fbpx
ออสการ์ การเมือง และการกดขี่ในฮอลลีวู้ด

ออสการ์ การเมือง และการกดขี่ในฮอลลีวู้ด

ไม่ใช่งานแจกรางวัลเท่านั้นแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ออสการ์กลายเป็นเวทีแห่งโอกาสที่ให้นักแสดงได้พูดมากกว่าการขอบคุณเพื่อนร่วมงาน ครอบครัวหรือหมาที่บ้าน สามสี่ปีหลังของออสการ์ เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ของที่นักแสดงระดับเอลิสต์ ที่ใช้ช่วงเวลานี้สะท้อนมุมมองของตัวเองที่มีต่อสังคม

 

ออสการ์ปีนี้เรื่องสิทธิของคนทำงานและการคุกคามทางเพศในฮอลลีวู้ดกลายเป็นประเด็นร้อนแรง ที่จริงก็ร้อนแรงมาตั้งแต่ปลายปี 2017 แล้ว สิทธิของผู้หญิงถูกพูดถึงอย่างมาก ลามไปถึงเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติหรือกลุ่มวัฒนธรรมย่อยในสังคมถูกยกมาพูดถึงไปด้วย เรื่องราวของผู้หญิงถูกนำมาพูดกันมาก เนื่องจากคดีความของฮาร์วีร์  ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) และแคมเปญ #timesup และ #metoo จุดประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศในฮอลลีวู้ด ตามมาด้วยเรื่องของค่าตัวของนักแสดงของนักแสดงชายและหญิงที่แตกต่างกันกันราวฟ้ากับเหว เลยทำให้นักแสดงหญิงหลายๆ คนทั้งเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ แอจลีย์ จัดจ์ เซลม่า ฮาเย็ก ฯลฯ ลุกขึ้นมารณรงค์และเรียกร้องสิทธิของสตรีเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการทำงานมากขึ้น

งานออสการ์จึงน่าสนใจที่ด้านหนึ่งมันเป็นทั้งความบันเทิง แฟชั่นและความหรูหราสุดขั้วแต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเวทีสะท้อนจุดยืนทางสังคมและการเมืองของคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา

การจุดประเด็นเรื่องผู้หญิง ก็ทำให้ผมสนใจขึ้นมาว่า แล้วที่เขากล่าวอ้างกันว่าผู้หญิงที่ไม่ที่ยืนในออสการ์นั้นจริงหรือไม่ ทั้งๆ ที่เราก็เห็นดาราหญิงมากมายที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน จนเรียกได้ว่าแสดงหนังสองสามเรื่องจบก็ยังมีกินจนถึงทุกวันนี้ 

แต่ผู้หญิงที่ทำงานอยู่เบื้องหลังนั้น ประเด็นเรื่องเงินกับโอกาสในการแสดงฝีมือนั้นมันคนละเรื่องกันกับนักแสดงที่อยู่หน้ากล้อง

เมื่อดูจากประวัติของออสการ์ผู้หญิงในรางวัลสำคัญๆ ของออสการ์อย่างรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมนั้นถือว่ามีไม่มากจริงๆ แหละครับ เมื่อเทียบว่าออสการ์มีอายุมา 90 ปีแล้ว ถึงตอนนี้มีผู้หญิงเพียง 5 คนเท่านั้นที่เคยได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และมีเพียงคนเดียวที่เคยชนะในรางวัลนี้ ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่ามันน้อยจริงๆ แต่เมื่อนึกความเป็นจริงที่ว่าประเทศที่ขายตัวเองว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ (แต่ประเทศนี้ก็ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีเป็นผู้หญิง)

เราลองมาไล่เรียงกันดูว่ามีผู้หญิงที่ได้เจ้าเสนอชื่อในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์มีใครบ้าง (ที่เลือกสาขานี้เพราะเป็นสาขาที่เจาะจงความสามารถของคนทำงานเป็นหลักและเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทอย่างมากต่อทิศทางของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ มากที่สุด) 5 คนที่เคยได้เข้าชิงในสาขานี้ คนแรก ได้แก่ ลีน่า เวิธ์ตมูลเลอร์ (Lina Wertmüller) จาก Seven Beauties (1977) เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ชิง แต่ปีนี้นั้นผู้กำกับที่ได้รางวัลไปคือ จอห์น เอวิลด์สัน (John G. Avildsen) จาก Rocky

คนถัดมาคือเจน แคมเปี้ยน (Jane Campion) กับหนังที่ดีที่สุดในความคิดของผมเรื่องหนึ่งเลย นั่นคือ  The Piano (1994) แต่ปีนั้นเธอก็พลาดไป สตีเฟ่น สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ได้รางวัลนี้จากจาก Schindler’s List ปีนั้น The Piano ได้แค่รางวัลเพลงสกอร์ยอดเยี่ยม

หลังจากนั้นเราต้องรออีกสิบปี กว่าจะมีผู้กำกับผู้หญิงอีกคนที่ได้เข้าชิงในสาขานี้ นั่นคือในปี 2004 โซเฟีย คอปโปล่า (Sofia Coppola) ถือว่าเป็นผู้กำกับหญิงสัญชาติอเมริกันคนแรกที่ได้แสนอชื่อชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (สองคนแรกไม่ใช่นะครับ ลิน่าเป็นอิตาเลี่ยน ส่วนเจนเป็นคนนิวซีแลนด์) จาก Lost in Translation แต่ก็พลาดให้กับปีเตอร์ แจ๊กสัน (Peter Jackson) จาก The Lord of the Rings: The Return of the King แต่เธอได้รางวัลในสาขาบทภาพยนต์ยอดเยี่ยมแทน

กว่าจะมาถึงคิวของผู้กำกับหญิงที่ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจริงๆ ต้องรอคอยกันถึง 85 ปี เธอคนนั้นคือแคธรีน บิกเกโลว์ (Kathryn Bigelow) จาก The Hurt Locker เธอยังเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของฮอลลีวู้ดที่ได้รางวัลจากสมาพันธ์ผู้กำกับภาพยนตร์แห่งอเมริกา (Directors Guild of America Award สำหรับ Outstanding Directorial Achievement in Feature Film) ซึ่งไม่เคยมีผู้หญิงคนใดได้รางวัลนี้มาก่อน

และคนสุดท้ายก็คือเกรต้า เกร์วิก (Greta Gerwig) ผู้กำกับและเขียนบทจากภาพยนตร์เรื่อง Lady Bird ซึ่งได้เข้าชิงหลายรางวัลในออสการ์ปีนี้ ทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมและนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม แต่น่าเสียดายที่พลาดหมดทั้ง 5 รางวัล  แต่อย่างไรก็ดี เกรต้าก็ได้เพิ่มพื้นที่ของผู้หญิงเข้าไปอีกหนึ่งคน

แล้วหากเทียบเทียบสถานการณ์ของคนผิวสีกับผู้หญิงในฮอลลีวู้ดล่ะ ใครดูแย่กว่ากัน

คนผิวสีดูเหมือนมีโอกาสมากกว่าผู้หญิงนิดหน่อยนะครับ หากเทียบในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม มีภาพยนตร์ที่กำกับโดยคนผิวสีถูกเสนอชื่อข้างชิงรางวัลออสการ์ทั้งหมด 5 เรื่อง คือ Boyz n The Hood (1991) ของจอห์น ซิงเกิลตัน (John Singleton) แอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ได้เข้าชิงในสาขานี้ (ซึ่งมาทีหลังผู้หญิง 14 ปี) และยังเป็นผู้กำกับอายุน้อยที่สุดที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขานี้ (ตอนที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงฯ จอห์นเพิ่งจะอายุ 24 ปี)

ตามมาด้วย ลี แดเนียล (Lee Daniels) กับ Precious (2009) สตีฟ แมคควีน (Steve McQueen) จาก 12 Years a Slave (2013) และเป็นผู้กำกับผิวดำคนแรกที่หนังของเขาได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ตัวเขาเองพลาดรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไป จากนั้นตามมาด้วยแบรี่ แจนกินส์ (Barry Jenkins) ใน Moonlight (2015) ซึ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นไปได้แต่พลาดรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม  ส่วนปีนี้ก็มี Get Out (หนังกดดันมาก) ของ Jordan Peele ซึ่งก็ได้รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ถือเป็นแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่คว้ารางวัลนี้

ดูโดยรวมแล้วปัญหาเรื่องการขาดโอกาสเพราะเหตุด้วยเรื่องเพศและสีผิวยังคงมีอยู่มากในสังคมอเมริกัน ผู้หญิงยังไม่มีโอกาสในการได้ทำงานที่ทัดเทียมกับผู้ชาย อาจต้องย้อนมองกลับไปถึงเรื่องการได้รับโอกาสทางการศึกษา มาถึงการได้เสนองานดีๆ จากสตูดิโอให้ทำหนังระดับบ็อกซ์ออฟฟิศ ผู้กำกับสุภาพสตรีไม่ได้มีฐานแต่เดิมในธุรกิจนี้มากนักซึ่งเต็มไปด้วยผู้ชายมากกว่า แต่ก็ดูเหมือนว่ามันแนวโน้มที่ดีมากขึ้น

จากรายงานของ San Diego State University’s Center for the Study of Women in Television and Film บอกว่าหนังอย่าง Wonder Woman ของแพตตี้ เจอร์กิ้นส์ (Patty Jenkins ซึ่งไม่ได้เป็นอะไรกับแบร์รี่ เจอร์กินส์) และ Lady Bird ของเกรต้า เกรวิกซึ่งทำเงินได้อย่างน่าพอใจ ทำให้ภาพยนตร์และรายการทางโทรทัศน์ที่กำกับโดยผู้หญิง ทำรายได้ได้ดีขึ้นอีก 7% เมื่อเทียบจากปีที่แล้ว ถ้ามองภาพรวมไปถึงธุรกิจโทรทัศน์ แนวโน้มของงานที่มาจากผู้กำกับผู้หญิงก็เพิ่มมากขึ้น ปีที่แล้วคิอเป็นประมาณ 32.4% ซึ่งเพิ่มจาก 24% ในปี 2016

มีการวิเคราะห์กันว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลงานของผู้หญิงเติบโตได้ดีในโทรทัศน์เพราะว่า เรื่องราวในโทรทัศน์มีเวลาในการเล่าเรื่องมากกว่า และธรรมชาติของรายการโทรทัศน์ไม่ต้องการความรุนแรง บีบคั้นหรือต้องกระโตกระตากมากเท่าภาพยนตที่ฉายในโรงฯ ซึ่งก็น่าคิดต่อนะครับว่า หากสมมติฐานเป็นแบบนี้ นั่นแสดงว่าพื้นที่”​ในโรงหนังและรวมถึงความคิดของผู้สร้างฯ ยังมีทัศนคติว่ามองว่าที่นั่งในโรงหนังยังคงเป็นพื้นที่ของ ผู้ชายมากกว่า

ฉะนั้นหนังที่ออกมาส่วนใหญ่ จึงต้องการเอาใจกลุ่มลูกค้าใหญ่กว่า ผลงานของผู้กำกับหญิงจึงถูกจำกัดทั้ง “ปริมาณ” และ “ประเภท” แต่ความหวังใหม่ของผู้กำกับหญิงก็คือการเติบโตของธุรกิจสื่อสตรีมมิ่ง (streaming service) ทั้งเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) อะเมซอน ไพร์ม (Amazon Prime) รวมถึงปัจจัยเรื่องการเข้าถึงสื่อที่มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ทำงานที่ท้าทายหลากหลายมากขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน

หากใครได้ดูการขึ้นไปรับรางวัลของฟรานเซส แมคเดอร์มานด์ ที่เธอสามารถคว้ารางวัลจากภาพยนต์ Three Billboards Outside Ebbing, Missourri ที่เธอใช้คำว่า Inclusion Rider ในบางส่วนของสุนทรพจน์ของเธอ ในความหมายของเธอนั้นหมายถึงว่านักแสดงระดับแถวหน้าของฮอลลีวู้ดผู้ซึ่งมีความสามารถในการกำหนดหรือช่วยเหลือให้เกิดความเท่าเทียมกันและหลากหลายของคนในภาพยนต์ฮอลลีวู้ดได้มากขึ้นควรลงมือทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น นักแสดงสามารถใส่ Inclusion Rider ในท้ายสัญญาของพวกเขาว่าในภาพยนตร์หนึ่งเรื่องควรมีสัดส่วนของความหลากหลายของคนในหนังอย่างไรบ้าง เป็นต้นว่ามีสัดส่วนของผู้หญิง คนพิการ คนผิวสีหรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นจำนวนเท่าไหร่ และคนที่ทำงานควรได้รับค่าจ้าง ค่าแรงที่เหมาะสม รวมถึงพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับภาพยนตร์ทุกๆ คนก็ควรได้รับสิทธินี้ พร้อมทั้งมีบทลงโทษสำหรับองค์กรที่ไม่ทำตามกฎ

 

หลังคืนออสการ์ The New York Times ถึงกับลงบทวิเคราะห์เรื่องนี้ว่า ถ้าหากนักแสดงลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ ก็อาจเป็นก้าวสำคัญของวงการหนังฮอลลีวู้ดเลยก็ว่าได้

ในปีที่ 90 ของออสการ์และเหลืออีก 10 ปีเท่านั้นสำหรับการเริ่มศตวรรษใหม่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ตัวกำหนดทิศทางวัฒนธรรมโลก น่าจับตามองว่านอกจากคอมพิวเตอร์กราฟิกที่เก่งขึ้นทุกวันแล้ว อุตสาหกรรมภาพยนตร์และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับมนุษย์โลกที่โหยหาความบันเทิงและความเท่าเทียมกันได้หรือไม่

           

อ้างอิง

บทความ In Hollywood, women are increasingly calling the shots on television โดย Neal Justin จาก Star Tribune

บทความ Equal Rights for Women – The Hollywood Treatment โดย Elizabeth Kissam จาก Huffington Post

บทความ How Women in Hollywood Are Finally Taking a Stand Against Sexism โดย Ramin Setoodeh จาก Variety

List of black Academy Award winners and nominees จาก wikipedia

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save