fbpx
บทกวีแด่โรคมะเร็ง

บทกวีแด่โรคมะเร็ง

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

มนุษย์มีประวัติศาสตร์การแต่งบทกวีเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ และหยิบยืมศัพท์แสงทางการแพทย์มาใช้เนิ่นนาน เช่นสำนวน ‘โลกติดเชื้อ’ (Cleanse the foul body of th’ infected world) จาก เวนิสวาณิช ของวิลเลียม เช็กสเปียร์ ในศตวรรษที่ 16

น่าสนใจว่าสำหรับโรคภัยไข้เจ็บร่วมสมัยอย่าง ‘มะเร็ง’ จะมีบทกวีอุทิศให้โรคร้ายนี้บ้างหรือไม่ ในเมื่อมันช่างเป็นโรคทรงอิทธิพลต่อทั้งโลก และบทกวีไม่ได้หยุดสะท้อนแค่เรื่องราวโบร่ำโบราณเมื่อหลายร้อยปีก่อนเสียเมื่อไหร่

 

เมื่อฝุ่นปรารถนาเป็นพระราชา

ในเช้าวันปีใหม่เมื่อราว 2  ปีก่อน ณ กรุงปักกิ่ง ชาวจีนนับล้านจับจ้องไปยังท้องฟ้าที่ถูกบดบังด้วยหมอกสลัวและอัดแน่นไปด้วยฝุ่นละเอียด (fine dust) กดต่ำลงปกคลุมถนนไฮเวย์ เที่ยวบินนับร้อยต้องถูกเลื่อนออกไปเพราะความขุ่นมัวของทัศนวิสัย นักเรียนจำนวนมากไปโรงเรียนไม่ได้ ทำให้ต้องเรียนผ่านออนไลน์สตรีมมิง

ท่ามกลางฝุ่นตลบ ชายคนหนึ่งอดรนทนไม่ไหว เขาจึงแต่งบทกวีตอบโต้สถานการณ์นี้ และได้เผยแพร่ครั้งแรกในสื่อที่ดูผิดที่ผิดทางสักหน่อย นั้นคือวารสารวิชาการทางการแพทย์ชื่อว่า  American College of Chest Physicians โดยใช้ชื่อบทกวีว่า ผมปรารถนาเป็นพระราชา (I Long to be a King) มีเนื้อความดังนี้

ผมปรารถนาเป็นพระราชา

ผมคือจุดขาวพร่าในปอด

ที่เหล่าแพทย์ประกาศนามว่า ground glass opacity (GGO)

รูปเงาของผมสั่นพร่าบนหน้าจอซีทีสแกน

แจ้งจุดที่ผมแอบฝังแฝงอย่างลึกลับ

ดังดวงจันทร์จางหลังม่านเมฆ

ดุจดอกไม้สวยเคลือบหมอก

ชนชาติของผมผุดว่ายในเส้นเลือดของคุณ

ผู้คนของผมคืบคลานทั่วสรรพางค์ของคุณ

ผมมีสิทธิ์ชี้เป็นตายชีวิตคุณ

ช่างเป็นอำนาจชวนสั่นเทิ้มเหิมเต้น

เมื่อผมเยาว์วัย คุณเรียกผมว่า

“เนื้องอกซึ่งแบ่งตัวผิดปกติ”

เมื่อผมเติบใหญ่ คุณเรียกผมว่า “มะเร็งระยะต้น”

เมื่อผมพัฒนาตัวเต็มที่ ความสะพรึงกลัวของคุณขนานนามผมว่า “มะเร็งระยะลุกลาม”

คุณหลงลืมการเดินทางสมบุกสมบัน

ก่อนวันผมขึ้นครองราชย์

จากส่วนเสี้ยวเล็กๆ สู่แกร่งกล้า

จากถ่อมตน สู่ผยองหยิ่ง

ไม่มีใครใส่ใจนักเมื่อผมยังเยาว์วัย

ทว่าทุกคนสยบยอมเมื่อผมเติบใหญ่

หมอกควันและพยับแดดรสเลิศบำรุงเลี้ยงผม

เอื้อเฟื้อไออุ่นอ่อนหวานแด่หัวใจผม

คุณให้ความรักผมเมื่อเมาหนักและระบัดควันบุหรี่คลุ้ง

สร้างบ้านน่าผ่อนคลายให้ผม

เมื่อผมขนาดเล็กกว่า 8 มิลลิเมตร ผมช่างเปราะบาง

รอโอกาสเติบโตขึ้น

ตอนนี้…ผมไปไกลมากกว่า 8 มิลลิเมตรนั้นแล้ว

เป็นผู้ใหญ่กว่านั้นมาก

ควรค่าแก่การประจักษ์

การเติบโตต่อเนื่องทำให้ผมเป็นพระราชา

ทึ้งทลายทุกอุปสรรคเขวขวาง

ขยายอาณาเขตสู่สรรพภูผาผองธารา

พลเมืองของผมย่ำเท้าเข้าเหยียบทุกซอกซอย

ยึดครองทุกแว่นแคว้น

หนทางขึ้นสู่อำนาจของผมเปี่ยมปรี่อุปสรรค

ผมเคยถูกบี้บั่นแทบอาสัญในวันเยาว์

ครั้นถูกเผา เร้าด้วยควัน ผมพลันแข็งแกร่งขึ้นใหม่

พอกพูนพิษจนแก่กล้า

สุขหลังเศร้า รุ้งหลังฝน

ผมเผชิญหน้ากับการผ่าตัด ฉายแสง ทำเคมี

ทว่าล่าไล่ใฝ่ฝันต่อไป

บางคนยอมแพ้ ผมมุ่งมาด

ผมปรารถนาเป็นพระราชา

พรักพร้อมด้วยเพื่อนร่วมชาติและผู้สนองโอวาทใต้บัญชา

ผมปรารถนาเป็นพระราชา

เพื่อสูดซับความกริ่งกลัวน้อมนับถือจากผู้คน

ผมปรารถนาเป็นพระราชา

เพื่อเป็นอาณัติแห่งอาณาจักร

ผมปรารถนาเป็นพระราชา

เพื่อกำกับโชคชะตาของคุณ

นพ.จ้าวเสี่ยวกัง (Zhao Xiaogang) อายุ 42 ปี คือผู้แต่งบทกวี ผมปรารถนาเป็นพระราชา ซึ่งโด่งดังและไวรัลรวดเร็วในจีนและนานาชาติ ปัจจุบันจ้าวเสี่ยวกังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกผ่าตัดหัวใจและโรคทรวงอก โรงพยาบาลโรคปอดเซี่ยงไฮ้ แห่งมหาวิทยาลัยถงจี้ เขากล่าวถึงแรงบันดาลใจในการแต่งบทกวีว่า

“ผมพบเห็นผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกวันและรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดของพวกเขา ผมเขียนบทกวีเพื่อนำความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดมาสู่ผู้คนทั่วไป มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศจีน ความเครียด การสูบบุหรี่ และการนอนน้อยเป็นปัจจัยของโรคได้ทั้งหมด ขณะที่มลพิษเป็นปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้”

ในบทกวีจ้าวเสี่ยวกังใช้คำว่า ‘ผม’ แทนฝุ่นละเอียด ต้นตอวิกฤติมลพิษในจีนซึ่งถูกปลดปล่อยมาจากหลายแหล่ง เช่น การก่อสร้าง การจราจร โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม การเผาถ่านหินเพื่อใช้ในเครื่องทำความร้อนในบ้าน หรือแม้แต่การประกอบอาหารปิ้งย่างในที่โล่งแจ้งแบบเป็นมหกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตประจำวันของชาวจีนก็เป็นส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยฝุ่นละเอียดด้วยเช่นกัน

เมื่อพิจารณาเส้นทางในประวัติศาสตร์ของฝุ่นละเอียด เราอาจไม่แปลกใจที่มันได้สมญานามว่า ‘ฆาตกรต่อเนื่อง’ (serial killer) เพราะฝุ่นเหล่านี้คร่าชีวิตผู้คนมาแล้วหลายยุคหลายสมัย สำหรับผลต่อโรคมะเร็ง ทางการแพทย์ระบุว่า  หากมนุษย์ได้รับฝุ่นละเอียดขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 10 ไมโครกรัมต่ออากาศลูกบาศก์เมตรเป็นประจำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด 1.3 เท่า

ฝุ่นเหล่านี้ดูไม่มีพิษภัยในตอนแรก แต่ด้วยขนาดที่เล็กจิ๋ว จึงผ่านกลไกคุ้มกันดักจับต่างๆ ของร่างกาย เข้าสู่ปอดและกระแสเลือด กระตุ้นอาการป่วยต่อผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจให้มีอาการเพียบหนักขึ้น และสะสมรอวันก่อโรคร้ายแรงอื่นๆ ยิ่งหากลอยละล่องไปเจอการสันดาปที่ปลดปล่อยสารเคมีต่างๆ เช่น การสันดาปในเครื่องยนต์ที่ปลดปล่อยไอน้ำมันที่มีสารระเหยอินทรีย์ (VOCs) การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากบ่อขยะซึ่งมีสารไดออกซินปะปน การรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ แล้วจับตัวก่อนเข้าสู่ร่างกาย ยิ่งทำให้ฝุ่นเหล่านี้มีพลังทำลายล้างสูงขึ้น

เมื่อถึงวันนั้นทุกคนจะไม่เรียกชื่อมันอย่างดูเบาว่า ‘ฝุ่น’ อีกต่อไป แต่เรียกขานด้วยสมญาน่าครั่นคร้ามว่า ‘มะเร็ง’

 

บทกวีเอ่ยถึงมะเร็งที่เก่าแก่ที่สุด

 

บทกวีซึ่งตั้งชื่อด้วยการหยิบยืมถ้อยคำเก่าแก่ในภาษาละติน Dulce Et Decorum Est  (ช่างหวานชื่นและเป็นเกียรติ)  คือบทกวีที่มีคำว่า “มะเร็ง” ปรากฏอยู่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่จะพบได้ ขณะที่บทก่อนหน้าแม้จะเอ่ยถึงอาการที่คลับคล้ายโรคมะเร็งแต่ไม่ใช้คำว่ามะเร็งโดยตรง

บทกวีนี้แต่งขึ้นในปี 1917 โดยวิลเฟรด โอเวน ทหารหน่วย ‘Artists Rifles’ ซึ่งเป็นหน่วยที่แตกต่างจากหน่วยอื่นในกองทัพอังกฤษ กล่าวคือเต็มไปด้วยศิลปิน นักดนตรี นักแสดง จิตรกร สถาปนิก นักเขียน ฯลฯ

โอเวนเข้าร่วมกับกองทัพในฐานะกวี และภายหลังเขาได้กลายเป็นผู้เขียนกวีนิพนธ์เรื่องสงครามที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ โอเวนเขียนบทกวีเล่าถึงแนวหน้าของการรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไว้มากมายด้วยความเจ็บปวด ทว่าบทที่นับว่าโด่งดังที่สุดของเขาคือ ช่างหวานชื่นและเป็นเกียรติ บรรยายถึงทหารอังกฤษผู้สูดแก็สคลอรีนเข้าไประหว่างรบ โดยส่วนหนึ่งได้บรรยายไว้ว่า

ช่างหวานชื่นและเป็นเกียรติ

หากเจ้ายินระลอกเลือดระริกไหว

กลอกกลั้วในปอดแปร่งอากาศใกล้ชะงัก

หยาบช้าราวมะเร็ง

ขื่นคลั่กราวอาหารวัวควายคายออกแล้วคืนเคี้ยวใหม่

ความเจ็บปวดพำนักนิรันดร์ในลิ้นผู้ไร้เดียงสา, ต่ำเกียรตินัก

เพื่อนข้า, เจ้ามิควรถูกพร่ำเร้าเช่นนั้น

แวววามแห่งเยาว์วัย

มิควรกำนัลแด่ชวนเชื่อเรื่องความรุ่งโรจน์อันวอดหวัง

บรรพชนโอ่อ้างอลังลวงแต่ก่อนมา :

ช่างหวานชื่นและเป็นเกียรติหนักหนา

หากวายชีวาเพื่อปิตุภูมิ

 

แม้ใจความสำคัญในบทกวีของวิลเฟรดจะมุ่งกล่าวถึงสงครามที่ทำลายชีวิตคนหนุ่มอย่างน่าเสียดาย แต่บทกวีนี้ได้เอ่ยถึงร่องรอยการกล่าวถึงโรคมะเร็งไว้อย่างน่าสนใจด้วย นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า คำว่าโรคมะเร็งในภาษาอังกฤษหรือ ‘cancer’ (ซึ่งเป็นคำเรียกจักรราศีกรกฎด้วยเช่นกัน) พัฒนามาตั้งแต่ยุคกรีก โดยปรากฏหลักฐานการเรียกอาการที่คลับคล้ายอาการของโรคมะเร็งว่า ‘karkinos’ ซึ่งแปลว่าปู

เป็นไปได้ว่าแพทย์ชาวกรีกเห็นว่าลักษณะการแพร่กระจายไปในร่างกายของเนื้อร้ายนั้นคล้ายกับปู ซึ่งมีก้ามเกาะเกี่ยวสิ่งที่อยู่รอบๆ สอดคล้องกับคำอธิบายของแพทย์ในปัจจุบันว่า มะเร็งคือเซลล์ซึ่งแบ่งตัวและเจริญอย่างควบคุมไม่ได้ ก่อเป็นเนื้องอกร้าย รุกรานเซลล์ในร่างกายส่วนข้างเคียง ต่อมาเมื่อล่วงเข้าสู่ราวศตวรรษที่ 18 จึงพบคำว่า ‘cancer’ ในความหมายของโรคมะเร็งมากขึ้น

ในศตวรรษที่ 19 คำอธิบายของโรคมะเร็งในแบบที่คนยุคปัจจุบันคุ้นชินได้เริ่มต้นขึ้น โดยนายแพทย์รูดอลฟ์ เวอร์โชว์ แพทย์ชาวเยอรมนี ซึ่งอธิบายว่าเซลล์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเซลล์มะเร็งมีต้นตอมาจากเซลล์อื่น ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ต่างจากในอดีตซึ่งสันนิษฐานว่ามะเร็งเกิดจากความผิดปกติของของเหลวในร่างกายเช่น น้ำดีเหลือง หรือน้ำดีดำ[1]

ต้นศตวรรษที่ 20 คือห้วงยามที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้น หลายชาตินำอาวุธเคมีมาใช้ในการรบอย่างแพร่หลาย เช่น แก็สน้ำตา แก็สคลอรีน แก็สมัสตาร์ด ฯลฯ ซึ่งอาวุธเคมีหลายชนิดมีสารก่อมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง มะเร็งกล่องเสียง ทำให้ร่างกายมนุษย์ผิดปกติถึงระดับเซลล์ นำไปสู่การกลายพันธุ์ เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ เป็นการสังหารที่รุนแรงโหดเหี้ยมสร้างความทุรนทุราย

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลง ทุกชาติได้ทำข้อตกลงกันที่กรุงเจนีวา เพื่อผูกพันในพิธีสารห้ามใช้อาวุธเคมีในสงครามอีกต่อไป แต่ปรากฏว่ายังมีการฝ่าฝืนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เช่น สหรัฐอเมริกาและรัสเซียออกมายอมรับเร็วๆ นี้ว่าได้ครอบครองสารเคมีทำลายประสาทฤทธิ์รุนแรงที่เรียกว่า ‘วีเอ็กซ์’ และคาดการณ์ว่าเกาหลีเหนือได้ครอบครองไว้เช่นกัน ส่วนซีเรียได้เกิดเหตุการณ์ใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชนต่อเนื่องหลายปี รวมทั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 7 เมษายน 2561 ที่เมืองดูมา

เด็กชาวซีเรียในสงครามที่สันนิษฐานว่ารัฐบาลใช้อาวุธเคมีเข้าปราบปรามประชาชนที่เมืองดูมา เมื่อ 7 เมษายน 2561
เด็กชาวซีเรียในสงครามที่สันนิษฐานว่ารัฐบาลใช้อาวุธเคมีเข้าปราบปรามประชาชนที่เมืองดูมา เมื่อ 7 เมษายน 2561 l ภาพ สำนักข่าวอัลจาซีรา

ในสงครามโลกครั้งที่สองแม้อาวุธเอกจะไม่ใช่อาวุธเคมี แต่ผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูนับไม่ถ้วนต้องทนทุกข์กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งเกิดจากสารกัมมันตภาพรังสี และยังถ่ายทอดโรคมะเร็งมาทางกรรมพันธุ์จวบจนปัจจุบัน

นอกจากมลพิษแล้ว สงครามนับเป็นจุดระเบิดมะเร็งแผ่ไกลสู่มนุษยชาติไม่แพ้กัน

 

อารมณ์ขันในวันฉายรังสี

10 เมษายน 2561 สื่อหลายสำนักของอเมริกาพากันไว้อาลัย กวี และศาสตราจารย์วุฒิคุณของมหาวิทยาลัยเยล เจ.ดี. แม็คแคลทชี ซึ่งเสียชีวิตในวัย 72 ปี ด้วยโรคมะเร็ง แม็คแคลทชีมีผลงานมากมายและเขียนบทกวีใน The New Yorker มานานหลายปี ทว่าบทกวี วันฉายรังสี  (Radiation Days) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร American Scholar ฉบับฤดูใบไม้ผลิปี 2018 นับเป็นโอกาสสุดท้ายที่เขาได้ใช้ความตลกร้ายสร้างสรรค์งาน เช่นในส่วนหนึ่งของบทกวีที่เขียนไว้ว่า

วันฉายรังสี

พุงกะทิผมตกที่นั่งลำบาก

โฟมเหลวรี่รัดล้อม

ดุจเสื้อเกราะปรี่ปกป้องและอริห่อห้อมจู่โจม

ทว่าสิ่งที่ผมยังไม่ตระหนักนัก

คือใจกลางเป้าหมายมีความป่วยตายหมายวางอย่างอ่อนโยน

กล้ามเนื้อหูรูดยับย่นราวสลักด้วยนักสัก

ลำแสงยิงเม็ดรังสีสีฟ้าทั้งห้าปันปักทั่วเชิงกราน

ราวหมู่ดาราเพรียกหาการขนานนามว่ากลุ่มดาวทวารหนัก

ในบทกวีนี้ แม็คแคลทชีพรรณณาถึงขั้นตอนต่างๆ ในวันที่เขาต้องฉายรังสีอย่างยืดยาวละเอียดลออ ตั้งแต่การพิจารณาคีโม ความขัดใจเมื่อไม่อาจดื่มกาแฟและแอลกฮอล์ได้ การเปรียบเปรยอันแสบคมว่าการหลงลืมความเจ็บปวดได้นั้น อาจต้องไปเจอความเจ็บปวดอย่างอื่นยิ่งกว่าเช่นการไปกินข้าวกับคู่แข่งที่ประเมินกึ๋นที่แท้จริงของเราได้อย่างถูกต้อง การเปรียบเปรยว่าชีวิตเขาช่วงนี้ช่างเหมือนภาพยนตร์ไซไฟ เล่าถึงขั้นตอนการให้เคมีบำบัดและการฉายรังสีที่ต้องฉีดโฟมเหลวเข้าไปก่อนแล้วยิงลำแสงเพื่อลดเซลล์มะเร็งลง แสงที่ยิงมาตกตรงเชิงกราน ทำให้เขานึกถึงหมู่ดาวที่คงตั้งชื่ออื่นไม่ได้นอกจากหมู่ดาวทวารหนัก ฯลฯ

ทุกขั้นตอนแม้จะมีความเจ็บปวดแฝงไว้ แต่ยังเหลือพื้นที่ว่างไว้มองสิ่งต่างๆ ด้วยอารมณ์ขัน

มะเร็งคือความร่วมสมัย

หนังสือ Cancer Poetry เขียนโดย Iain Twiddy
หนังสือ Cancer Poetry เขียนโดย Iain Twiddy

ยังมีบทกวีที่เขียนเกี่ยวกับโรคมะเร็งอีกมากมาย ทั้งจากมืออาชีพด้านการเขียน และมืออาชีพด้านการเป็นมะเร็ง  น่าทึ่งว่า มีหนังสือเล่มหนึ่งรวบรวมบทกวีเกี่ยวกับโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ชื่อว่า Cancer Poetry[2]  โดยเล่าวิถีทางอันซับซ้อนที่โรคมะเร็งเติบโตขึ้นมา จนกลายเป็นที่รู้จักของมนุษยชาติ แล้วคั่นด้วยบทกวีเกี่ยวกับโรคมะเร็ง พร้อมย้อนรอยบริบทที่ทำให้เกิดบทกวีนั้นขึ้นมา หลายประเทศมีกิจกรรมแบ่งปันบทกวีระหว่างผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยกันเป็นชุมชนใหญ่ มีกระทั่งการมอบรางวัลให้บทกวีที่เขียนเกี่ยวกับโรคมะเร็งเป็นการเฉพาะ!

มองผ่านบทกวีเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เราได้เห็นมนุษย์เรียนรู้ที่จะปลอบประโลมกัน เยียวยากัน ระบายความคับแค้นหาทางออกไม่ได้ออกมา ก่นด่า คร่ำครวญ ตำหนิ ประชด ตบตีโชคชะตาให้สาใจ บางคนแต่งบทกวีเพื่อสะท้อนปัจจัยของโรคและปรารถนาการแก้ไข บางคนตีความมะเร็งด้วยมุมมองแปลกใหม่ ลดความโศกเศร้าน่ากลัวลง แล้วตบแต่งด้วยอารมณ์กึ่งขันกึ่งยอมรับกึ่งรำคาญ  บทกวีช่วยให้ผู้คนมากมายอยู่ร่วมกับโรคแห่งยุคสมัยนี้อย่างมีคุณค่าและมีความหมายในทางใดทางหนึ่ง

มะเร็งยังร่วมสมัยกับเราอีกนาน ฝุ่นละออง การจราจร มลพิษ อุตสาหกรรม อาหารที่เรากินเข้าไป ไมโครพลาสติก การเผาไหม้ ขยะมหาสมุทร สารเคมีในการเกษตร กากกัมมันตภาพรังสี และวันข้างหน้าจะมีสงครามโลกที่ใช้อาวุธเคมีหรือไม่ก็ไม่รู้ ต่อไปคนไม่เป็นมะเร็งอาจเป็นคนส่วนน้อย และบทกวีที่ฮิตฮ็อตที่สุดในวันข้างหน้าอาจว่าด้วยโรคมะเร็งก็เป็นได้

เชิงอรรถ

[1]  อ่านความเป็นมาของคำว่า cancer ได้ ที่นี่

[2]  อ่านหนังสือ Cancer Poetry ฉบับตัวอย่างได้ ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save