fbpx
Ode to Joy : ความตายของนักพฤกษศาสตร์และบทกวีแด่ความปีติรื่นรมย์

Ode to Joy : ความตายของนักพฤกษศาสตร์และบทกวีแด่ความปีติรื่นรมย์

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

 

ปีติการุณยฆาตของ เดวิด กูดดอลล์

 

 เดวิด กูดดอลล์ เกิดปี 1914 ที่ลอนดอน  เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุ ครอบครัวของเขาตัดสินใจย้ายไปอยู่ออสเตรเลีย เดวิดเติบโตขึ้น มีอาหารโปรดคือฟิชแอนด์ชิพและชีสเค้ก ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์สอนวิชาพฤกษศาสตร์และนิเวศวิทยาทั้งในอังกฤษ ออสเตรเลีย กานา และสหรัฐอเมริกา เขาเป็นที่ยอมนับถือ มีผลงานทางวิชาการตีพิมพ์มากมายและเป็นบรรณาธิการหนังสือวิชาการชั้นนำด้านนิเวศวิทยาหลายเล่ม เดวิดมีความรัก มีภรรยามา 3 คนซึ่งเข้ามาแต่ละช่วงชีวิต มีลูก 4 หลาน 12 เชื้อสายของเขากระจายอยู่หลายแห่งทั้งในอเมริกาและยุโรป

บางครั้งเดวิดก็โดดไปเป็นนักแสดงละครเวทีสมัครเล่น แต่สิ่งที่เขาทำเป็นประจำคือการเล่นเทนนิสซึ่งเขาเล่นจนกระทั่งอายุ 90 จากนั้นแข้งขาที่เคยพลิ้วไหวบนคอร์ทเทนนิส เคยพาเขาบุกตะลุยไปในแปลงพฤกษศาสตร์ซึ่งเป็นแหล่งพลังใจของเขาเริ่มไม่แข็งแรงมั่นคงเหมือนตอนหนุ่มๆ วีลแชร์กลายเป็นขาของเขา เมื่อเขาอายุได้ 104 ปี เขาคิดว่าชีวิตไม่เปี่ยมด้วยความยินดีปรีดาเหมือนเคย และควรจบชีวิตเพียงเท่านี้

“ชีวิตของผมคือการอยู่ในแปลง แต่ผมไม่สามารถลงแปลงได้อีกแล้ว ผมอยากเดินไปตามพุ่มไม้อีกครั้ง และมองดูสิ่งต่างๆ รอบตัวผม ผมยังคงได้ยินเสียงนกร้องเพลง แต่สายตาผมแยกแยะไม่ออกเสียแล้วว่ามันคือนกอะไร” เดวิดกล่าว

เขาเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่มีกฎหมายยอมรับการการุณยฆาต แจ้งความจำนงขอจบชีวิตด้วยความช่วยเหลือจากแพทย์ โดยไม่ต้องการงานศพและพิธีการใดๆ เดวิดไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย เขาเปิดโอกาสให้สื่อสัมภาษณ์เพื่อหวังผลักดันกฎหมายยอมรับการการุณยฆาตในออสเตรเลียที่ซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นบ้าน และเห็นว่าตนเองไม่ควรต้องเดินทางมาตายไกลบ้านขนาดนี้

“ผมอยากตายและนั่นไม่ใช้เรื่องเศร้าอะไร ผมมีความสุขที่จะได้มีโอกาสจบชีวิตผม ความรู้สึกของผมคือคนแก่อย่างผมควรมีสิทธิพลเมืองเต็มที่ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือหากต้องการจบชีวิต” เดวิดกล่าวต่อหน้าสื่อมวลชนที่มากันเต็มคลินิกเล็กๆ ในสวิตเซอร์แลนด์

 

สิ่งที่เดวิดเลือกทำในวันสุดท้ายก่อนตาย คือการชมสวนพฤกษศาสตร์กับหลานๆ

 

หนึ่งวันก่อนตายเขาใช้เวลาเต็มวันเที่ยวชมสวนพฤกษศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบาเซิลกับหลานๆ 3 คน ซึ่งภูมิใจในความกล้าหาญของคุณปู่คุณตาของพวกเธอ และเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง สมาชิกในครอบครัวพากันมารายรอบเตียงเดวิด จากนั้นตามที่ได้สั่งกันไว้ล่วงหน้า ขณะแพทย์ช่วยเหลือให้เขาจบชีวิต เพลง Ode to Joy หรือ แด่ความปีติรื่นรมย์  ที่เดวิดเลือกไว้ให้เป็นเพลงกล่อมลาตัวเองได้ดังขึ้น คลอเคลียบทสุดท้ายของชีวิตเขาอย่างยินดีปรีดาตามชื่อเพลง

 

จาก ซิมโฟนีหมายเลข 9 ถึง Ode to Joy

 

หากใครต้องการเพลงสุดท้ายเพื่อปิดฉากชีวิตเช่นเดียวกับคุณปู่เดวิด Ode to Joy นับเป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลย

Ode to Joy  คือเพลงพิมพ์ใจมนุษยชาติแสนโด่งดัง ตัดตอนมาจาก ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟน ซึ่งเบโธเฟนกล่าวว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในการประพันธ์ซิมโฟนีนี้จากบทกวี  An die Freude  (Ode to Joy) ของ ฟรีดดริช ฟอน ชิลเลอร์ (1759-1805) นักประวัติศาสตร์ นักปรัชญา นักเขียนบทละคร และกวีเอกชาวเยอรมัน

ความพิเศษของ ซิมโฟนีหมายเลข 9 ในช่วงก่อกำเนิดขึ้นมีหลายประการ ทั้งสถานะการเป็นผลงานการประพันธ์ซิมโฟนีชิ้นสุดท้ายของเบโธเฟน การสร้างความตรึงตราใจในศักยภาพความเป็นมนุษย์อันลึกซึ้งเพราะขณะออกแสดงครั้งแรกที่กรุงเวียนนาในปี 1824  เบโธเฟนได้สูญเสียโสตประสาททางการได้ยินไปแล้ว และอีกหนึ่งความพิเศษคือในกระบวนที่ 4 ซึ่งเป็นกระบวนสุดท้ายของซิมโฟนี เบโธเฟนได้นำ  An die Freude มาให้นักร้องขับร้องโดยให้เสียงร้องมีความสำคัญเท่าเครื่องดนตรีในวง หลังออกแสดงครั้งแรก เพลงนี้ยิ่งทวีความหมายต่อทั้งโลกจนกล่าวแทบไม่หวาดไม่ไหว

พญ.โชติศรี ท่าราบ นักวิจารณ์ดนตรีชั้นครู บรรยายลักษณะของซิมโฟนีหมายเลข 9 ไว้อย่างครอบคลุมว่า “ซิมโฟนีบทนี้ เบโธเฟ่นใช้บรรยายความรู้สึกของการต่อสู้กันระหว่างโชคชะตา เคราะห์กรรมของมนุษย์กับจิตวิญญาณของมนุษย์ แนวทำนองของบทเพลงนี้มีลักษณะเร้าใจ ทำให้เกิดความฮึกเหิมเพื่อต่อสู้  ไม่ยอมแพ้กับเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้น  สุดท้ายของบทเพลงจบลงด้วยความสง่างาม เสียงดนตรีได้แสดงถึงชัยชนะของมนุษย์ที่สามารถเอาชนะต่อโชคชะตาเคราะห์กรรมที่เข้ามาเยือนได้[1]

แม้ว่าเบโธเฟนยืนยันว่าประทับใจบทกวี An die Freude  ของชิลเลอร์อย่างลึกซึ้งมาตั้งแต่วัยหนุ่ม แต่ในโลกดนตรียังมีการถกเถียงกันว่าบทกวี An die Freude  เป็นทั้งรากฐานของ ซิมโฟนีหมายเลข 9 หรือจริงๆ แค่บังเอิญมาสอดรับกับซิมโฟนี 3 กระบวน (movement) ก่อนหน้าที่เบโธเฟนแต่งไว้แล้ว จึงเหมาะที่จะนำมาเป็นบทสรุปของซิมโฟนีทั้งหมด

เมื่อฟรีดดริช ชิลเลอร์หลบภัย

 

ยุคสมัยทางวรรณคดีสมัยชิลเลอร์ ได้รับการเรียกขานว่าเป็นยุคคลาสสิกของวรรณคดีเยอรมัน (Klaaaik 1786-1805) โดยมีสองนักเขียนคนสำคัญคือเกอเธและชิลเลอร์เป็นแนวหน้า วรรณคดียุคนี้กลับมาให้ความสำคัญต่อปัญญา ความคิด เหตุและผล ไม่ยอมให้อารมณ์และความปรารถนาของจิตใจเป็นใหญ่แต่ฝ่ายเดียว มีความสุขุมคัมภีรภาพ มีอุดมการณ์ มองโลกด้วยอุดมคติที่สูงส่ง สร้างศิลปะอย่างตั้งใจ เพื่อให้เกิดความงามกลมกลืนทั้งรูปแบบและเนื้อหา อีกทั้งกวียังนิยมนำรูปแบบและเนื้อหาจากวรรณคดีกรีกและละตินมาใช้[2]

 

อนุสาวรีย์ของเกอเธ (ซ้าย) และชิลเลอร์ (ขวา) สองเสาหลักแห่งวรรณคดีเยอรมัน

 

กวีนิพนธ์ของชิลเลอร์มีลักษณะเด่นชัดในแง่ที่ไม่มีงานจำพวกโคลงรักอ่อนหวาน หรือโคลงที่แสดงความรู้สึก ความอ่อนไหวในอารมณ์ของคนคนหนึ่งเลย ชิลเลอร์เขียนแต่งานที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากโดยส่วนรวม มีภาษาและรูปแบบที่สง่าจริงจัง เนื้อหาเกี่ยวกับความคิด (Gedankenlyrik) แสดงอุดมคติที่สูงส่ง ต้องการเสนอคุณธรรม ความดีงามที่จะจรรโลงสังคมและมนุษย์โลกให้อยู่ด้วยกันอย่างสุขสันติ มีเกียรติและมีความเป็นอิสระ”[3]

ส่วนชีวิตของชิลเลอร์นั้น นับว่าถูกกดอยู่ใต้สิทธิ์ขาดของกลุ่มผู้มีอำนาจและพบเจอความผิดหวังนานัปการ เช่นในช่วงหนึ่งของชีวิตเขาต้องโทษจากการกำกับละครที่เขาเขียนขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสถาบันกษัตริย์ จนถูกคุมขังอยู่ 14 วัน และถูกสั่งห้ามไม่ให้เขียนบทละครอื่นๆ ด้วย ชิลเลอร์หลบหนีและเร่ร่อนอยู่หลายเดือน จนกระทั่งหนึ่งในคณะกรรมการบริหารงานศาสนาชื่อเคอร์เนอร์ ซึ่งชื่นชมบทประพันธ์ของชิลเลอร์ ได้เชิญชิลเลอร์ไปพักที่บ้านของเคอร์เนอร์ในเมืองเดรสเดน ชิลเลอร์ใช้ชีวิตในช่วงนี้อย่างมีความสุข และบทกวีประเภทบัลลาดชื่อว่า An die Freude  หรือที่ต่อมาทั้งโลกรู้จักในชื่อ Ode to Joy ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้ กล่าวกันว่าชิลเลอร์เขียน Ode to Joy หรือ แด่ความปีติรื่นรมย์ เพื่อสะท้อนถึงความสุขที่ได้รับในชีวิตช่วงนี้นั่นเอง[4]

 

แด่ความปีติรื่นรมย์

มิตรรัก ไม่ใช่เสียงนี้

ต้องรื่นสนาน เกษมสานต์ยิ่งกว่านี้

เร่งเร้าเสียงแห่งความปีติรื่นรมย์ให้ล้นพ้น

ปีติ! ปีติ!

 

ปีติ, ประกายไฟจากพระเจ้า[5]รังรองนัก

บุตรสาวแห่งทุ่งอีลิเซียม[6]

เราเมาในเปลวเพลิงโชติชัช ยามยาตราสู่แหล่งพำนักศักดิ์สิทธิ์แห่งท่าน

เวทมนต์ของท่านผสานเรา

มลายจารีตขีดคั่น

มวลมนุษย์ทั้งผองพลันเป็นพี่น้องกัน

ใต้ปกปักอ่อนโยนจากปีกท่านสยายนั้น

 

ผู้ใดมีโชคพอได้เป็นมิตรให้มิตร

หรือพิชิตดวงใจสตรีมาเป็นภรรยาผู้อุทิศตน

เชิญร่วมด้วยในความยินดีกับเรา!

แน่แท้ เมื่อมนุษย์เพรียกหาวิญญาณเพื่อนมนุษย์ แม้เพียงดวงเดียวได้ เขาชนะโลกนี้

หากใครไม่พานพบ ย่อมอยู่อย่างหวาดหวั่น

ร่ำไห้, ห่างไกลจากพวกพ้อง

 

ความปีติ คือน้ำนมจากอุทรแห่งธรรมชาติ

ดูดดื่มเถิด ทุกสิ่งสรรพ์ ดีงาม-ทรามช้า

มีปีติสิทธิ์ในมารดาของท่านเท่าเทียมกัน

ตามทางเดินโรยกุหลาบของนางไป

 

จูบให้บ่อย แช่มชื่นในรสไวน์

เพลิดเพลินในเพื่อนแท้ผู้อยู่เคียงข้างท่านแม้ในความตาย

ตักตวงกำนัลอันนางหนุนเนื่องให้

แม้แต่หนอนยังเอื้อมถึงความสำราญใจ

ทูตสวรรค์คอยรับทุกสิ่งไปจำนรรค์ต่อเบื้องพระพักต์พระเจ้า

เบื้องพระพักต์พระเจ้า!

 

ปรีดาเถิด, ตราบพระอาทิตย์ของพระองค์ยังคงโคจร

ผันผ่านปฏิมากรรมชิ้นเลิศรังสรรค์โดยสวรรค์

พี่น้องทั้งหลาย วิ่งไปตามมรรคาของท่าน เปี่ยมปีติดุจวีรบุรุษผู้ชนะ

 

สวมกอดเดียวโอบมนุษย์อุ่นนับล้าน

หนึ่งจุมพิตชื่นหวานทั่วสรรพางค์โลก

พี่น้องทั้งหลาย, เหนือฟ้าพร่างละลานดาริกา

ย่อมมีพระบิดาผู้รักท่านนักหนาสถิตสถาบันดาลดล

 

อย่างไรก็ตามแม้ชิลเลอร์จะแต่งบทกวี An die Freude  ซึ่งโด่งดังไกลในนาม Ode to Joy แต่ An die Freude  กลับไม่ใช่ผลงานเด่นผลงานแรกๆ ที่ผู้คนจะยกย่องในด้านคุณค่าเมื่อเอ่ยถึงเสาหลักของวรรณคดีเยอรมันผู้มีผลงานเป็นที่จดจำมากมายผู้นี้ กล่าวได้ว่า An die Freude มีชีวิตเพริศแพร้วมาถึงปัจจุบันด้วยเบโทเฟนก็ว่าได้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ซิมโฟนีหมายเลข 9 มีส่วนอย่างมากในการเสริมให้เกิดนัยยะอันลึกซึ้งเสริมเข้าไปแก่ตัวบทกวีของชิลเลอร์ “ชิลเลอร์ในวัยชราเองก็บอกกับเพื่อนว่ากาพย์บทนี้ไม่มีคุณค่าต่อโลก เพราะมันไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง ความหมายตามตัวบทจึงแคบมาก คือความเป็นผองน้องพี่ของเหล่ามวลมนุษย์ ซึ่งอาจเสพย์ความปิติสุขจากธรรมชาติที่พระเจ้าประทานมาได้อย่างดื่มด่ำที่สุด”[7]

 

บทเพลงที่ดูดกลืนทุกสิ่ง

 

เมื่อเอ็มมานูเอล มาครงเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อปี 2560 Ode to Joy คือเพลงที่ดังกระหึ่มขึ้นฉลองวาระสำคัญนี้ของเขา หลายฝ่ายกล่าวว่านี่คือการส่งนัยว่า ‘สวัสดี EU เรา (ฝรั่งเศส) ยังไม่ไปจากสหภาพยุโรปหรอกนะ’

Ode to Joy เป็นเพลงที่ทั้งโลกรัก นักประชาธิปไตยเชื่อว่านี่คือบทเพลงประกาศสิทธิเสรีภาพ นักคอมมิวนิสต์กล่าวว่าซิมโฟนีชิ้นนี้สะท้อนโลกซึ่งปราศจากชนชั้น ชาวฝรั่งเศสบอกว่า Ode to Joy คือ  La Marseillaise ฉบับสำหรับมวลมนุษยชาติและรวมหลักสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ เข้าไว้ในเพลงด้วย นาซีชื่นชมความห้าวหาญสง่างามของภาคดนตรีและเชื่อว่านี่คือความสง่างามในแบบอารยัน ขณะเดียวกันเพลงนี้ถูกขับขานในเวลาที่โลกต้องการเพลงประกอบเหตุการณ์ที่แสดงถึงความรัก ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว สันติภาพ และเชิดชูมนุษยภาพ (humanity) ของมนุษย์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก การทลายกำแพงเบอร์ลิน การลุกฮือของประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน หรือการฟังเพื่อความปีติในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ราวกับว่าทุกคนมีหนทางเข้าสู่เพลงมหัศจรรย์นี้ได้ในทางใดทางหนึ่ง

 

การจัด flashmob (การรวมตัวกันชั่วครู่เพื่อแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วสลายตัวอย่างรวดเร็ว) ร้องและเล่นเพลง Ode to Joy เกิดขึ้นบ่อยๆ ทั่วโลก และสร้างความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและชื่นชมชีวิตได้แทบทุกครั้ง

 

ปี 1985 ประมุขรัฐและรัฐบาลสมาชิกสหภาพยุโรปได้นำ Ode to Joy มาเป็นเพลงประจำสหภาพยุโรป และตัดเนื้อเพลงออกเพื่อขจัดพรมแดนทางภาษา โดยกล่าวว่าเป้าหมายของเพลงนี้ไม่ได้จะแทนที่เพลงประจำชาติของรัฐสมาชิก แต่เพื่อเฉลิมฉลองคุณค่าและวิสัยทัศน์ร่วมกันของสหภาพยุโรป

น่าสนใจว่าสิ่งใดคือ ‘คุณค่าและวิสัยทัศน์ร่วมกัน’ ที่ว่านั้น เหตุใดเพลงที่มีที่มาจากบทกวีซึ่งตัวกวีกล่าวว่าไม่มีคุณค่าต่อโลก กลับกลายเป็นแหล่งพลังใจเกาะเกี่ยวผู้คนมหาศาลให้ก้าวเดินไปในทางเดียวกันได้

หนึ่งในคุณค่าของ Ode to Joy คือการกำเนิดจากอุดมการณ์หลายสายที่บ่มเพาะขึ้นในยุโรป สำหรับบทกวีต้นทางอย่าง An die Freude มีร่องรอยมรดกจากยุคเรืองปัญญา (The Age of Enlightenment) ในส่วนของการนำแนวคิดมนุษยนิยม (Humanism) เช่นการชื่นชมความงามในธรรมชาติ ความงามของการเป็นมนุษย์ ความงามของความสัมพันธ์ฉันมิตรและการมีเพื่อนมาใช้ อีกทั้งมีการเปรียบเปรยสิ่งต่างๆ ด้วยการหยิบยืมเรื่องราวจากปกรณัมกรีก ซึ่งเป็นลักษณะของการสร้างสรรค์งานยุคเรืองปัญญา[8]

นอกจากนี้ An die Freude  ยังแฝงไว้ด้วยแนวคิดเรื่อง ‘สิทธิตามธรรมชาติ’ ซึ่งหล่อหลอมมาจากหลายสายธารทางอุดมการณ์ ทว่ามีพัฒนาการเริ่มแรกตั้งแต่ยุคกรีก โดยอริสโตเติลกล่าวไว้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ฉะนั้นย่อมมีเสรีภาพในการเลือก และนั่นคือเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ แนวคิดนี้ต่อมาถูกช่วงชิงด้วยคำอธิบายของนักปราชญ์ทางศาสนาในยุคกลางซึ่งใช้เจตจำนงตลอดจนเหตุผลของพระเจ้าเข้าแทนที่เหตุผลตามธรรมชาติ ต่อมาในศตวรรษที่ 18 นักคิดสายเรืองปัญญาได้ช่วงชิงแนวคิดนี้กลับไปตีความเช่นเดียวกับในสมัยกรีกและพัฒนาต่อมาเป็นสำนักกฎหมายที่เชื่อในสติปัญญาและความดีงามของมนุษย์

แต่สำหรับ An die Freude แม้หลายบทตอนในบทกวีนี้ได้เน้นย้ำถึงการมีสิทธิเอื้อมคว้าความปีติรื่นรมย์ได้อย่างเท่าเทียมกันของทุกชีวิต แต่เมื่อพิจารณาบทกวีให้ถี่ถ้วนจะพบว่าสิทธิและความเท่าเทียมนี้มีนัยถึงการ ‘ได้รับ’ เพราะทุกชีวิตล้วนเป็นสิ่งทรงสร้างจากพระเจ้า ซึ่งเป็นแนวทางอธิบายถึง ‘สิทธิตามธรรมชาติ’ ในมุมมองของนักศาสนา

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า แนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เติบโตในยุคเรืองปัญญา ตลอดจนแนวคิดสิทธิตามธรรมชาติซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นคุณค่าที่คนในยุคปัจจุบันจำนวนมากดื่มด่ำและเชื่อมโยงเข้ากับเพลง Ode to Joy เป็นความคิดส่วนขยายจากบทกวีดั้งเดิม และเกิดขึ้นจากการเดินทางรอบโลกของ Ode to Joy เอง ที่ดูดกลืนประวัติศาสตร์ การสู้รบ สงคราม การปฏิวัติ ประสบการณ์ทั้งสุขทุกข์ รอยยิ้ม คราบน้ำตา ของผู้คนมากมายที่ได้ฟังและร้องเพลงนี้เข้าไว้ในตัวของมัน เพลงนี้มักจะดื่มด่ำจับใจยิ่งขึ้นยามขาดแคลนเสรีภาพที่จะไปใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์ จูบคนรัก จิบไวน์ พูดคุยกับมิตรสหาย หรือชมความงามของแสงอาทิตย์ และยิ่งรู้สึกซาบซึ้งยิ่งขึ้นหากได้ฟังเพลงนี้ยามผ่านขวากหนามอุปสรรคนานา จนพบว่ามนุษย์จะดำรงอยู่ได้สง่างามและปีติรื่นรมย์ได้ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพเท่านั้น

Ode to Joy  ในฐานะเพลงที่แชร์ ‘คุณค่าและวิสัยทัศน์ร่วมกัน’ ของยุโรป จึงเป็นเพลงที่ดูดกลืนสิ่งต่างๆ เข้าไว้มากมาย ตั้งแต่คุณค่าเรื่องความแข็งแรงสง่างามอันเป็นค่านิยมของอารยธรรมนอร์ดิกซึ่งสะท้อนอยู่ในภาคดนตรี ความศรัทธาในพระเจ้า และความเป็นพี่น้องของมวลมนุษยชาติในนัยยะของความเชื่อทางศาสนาซึ่งสะท้อนในบัลลาดของชิลเลอร์ ตลอดจนแนวคิดจากยุคเรืองปัญญา ทั้งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ทุกอย่างประสานรอบล้อมแก่นแกนอันแข็งแรงของเพลงนั่นคือ ‘มนุษยภาพ’ หรือความเป็นมนุษย์ ใครก็ตามที่ได้อ่านและฟัง ย่อมรู้สึกได้ว่าสิ่งที่ทั้งบทกวีดั้งเดิมและบทเพลง Ode to Joy มีร่วมกันคือความภูมิใจและความรู้สึกงดงามที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

 

ก่อนลมหายใจสุดท้ายเราคิดถึงเพลงอะไร ย่อมสะท้อนถึงทั้งชีวิตที่ผ่านมาว่าเรายึดโยงกับสิ่งใดมากที่สุด และสิ่งสุดท้ายที่นักพฤกษศาสตร์ผู้อยู่มานานเพรียกหาคือความปีติรื่นรมย์ เดวิด กูดดัลโชคดีที่มีกวีเอกและคีตกรอัจฉริยะสลักเสลาผลงานแห่งความปีติรื่นรมย์ อันมีพลานุภาพจับจิตวิญญาณและหัวใจของมนุษยชาติทิ้งไว้ให้เขานำไปใช้สอย จนบางทีการจากลาของคุณปู่เดวิดก็น่าอิจฉา ที่เขาช่างมีบทสรุปซิมโฟนีของตัวเองแสนดีเช่นนี้

 

อ้างอิง

Classen, Albrecht / Sandidge, Marilyn. Friendship in the Middle Ages and Early Modern Age. Explorations of a Fundamental Ethical Discourse. (Fundamentals of Medieval and Early Modern Culture). De Gruyter; 1 edition, 2011 อ่านได้ ที่นี่

‪Esteban Buch. Beethoven’s Ninth: A Political History. University of Chicago Press, 2004 อ่านได้ ที่นี่

Johan Fornäs. Signifying Europe. ‪Intellect Books, 2012  อ่านได้ ที่นี่

 

เชิงอรรถ

[1] จิ๋ว บางซื่อ. บรรเลงรมย์ 1. พิมพ์ครั้งที่ 3 . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2547.

[2] อำภา โอตระกูล. ร้อยกรองและร้อยแก้วในวรรณคดีเยอรมันกรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.

[3] อ้างแล้วใน (2)

[4] ผุสดี ศรีเขียว นฤมล ง้าวสุวรรณ และถนอมนวล โอเจริญ. (แปล). ประวัติวรรณคดีเยอรมันเบื้องต้นกรุงเทพฯ : ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2523.

[5]ประกายไฟจากพระเจ้า หรือ Divine Spark เป็นแนวคิดที่ปรากฎมากในลัทธินอสติก (Gnosticism) ลัทธิทางศาสนาหนึ่งในสมัยโบราณก่อนศาสนาคริสต์ ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์มีประกายชีวิต หรือประกายไฟที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า (ไม่จำเป็นต้องหมายถึงพระเจ้าในศาสนาคริสต์เสมอไป) ประกายไฟนี้ทำให้มนุษย์มีเป้าหมายของชีวิตที่หวังในสันติสุข ความรัก ความผสมกลมกลืน ต่อมาคริสตศาสนาได้เทียบเคียงแนวคิดนี้เข้ากับบางส่วนในพระคริสตธรรมคัมภีร์แล้วอธิบายว่าประกายไฟนี้อยู่ในตัวของมนุษย์แต่ละคน ทุกคนมีอิสระที่จะไม่แยแสต่อประกายไฟนี้ ดับลง หรือเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นโดยร้อนรนที่จะทำงานเพื่อพระองค์

[6]ทุ่งอีลิเซียม (Elysium) เป็นภาษากรีกในปกรณัม หมายถึงดินแดนแห่งความสุขสงบหลังความตาย

[7] นิธิ เอียวศรีวงศ์. บนยุทธภูมิวัฒนธรรม. มติชนรายวัน 29 กันยายน 2557 อ่านได้ ที่นี่ 

[8] อติภพ ภัทรเดชไพศาล. เสียงเพลงหรือถ้อยคำ. อ่านได้ ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save