fbpx
One Belt One Road อินเดียคิดยังไงกับอิทธิพลจีนในเอเชียใต้

One Belt One Road อินเดียคิดยังไงกับอิทธิพลจีนในเอเชียใต้

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

กระแสการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศในช่วงกลางปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นการจัดประชุม Belt and Road Summit ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ ณ เมืองปักกิ่ง

การประชุมดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อชี้แจงถึงแผนการและแนวนโยบายของประเทศจีนในการเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน ผ่านความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น ท่าเรือ รถไฟ และถนน ซึ่งหลายคนคงคุ้นกันดีกับชื่อ One Belt One Road

คำถามก็คือ – แล้วพี่เบิ้มแห่งเอเชียใต้อย่างอินเดียคิดยังไงกับยุทธศาสตร์นี้ของจีนกันแน่

 

การประชุมครั้งนี้ มีถึง 65 ประเทศที่สนใจเข้าร่วม โดยมีถึง 20 ประเทศ ที่ผู้นำมาร่วมประชุมด้วยตัวเอง แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก

One Belt One Road เรียกอีกชื่อว่า เส้นทางสายไหมใหม่ในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจีนมีความมุ่งหวังจะฟื้นฟูเส้นทางสายไหมอันรุ่งเรืองในอดีตขึ้นมาใหม่ เป็นเส้นทางที่ครอบคลุมทั้งทางบกและทางทะเล กินพื้นที่กว่า 100 ประเทศทั่วโลก และสร้างผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชากรกว่าครึ่งโลก คาดว่ารัฐบาลจีนจะลงทุนในโครงการดังกล่าว เป็นเงินกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 35 ล้านล้านบาท

 

จีนมองที่ไหนว่าสำคัญบ้าง? และใครบ้างที่จีนอยากจะจับมือด้วย?

หนึ่งในภูมิภาคหรือพื้นที่สำคัญที่รัฐบาลจีนมุ่งหวังให้เป็นจุดเชื่อมโยงและมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Region) ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามีพี่ใหญ่อย่างอินเดียคอยดูแล ปกป้อง คุ้มครอง โดยเฉพาะในคาบมหาสมุทรอินเดีย

แน่นอน จีนอยากดึงอินเดียเข้ามามีส่วนร่วมกับแผนการดังกล่าว เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ และผนวกรวมนโยบาย Act East ของอินเดีย ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ เพิ่มความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในพื้นที่เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ากับยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน

แต่ปรากฏว่า อินเดียไม่เอาด้วย แถมยังปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยอีกต่างหาก โดยไม่เข้าร่วมการประชุม Belt and Road Summit ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ ในช่วงวันที่ 14-15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยไม่ส่งแม้กระทั่งตัวแทนไปเข้าร่วมการประชุม ทั้งที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ต่างให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวทั้งหมด ยกเว้นเพียงประเทศภูฏาน

 

ทำไมอินเดียไม่อยากร่วมมือกับจีน?

เหตุผลที่อินเดียปฏิเสธการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน น่าจะมีอยู่หลายอย่าง ได้แก่

1. การขยายความร่วมมือระหว่างประเทศจีนและปากีสถาน ผ่านโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีนและปากีสถาน (China Pakistan Economic Corridor: CPEC) แต่ใครๆ ก็รู้ว่าอินเดียและปากีสถานเป็นคู่ปรับและมีปัญหากันมาตลอดเวลา นับตั้งแต่ประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1947

โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีนและปากีสถาน เป็นความร่วมมือระหว่างปากีสถานและจีนในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นโครงการที่มีมูลค่ากว่า 62 พันล้านเหรียญ และคาดว่าจะทำให้ปากีสถานเติบโตทางเศรษฐกิจหลังจากซบเซามาอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกันโครงการนี้จะเปิดพื้นที่ให้จีนเข้าถึงทะเลอาหรับ เพื่อขนส่งสินค้าของจีนไปยังภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง ผ่านการลงทุนในท่าเรือ Gwadar ของปากีสถาน โดยจีนและปากีสถานได้ร่วมกันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากโดยเฉพาะถนน และรางรถไฟ ซึ่งมีระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร

แต่โครงการนี้จะเชื่อมถึงปากีสถานได้ ก็ต้องผ่านอินเดียเสียก่อน จีนจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะผนวกอินเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว เพื่อสร้าง 3 เหลี่ยมเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงทั้ง 3 ประเทศ เข้าด้วยกัน

จริงๆ แล้ว อินเดียก็น่าจะได้ประโยชน์ไม่น้อยจากโครงการพัฒนาดังกล่าว แต่อินเดียกลับไม่เห็นด้วย เพราะแผนที่จะตัดถนน วางระบบรางรถไฟ รวมถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในบางบริเวณ โดยเฉพาะในพื้นที่ปากีสถานควบคุมแคชเมียร์ (Pakistan-Occupied Kashmir: PoK) ผ่านพื้นที่พิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน การดำเนินการดังกล่าวของจีนส่งผลกระทบโดยตรงต่อความวิตกกังวลของอินเดียเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่อินเดียอ้างเหนือพื้นที่ดังกล่าวมาโดยตลอด จึงเป็นธรรมดาที่รัฐบาลอินเดียจะมีท่าทีขึงขันในการต่อต้านโครงการดังกล่าวของจีน

 

ที่มา: India Writes

 

2. อีกหนึ่งคำถามใหญ่สำคัญของรัฐบาลอินเดียต่อยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ ใครได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ดังกล่าวที่แท้จริง?

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามกล่าวอ้างว่ายุทธศาสตร์ One Belt One Road จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันในระดับภูมิภาคอย่างเท่าเทียม แต่รัฐบาลอินเดียกลับมองว่าการให้เงินช่วยเหลือของจีนจะมาในรูปแบบเงินกู้ยืมที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อให้ประเทศผู้กู้ยืมประสบปัญหาในการชดใช้เงิน และเปิดโอกาสให้รัฐบาลจีนเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศในที่สุด ท้ายที่สุดแล้วยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะสร้างผลประโยชน์ฝ่ายเดียวแก่รัฐบาลจีน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง

รัฐบาลอินเดียจึงวิจารณ์ว่ายุทธศาสตร์ One Belt One Road ของประเทศจีน มีลักษณะเป็นการขยายอิทธิพลทางการเมืองมากกว่าการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียใต้ที่อินเดียมีบทบาทอย่างมาก สอดคล้องกับการกำหนดเส้นทางและวาดแผนที่ของยุทธศาสตร์ โดยระบุพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศอินเดีย ภูมิภาคเอเชียใต้ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ บนโลก ของประเทศจีนแบบฝ่ายเดียว แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจีนไม่ได้จริงใจเท่าไหร่ แต่มุ่งเน้นผลประโยชน์แห่งชาติและยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการทหารของตนเองเป็นสำคัญ อินเดียจึงพยายามสกัดกั้นและต่อต้าน เพราะถ้าจีนสามารถดำเนินโครงการสำเร็จ หมายความว่าจีนจะมีอิทธิพลในคาบสมุทรอินเดียมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยปากีสถานเป็นทางผ่าน นั่นแสดงถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคงของประเทศอินเดียที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสูญเสียสถานะพี่ใหญ่ในเอเชียใต้ไปด้วย

 

อิทธิพลของจีนในเอเชียใต้เพิ่มขึ้นจริงหรือเปล่า ถ้าเพิ่ม – เพิ่มยังไง

ความกังวลของอินเดียไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่เกิดขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงขึ้นมามีอำนาจ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามสร้างความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบังกลาเทศและศรีลังกา ซึ่งถือเป็นเพื่อนบ้านทางทะเลของอินเดีย ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกัน การส่งเสริม สนับสนุนและประกาศใช้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของประเทศจีน จึงถือเป็นไพ่ใบสุดท้ายที่จีนหงายขึ้นเพื่อบอกให้อินเดียรู้ว่ารัฐบาลจีนจะขยายเกมและอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างเต็มตัว

พื้นที่สำคัญของยุทธศาสตร์ทางทะเลของประเทศจีน ตามแนวทางเส้นทางสายไหมในยุคศตวรรษที่ 21 คือท่าเรือเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา โดยที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้พูดคุยกับรัฐบาลศรีลังกาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมไปถึงการเช่าพื้นที่บางส่วนของท่าเรือ Hambantota ในประเทศศรีลังกา เพื่อเป็นแหล่งพักสินค้าของประเทศจีน

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านสำคัญของอินเดียอย่างเนปาลที่ได้เข้าร่วมการประชุม Belt and Road Summit ก็ถือเป็นอีกประเทศที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจและสร้างความร่วมมือที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นกับประเทศจีน ในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการคมนาคมระหว่างประเทศเนปาลและจีน

อิทธิพลจีนในประเทศเนปาลมีมากขึ้นตั้งแต่อินเดียปฏิเสธที่จะยอมรับรัฐธรรมนูญใหม่ของเนปาล และกดดันเนปาลด้วยการสนับสนุนลับๆ ในการปิดกั้นพรมแดนระหว่างสองประเทศ ส่งผลให้สินค้าอุปโภคและบริโภคที่ส่งผ่านประเทศอินเดียไปยังเนปาล ไม่สามารถข้ามพรมแดนไปได้ ปัญหาเหล่านี้ส่งแรงผลักให้เนปาลหันหน้าไปหาประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างสมดุลทางอำนาจกับประเทศอินเดีย

แน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของความร่วมมือทางเศรษฐกิจย่อมนำมาซึ่งการขยายความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและการทหารระหว่างประเทศ จีนจึงฝึกรบร่วมกับประเทศเหล่านั้นมากขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้จีนสามารถส่งทหารเข้าประจำการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศตนในพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวสร้างปัญหาต่อบทบาทของอินเดียในบริเวณคาบสมุทรอินเดีย และภูมิภาคเอเชียใต้โดยรวม

 

แล้วอินเดียจะตอบโต้จีนอย่างไร

ประเด็นปัญหาและความกังวลใจต่างๆ ข้างต้นของรัฐบาลอินเดียนำมาสู่ความพยายามในการผลักดันให้เกิดโครงการระเบียงความเติบโตเอเชียและแอฟริกา (Asia-Africa Growth Corridor: AAGC) ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น ภายหลังการพบกันระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559

โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการเติบโตและการลงทุนในภูมิภาคแอฟริกา และลดบทบาทของประเทศจีนในภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมให้ภูมิภาคอินโดแปซิฟิค เป็นพื้นที่เปิดและเสรีมากขึ้นในการเดินเรือและการค้า ผ่านการเชื่อมโยงของเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างภูมิภาคแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการคานอำนาจและต่อต้านยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของประเทศจีน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี นเรทรา โมดี ของอินเดียยังพยายามแสวงหาพันธมิตรใหม่ เพื่อให้เข้ามาคานอำนาจของจีนในภูมิภาคเอเชียใต้ อาทิ การเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป เป็นต้น

แม้ว่ารัฐบาลอินเดียจะแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะไม่ร่วมมืออย่างเด็ดขาดกับจีนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ One Belt One Road  แต่ดูเหมือนว่าด้วยความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศอินเดียต่อจีน จะส่งผลให้จีนไม่สามารถละทิ้งอินเดียจากมหาเกมดังกล่าวได้ โดยจากรายงานในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่าท่าทีของรัฐบาลจีนต่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีนและปากีสถานดูอ่อนลง และแสดงความเป็นมิตรต่ออินเดียมากยิ่งขึ้น อาทิ การริเริ่มเจรจาสนธิสัญญาความร่วมมือการเป็นเพื่อนบ้านและมิตรภาพที่ดีระหว่างจีนและอินเดีย (China ­ India Treaty of Good Neighbourliness and Friendly Cooperation) เพื่อแก้ไขปัญหาพิพาทด้านพรมแดนระหว่างสองประเทศ และเพื่อลดความกังวลของรัฐบาลอินเดีย รัฐบาลจีนได้มีการเสนอว่าจะเปลี่ยนแปลงชื่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีนและปากีสถาน และยืนยันแข็งขันว่าโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยปราศจากประเด็นทางด้านการเมืองและอำนาจอธิปไตย

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นความสำคัญของอินเดียต่อยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของประเทศจีน เพราะจากตัวเลขการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศของจีน ที่ลงทุนในอินเดียในช่วงระหว่างปี 2014 – 2016 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าสี่เท่า กล่าวคือจาก 453.82 ล้านเหรียญ เป็น 1,611.66 ล้านเหรียญ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก

 

  • ประเด็นต่างๆ เหล่านี้นำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่ายุทธศาสตร์ One Belt One Road ของประเทศจีนจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดหากปราศจากอินเดีย?
  • จีนจะสามารถฝ่าฝันอุปสรรคชิ้นใหญ่อย่างประเทศอินเดียไปได้หรือไม่?
  • รัฐบาลจีนจะเดินเกมอย่างไรในการดึงอินเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าว?
  • อินเดียจะสามารถดำรงสถานะความเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้ภายใต้ม่านหมอกอิทธิพลของประเทศจีน ที่พยายามแผ่อิทธิพลมากยิ่งขึ้นภายในภูมิภาคนี้ได้อย่างไร?
  • และอินเดียจะสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากการไม่เข้าร่วมยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของประเทศจีน ได้มากน้อยแค่ไหน?

 

โจทย์คำถามเหล่านี้น่าติดตามและเป็นกระแสที่น่าสนใจยิ่งของภูมิภาคเอเชียใต้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save