟิกอนิเมชั่นที่เป็นความรู้ทางวิชาการ เป็นภาษาไทยบ้าง เพราะเวลานึกถึงถ้าจะเสิร์ชกูเกิล ยูทูบในเรื่องอะไรซักอย่าง อย่างเรื่องกฏหมาย โรคภัยไข้เจ็บ มันจะมีซักคนนึงที่ทำเป็นภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่าง TEDEducation มีหลายเรื่องมากที่เค้าทำ มันง่ายกับการเข้าใจ ไอเดียตรงนี้มันสอดรับกับวิธีการหาความรู้ของคนรุ่นเรา เราอยากรู้อะไรก็เสิร์ชกูเกิล แต่ถ้าไปเจอเป็นบทความ ความน่าอ่านมันน้อย แต่คลิปมันเข้าถึงได้ทันที เราเลยอยากมีอะไรอย่างนี้ที่เป็นภาษาไทย

แต่การที่จะทำองค์กรนึงขึ้นมา ไล่หาคอนเทนต์แล้วทำมันออกมาด้วยตัวเองมันยาก เพราะเราอาจจะติดกรอบกับไอเดีย สไตล์ของทีมงาน หรือจะเป็นประเด็นว่าเราจะเลือกเนื้อหาอะไร ดังนั้นวิธีการที่เราได้ข้อสรุปกันคือเราจะทำมันเป็นแพล็ตฟอร์ม เป็นคนกลาง ของคนสามกลุ่ม คือกลุ่มคอนเทนต์ นักวิชาการ กลุ่มที่สองคือคนที่อยากเห็นมันคือผู้บริจาค และกลุ่มที่สามคือคนที่เป็นคนทำ อนิเมเตอร์ กราฟิกดีไซน์เนอร์ มีโพเทนเชี่ยลที่จะทำอินโฟกราฟิกของเรื่องเหล่านี้ ส่งพรอโพซอล ประมูลงานแข่งกัน เราก็จะได้คนที่มีไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา ในแง่นึงเราจะได้ออกจากกรอบไบแอสของตัวเองถ้าเราเป็นคนเลือกเนื้อหาอย่างเดียว เราอยากให้มันเป็นพื้นที่ที่คนที่มีงานวิชาการที่น่าสนใจได้ส่งมาคุยกัน มาเจอกัน

เราอยากเน้นตัวความรู้ที่มันยากให้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่นวงการไอที วงการ Data Science เค้าจะมีวัฒนธรรมที่เรียกว่า The Common Task Framework คือตอนที่ผมไปเรียนที่เนเธอร์แลนด์มา เราไปเรียนรู้วัฒนธรรมพวกนี้ ไอเดียของมันคือการที่คุณมีปัญหาๆ นึง แล้วคุณก็เอาตัวที่เป็น dataset ของปัญหานั้นเผยแพร่ต่อสาธารณะเลย แล้วแข่งกันว่าใครจะเอาข้อมูลพวกนี้ไปแก้โจทย์ปัญหาบางอย่างได้ดีที่สุด คนนั้นจะเป็นผู้ชนะ ได้เงินรางวัลจากคนที่เป็นเจ้าของข้อมูล

อย่างเช่น Netflix ที่เคยจัดการแข่งขันด้วยการเอา dataset การใช้งานของผู้ใช้มาเผยแพร่ แล้วบอกว่าใครสามารถทำนายได้ว่าหนังเรื่องต่อไปที่ผู้ใช้จะดูคือเรื่องอะไรด้วยความแม่นยำสูงสุด คนนั้นได้เงินไปล้านดอล ไอเดียอย่างนี้มันทำให้กลายเป็นการแข่งขันที่ทำให้คนมีส่วนร่วมกันมาก อย่างง่ายที่สุด โปรแกรม Image Recognition ที่เอาไว้แยกว่ามีอะไรในภาพบ้าง ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นก็เกิดจากวัฒนธรรมแบบนี้ ที่มี dataset ที่เป็นภาพถ่ายคนที่เอามาให้แข่งกันคิดอัลกอริธึมที่แยกวัตถุ แยกคนได้แม่นยำที่สุด

ไอเดียของ Rethink Thailand ก็เกิดจากตรงนี้ เรามองว่าปัญหามันคืองานวิชาการมันยาก แต่เราจะเป็นแพล็ตฟอร์มให้มาแข่งกันหาวิธีนำเสนอที่ดีที่สุด เอามาย่อยให้เข้าใจง่ายที่สุด คนนั้นได้รางวัลไป อะไรประมาณนี้ครับ

ผมว่ามันมีความน่าเบื่อในวงการทำงานที่เป็นอนิเมเตอร์หรือกราฟิกดีไซเนอร์อย่างนึง คือส่วนใหญ่เราก็จะทำให้องค์กรเอกชน วัตถุประสงค์คือขายสินค้าบริการ แต่ที่จริงมันมีเรื่องหลายอย่างมากเลยที่ท้าทายคนทำงานด้านนี้ ซึ่งถ้าลงแรงไปเลยมันเสียแรง เสียเวลาแถมไม่ได้เงิน มันไม่ได้ค่าแรงที่เค้าต้องลงไป สิ่งที่เราทำเลยต้องการจะเป็นช่องทางหารายได้ของคนกลุ่มนี้ที่มีแรงบันดาลใจอยากทำเรื่องเพื่อประโยชน์สาธารณะ

หมายความว่าไม่ได้ทำฟรีๆ

ใช่ มันไม่ได้ทำฟรีๆ มีรายได้ปกติ แต่เนื้อหาที่คุณทำจะมีประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะมีคนที่ต้องการจะเห็นมันจริงๆ ที่เค้าบริจาคเข้ามา

แต่ก็มีอีกหลายกลุ่มที่พยายามย่อยเนื้อหาอย่างนี้แล้วสื่อสารออกไปเหมือนกัน

ผมว่าเราพยายามจะไปให้ไกลกว่ากลุ่มอื่นๆ นะ ของคนที่พยายามย่อยเนื้อหา ถ้าไม่ทำในรูปแบบของบทความเอามาเล่าต่อ ก็ทำเป็นภาพใหญ่ๆ ตัวหนังสือเล็กๆ เป็นภาพเดียว แต่ถ้าเราผลักเพดานของการเล่าเรื่องพวกนี้ไปในแง่ของอนิเมชั่นได้ มันมีศักยภาพสูงกว่าเยอะ แล้วเราก็อยากจะไปให้ถึงจุดนั้น ในด้านเนื้อหาก็อยากจะให้ไปถึงขั้นที่มีอธิบายเรื่องรัฐธรรมนูญ นโยบายสุขภาพ แต่ในด้านคนทำงาน เราอยากให้เห็นว่ามันมีแหล่งรายได้ใหม่นะ มันจะไม่ใช่ไอเดียว่าต้องรอคนมาจ้าง แต่เค้าจะมาดูเว็บนี้ได้ตลอดว่ามีอะไรให้ทำบ้าง เหมือนเป็นไอเดียที่กลับข้างกัน

เหมือนเป็นการท้าทายความเชื่อตัวเองหรือเปล่า เพราะพอพูดถึงงานสื่อสารการเมืองทีไรแล้วรู้สึกว่าต้องใช้ใจมากๆ ในการทำ

ปัญหาของการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะส่วนใหญ่คือการทำงานแบบจิตอาสาใช่ไหมครับ แต่ทุกคนต้องเสียทั้งแรง เสียทั้งเวลา มันไม่ควรจะเป็นอะไรที่ทำฟรี มันควรมีการ compensate บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวเงินหรืออะไรก็ตาม แต่ไม่ใช่แค่ด้วยเหตุผลว่า เป็นงานอาสานะ

นี่อาจจะเป็นเหตุผลนึงที่ทำให้คนที่งาน NGO ไทยมีเงินเดือนต่ำมากๆ ซึ่งผมว่ามันไม่ถูกต้อง

เราพยายามจะบอกว่า การทำงานเรื่องนี้มันไม่ใช่จิตอาสาเพียงอย่างเดียว แต่มันควรจะมีการตอบแทนการเสียเวลา เสียแรงอย่างสมเหตุสมผล ไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข

ตั้งเป้าไว้หรือเปล่าว่าอยากเห็นมันไปได้ไกลแค่ไหน

ผมยังมองโลกในแง่ดีว่ามันมีศักยภาพนะ มันตอบโจทย์ประเด็นหลายอย่างที่เราอยากแก้ปัญหา คือเราต้องการเป็นคลังความรู้ที่เป็นกราฟิกอนิเมชั่น ซึ่งมันอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในฐานะชื่อนี้ แต่ซักวันนึงมันต้องมีคนที่พยายามตีโจทย์เพื่อแก้ปัญหาแบบเดียวกันและประสบความสำเร็จขึ้นมา มันมีความพยายามหลายแบบเกิดขึ้น และเราก็เป็นหนึ่งในการทดลองเหล่านั้น เราเชื่อว่ามันมีโอกาสที่จะโตและประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายก็ต้องรอดู

จากแต่ก่อนที่เป็นคนลงมือทำ แต่ตอนนี้กลายเป็นคนที่มองภาพรวม การทำงานต่างกันไหม

ต่างกันครับ เพราะตอนนี้เราเป็นคนที่เป็นตัวกลาง เป็นคนบริหารแพล็ตฟอร์ม มันไม่ใช่องค์กรรับจ้างทำอินโฟกราฟิก ไม่ใช่องค์กรที่ไปช่วยการสื่อสารให้กับแคมเปญที่เป็นสาธารณะประโยชน์เหมือนตอนทำสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย เราไม่ใช่คนทำงานในรูปแบบนั้น เราเป็นแค่ตัวกลางเฉยๆ

ไอเดียหลักของคนที่เป็นตัวกลางคือเราต้องพยายามเปิดกว้าง คิดว่าเราไม่ได้เป็นคนทำตัวผลงานด้วยตัวเอง เราต้องให้คนอื่นทำ เรามีหน้าที่เพียงเชื่อมคนที่ทำต้นทางกับปลายทางให้ได้ หน้าที่ของเราคือต้องพยายามประสานหาจุดที่ลงตัวระหว่างคนที่พยายามจะทำให้มันง่าย กับคนที่อยากให้เนื้อหามันครอบคลุม

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์

มองย้อนกลับไปสมัยเป็นนักวางแผนการสื่อสารทางการเมืองให้หลายๆ งาน คิดว่าประสบความสำเร็จไหมในแง่การส่งสารไปถึงคน

แล้วแต่โปรเจ็กต์เลยนะ อย่างตอนที่ทำ New Culture เรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ตอนนั้นเราทำอินโฟกราฟิกอนิเมชั่นอันนึงชื่อว่า เขาพระวิหาร : บทเรียนของคนไทยอย่าให้ใครมาหลอกอีก ไอเดียของคลิปนี้มันคือการเอาเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง งานวิจัยเกี่ยวกับปราสาทเขาพระวิหาร มาอธิบายความขัดแย้ง นอกเหนือจากแนวคิดในตอนนั้นที่จะใช้คำว่าคลั่งชาติก็ได้ คือทำให้มันกลายเป็นประเด็นที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองขึ้นมา ซึ่งมันไปกระทบคนในพื้นที่ชายแดน กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราต้องการให้งานวิชาการพวกนี้เป็นอาร์กิวเมนต์ที่คนพูดถึงมากกว่าเรื่องที่เกี่ยวกับอารมณ์อย่างเดียว

ทุกวันนี้ถ้าลองเสิร์ชกูเกิลด้วยคำว่า ปราสาทเขาพระวิหาร คลิปนี้จะขึ้นมาเป็นอันแรกๆ ซึ่งนั่นหมายถึงความสำเร็จของเราแล้ว เพราะมันหมายความว่าเวลาที่คนต้องการรู้เรื่องนี้ มันจะมีคลิปที่เป็นคำอธิบายทางวิชาการเป็นตัวเลือกให้เค้า โดยที่ไม่ต้องไปไล่ดูหน้าหลังๆ เลย นี่ก็เป็นการวัดความสำเร็จอย่างนึงที่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันดำรงอยู่ และมันคอยให้ความรู้ ให้ข้อมูลกับคนที่สนใจเรื่องนี้ไปได้เรื่อยๆ ทุกครั้งที่เค้าเสิร์ช

หรืออย่าง สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ทุกวันนี้ก็พูดยากมากเลยที่จะบอกว่าจะมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นได้อีก กับการที่มีแฟนเพจของนักวิชาการที่มีคนตามแปดแสนกว่าไลก์ มันยากนะที่จะจินตนาการว่าคนเท่านี้จะมาติดตามการเขียนประเด็นต่างๆ ด้านการเมืองของนักวิชาการกลุ่มนึงได้มากขนาดนี้ มันก็เป็นตัวชี้วัดอย่างนึงที่บอกได้ว่า เฮ้ย เวลาคนพูดว่านักวิชาการพูดอะไรยากๆ คนไม่สนใจหรอก แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ นี่ไงคือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเค้าสนใจนะ ถ้ามันเป็นคำอธิบายที่สามารถตอบข้อสงสัยได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

เหตุการณ์นี้เกิดช่วงปี 2556 – 2557 หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นเทรนด์ว่าคนทำสำนักข่าวออนไลน์ต่างๆ ก็พยายามผลักเพดานเนื้อหาได้ไกลขึ้น เราเห็นคนที่พูดเนื้อหาวิชาการในแง่ที่เป็นคอลัมน์ออนไลน์มากขึ้น ถ้าถามผมนะ สปป. นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นเทรนด์ล่วงหน้าเลยว่าคนตอบรับสิ่งเหล่านี้ได้ มันไม่ได้ยาก ไม่ต้องไปอ่านนิตยสารวิชาการอย่างเดียว โพสต์ลงออนไลน์คนก็อ่าน มันก็เป็นตัวชี้วัดว่าเทรนด์เหล่านี้กำลังจะเกิด แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ

เหมือนมันมีดีมานด์ที่แต่ก่อนคนจินตนาการไม่ถึงว่ามันมีเยอะขนาดนี้ มันมีคนที่พร้อมจะรับงานเขียนเหล่านี้บนโซเชียลมีเดีย

แต่มันก็มีคนที่มาติดตามแต่ไม่ได้เชื่ออย่างนั้นกับเรา ถือว่าเอฟเฟคทีฟเหรอในฐานะคนที่วางแผน

ผมว่าใช่นะ คือเนื้อหาทางการเมืองมันไม่มีทางที่จะมีคนเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้วล่ะ ไม่ว่าเค้าจะติดตามแล้วไม่เห็นด้วยก็ตาม นั่นคือบรรทัดท้ายสุดเลยว่าการถกเถียงมันเกิดขึ้น แล้วนั่นคือประโยชน์ใช่มั้ยครับ ในระยะยาวมันเป็นประโยชน์

มันทำให้เห็นว่าประเด็นนี้ คนพร้อมจะให้เวลากับมันไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ คุณให้เวลาที่จะถกเถียงกับมัน

สิ่งหนึ่งของการทำงานเป็นนักวางแผนการสื่อสาร คือเราอยากได้การรับรู้ เราอยากให้คนพูดถึงเรื่องนี้ ให้คนได้รู้จักเรื่องเหล่านี้ แล้วการที่เราผลักมันไปได้ไกลกว่าการรับรู้เฉยๆ แต่มาคอมเมนต์มาถกเถียง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ มันคือตัวชี้วัดอย่างนึงว่ามันไปได้ มีความหวัง มันโตต่อไปได้

ไม่คิดว่าทำให้เกิดการแบ่งขั้วมากขึ้นเหรอ

มันมีทั้งสองขั้วอยู่แล้วล่ะครับ อย่างที่บอกว่าถ้าตัวเนื้อหามันเป็นเรื่องสาธารณะ มันไม่มีทางเลยที่คนจะเห็นด้วยทั้งหมด การที่เราเปิดประเด็นอะไรซักอย่างแล้วมีคนทั้งสองแบบ ในแง่นึงมันก็สะท้อน ณ ตอนนั้นว่าคนในสังคมคิดเห็นยังไง ซึ่งมันธรรมดามากๆ ต้องแยกกันนะระหว่างการที่เราพูดแล้วเห็นความขัดแย้ง เห็นความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ต้องถามว่ามันเป็นความเห็นไม่ตรงกันที่เกิดจากการที่เราพูดถึงมัน หรือเป็นความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันอยู่แล้วแต่คนไม่ได้พูดถึง

การที่เราจะหาจุดร่วมตรงกันได้มันต้องพูดถึงเรื่องนั้นก่อนใช่มั้ยครับ อันนี้ก็เป็นขั้นตอนนึงที่จะพูดถึงมันให้เกิดขึ้น หลังจากนั้นเราถึงจะเห็นว่าความเห็นไม่ตรงกันในสังคมที่ว่ามันเป็นอย่างไร

มองการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการต่อสู้อย่างนึงไหม หรือเป็นเครื่องมือในการให้คนมาคุยกัน

ในแง่ของคนทำงานสื่อสาร ถ้าในสมัยก่อนเราคงบอกว่าเออ เราอยากเปิดประเด็นใหม่ๆ ขึ้นมาว่าให้คนลองพูดถึงเรื่องนี้ ให้คนตระหนักถึงเรื่องนั้น แต่ในด้านนึงพอพูดถึงประเทศไทยในปัจจุบัน มันไม่ได้มีความหมายแค่นั้นแล้ว แต่มันไปไกลกว่านั้นในแง่ที่ว่า การที่เราพยายามพูดถึงประเด็นต่างๆ มันคือการรักษาพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นซึ่งน้อยลงทุกที ในด้านนึงของความอยากให้คนพูดถึงประเด็นอะไรก็ตาม ภาพรวมของมันก็คือการรักษาพื้นที่นั้นเอาไว้ ที่มันน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา

ผมว่าคนที่ทำงานด้านการสื่อสารต้องคิดโดยหลักการเลยว่าถ้าเราไม่พยายามรักษาพื้นที่นี้ไว้ อนาคตเราจะไม่มีอะไรให้สื่อสารได้เลย คนทำงานสื่อสารจะคิดแค่ว่าอยากพูดเรื่องอะไรอย่างเดียวไม่ได้แล้ว มันต้องคิดว่าจะพูดอย่างไรให้ยังมีพื้นที่จะพูดได้ต่อไป

หมายถึงตอนนี้สู้เพื่ออุดมการณ์ฝั่งตัวเองคงไม่พอ

ใช่ เพราะตอนนี้เสรีภาพในการพูดการแสดงความคิดเห็นมันยังไม่เต็มที่เลย แทบจะไม่มีด้วยซ้ำ แล้วถ้ามันยังไม่มีอันที่เป็นยอดบนสุดของการสื่อสาร แล้วการที่เราจะพูดเรื่องในสังคมต่างๆ ที่เป็นประเด็นมากมายมันจะเหลืออะไรให้พูดได้บ้างเมื่อพื้นที่มันเหลือน้อยเต็มที

ในแง่นึงของการที่เราพูด มันคือความพยายามรักษาและขยายพื้นที่นั้นให้มากขึ้น

มันเป็นประเด็นสำคัญของยุคนี้นะว่าเราจะไม่ได้คิดแค่ว่าจะพูดเรื่องที่เป็นปัญหา แต่การพูดโดยตัวมันเองคือความพยายามรักษาเสรีภาพในการพูดเอาไว้

ในฐานะนักวางแผน ลองวิเคราะห์แผนการของฝั่งตรงข้ามในการสื่อสารให้ฟังหน่อย

ง่ายมากเลยนะ มันก็คือการทำให้พื้นที่แสดงความเห็นน้อยลง เมื่อคนพูดถึงมันได้น้อยลง คนก็สนใจสิ่งรอบตัวน้อยลง รับสิ่งสำเร็จรูปในการใช้ชีวิตง่ายขึ้น ทำให้สุดท้ายแล้วเราไม่ได้คิด ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องต่างๆ รอบตัว มาถึงจุดนี้สังคมก็ถูกชี้นำได้ง่ายกว่าเดิม

หลายคนจะบอกว่าถ้าเราปล่อยให้มีเสรีภาพทางการพูดมากขึ้น คนจะถูกชักจูงได้ง่าย เพราะมันจะมีความพยายามนำเสนอสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้คนคล้อยตาม อันนี้เป็นข้อโต้แย้งของฝ่ายขวาเลย คือเราต้องจำกัดเสรีภาพในการพูด ไม่งั้นมันจะวุ่นวาย แต่คำถามคือถ้าคุณจำกัดเสรีภาพในการพูด สุดท้ายใครจะได้ประโยชน์? มันคือคนที่ไม่ต้องการให้คนพูดถึงปัญหา ถูกไหมครับ

ถ้าจะให้มอง วิธีการง่ายที่สุดในการจะไม่ทำให้คนพูดถึงปัญหา ก็คือการทำให้พื้นที่ในการพูดมันน้อยลงไปเรื่อยๆ

แต่ทุกวันนี้ก็ยังบ่นยังด่ากันได้อยู่ แต่ไม่มีใครออกมาทำอะไรเหมือนเมื่อก่อนนะ

ผมว่ามันแตกต่างนะ เวลาที่พูดถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ การที่คนด่าบนโลกออนไลน์ไม่ได้หมายความว่าเรามีเสรีภาพนะ เพราะเราสามารถการันตีความปลอดภัยให้เค้าได้หรือเปล่า ใช่ไหมครับ ตราบใดที่เราไม่สามารถการันตีความปลอดภัยให้กับการแสดงความเห็นได้ เราไม่อาจบอกได้ว่าเค้ากำลังใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นอยู่ เพราะวันดีคืนดีเค้าจะโดนคุกคาม โดนโจมตีอย่างไรก็ได้ ซึ่งหมายความว่านั่นไม่ได้เป็นเสรีภาพจริงๆ

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์

คุณสนใจเรื่องการวางแผนการสื่อสารมาตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนที่ทำ LLTD ผมเป็นเด็กบัญชีคนเดียวในกลุ่ม นอกนั้นก็เป็นรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แล้วเราก็เห็นว่าในการทำกิจกรรม เราพูดถึงเรื่องที่เป็นวิธีการ เป็น practical manners น้อยมาก เรามักจะถามกันว่าทำเรื่องอะไร จะมีจุดยืนยังไง ออกแถลงการณ์ยังไง แต่จะพูดถึงน้อยมากว่าจะเผยแพร่แถลงการณ์นั่นยังไง จะขยายการรับรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยวิธีแบบไหนที่ไปไกลกว่าการทำใบแลิวหรือจัดเสวนา เราพูดถึงเรื่องนั้นน้อยมาก

แต่ช่วงนั้นสังคมไทยเริ่มปรับเข้ากับโซเชียลมีเดียพอดี เราเลยกลายเป็นกลุ่มกิจกรรมการเมืองของนักศึกษาที่ใช้เฟซบุ๊กอย่างจริงจัง เรียนรู้การซื้อโฆษณาเพิ่มยอดรีชยอดไลก์ จนตอนนั้นเพจ LLTD มีคนตามมากกว่าเพจองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์อีก

ไอเดียมันคือตรงนี้เลยว่าเราต้องให้เวลากับการถกเถียงพูดคุยเรื่องของวิธีการ การวางแผนมากขึ้น มันเริ่มหล่อหลอมประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยของเราให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียได้เยอะมาก

เรียกตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรมอย่างคนอื่นไหม ในเมื่อจากที่ฟังคุณดูเป็นนักวางแผนมากกว่า

ถ้าจะให้เรียก คงเป็น Solution Provider มากกว่า ประเด็นของผมคือเวลาพูดถึงนักกิจกรรมที่ดี เค้าควรจะมีโฟกัสที่ชัดเจนเมื่อพูดถึงเนื้อหาใช่ไหมครับว่าจะทำอะไร ผลักดันเรื่องไหน แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาผมจะมองภาพใหญ่ว่ามันมีเรื่องอะไรบ้างที่เราคิดว่ามันไปได้ไกลกว่านี้ ถ้าการสื่อสารมันดีกว่านี้ เราจะเข้าไปแล้วพยายามตีโจทย์ให้แตกว่าการสื่อสารเรื่องนี้ มันควรจะเป็นแบบนี้นะ

ยกตัวอย่างตอนที่ทำเพจ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ คือช่วงห้าปีก่อนมันมีการปรับปรุงตึกกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ซึ่งชั้นสองของตึกจะมีชื่อตึก จารุพงษ์ ทองสินธุ์ อยู่ พอตึกกิจกรรมทำเสร็จ ป้ายชื่อนั้นกลับหายไป คนเดือนตุลาที่ร่วมกันบริจาคเพื่อสร้างห้องนี้ขึ้นมาไว้นึกถึงเขาก็ต้องการที่จะถามหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ตอนนั้นมีโอกาสได้เข้าไปช่วยคิดว่าจะทำยังไง มีไอเดียหลายอย่างมาก ออกแถลงการณ์ จัดเสวนา ชูป้ายอะไรก็แล้วแต่ แต่ที่ผมไปก็มีข้อเสนอว่าอยากจะทำการสื่อสารเกี่ยวกับเหตุการณ์หกตุลาอย่างที่เคยทำกันมา เลยเป็นแคมเปญที่ว่า ‘การสอบที่ยากที่สุดของเด็กธรรมศาสตร์’ เราเอารูปเก่าๆ สมัยที่เขายังเป็นนักศึกษาไปทำเป็นโปสเตอร์ แปะตัวเอฟใหญ่ๆ เขียนก็อปปี้ที่ว่า แล้วแปะไปทั่วมหาวิทยาลัย

ช่วงนั้นคนกำลังสอบอยู่ก็สงสัยกันว่าคืออะไร พอตามลิงก์ไปก็จะกลายเป็นคลิปที่เล่าเรื่องของคุณจารุพงษ์ ซึ่งเส้นเรื่องหลักที่เล่าคือเรื่องของหกตุลาที่เป็นช่วงสอบ แต่การสอบตอนนั้นมันเลวร้ายกว่าการสอบทั่วๆ ไปเสียอีก เพราะมันมีเหตุการณ์อย่างที่เรารู้เกิดขึ้น มันเป็นไอเดียที่คิดจากว่าจะเอาเรื่องหกตุลามาผูกกับเรื่องที่นักศึกษากำลังอินอยู่ตอนนั้นอย่างไร

พอทำออกไป ภายในวันเดียวมีคนดูคลิปนั้นหกหมื่นคน มันกลายเป็นคลิปไวรัลในช่วงเวลาสั้นๆ เลย อาจจะเพราะมันเป็นการเล่าในแบบที่เค้าไม่เคยอ่าน ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นกระแสจนมหาวิทยาลัยต้องเอาป้ายมาติดอีกครั้ง ก็ถือว่าเป็นแคมเปญที่ประสบความสำเร็จในแง่วัตถุประสงค์ ขณะเดียวกันก็เพิ่มการรับรู้เรื่องหกตุลาด้วยวิธีการสื่อสารอีกแบบด้วย

นี่คือการทำให้มัน practical มากขึ้นอย่างที่บอก

ใช่ครับ ไอเดียผมคืออย่างนี้แหละ คือมองว่าหกตุลามีปัญหาอะไร เราจะทำอะไรได้มากกว่าเดิมมั้ย เข้าไปทำอย่างนั้นแล้วก็สำเร็จ จบ ต่อไปก็มีเรื่องเขาพระวิหาร เรื่อง สปป. สลับไปเรื่อยๆ เพราะเป้าหมายใหญ่สุดที่ผมอยากเห็นคือ การสื่อสารทางการเมืองที่ดี การสื่อสารในการสนับสนุนประเด็นสาธารณะ พูดถึงทางออกของปัญหาบางอย่าง มันควรจะทำให้ดี เพราะยิ่งทำได้ดี คนก็จะรับรู้ปัญหาและทางออกมากขึ้น แล้วการที่คนรับรู้มากขึ้น มันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในที่สุด

สิ่งที่ผมได้พบคือมันมีประเด็นหลายอย่างเลยที่มีคนทำเยอะแยะไปหมด แต่การสื่อสารเพื่อเป้าหมายในการแก้ปัญหาเหล่านั้นมันอาจจะยังไม่เต็มที่ ถ้าถามธุรกิจเอกชน เค้าจะบอกว่าก็จ้างเอเจนซี่โฆษณาตอบโจทย์ให้เค้า แต่คนทำงานประเด็นสาธารณะมันยากมากที่จะไปเสียเงินจ้างเอเจนซี่โฆษณา ในขณะเดียวกันเอเจนซี่โฆษณาก็ไม่มีความรู้ว่าจะสื่อสารประเด็นสาธารณะยังไง เค้าจะมองทุกอย่างเป็นโปรดักต์ เป็นบริการหมดเลย

เวลาบริษัทเอกชนทั่วไปมาทำเรื่องประเด็นทางการเมือง ให้นึกถึงงานของ สสส. ดู อย่างแคมเปญ จน เครียด กินเหล้า มันคือการที่กูทำงานธุรกิจทั่วๆ ไปมาแล้วมาจับประเด็นสาธารณะ แต่การที่คุณทำภาพแบบนั้น มันก่อให้เกิดปัญหาการสเตอริโอไทป์คนจน เกิดปัญหาความไม่เข้าใจเกิดขึ้นตามมาอีก นี่ไงมันถึงเป็นประเด็นที่ว่าทำไมคนทำงานสื่อสาร ถ้าทำงานสื่อสารการเมืองก็ต้องเข้าใจการเมืองด้วย เพื่อจะไม่ได้เกิดปัญหาว่าทำงานโฆษณาที่หวังดี แต่สุดท้ายแล้วมันส่งผลร้าย เหมือนพูดแบบนี้คือเค้าไม่ได้เข้าใจความเป็นคนจนเลย

มันเลยทำให้คิดว่าคนที่ทำงานสื่อสารในประเด็นแบบนี้ควรจะมีเป็นอาชีพเฉพาะอาชีพนึง คอยส่งเสริมกลุ่มต่างๆ มากมาย ผลักดันการทำงานของเค้าให้ไปได้ไกลขึ้น โดยที่ไม่ติดข้อจำกัดเรื่องการสื่อสารอีกต่อไป

ผมเลยเป็นคนที่สนุกกับการตีโจทย์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่ได้อยากเรียกตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรมเหมือนคนอื่น เพราะเราบอกไม่ได้ว่าอะไรคือประเด็นหลักที่เราสนใจ เพราะถ้าถามอย่างนั้น คำตอบก็คือการสื่อสาร

แต่ถ้าบอกว่าสนใจเรื่องการสื่อสาร เข้าไปทำงานด้านนี้โดยตรงแล้วแบ่งเวลามาทำจะไม่ง่ายกว่าเหรอ

ก็เป็นเรื่องที่ดีนะ ผมก็ได้ยินจากพวกผู้ใหญ่ที่เคยทำพวกนี้มา มันไม่ใช่เรื่องใหม่ใช่ไหมครับ สังคมไทยก็มีการเลือกตั้งมาหลายรอบ ทุกการเลือกตั้งมันก็มีการนำเสนอประเด็นระดับประเทศ มันมีคนเคยทำมาก่อนอยู่แล้วล่ะ คนที่เป็นนักโฆษณาน่ะ แต่หลายคนที่เคยทำเค้าก็บอกกันว่าการสื่อสารประเด็นการเมืองมันเป็นงานที่สนุกที่สุด แต่ก็ยากที่สุดเหมือนกัน

ที่ว่าสนุกที่สุด เพราะด้วยความที่เป็นการเมือง เป็นประเด็นสาธารณะ มันทำให้คนทำงานสื่อสารต้องเจอกับคนที่หลากหลาย ทำงานกับคนที่หลากหลายมากๆ เช่นการนำเสนออะไรที่จะบอกว่าเป็นทางออก คำถามคือทางออกนี้ใครทำ ใครได้รับผลกระทบบ้าง มันซับซ้อนกว่าการขายสินค้ามากเลยนะ มันเลยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แล้วมันก็ยากเมื่อเทียบกับการโฆษณาทั่วไป

แต่ขณะเดียวกันพอเราได้ทำ แล้วเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลง เราก็จะรู้สึกภูมิใจกับมันมาก ถ้าเราเห็นความหวังของคนที่อาจจะไม่เคยเห็นว่าปัญหาเหล่านี้มีทางออก มันได้ engage จากคนจำนวนมาก มันต่างกันกับโฆษณาทั่วไปนะครับ แล้วหลายคนที่มีประสบการณ์ทำเรื่องแบบนี้จะประทับใจมากๆ กับงานที่ออกมา

ยกตัวอย่างว่าเราทำโฆษณาซักชิ้น ซื้อเวลาซื้อช่องทางให้คนเห็นซักสิบล้านคน ถ้าเป็นแค่การขายของ สิบล้านคนไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ถ้าเราพูดถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัวให้คนเห็นสิบล้านคน ฟีลของคนทำงานมันต่างกัน ผมเลยคิดว่าคนที่ทำงานสายโฆษณาแบบนี้ การจะมีเวลาได้ทดลองทำงานที่เป็นประเด็นสาธารณะ นอกจากจะเปิดโลกเราแล้ว มันทำให้เราได้ท้าทายตัวเราเองด้วย เราได้เจอโจทย์ที่ไม่เหมือนกับการขายสินค้าบริการเลย ถ้าชอบก็จะสนุกกับมันมาก
ปราบ เลาหะโรจนพันธ์

ไม่ลองคิดว่าจะทำงานที่เนเธอร์แลนด์เหรอ ไหนๆ ก็เรียนจบจากที่นั่นแล้ว

ผมชอบที่นั่นมากเลยนะ เพราะคนเค้าเป็นคนตรงจัด ตรงไปตรงมามากจนแม้แต่คนยุโรปเองยังบอกเลยว่าคนเนเธอร์แลนด์หยาบคาย พูดตรงตลอด เค้าบอกว่าเวลาคิดอะไรแล้วจะพูดเลย ในขณะที่สังคมเราก็จะบอกว่าให้คิดก่อนพูดใช่มั้ยครับ มันตรงข้ามกันเลย แล้วเราเป็นคนนิสัยแบบนั้น เรารู้สึกว่าตัวเองตรงไปตรงมา มีอะไรก็พูดตรงๆ อยู่ไทยก็อึดอัดว่าจะไปทำให้ใครหรือผู้ใหญ่รู้สึกไม่โอเครึเปล่า แต่อยู่ที่นั่นสบายมาก

มันเป็นคัลเจอร์ที่ทำให้เราทำงานได้ดี มันเป็นคัลเจอร์ที่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา กล้าพูดถึงปัญหากล้าจัดการกับมันตรงๆ มันเลยทำให้เนอเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ก้าวหน้าเรื่อง LGBTQ เรื่องกัญชา ยาเสพติด เพราะมันเป็นไอเดียของการที่คุณกล้าพูดถึงปัญหา ทำให้การแก้ปัญหามันเกิดขึ้น เกิดการถกเถียงมากมาย เราก็เอ็นจอยมากกับการใช้ชีวิตที่นั่น

แต่ตอนเรียนจบก็ต้องตัดสินใจล่ะครับว่าเราจะไปเป็นฟันเฟืองนึงของระบบใหญ่ที่มีคนคิดไว้แล้วมากมายหรือเปล่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะเป็นแบบนี้ครับ มันยากมากที่จะเริ่มอะไรใหม่ๆ เพราะมันมีคนที่ทำมาก่อนมากมายเต็มไปหมด

ในขณะที่ถ้าเรากลับมาที่ไทย มีหลายอย่างมากที่คนยังไม่เคยทำ มีหลายอย่างที่รอให้คนเริ่มทำ คำถามคือเราชอบแบบไหน

เราชอบเป็นส่วนหนึ่ง เป็นฟันเฟืองนึงของเครื่องจักรขนาดใหญ่ หรือจะเป็นคนสร้างเครื่องจักรแรกแล้วทำอะไรที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อนในอีกที่นึง

ตอนเรียนจบจะเจอคำถามนี้ ถ้ามีโอกาสเลือกได้ว่าจะกลับไปทำงานที่ไทยหรือจะหางานทำที่เนเธอร์แลนด์ ตอนอยู่ที่นั่นก็มีคนชวนสมัครงาน ชวนไปทำงาน แต่สุดท้ายเราก็ตัดสินใจว่าเราชอบกับการลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไทยยังมีโอกาสอีกมาก เพราะมันมีปัญหาอีกมากที่คนยังไม่ได้แก้ แล้วถ้าเราบอกว่าตัวเองเป็น Solution Provider ชอบแก้ปัญหา มันเลยต้องตัดสินใจกลับไทย เพราะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราชอบและอยากทำ

แสดงว่ายังมีความหวังกับอนาคตประเทศเรา

ถ้าเราไม่มีความหวังเลย (นิ่งคิด) มันยากมากที่จะตอบกับตัวเราเองว่ามันจะมีอะไรที่ดีขึ้นได้ ประเด็นก็คือต่อให้มันมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น จะเป็นขาลงหรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งแรกคือเราหมดหวังไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะมองโลกในแง่ดีเกินไปนะครับ แต่สุดท้ายแล้วมันต้องมีโอกาสที่จะแก้ปัญหาได้ในที่สุดน่ะ ต้องมีสติกับมัน พยายามมอบความหวังให้กับตัวเอง อดทนให้ถึงจุดที่ว่าเมื่อเรามีโอกาส เราจะบอกกับตัวเองได้ว่าเราพร้อมที่สุดแล้วที่จะแก้ปัญหานั้นได้

ผมเลยชื่นชมเนติวิทย์ (โชติภัทรไพศาล) มากเลยไงครับ เพราะมันเป็นไอเดียแบบนี้เลย คือมันหมดหวังไม่ได้ การมีความหวังคือก้าวแรกเลยของการแก้ปัญหา เราต้องมีหวังว่ามันจะแก้ได้

เชื่อคำที่คนบอกไหมว่าคนที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวการเมืองสมัยวัยรุ่น พอโตมาทำงานไฟจะมอดลงเรื่อยๆ

ผมไม่เชื่อนะ มันไม่เสมอไปหรอก เราเคยเห็นคนที่เคยเป็นนักกิจกรรมแล้วก็ทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง ต่อให้คุณไม่เป็นนักกิจกรรมคุณก็หมดไฟได้เหมือนกัน มันไม่เกี่ยวหรอกว่าคุณเคยเป็นนักกิจกรรม เคยเคลื่อนไหวอะไรมา สุดท้ายพอเรียนจบออกมา ถ้าใครสามารถตอบตัวเองได้ว่าความคาดหวัง เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร ไม่ว่าคุณจะเคยเป็นนักกิจกรรม เคยทำหรือไม่ทำมาก่อน สุดท้ายมันอยู่ที่ตรงนี้แหละว่าเราชอบทำอะไรกันแน่ แล้วเราได้ทำสิ่งที่ชอบหรือเปล่า

ถ้าไม่ได้สนใจประเด็นการเมืองแล้วทำงานด้านนี้ตั้งแต่มหาวิทยาลัย ตอนนี้จะเห็นภาพตัวเองเป็นยังไง

ก่อนปี 2553 นี่ผมเป็นเชียร์ลีดเดอร์คณะบัญชีด้วยนะ คงเป็นคนที่โลกแคบมากๆ แล้วคงไม่ได้เห็นปัญหาและโอกาสหลายๆ อย่าง ระบบการศึกษามันทำให้เราโลกแคบน่ะ ไอเดียที่เป็นภาพใหญ่ที่สุดคือพอคุณเข้ามหาลัยมา คุณโดนจับว่าเป็นคณะนั้นคณะนี้ พอจบออกมาสังคมก็คาดหวังว่าคุณต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่การได้ทำกิจกรรมมันทำให้ได้เจอคนนอกคณะ ทำให้ได้เจอคนที่มาจากที่อื่นๆ ได้เห็นความหลากหลาย เห็นความคิดที่แตกต่าง สิ่งเหล่านี้เปิดโลกเรา หล่อหลอมให้เราเห็นว่าโลกมันกว้างนะ มีอีกหลายอย่างมากที่เรายังไม่รู้

เคยเหนื่อยไหมกับเดินมาบนเส้นทางนี้

เคยอยู่แล้ว (ตอบทันที) ถ้าบอกว่าไม่เคยเหนื่อยก็โกหกแหละ แต่เหนื่อยไม่เหนื่อยมันไม่สำคัญหรอก อยู่ที่ว่าเรารู้สึกยังไง รู้สึกดีกับตัวเองหรือเปล่าว่าเราได้ทุ่มแรง ได้เหนื่อยกับสิ่งที่เรารู้ว่ามีคุณค่า

เวลาคนพูดถึงภาวะหมดไฟ มันคือการที่ตอบตัวเองไม่ได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันมีคุณค่ามั้ย

เพราะถ้าเรารู้ว่ามันมีคุณค่า พอเหนื่อย เสร็จจากงาน คุณอาจจะถอนหายใจเฮือกนึงแล้วรู้สึกว่า เออ คุ้มว่ะ สู้ได้ ลุยต่อได้ ถ้าเราเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำนะ

หลังจากนี้สักสิบยี่สิบปี อยากให้คนจำคุณในฐานะอะไร

ไม่อยากให้จำเราหรอก แต่อยากให้จำว่าการที่เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรซักอย่าง การหาแนวร่วมมันสำคัญ การทำให้คนเข้าใจเรามันสำคัญ สุดท้ายแล้วมันไม่มีเงื่อนไขข้อจำกัดว่าเราไม่ต้องสื่อสารกับใคร เพราะเราต้องสื่อสารกับใครซักคนอยู่ดี

ดังนั้นเรื่องที่เป็นรายละเอียดเล็กน้อยที่สุดเลยอย่างการคุยกับคนข้างๆ หรือการสื่อสารกับคนอื่นเพื่อให้เค้าเข้าใจในสิ่งที่เราพูด มันเป็นเรื่องที่สำคัญ

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์

ทำความรู้จักกับ Rethink Thailand

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save