fbpx
โลกที่ไม่มีไฟนอลเวอร์ชั่น : เมื่อประวัติศาสตร์ยังไม่จบ

โลกที่ไม่มีไฟนอลเวอร์ชั่น : เมื่อประวัติศาสตร์ยังไม่จบ

ตลอดประวัติศาสตร์ มนุษย์พยายามเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ (ตัวเองเชื่อว่า) ดีกว่าอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือสังคม มาถึงวันนี้ เรากำลังต้องเปลี่ยนอีกครั้ง

 

คุณเคยได้ยินคำว่า ‘จุดจบแห่งประวัติศาสตร์’ หรือ The End of History ไหม

หลายคนอาจเคยได้ยิน แต่คำถามที่คุณอาจคิดไม่ถึง (ว่าจะมีใครถาม!) ก็คือ-แล้วคุณเคย ‘เห็น’ หรือ ‘เป็นเจ้าของ’ จุดจบแห่งประวัติศาสตร์หรือเปล่า’

จะบ้าเหรอ! ใครจะไปเป็นเจ้าของจุดจบแห่งประวัติศาสตร์ได้ล่ะ

แต่ถ้าคุณได้อ่านคำถามนี้ผ่านหน้าจอมือถือละก็ มีโอกาสประมาณ 101 % ที่คุณจะต้องเป็นเจ้าของจุดจบแห่งประวัติศาสตร์อยู่

เพราะมันอยู่ในมือคุณแล้ว!

ไอโฟน ซัมซุง หัวเว่ย ไมโครซอฟท์ เฮชพี เดล! ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไหน ถ้าคุณกำลังใช้มันอยู่ นี่แหละคือ รูปธรรมที่จับต้องได้ของ ‘จุดจบฯ’ ที่ว่า

ในปี 1992 ฟรานซิส ฟูกูยามะ (Francis Fukuyama) นักรัฐศาสตร์อเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นได้นำเสนอแนวคิด ‘จุดจบแห่งประวัติศาสตร์’ ไว้ว่า ประวัติศาสตร์ของโลกได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีจะกลายเป็นระบอบการปกครองหลักที่เอาชนะทุกระบอบการปกครองได้ เพราะเป็นระบอบที่รับประกันสันติภาพและความรุ่งเรืองของชาติต่างๆ

สำหรับฟูกูยามะ ไอโฟนนี่แหละที่สะท้อนระเบียบโลกแบบที่ว่าอย่างชัดเจน ลองคิดดู! ไอโฟน (หรือซัมซุง) เครื่องหนึ่ง ถูกออกแบบและพัฒนาในสหรัฐอเมริกาโดยวิศวกรหลากหลายเชื้อชาติ ถูกผลิตที่จีน ก่อนที่จะกระจายไปยังสาวกของสตีฟ จ็อบส์ที่กระจายไปอยู่ทั่วโลก รวมถึงตัวคุณเองที่อยู่เมืองไทยด้วย

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะโลกอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ทำให้การค้าและการลงทุนข้ามชาติเป็นไปได้อย่างสะดวก ระเบียบโลกนี้บางทีถูกเรียกแบบเหมาๆ ว่า ‘โลกาภิวัตน์’

แต่วันนี้มันกำลังสั่นคลอน ประวัติศาสตร์โลกกำลังเคลื่อนต่อไปอีกครั้ง

ปัญหาของเสรีนิยม

ถ้าอยากเข้าใจว่า ทำไมระบบโลกที่เอื้อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมหาศาลถึงสั่นคลอนได้ เราอาจต้องย้อนไปดูที่มาที่ไปของมัน

ราว 80 ปีก่อน เวทีโลกเป็นการแข่งขันกันระหว่างอุดมการณ์ 3 ชุด อันได้แก่ ทุนนิยม (เสรีนิยม) ลัทธิฟาสซิสต์ และสังคมนิยม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลัทธิฟาสซิสต์พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ปล่อยให้ทุนนิยมและสังคมนิยมแข่งกันอย่างแข็งขันในยุคสงครามเย็น

ในยุคนี้เองที่ ‘ระเบียบโลกแบบเสรีนิยม’ (Liberal International Order) เริ่มที่จะลงหลักปักฐานมากขึ้น ประชาคมโลกต่างเริ่มยอมรับว่า ระเบียบโลกแบบนี้จะนำมาซึ่งความสันติและความรุ่งเรือง ยิ่งต่อมาสังคมนิยมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีจึงกลายเป็นคำตอบหลักคำตอบเดียวที่เหลืออยู่สำหรับชาวโลก

ถ้าถามว่าระบบแบบนี้มีดีอะไร มันถึงเป็นผู้ชนะ? ผู้เชี่ยวชาญก็จะบอกเราแบบกว้างๆ ว่า มันเป็นระบบที่ทำให้คนหลากหลายได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยพื้นฐานที่สุดมันทำให้ประเทศไม่ต้องมีสงคราม จากนั้นบริษัทข้ามชาติก็เกิดขึ้น มีการลงทุนขนาดใหญ่ระหว่างประเทศ เกิดการเชื่อมโยงสายพานการผลิตระดับโลก ผลก็คือตลาดสินค้าขยายใหญ่ ทำให้คนทั่วโลกใกล้กันกว่าที่เคย

ยิ่งได้แรงหนุนเสริมจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านขนส่ง ไอที และดิจิทัล กระบวนการนี้ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นไปกันใหญ่

ในมิติทางวัฒนธรรม อุดมการณ์แบบเสรีนิยมไม่ใช่แค่คำตอบเดียวที่เหลืออยู่ แต่มันยังกลายเป็น ‘ความหวัง’ ของคนรุ่นใหม่จำนวนมากด้วย ความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ต่อสู้ของคนชายขอบ สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากกระแสการเมืองแบบเสรีนิยม

(สำหรับคนที่แสลงหูกับคำเหล่านี้ ลองนึกถึง ‘วัฒนธรรมฮอลลีวู้ด’ หรือคำว่า ‘พลเมืองโลก’ แทนก็ได้ ทั้งสองอย่างนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลผลิตของ ‘เสรีนิยม’ ทั้งนั้นแหละคุณ)

ในมิติของเทคโนโลยี นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมก็เป็นผลพลอยได้อย่างหนึ่งของระเบียบโลกแบบนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอยๆ แต่เกิดขึ้นในบริบทที่สังคมเปิดกว้าง มีเสรีภาพให้แลกเปลี่ยนและถกเถียงได้

เอ๊ะ! อ่านๆ มาถึงตรงนี้แล้วก็ดูเหมือนมันจะไม่มีปัญหาอะไรนี่นา! แต่การ ‘ดูไม่มีปัญหา’ นี่แหละที่เป็นปัญหา ปัญหาที่ว่าคือ เรามีแนวโน้มจะมองด้านบวกของระเบียบโลกแบบนี้มากเกินไป และมองไม่เห็นผลกระทบอีกด้านของมันเท่าไหร่

สิ่งที่ ลิเบอรัลมองไม่เห็น

“การเมืองในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องขวากับซ้าย แต่เป็นเรื่องของคนที่โอบรับโลกาภิวัตน์ และคนที่หวาดกลัวมัน”

คำพูดข้างบนนี้เป็น อเล็กซานเดอร์ เบตส์ (Alexander Betts) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) หลังจากที่ผลโหวตประชามติครั้งประวัติศาสตร์ออกมาว่า คนบริติช ‘เลือก’ ที่จะออกจากสหภาพยุโรป

เบตส์ชี้ว่า โลกาภิวัตน์สร้างผลบวกโดยรวมให้กับเศรษฐกิจก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รับส่วนแบ่งจากผลบวกนั้น เช่น การที่คนย้ายไปย้ายมาได้อย่างเสรี แม้จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวมแน่ๆ  แต่ในกระบวนการทั้งหมดอาจมีคนที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าบ้านที่แพงขึ้นเนื่องจากจำนวนคนที่มากขึ้น หรือแรงงานที่มากขึ้นให้กดให้ค่าจ้างลดลง เป็นต้น พูดอีกแบบคือ โลกาภิวัตน์ได้สร้าง ‘ผู้แพ้’ และ ‘ผู้ชนะ’ ขึ้นมา เมื่อสะสมจนมากเข้าก็กลายเป็น ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ขนาดใหญ่

เฮ้ย! บางคนอาจเถียงว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มาจากโลกาภิวัตน์นี่เขาพูดกันมานานแล้ว ไม่เชื่อลองไปดู นักวิชาการ นักคิด นักกำหนดนโยบาย นักกิจกรรม สารพัดนัก ดูสิ

แต่สิ่งที่เบตส์เน้นย้ำก็คือ ชาว ‘ลิเบอรัล’ (รวมทั้งตัวเขาเองด้วย) ที่คิดว่า เข้าใจสังคม ใจกว้าง  อดทนอดกลั้น คิดถึงคนทุกคน เอาเข้าจริงแล้ว กำลังอยู่แต่ในโลกของตัวเอง และอาจรู้จักคนอื่นและสังคมน้อยกว่าที่ตัวเองคิดไว้ก็เป็นได้ เขาใช้ตัวเองเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ในชีวิตจริงเขาแทบไม่รู้จักคนและพื้นที่ที่โหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปเลยด้วยซ้ำ

กล่าวอย่างรวบยอด เบตส์คิดว่า ‘ชาวลิเบอรัล’ มองไม่เห็นรอยร้าวลึกขนาดใหญ่ในสังคมที่เกิดขึ้นภายใต้ระเบียบโลกแบบเสรีนิยม และพานไปด่าคนที่เลือกไม่เหมือนตัวเองว่า ‘โง่’ แทนที่จะเลือกทำความเข้าใจความแตกต่างนี้

ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นแบบที่เบตส์บอกเท่านั้น ในมิติวัฒนธรรม คนจำนวนหนึ่งอาจกำลังรู้สึกว่าตัวเองถูกคุณค่าแบบเสรีนิยมกดทับก็เป็นได้ ตัวอย่างในเรื่องนี้คือ เรื่อง ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ หรือ ‘พีซี’ นั่นเอง

พูดแบบง่ายที่สุด ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ คือ การต้องไม่พูดหรือแสดงออกอะไรที่จะทำให้เกิดความรู้สึกขุ่นเคืองใจ (offence) กับคนอื่นหรือบุคคลอื่นในประเด็นที่มีความอ่อนไหว เช่น การพูดเหยียดเพศ ศาสนา ฐานะ สีผิว รูปร่าง ความพิการ ฯลฯ ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่การเมืองแบบเสรีนิยมตั้งไว้ (แม้ว่าพีซีจะมีที่มาจากค่ายสังคมนิยมก็ตาม)

คนที่ไม่เห็นด้วยกับพีซีมีมากมายหลายเหตุผลเลยทีเดียว ตั้งแต่รำคาญนิดหน่อย ไปจนกระทั่งมองว่า พวกบ้าพีซีทำตัวเป็น ‘ตำรวจทางความคิด’ ที่คอยมากำกับว่าอะไรคือสิ่งที่พูด (คิด) ได้หรือไม่ได้ ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การไม่สามารถพูดความจริงได้

อันที่จริงฝ่ายเสรีนิยมเองก็วิจารณ์ประเด็นเรื่องพีซีอยู่ไม่น้อยเลย แต่เสียงที่ดังกว่าใครเพื่อนในบริบทแบบนี้คือวิธีคิดทางการเมืองแบบขวานั่นเอง ในกรณีนี้โด่งดังที่สุดก็คงไม่พ้น โดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่ทรัมป์ทำไม่ใช่แค่วิจารณ์พีซีเท่านั้น แต่ตัวเขาเองมุ่งทำลายขนบพีซีแบบเสรีนิยมเลยต่างหาก ทรัมป์โดนพวก ‘ลิเบอรัล’ วิจารณ์อย่างหนักถึงท่าทีของเขาที่มีต่อผู้หญิง คนเม็กซิกัน และคนมุสลิม ซึ่งตามมาตรฐานของเสรีนิยมไม่ใช่แค่ไม่พีซีเท่านั้น แต่ยัง ‘ล้าหลัง’ และ ‘น่ารังเกียจ’ เสียด้วยซ้ำไป

หากเป็นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การที่บุคคลทางการเมืองละเมิดกติกาแบบเสรีนิยมเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจินตนาการได้เลยด้วยซ้ำ เช่น ในปี 2005 ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส (Lawrence Summers) อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของประธานาธิบดีคลินตัน ถึงต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อเขาให้ความเห็นทำนองว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ไม่เก่งด้านวิทยาศาสตร์ (อันที่จริง ซัมเมอร์สพูดด้วยความระมัดระวังพอสมควร แต่สุดท้ายเขาก็ต้องลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีอยู่ดี)

แต่ในโลกปัจจุบัน กลับกลายเป็น ‘ความล้าหลัง’ และ ‘ความน่ารังเกียจ’ ตามมาตรฐานเสรีนิยมนี่เองที่มีส่วนทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง

นี่เป็นปรากฏการณ์ที่บอกกับเราว่าคุณค่าและบรรทัดฐานแบบเสรีนิยมกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก!

เบต้าเวอร์ชั่นใหม่ของฝ่ายขวา : การเมืองของความกลัวและการควบคุม

เมื่อสหราชอาณาจากเลือกที่จะออกจากสหภาพยุโรปในกลางปี และสหรัฐอเมริกาเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดีเมื่อตอนปลายปี ปี 2016 ก็กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์โลกไปโดยปริยาย

โลกกำลังหันไปทางขวา!! ไม่เชื่อลองมองหน้าผู้นำโลกดูสิ

ทรัมป์ของอเมริกา

ปูตินของรัสเซีย

สี จิ้นผิงของจีน

โมดีของอินเดีย

ทั้งหมดล้วนเป็นผู้นำเอียงขวา (ในมาตรฐานเสรีนิยม) ทั้งสิ้น

การขึ้นมาของฝ่ายขวายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น จะเรียกได้ว่าเป็น ‘เบต้าเวอร์ชั่น’ ของระเบียบโลกใหม่ก็ว่าได้ คำถามคืออะไรคือหัวใจของ ‘เบต้าเวอร์ชั่น’ นี้

นักวิชาการบางคนเสนอว่า หัวใจของระเบียบการเมืองโลกคือ ความกลัวความเปลี่ยนแปลงและความรู้สึกไม่มั่นคง ซึ่งนำไปสู่ความต้องการที่จะควบคุม เพราะเหตุนี้คนส่วนใหญ่จึงต้องการผู้นำที่มีบุคลิกแข็งกร้าว เด็ดขาด ป่าวประกาศที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศโดยไม่สนใจอย่างอื่น (ต้องบอกก่อนว่า การป่าวประกาศกับการทำได้เป็นคนละเรื่องกันนะ)

จะว่าไปปรากฏการณ์คล้ายคลึงกับโลกในช่วงปี 1914 อยู่ไม่น้อย เมื่อการสิ้นสุดของมาตรฐานทองคำและจักรวรรดินิยมอังกฤษทำให้โลกหันหลังให้กับโลกาภิวัตน์ระลอกแรก (First Wave Globalization) ความวุ่นวายโกลาหล และความไม่แน่นอนทำให้หลายประเทศหันไปใช้นโยบายแบบชาตินิยมและลัทธิปกป้องตนเอง ความเข้มแข็งของผู้นำถูกมองว่าเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศ

คราวนั้นเราจบลงด้วยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2

ส่วนคราวนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะเป็นยังไงต่อ แต่ที่แน่ๆ โลกมันคงอยู่ยากขึ้น 

ประเทศไทย?

บางคนบอกว่า ประเทศไทยเราเองก็อยู่ในกระแสขวาด้วยเช่นกัน ไม่เชื่อลองดูท่านนายกฯ ของเราสิ น่าจะเทียบชั้นกับผู้นำโลกหลายคนได้สบาย

ได้ยินแล้วก็ต้องหยุดคิดเลยทีเดียว ว่าบางทีประเทศไทยก็อาจจะอยู่ใน ‘เบต้าเวอร์ชั่น’ แห่งความเป็นขวากับด้วยเหมือนกัน

มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่านะ?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save