fbpx
ผมเจอหญิงลีที่เกาหลีเหนือ

ผมเจอหญิงลีที่เกาหลีเหนือ

1.

ท่านกามลังเก้าสู่บอรีกานร้าบฝาก หั้วจ๋ายยย

โลงถ่าเบียงฝั่กว้ายตัวเอากับไปจายหั้ยเกบร้ากสาาา

หยอมจามโนนเธอแล้ววังนี้แค่แลก เห้นหน่าาา

ฝากว้ายกาบชานนะหั้วจ๋ายข้องเธอ แหล่กเบอโท โอ๊โอโอ๋ยยย

 

หญิงสาวหน้าหมวยในชุดเดรสสีเขียวใบตองดีไซน์ดูไม่ค่อยทันสมัยตรงหน้าผมออกเสียงเนื้อเพลง ขอใจเธอแลกเบอร์โทร เพลงแห่งชาติประจำเทศกาลสงกรานต์เมื่อหลายปีก่อนของ หญิงลี ศรีจุมพล แบบกระท่อนกระแท่น คลอมากับดนตรีคาราโอเกะตามงานแต่งงาน เสียงทั้งคู่ดังออกมาจากลำโพงแตกพร่าที่ตั้งค่าเอคโค่ไว้ในระดับสูงสุดจนปวดหูมากกว่าจะฟังเพราะ

ทั้งหมดนี้จะไม่แปลกอะไรเลย ถ้าฉากของมันไม่ได้ตั้งอยู่ที่ร้านอาหารจากประเทศ ‘เกาหลีเหนือ’

ที่ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท!

 

 

2.

แม้ว่าปัจจุบันสายการบินแทบทุกเจ้าจะแข่งกันออกตั๋วโปรทั่วโลกมายั่วน้ำลายตามเพจอาแปะอาก๋งให้บัตรเครดิตในมือสั่นหงึกๆ อยู่เป็นระยะ แต่ในฐานะที่เกาหลีเหนือเป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่าลึกลับมากที่สุดในโลก ความสัมพันธ์ระหว่างผมและประเทศคอมมิวนิสต์เต็มขั้นแห่งนี้จึงหยุดอยู่แค่เพียงรีวิวผ่านกระทู้พันทิป สารคดีตามยูทูบ และสเตตัสของอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในเฟซบุ๊กที่ออกมาเล่าประสบการณ์ให้ได้ฟังหลังไปเยือน

ถึงจะไม่มีใครยืนยันได้ว่าภาพของกรุงเปียงยางที่คนภายนอกได้เห็นเป็นของจริงหรือการจัดฉากที่สั่งการลงมาจากท่านผู้นำตระกูลคิม แต่ถ้าอยากสัมผัสประสบการณ์อาหารการกินที่รู้ชัวร์ๆ ว่านี่คือการจัดฉากอย่างแน่แท้ ภัตตาคารอาหารเกาหลีเหนือ เปียงยางโอ๊คริวยู (Pyongyang Okryu) คือทีเซอร์ให้คุณได้ลองเหยียบเข้าไปในวัฒนธรรมเกาหลีเหนือ แบบที่ไม่จำเป็นต้องบินไปถึงดินแดนลับแลทางฝั่งเหนือของเส้นขนานที่ 38

ไม่ใช่ว่าเพิ่งเปิดใหม่หรอกนะครับ เพราะถ้าคุณเป็นชาวซอยเอกมัย หรือแวะเวียนไปแฮงก์เอาท์ที่นั่นอยู่บ่อยๆ อาจจะเห็นป้ายชื่อร้านผ่านตาอยู่บ้าง แต่พอเห็นว่าต้องเดินเข้าไปในเวิ้งหลังตึกแถวที่ดูลึกลับ แถมกระจกหน้าร้านก็เป็นแบบปิดทึบมองไม่เห็นข้างใน ถึงจะอยากลองแค่ไหนใจก็ไม่กล้าพอซักที

จนไม่นานมานี้ อยู่ๆ พวกเขาก็ย้ายร้านมาอยู่ริมถนนสุขุมวิท (ติดถนนใหญ่) ในระยะที่เดินได้ไม่ไกลจากบีทีเอสสถานีอโศก หลังจากอ่านรีวิวของคนอื่นมาหลายที นี่คงถึงคราวที่จะเข้าไปเปิดโลกด้วยตัวเอง!

ก่อนจะเล่าต่อ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของทำเลใหม่ก็มีความตลกร้ายอยู่ไม่น้อย นั่นคือที่ตรงนี้แต่เดิมเคยเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแนวฟิวชั่นที่ขายเบอร์เกอร์ซูชิ แต่ที่เกาหลีเหนือต้องมายึดไปทำต่อเพราะยอดขายไปไม่รอด ขนาดน้ำดื่มที่ใช้ขายคู่กับกิมจิตอนนี้ยังมีโลโก้ร้านเดิมแปะอยู่เลย

หรือที่จริงแล้ว การเลือกทำเลที่นี่อาจเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สั่งการมาจากท่านผู้นำคิมเพื่อเป็นการเย้ยหยันประเทศคู่แค้นอย่างญี่ปุ่นก็เป็นได้… (ติดแฮชแท็ก #ConspiracyTheory)

 

3.

หลังลงจากสถานีรถไฟฟ้า เดินข้ามแยกอโศกต่อมาอีกไม่ไกล ป้ายชื่อร้านภาษาไทยในฟอนต์จีนก็เตะตาผมเข้าอย่างจัง พร้อมความตกใจที่ว่านอกจากจะย้ายมาอยู่ติดถนน พวกเขายังเปลี่ยนมาใช้กระจกใสที่มองเข้าไปเห็นทุกอย่างในร้านได้อย่างชัดแจ๋ว ผิดวิสัยความเป็นภัตตาคารแห่งแดนสนธยาอย่างเมื่อก่อน

ภายในร้าน นอกจากจะมีพนักงานเสิร์ฟหญิงล้วนหน้าตาดีมัดผมยาวแบบโพนี่เทลประมาณสามถึงสี่คน และคุณป้าที่ดูจะเป็นผู้จัดการร้าน (ควบตำแหน่งลับๆ อย่างอื่นหรือไม่ เราไม่อาจทราบได้) ยังมีกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทย จีน ฝรั่ง และเกาหลีใต้!

ใช่ครับ พวกเขาได้กลับมารวมเป็นหนึ่งผ่านวัฒนธรรมร่วมบนจานอาหารในเขตปกครองพิเศษแห่งนี้นี่เอง

และอย่างที่พอจะเดาได้ พื้นที่ฝั่งหนึ่งของร้านถูกอุทิศให้กับเวทีการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ที่แบ่งโซนไว้ด้วยหลอดไฟคริสต์มาสวางโค้งอยู่บนพื้น ตามมาด้วยป้าย ‘ห้ามถ่ายภาพและวิดีโอ’ ตัวเบ้อเริ่มติดอยู่บนเสา คาราโอเกะประกอบเอ็มวีภาพท่านผู้นำบนจอโทรทัศน์ และขาดไม่ได้คือกล้องวงจรปิดบนเพดาน (ซึ่งก็มีกันทุกร้าน แต่พอมาอยู่ในร้านของเกาหลีเหนือ ก็ทำให้เกิดอาการหวาดระแวงอยู่ไม่น้อย)

ที่ผิดคาด คือภาพของผู้นำตระกูลคิมทั้งสามคนที่ไม่ปรากฏอยู่ตรงไหนเลย

 

ก่อนหน้าที่จะได้มาลองชิมอาหารที่นี่ ภาพจำเกี่ยวกับเมนูประจำชาติของเกาหลีเหนือในหัวผมคือถ้วยสำรับแสตนเลสสีทอง (ปริมาณ) น้อยๆ ในกระทู้รีวิวทริปเกาเหลือเหนือแบบละเอียดยิบที่ชาวพันทิปฮือฮากันเมื่อหลายปีก่อน

เจ้าของกระทู้นั้นบอกว่าเมนูตลอดทริปของเธอมีอยู่ไม่กี่อย่าง นั่นคือเนื้อเป็ด (เนื่องจากท่านผู้นำส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงเป็ด) กิมจิ ขนมปัง เกี๊ยวน้ำ แตงกวา และเนื้อปลาชุบแป้งทอด ทั้งหมดมาในปริมาณที่น้อยเกินกว่าจะเชื่อว่านี่คืออาหารที่เป็นหน้าเป็นตาให้นักท่องเที่ยวประทับใจกับเมนูประจำชาติของประเทศ จนไม่อยากจะนึกภาพถึงอาหาร ‘จริงๆ’ ที่คนเกาหลีเหนือได้ทานกันในชีวิตประจำวัน

แต่ภาพของอาหารเกาหลีเหนือสาขากรุงเทพมหานครที่อยู่บนโต๊ะผมในตอนนี้ เต็มไปด้วยเนื้อสัตว์หลากหลาย เมนูปริมาณมากพอที่จะแบ่งกันกินจนเกินอิ่ม เราสั่งเนื้อย่างจานโต หมูผัดซอสโคชูจัง สลัดหอยเชลล์ ข้าวยำเกาหลี ปลาซาบะย่างเต็มตัว ข้าวปั้นเกาหลีที่ไม่ค่อยอร่อย และต๊อกโบกีซีฟู้ด อาหารทุกจานไหลออกมาจากครัวเรื่อยๆ จนผมและเพื่อนเริ่มจะกินกันไม่ทัน

ตลกร้ายอยู่เหมือนกันที่เอาเข้าจริง รสชาติอาหารเกาหลีเหนือก็ไม่ได้มีความแตกต่าง (แบบเห็นได้ชัด) จากอาหารเกาหลีใต้สักเท่าไหร่ สิ่งที่ต่างกันคงมีเพียงอย่างเดียว คือในขณะที่ชาวต่างชาติอย่างเรากำลังเอร็ดอร่อยกับอาหารจานโตบนโต๊ะที่ถูกจัดฉากให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินของเกาหลีเหนือ ประชาชนตัวจริงที่ถือสัญชาติของประเทศนี้คงไม่มีโอกาสได้ทานอาหารต้นตำรับจากบ้านเกิดของตัวเอง

“เสียดาย คนเกาหลีเหนือไม่ได้กิน” เพื่อนข้างๆ เปรยออกมาระหว่างกำลังเคี้ยวแป้งต๊อกโบกีที่เท็กซ์เจอร์ต่างจากฝั่งใต้อยู่เล็กน้อย

นั่นสิ ถ้าคนในประเทศไม่มีโอกาสได้ทาน เรายังจะเรียกอาหารจานนั้นว่าเป็นอาหารของพวกเขาได้ไหม

 

เวลาสองทุ่มตรง เสียงดนตรีดังก้องออกมาจากลำโพงแตกพร่า พนักงานสาวเกาหลีเหนือทุกคนเปลี่ยนหน้าที่จากจดออเดอร์ลูกค้ามาเป็นนักแสดงบนเวที บางโชว์เป็นเพลงสากลพร้อมแดนเซอร์เต้นรีวิวประกอบเพลงอยู่ด้านหลัง บางเพลงพวกเธอก็แบ่งกันมาร้องเดี่ยว และบางเพลงก็ร้องพร้อมดนตรีสด ทั้งดีดกีตาร์และกดคีย์บอร์ดให้เพื่อนนักร้องอีกคน

รวมไปถึง ขอใจเธอแลกเบอร์โทร ที่ทำเอาผมและเพื่อนร่วมโต๊ะ (รวมไปถึงคนไทยคนอื่นๆ) เก็บอาการตกใจบนหน้าไม่อยู่ เพราะไม่นึกว่าพวกเธอจำ localized โชว์ให้เหมาะกับแต่ละประเทศขนาดนี้

และไม่ใช่แค่ร้องเพลงโชว์อย่างเดียว สกิลการเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ของพวกเธอยังออกมาอย่างเต็มที่ เธอเดินไปรอบร้าน ยื่นไมค์ให้ลูกค้าชาวไทยช่วยร้องเพลงประจำชาติให้อีกหนึ่งท่อน เดินจับมือส่งรอยยิ้มให้กับลูกค้าชาวจีน ฝรั่ง และเกาหลีใต้ รวมไปถึงผม ที่จะนับว่าครั้งนี้เป็นการใกล้ชิดกับชาวเกาหลีเหนือที่สุดในชีวิตตอนนี้ ก็คงจะไม่โอเวอร์จนเกินไป

โชว์จบลงในเวลาประมาณ 20 นาทีด้วยเพลง อารีรัง ที่คุ้นหู อันที่จริงเสียงของพวกเธอก็ดูจะเพราะเหนือมาตรฐานทั่วไป เพียงแต่ลำโพงเอคโค่เสียงแตกพร่าที่ว่าทำให้การอยู่ในร้านเวลาสั้นๆ กลับเหมือนอยู่เป็นชั่วโมง ผมแอบสังเกตเห็นสีหน้าของคนที่เดินริมถนนดูจะสนอกสนใจกับเสียงที่ลอดออกไปผ่านกระจกใสและโชว์ในชุดฮันบก คิดแล้วคิดอีกก็ยังแปลกใจอยู่ดีว่าทำไมพวกเขาถึงเริ่มเปิดเผยตัวเองกับโลกภายนอกมากขึ้นขนาดนี้

จากบทบาทนักแสดง เปลี่ยนกลับมาเป็นพนักงานเสิร์ฟ พวกเธอเดินรับออเดอร์อาหารจากลูกค้าใหม่ ส่งบิลให้ลูกค้าเก่าที่กำลังจะจ่ายเงินและจากไป เดินยกจานอาหารมาวางที่โต๊ะ ทั้งหมดด้วยร่างกายที่ห่อหุ้มด้วยชุดเดิมเมื่ออยู่บนเวที

เมื่อร้านเองก็ดูไม่ได้ลึกลับเหมือนเคย สำหรับพนักงานเสิร์ฟอย่างพวกเธอล่ะ การออกมาทำงานต่างบ้านต่างเมืองอย่างนี้จะทำให้มีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลอีกด้านหนึ่งของประเทศตัวเอง (ที่ไม่ลึกลับในสายตาคนนอกอย่างเรา) บ้างหรือเปล่า ผมแอบสงสัย

 

4.

จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เกาหลีเหนือ บรรดาร้านอาหารเหล่านี้ผุดขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียครั้งแรกในสมัยที่เกาหลีเหนือประสบกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจในช่วงต้นทศวรรษ 1990s จากการที่พันธมิตรคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตและจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มกีดกันการสนับสนุนทางการค้า จากเดิมที่ต่างฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนสินค้าจริงๆ ก็เริ่มบังคับให้จ่ายเป็นตัวเงินแทน

เมื่อเงินมีไม่พอจะนำเข้าสินค้ามาใช้ในประเทศ ท่านผู้นำเลยต้องคิดหาวิธีหาเงินแบบใหม่ การกลืนน้ำลายไปเปิดธุรกิจร้านอาหารในประเทศต่างๆ ใต้ระบบทุนนิยมจึงเป็นตัวเลือกที่จำเป็นต้องทำ ในตอนนั้น หน่วยงานของพรรคแรงงานเกาหลีในชื่อ Bureau 39 ถูกตั้งขึ้นเพื่อควบคุมเงินไหลผ่านเข้าออกบริษัทที่ออกไปตั้งตามต่างประเทศ (นอกจากธุรกิจร้านอาหารจะทำเงินได้ด้วยตัวเอง หลายคนยังเชื่อว่ามันถูกใช้เป็น ‘ที่ฟอกเงิน’ จากธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ ที่เกาหลีเหนือทำเพื่อหาเงินเข้าประเทศด้วย)

ธุรกิจร้านอาหารของพวกเขาบริหารจัดการโดยคนในพื้นที่อีกทีหนึ่ง โดยแต่ละสาขาจะขึ้นกับบริษัทในประเทศแม่ ซึ่งแต่ละปีจะต้องจ่ายเงินกลับเข้าเกาหลีเหนือเป็นจำนวน 10,000 – 30,000 ดอลล่าร์สหรัฐ แล้วแต่ขนาดของร้าน ถ้าร้านไหนทำยอดได้ไม่ถึง หรือดูแลพนักงานสาวชาวเกาหลีเหนือไม่ได้ ก็เตรียมตัวปิดร้านได้เลย

การดูแลพนักงานที่ว่า คือการควบคุมไม่ให้พวกเธอ ‘หนี’ ไปจากร้าน (เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่กัมพูชา) เพราะถึงจะคัดเลือกเด็กสาวจากวิทยาลัยศิลปะที่หน้าตาดี โปรไฟล์ดี มีความสามารถ พาไปฝึกอบรมความรักชาติ เสริมภูมิคุ้มกันทางอุดมการณ์กับกองทัพมากแค่ไหน โลกภายนอกที่ได้เห็นก็ทำให้พวกเธอบางคนกล้าจะสยายปีกหลบหนี ฉีกระหว่างสัญญาระยะเวลา 3 ปีที่เซ็นไว้อยู่ดี

จากความกลัวว่าโลกภายนอกจะทำให้ประชาชนของตัวเองเปลี่ยนความคิด เมื่อต้นปี 2016 ทางการเกาหลีเหนือจึงยกเลิกกฎที่เคยอนุญาตให้พนักงานร้านอาหารสามารถออกไปเดินเล่นรอบเมืองภายใต้สายตาของ ‘ผู้ดูแล’ ที่ควบตำแหน่งสายลับ และพยายามให้การศึกษาปลูกฝังความรักชาติที่ถูกต้องกับพนักงานหญิงให้มากขึ้น

เพราะสิ่งที่จะทำเงินให้กับรัฐบาลเกาหลีเหนือได้นอกจากรสชาติอาหาร เห็นจะมีแต่เอกลักษณ์จากการแสดงความสามารถของพวกเธอเท่านั้น

และการควบคุมความคิดก็ยังเกิดขึ้นเบื้องหลังกระจกใสหน้าร้านบานนั้น

 

5.

ก่อนเดินออกจากร้านพร้อมกลุ่มนักท่องเที่ยวชายชาวจีนกลุ่มใหญ่ ผมเห็นพวกเขาคะยั้นคะยอขอถ่ายรูปคู่กับพนักงานคนหนึ่ง แม้ว่าป้ายในร้านจะเขียนตัวใหญ่ว่าห้ามถ่ายรูป (ซึ่งผมก็แอบถ่ายมาด้วยความเสียวสันหลังเหมือนกัน)

พนักงานหน้าหมวยในชุดฮันบกบอกปัดอย่างเขินอาย “โนโฟโต้ๆ” ท่าทีของเธอไม่ได้ดุดันและเคร่งเครียดกับกฏควบคุมความลับนั้นอย่างที่คิด ตรงกันข้าม เธอยังทำท่าทางน่ารักด้วยการแอบหลบหลังลูกค้าเมื่อรู้ตัวว่าถูกพวกเขาหันโทรศัพท์มือถือใส่เตรียมตัวลั่นชัตเตอร์

ผมหันหลังไปหาหญิงลีในเกาหลีเหนือที่ผมพบเมื่อสักครู่เพื่อหวังจะถ่ายรูปคู่ด้วย

แต่คิดอีกที ให้เธออยู่เป็นความลับอย่างนี้คงดีแล้วล่ะ

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง Kingdom Kim’s Culinary Outposts โดย Sebastian Strangio จาก Slate

บทความเรื่อง The weird world of North Korea’s restaurants abroad โดย Adam Taylor จาก Washington Post

บทความเรื่อง North Korean restaurants in Dandong failing to pay workers’ salaries โดย Seol Song Ah จาก DailyNK

บทความเรื่อง North Korean Restaurants in China Send $10,000~30,000 Annually Back to Its Native Country โดย Kim Min Se จาก DailyNK

บทความเรื่อง She disappeared at the North Korean restaurant in Cambodia. โดย Park Jung-yeon จาก DailyNK

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save