fbpx
การสร้างเมืองแบบพอร์ตแลนด์: ความคิด ความร่วมมือ และความพยายาม

การสร้างเมืองแบบพอร์ตแลนด์: ความคิด ความร่วมมือ และความพยายาม

ปัญหาต่างๆ ที่เราพบในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ หากได้สืบสาวราวเรื่องกลับไป ก็จะพบว่าปัญหาทั้งหมดนั้นล้วนร้อยรัดอยู่กับปัญหาเมืองทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถติดแบบแถวยาวเหยียด น้ำท่วมที่ท่วมแทบทุกครั้งเมื่อฝนตก หรือมลภาวะที่ส่งผลให้เราอยากออกจากเมืองและย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดแทบทุกวัน

ทั้งหมดนี้สัมพันธ์กับ ‘เมือง’ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ผังเมืองมีปัญหาก็ทำให้รถกระจุกตัวอยู่ที่หนึ่ง จนก่อเกิดเป็นรถติด และส่งผลต่อเนื่องจนกลายเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเรือนกระจกเกินความจำเป็น ทำให้สภาพอากาศของเมืองย่ำแย่ สุขภาวะของคนเมืองถดถอยตามลงไป

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทยของเราเท่านั้น แต่เมืองต่างๆ ทั่วโลกก็ประสบและกำลังประสบอยู่

เมืองต่างๆ ทั่วโลกจึงเร่งหาวิธีแก้ปัญหาเมือง เปลี่ยนเมืองของตนที่เคยเป็นปัญหา ให้กลายเป็นขุมพลังต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเมืองที่สามารถทำได้ หรือค้นพบแนวทางการพัฒนาเมืองที่ถูกต้องตามแบบฉบับของตัวเอง

เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นต้นแบบเมืองที่พัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก ในปี 2015 เว็บไซต์ GreenUptown จัดให้พอร์ตแลนด์เป็นเมืองที่ยั่งยืนอันดับที่สามของโลก

คำถามสำคัญคือ พอร์ตแลนด์เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพราะในช่วงไม่กี่สิบปีก่อนหน้า เมืองพอร์ตแลนด์ก็เคยอยู่ในสถานะที่ย่ำแย่เหมือนเมืองอื่นๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรถติด เกิดมลภาวะหรือตัวเมืองชั้นในซบเซา

 

เมืองพอร์ตแลนด์เปลี่ยนตัวเองอย่างไร?

ในงานประชุมวิชาการ The 5th International Conference on Government Performance, Management, and Leadership 2017 ที่วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 13-15 กันยายน 2560 นายชาร์ล เฮลส์ (Charles Hales) นายกเทศมนตรีคนที่ 52 แห่งเมืองพอร์ตแลนด์ ได้มาบรรยายหัวข้อ Toward Smart Growth and Sustainable Situation ซึ่งเนื้อหาหลักของการบรรยายดังกล่าวคือ การพัฒนาเมืองของพอร์ตแลนด์ โดยเขากล่าวว่า กุญแจสำคัญที่ทำให้เมืองพอร์ตแลนด์สามารถเดินมาถึงจุดนี้ได้คือ ความคิด ความร่วมมือ และความมุ่งมั่น

 

ความคิด: เมื่อเมืองหยิบยืมไอเดียจากเมือง

นายกเทศมนตรีแห่งเมืองพอร์ตแลนด์ยืนยันว่าแต่ก่อนนั้น เมืองพอร์ตแลนด์ไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ กล่าวคือ มันก็เหมือนกับเมืองทั่วๆ มีรถติด มลพิษก็เยอะ แถมคนก็ชอบหนีไปอยู่ชานเมืองอีกต่างหาก ทำให้เขต downtown ของเมืองซบเซา

เขาบอกว่าที่เมืองพอร์ตแลนด์เป็นเช่นนี้เพราะดำเนินแนวการพัฒนาเหมือนกับเมืองอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา นั่นคือ ในสมัยก่อน ผู้บริหารเมืองพัฒนาเมืองโดยการสร้างถนน สร้างทางด่วน เพื่อเป็นการเอาใจรถยนต์ โดยคิดว่าเมื่อมีถนนมากขึ้น การคมนามคมมีความสะดวก (สำหรับคนขับรถส่วนบุคคล) เศรษฐกิจจะดี และผู้คนในเมืองจะได้อานิสงส์ไปด้วย

การดำเนินการพัฒนาเมืองอย่างเร่งรีบ และเอาใจรถยนต์ดำเนินไปอย่างเร่งรีบ ไม่นานรถไฟรางเบาที่เคยเป็นที่นิยมใช้กันในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษ 1930-1950 ก็ถูกนำออกไป ตึกอาคาร รวมถึงพื้นที่สีเขียวของเมืองถูกเปลี่ยนให้เป็นถนน ทางด่วน และลานจอดรถ

ภายในไม่นานเมืองก็เต็มไปด้วยรถยนต์ ผลที่ตามมาคือ รถติด ติดจนคนในเมืองไม่สามารถทำอะไรได้ ติดจนก่อเกิดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ การให้ความสำคัญกับรถยนต์ได้ทำให้เกิด ‘วัฒนธรรมรถยนต์ต้องมาก่อน’

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ความน่าอยู่ของเมืองลดลง ประชาชนจึงได้เดินทางออกจากตัวเมืองและไปตั้งรกรากอยู่ชานเมือง กลางเมืองจึงซบเซา ชานเมืองขยายตัวมากขึ้น ในภาพรวมเมืองจึงเติบโตอย่างไร้ทิศทาง สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเมืองพอร์ตแลนด์เท่านั้น หากแต่เกิดกับหลายๆ เมืองทั่วสหรัฐฯ

ผู้บริหารเมืองเล็งเห็นว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป เมืองพอร์ตแลนด์คงไม่เหลืออนาคตอย่างแน่นอน

 

พอร์ตแลนด์ต้องการ ‘แนวคิด’ หรือ ‘ไอเดีย’ ใหม่ๆ

คุณชาร์ลกล่าวว่า สิ่งที่พวกผู้บริหารเมืองยุคใหม่ของพอร์ตแลนด์ทำคือ ค้นหาความคิดใหม่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน สิ่งที่ชาวเมืองพอร์ตแลนด์พยายามทำ คือ นอกจากจะระดมความเห็นจากชาวเมืองของตนเองแล้ว ผู้บริหารเมืองยังคุยกับนักพัฒนาเมืองที่ประสบความสำเร็จจากเมืองอื่นๆ อีกด้วย

เขาบอกว่า หัวใจสำคัญของการสร้างความคิดใหม่คือ ‘การแบ่งปัน’ ซึ่งอาจเรียกว่า ‘การหยิบยืม’ ความคิดก็ได้ หลายครั้ง การสร้างความคิดใหม่ๆ ก็ต้องต่อยอดมาจากความคิดเก่า เห็นอะไรดีก็นำไปปรับใช้ได้ ส่วนเห็นอะไรแย่ๆ ก็ไม่ต้องเอาไป เพียงแค่เรียนรู้และหลีกเลี่ยงมันก็พอ

ในท้ายที่สุด การพูดคุยเพื่อค้นหา (และหยิบยืม) ไอเดีย จึงทำให้เมืองพอร์ตแลนด์ค้นพบการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่

 

ความร่วมมือ: สามประสานจากรัฐ ธุรกิจ และประชาชน

นายกเทศมนตรีเมืองพอร์ตแลนด์บอกว่า จริงๆ แล้วแนวคิดการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ของพอร์ตแลนด์ไม่ได้เป็นอะไรใหม่เลย แต่เป็นแนวคิดที่แสนเรียบง่ายมากๆ นั่นคือ การทำให้เมืองเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน (livable city) พูดง่ายๆ ก็คือ มันเป็นแนวคิดที่ต้องการให้นักพัฒนาเมืองหันมาสนใจตัวเอง สนใจผู้อยู่อาศัย คนตัวเล็กตัวน้อยในบ้านของตน แต่ต้องไม่หยุดมองแค่เฉพาะปัจจุบันเท่านั้น หากต้องมองไปถึงอนาคตด้วย

โจทย์สำคัญของการพัฒนาเมืองแบบพอร์ตแลนด์คือ จะทำให้การพัฒนาเมืองในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสมดุลอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

สิ่งแรกที่เมืองพอร์ตแลนด์ทำคือ การปรับปรุงผังเมืองใหม่ (ซึ่งเริ่มมา 40 กว่าปีแล้ว) ผู้บริหารเมืองเริ่มกำหนดผังเมืองให้มีความชัดเจนมากขึ้น ว่าตรงไหนเป็นเขตที่อยู่อาศัย ตรงไหนเป็นเขตธุรกิจ และส่วนไหนจะเอาไว้เป็นพื้นที่สีเขียวของเมือง การวางผังเมืองจะช่วยให้การเดินทางของคนในเมืองเป็นระบบและจัดการง่ายขึ้น รวมถึงกำหนดการเจริญเติบโตมีทิศทางกว่าเดิม แต่นั่นย่อมหมายความว่ารัฐบาลท้องถิ่นก็ต้องมีอำนาจในการกำหนดผังและปฏิบัติตามผังที่มากพอด้วย

อันดับถัดมาที่เมืองพอร์ตแลนด์ทำ คือ คืนความมีชีวิตชีวาให้กับตัวเมืองชั้นใน พร้อมๆ กับนำรถยนต์ออกไป เมืองพอร์ตแลนด์ได้ใช้ระบบคมนามคมแบบรถไฟรางเบามาเป็นสิ่งที่เชื่อมเมืองส่วนต่างๆ ไว้ด้วยกัน ระบบขนส่งชนิดนี้สามารถรองรับคนได้เป็นจำนวนมาก และสามารถคาดการณ์เวลาการเดินทางได้ ทำให้คนในเมืองสนใจใช้รถรางกันมากขึ้น

และเมื่อสามารถใช้รถรางได้ในราคาที่ถูก การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวซึ่งมีราคาที่แสนแพงก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป นี่จึงทำให้พื้นที่ในเมืองปลอดรถ รถติดน้อยลง มลพิษแทบไม่มี และคนออกมาเดินในเมืองมากขึ้น

เมืองพอร์ตแลนด์ไม่ได้ปรับปรุงระบบคมนาคม หรือเส้นเลือดของเมืองด้วยการเชื่อมรถรางอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้ส่งเสริมระบบคมนาคมชนิดอื่นอีกด้วย ได้แก่ จักรยาน และเครื่องบิน

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนเมืองที่ว่ามานี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากน้ำมือของรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น นายชาร์ลบอกว่า ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วน หลายโครงการในเมืองพอร์ตแลนด์เกิดจากการร่วมลงทุนของนักธุรกิจ ตัวอย่างเช่น โครงการสร้างสนามบินเพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อเชื่อมโยงระดับภูมิภาค รัฐบาลท้องถิ่นก็ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท Beachtel และบริษทอื่นๆ เพื่อสร้างสนามบิน

สำหรับความร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหากำไรจากภาคประชาชน รัฐก็ได้ร่วมมือกับองค์กรเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การให้องค์กรเหล่านี้ช่วยปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลสถานที่สาธารณะบางแห่ง

ความร่วมมือเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน หากมาจากการร่วมคิดร่วมสร้างผ่านการพูดคุยมานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งต้องอาศัยความความจริงใจจากผู้บริหารเมืองอย่างมาก กว่าจะทำให้หลายๆ ฝ่ายตื่นตัวและมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน จนสร้างพันธมิตรหรือทำ ‘Partnership’ กันสำเร็จ

 

ความมุ่งมั่น: การทำอย่างสม่ำเสมอ

หัวใจสำคัญอีกประการก็คือ ความมุ่งมั่น คุณชาร์ลกล่าวว่ากว่าที่เมืองพอร์ตแลนด์จะเปลี่ยนตนเองมาเป็นเมืองที่ยั่งยืนนั้น ต้องใช้ความมุ่งมั่นจากหลายภาคส่วนอย่างมาก

ในคราวที่เมืองกำลังหางบประมาณมาสร้างระบบรางในตอนแรกๆ ก็มีข้าราชการจากรัฐบาลส่วนกลางคัดค้านและมองว่าระบบรางดังกล่าวจะทำให้ระบบคมนาคมระดับภูมิภาคแปรปรวน ถึงกระนั้น ผู้บริหารเมืองก็ยืนยันที่จะทำระบบรางของตนต่อไป ซึ่งก็นับว่าโชคดีอย่างมากที่งบประมาณจากทางรัฐบาลกลางที่กำหนดให้สร้างทางด่วนที่ถูกส่งมารัฐบาลท้องถิ่นเปิดช่องให้พอดี กล่าวคือ ข้อกำหนดการใช้งบประมาณได้กำหนดว่าหากไม่นำเงินไปสร้างทางด่วนก็สามารถนำไปสร้างระบบรางได้

นี่จึงทำให้เมืองพอร์ตแลนด์สามารถสร้างรถไฟรางเบาได้ แต่นั่นก็แลกมากับการต่อสู้กับบุคลากรของรัฐบาลกลางอยู่นานพอสมควร

ในด้านของภาคประชาชน นายกเทศมนตรีกล่าวว่า กว่าที่เมืองจะสร้างพื้นที่สำหรับการขี่จักรยานได้มากขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะมันมาด้วยการต่อสู้ของภาคประชาสังคมที่ต้องการให้เห็นทางจักรยานในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ประชาชนผู้รักในจักรยาน (แต่เกลียดรถยนต์) ได้ประท้วงการใช้รถยนต์ ด้วยการเปลือยกายขี่จักรยานกลางเมือง และเดินประท้วง ซึ่งในความพยายามครั้งแรกๆ ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในทันที แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้บริหารเล็งเห็นว่าการใช้รถจักรยานนั้นจะสร้างประโยชน์แก่เมืองและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว จึงเปลี่ยนแปลงกฎหมายและอนุญาตให้มีทางขี่จักรยานอย่างทั่วถึง รวมถึงให้จักรยานสามารถใช้บนถนนร่วมกับรถยนต์ได้

 

เห็นไหมครับว่ากว่าที่เมืองพอร์ตแลนด์จะมาเป็นอย่างในวันนี้จนเมืองต่างๆ ทั่วโลกยกให้เป็นต้นแบบ ไม่ใช่เรื่องหมูๆ เลยจริงๆ

กว่าจะผ่านไปแต่ละขั้นตอน ต้องใช้ทั้งสมอง ความเอาใจใส่ และความมุมานะ ซึ่งไม่ได้มาจากแค่ผู้บริหารเมืองเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนในเมืองทุกคนอีกด้วยนะครับ

หวังว่าเมืองไทยจะเป็นอย่างนั้นสักวัน

 

อ้างอิง

บันทึกวิดีโอการบรรยายเรื่อง Toward Smart Growth and Sustainable Situation โดย Charles Hales

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save