fbpx
Podcasts 2018

Podcasts 2018

พ็อดคาสต์เป็นเทคโนโลยีกลางเก่ากลางใหม่ ถ้าจะนับกันตรงหมุดหมายที่ Apple ออก iTunes ที่มีการสนับสนุนพ็อดคาสต์ออกมา ก็ต้องนับกันที่เดือนมิถุนายน ปี 2005 แต่ท่ีจริงก่อนหน้านั้น มีความพยายามหลายอย่างที่จะสร้างสิ่งที่คล้ายๆ พ็อดคาสต์ในปัจจุบันออกมา เช่น รายการที่ชื่อ Daily Source Code ของ อดัม เคอร์รี (Adam Curry) ที่ออกมาในปี 2004 ในรูปแบบคล้ายๆ พ็อดคาสต์นี่แหละครับ หลายคนจึงยกให้รายการนี้เป็นพ็อดคาสต์แรกของโลก

 

พ็อดคาสต์ก็เหมือนกระแสอื่นๆ ทั่วไป ที่มีข้ึนมาตกมาหลายครั้ง แต่ว่ากันว่า ‘คลื่น’ ล่าสุด ที่ทำให้พ็อดคาสต์กลับมาเกิดใหม่อย่างเต็มตัว ก็คือรายการชื่อ Serial ที่เกิดขึ้นในปี 2014 แต่มาโด่งดังมากๆ กลางปี 2015

Serial เป็นพ็อดคาสต์ของผู้ผลิต This American Life (ซึ่งเป็นพ็อดคาสต์ดัง) แต่รายการนี้เป็นการทำข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Journalism) ที่มีซาราห์ โคเอนนิก (Sarah Koenig) เป็นพิธีกร แล้วเล่าเรื่องคดีฆาตกรรมที่มีการสืบสวนสอบสวนซับซ้อน ทำให้ผู้ฟังติดตามกันอย่างต่อเนื่อง

หลังจากนั้น ก็เหมือนพ็อดคาสต์จะเริ่มกลับมาดังด้วยหลายเหตุผล แต่เหตุผลหนึ่งก็คือ เริ่มมีการสร้างพ็อดแคสต์ที่มีเนื้อหาและรูปแบบดีๆ แปลกใหม่ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดที่ New York Magazine เรียกว่าเป็นยุค Great Podcast Renaissance (ดูที่นี่) เลยทีเดียว

หลายคนวิเคราะห์ว่า การที่พ็อดคาสต์โด่งดังเป็นที่นิยมนั้น มันสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งก็คือมันสอดรับกับเทรนด์ ‘ความเป็นเมือง’ (Urbanization) ที่ผู้คนต้องเสียเวลาของชีวิตจำนวนมากไปกับการเดินทาง (Commute) จากจุดสู่จุด ซึ่งแม้จะมีระบบขนส่งมวลชนดีแค่ไหน ก็ยังต้องใช้เวลา อย่างน้อยๆ ก็ราวครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงในการเดินทางในเมืองใหญ่

แน่นอน ตัวเลือกแรกของผู้คนเวลาเดินทางย่อมไม่ใช่หนังสือหรือการอ่าน เพราะต้องใช้สมาธิมากเกินไป ตัวเลือกแรกของคนส่วนใหญ่คือการฟัง โดยเฉพาะการฟังดนตรี ซึ่งบริการระบบสตรีมมิ่งที่เกิดขึ้นในระยะหลังจำนวนมาก ทำให้การฟังดนตรีกลายเป็นเรื่องง่ายและสะดวกมากขึ้น แต่แค่ดนตรีก็ยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนมากพอ หลายคนอยากได้ความรู้หรือความคิดเห็นด้วย พ็อดคาสต์จึงเข้ามาตอบสนองเรื่องนี้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ พ็อดคาสต์จึงอยู่ใน ‘ขาขึ้น’ มาตลอด

ถ้าดูเฉพาะในอเมริกาปี 2017 (ข้อมูลจากที่นี่) พบว่าปีที่แล้ว คนอเมริกันมากกว่าหนึ่งในสาม (คือราว 112 ล้านคน) ฟังพ็อดคาสต์ โดย 15% ของคนอเมริกันทั้งหมด ฟังพ็อดคาสต์ทุกอาทิตย์ และเป็นสมาชิกติดตามพ็อดคาสต์ที่ตัวเองชื่นชอบ

โฆษณามาลงในพ็อดคาสต์มากขึ้นเรื่อยๆ และพบว่าผู้บริโภคซื้อสินค้าตามที่ได้ฟังโฆษณาจากพ็อดคาสต์มากขึ้นเรื่อยๆ มีการสำรวจของ comscore (ดูได้ที่นี่) พูดถึงรื่องนี้ไว้คร่าวๆ ว่าคนที่ฟังพ็อดคาสต์ราว 2 ใน 3 จะมี engagement กับสินค้าหรือบริการที่ลงในพ็อดคาสต์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปค้นหาต่อหรือซื้อหาสินค้าและบริการนั้นๆ มาใช้

ปีที่ผ่านมายังเป็นปีที่ ‘เจ้าใหญ่’ กระโดดมาลงสนามพ็อดคาสต์ด้วย โดยเจ้าใหญ่ที่ว่านั้นใหญ่จริงๆ นะครับ เพราะมาจากฮอลลีวู้ดกันเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น Marvel ของดิสนีย์ ก็กำลังจะพาวูลฟ์เวอรีนมาอยู่ในพ็อดคาสต์ชื่อ The Long Night ซึ่งเป็นสัญญาณว่าน่าจะมีบริษัทใหญ่ๆ อีกมากที่พาเหรดกันเข้ามาสู่ตลาดพ็อดคาสต์

หลายคนวิเคราะห์ว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่พ็อดคาสต์ได้รับความนิยมก็เพราะมันเป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับ ‘การเล่าเรื่อง’ (Storytelling) ที่ดีที่สุด

ทอม เบอร์กิส (Tom Burgis) แห่ง Financial Times เคยบอกว่าพ็อดคาสต์นั้นพาเรากลับไปสู่ ‘พื้นฐานแห่งเรื่องเล่า’ เหมือนเรานั่งอยู่รอบกองไฟและฟังคนที่เราชอบเล่าโน่นนั่นนี่ให้ฟัง

พ็อดคาสต์ไม่เหมือนสื่ออื่น เพราะมันมอบความชิดเชื้อ (Intimacy) ให้เรา เวลาฟังพ็อดคาสต์ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ฟังจากลำโพงใหญ่ๆ แต่มักจะฟังผ่านหูฟัง เป็นการฟังตามลำพังคนเดียว จึงคล้ายพิธีกรของพ็อดคาสต์นั้นๆ มานั่งเล่าเรื่องให้ฟังที่ริมหู จึงเกิดความผูกพันบางอย่างขึ้นระหว่างผู้ฟังกับผู้จัดพ็อดคาสต์ ในแบบที่สื่ออื่นทำได้ยากกว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะพ็อดคาสต์เป็นสื่อที่นอกจากจะเฉพาะทาง คือผู้ฟังต้องเลือกพ็อดคาสต์ที่เหมาะสมกับรสนิยมและความต้องการของตัวเองแล้ว เวลาฟังยังเป็นการฟังที่มีลักษณะ ‘ส่วนตัว’ ด้วย คือเลือกฟังหรือหยุดฟังตามจังหวะและสถานการณ์ของตัวเอง พ็อดคาสต์จึงเป็นสื่อที่โดยทั่วไปไม่สามารถฟังร่วมกันหลายๆ คนได้เหมือนสื่อทีวี ภาพยนตร์ หรือการฟังวิทยุ

อีกแนวโน้มหนึ่งที่ทำให้เทรนด์พ็อดคาสต์น่าจะบูมกลับมาอีกครั้งจนอาจเป็นคลื่นลูกใหม่ ก็คือการที่ Apple เริ่มเปิดเผยสถิติ ‘หลังบ้าน’ ของพ็อดคาสต์ต่างๆ ออกมาแล้ว โดยผ่าน iTunes Connect (แต่ยังอยู่ในรูปแบบเบต้าอยู่นะครับ)

เดิมที ผู้ให้บริการอื่นๆ (เช่น Soundcloud หรือเว็บอื่นๆ ที่ให้ฝากไฟล์ได้) มีสถิติต่างๆ ให้ เช่นบอกว่าตอนไหนมีคนฟังมากน้อยแค่ไหน มีคอมเมนต์อย่างไรบ้าง แต่ Podcast ของ Apple ไม่เคยมีข้อมูลเหล่านี้ให้เลย มีแต่การจัดอันดับหรือจัดชาร์ตเท่านั้น ทว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว Apple เปิดสถิติออกมา (เป็น Analytics Service) แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้ครอบคลุมมากนัก เพราะจำกัดเฉพาะการฟังผ่านอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS 11 ขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้น ถ้าพ็อดคาสต์เจ้าไหนอยู่มานานแล้ว ตอนเก่าๆ ก็จะมีตัวเลขสถิติการฟังน้อยกว่าตอนใหม่ๆ ไม่ใช่เพราะคนไม่ได้ฟัง แต่เพราะระบบไม่ได้นับรวมการฟังจากอุปกรณ์เก่าด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะส่งผลต่อการผลิตพ็อดคาสต์ในหลายด้าน เช่นการประเมินว่าพ็อดคาสต์ตอนไหนได้รับความนิยมหรือไม่อย่างไร ทำให้ปรับปรุงพ็อดคาสต์ได้ตามความต้องการของผู้ฟัง รวมไปถึงการลงโฆษณาในพ็อดคาสต์ทุกวันนี้ พ็อดคาสต์อาศัยวิธีหาโฆษณาจากคอนเน็คชั่น แต่ไม่มีตัวเลขที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เอามายืนยันว่ามีผู้ฟังมากน้อยแค่ไหน หรือถ้ามีก็จะเป็นข้อมูลจากผู้ให้บริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Podcast ของ iTunes

 

ในปี 2018 นี้ พ็อดคาสต์จึงเป็นอีกสื่อหนึ่งที่กำลังมาแรงอย่างเงียบๆ

คุณล่ะครับ มีพ็อดคาสต์ไหนเป็นพ็อดคาสต์โปรดบ้าง?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save