fbpx
ครีมอาบน้ำ เสื้อผ้า ล้อรถ กับขยะพลาสติกที่มองไม่เห็น

ครีมอาบน้ำ เสื้อผ้า ล้อรถ กับขยะพลาสติกที่มองไม่เห็น

ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา มีรายงานการปนเปื้อนของขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ ในทะเลและแหล่งน้ำเป็นในจํานวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดของมันอาจเล็กมากจนมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า พลาสติกชิ้นเล็กๆ เหล่านี้ได้รับการตั้งชื่อว่า “ไมโครพลาสติก” (Microplastics)

 

ไมโครพลาสติกเป็นพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร โดยอาจมีขนาดได้ตั้งแต่ ไวรัสจนถึงมด มีรูปร่างที่หลากหลาย พลาสติกเหล่านี้ถูกพบทั่วทุกแห่งบนโลก ตั้งแต่บนผิวทะเลและทะเลสาบ ตะกอนในแม่น้ำและปากแม่น้ำ ในท้องของสิ่งมีชีวิตในทะเลหลายชนิดตั้งแต่แพลงก์ตอนจนถึงปลาวาฬ นักวิทยาศาสตร์พบไมโครพลาสติก ในพื้นที่ห่างไกลอย่างทะเลสาบกลางหุบเขาที่มองโกเลีย หรือแม้แต่ลึกลงไปหลายกิโลเมตรใต้มหาสมุทร

เราสามารถจำแนกไมโครพลาสติกออกเป็น 2 ประเภทตามแหล่งกำเนิดของมัน ประเภทแรกคือไมโครพลาสติกที่เกิดจากการย่อยสลายของขยะพลาสติกทั่วไป ขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ที่แตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กๆ จาก คลื่น ลม รังสียูวี หรือสัตว์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี การย่อยสลายไม่นำไปสู่การย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ พลาสติกเพียงแค่สลายตัวเป็นพลาสติกชิ้นเล็กๆ เท่านั้น เราเรียกไมโครพลาสติกประเภทนี้ว่า “secondary microplastics” ขณะที่ไมโครพลาสติกอีกประเภทคือพลาสติกที่ถูกผลิตมาด้วยขนาดเล็กตั้งแต่แรกเร่ิ่ม หรือที่เรียกว่า “primary microplastics”

ไมโครพลาสติก จากชายฝั่งในยุโรป

ก่อนปี 1970 ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งส่วนใหญ่เป็น secondary microplastics แต่ปัจจุบันสาเหตุการปนเปื้อนส่วนใหญ่มาจาก primary microplastics ที่ถูกสังเคราะห์เป็นชิ้นเล็กๆ ตั้งแต่แรก เพื่อนำมาใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนและงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในช่วงปลาย 1990s ที่ผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเริ่มใช้ “ไมโครบีดส์” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว ยาสีฟัน ครีมโกนหนวด ทำให้นักวิจัยเริ่มพบไมโครบีดส์ในแหล่งน้ำสาธารณะใน ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา

ไมโครบีดส์ทรงกลมสีสัดสดใสเป็นที่นิยมใส่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ล้างหน้าและผลิตภัณฑ์เครื่องสําอาง การใช้ผลิตภัณฑ์แต่ละครั้งสามารถปล่อยเม็ดไมโครพลาสติกมากถึง 4,594-94,500 เม็ด นอกจากนี้ไมโครพลาสติกยังปนเปื้อนมากับน้ำทิ้งจากการซักผ้า ซึ่งปนเปื้อนด้วยจากเส้นใยพลาสติกจากเครื่องนุ่งห่มต่างๆ จากการทดลองพบว่าการซักด้วยเครื่องซักผ้า ปล่อยไมโครพลาสติกกว่า 1900 ชิ้น/ครั้ง แหล่งที่มาของไมโครพลาสติกที่สำคัญอีกแหล่งคือล้อรถยนต์ ซึ่งล้อรถได้ทิ้งพลาสติกชิ้นเล็กๆ ไว้บนท้องถนนและถูกชะล้างลงสู่ระบบน้ำทิ้งของเมือง

เม็ดไมโครพลาสติกเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบบําบัดน้ำเสียและด้วยขนาดที่เล็ก ทำให้สามารถลอดผ่านระบบกรองไปได้ และเดินทางสู่แหล่งน้ำและทะเลในที่สุด

 

ประเภทของไมโครพลาสติกที่พบในน้ำเสียที่อ่าวซานฟรานซิสโก

ในการประชุมยุทธศาสตร์การบริหารการจัดการทรัพยากรทะเลของสหภาพยุโรป (Marine Strategy Framework Directive, MSFD) ได้แบ่งอันตรายที่เกิดจากการปนเปื้อนของเม็ดไมโครพลาสติกสู่ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ออกเป็น 3 ด้านคือ ผลต่อระบบนิเวศ ผลต่อระบบเศรษฐกิจ (การสูญเสียรายได้จากการประมงและการท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ) และผลต่อสังคม (คุณค่าทางสุนทรียภาพและความปลอดภัยที่ลดลง)

เนื่องจากมีความหนาแน่นต่ำ เมื่อปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำเม็ดไมโครพลาสติกเหล่านี้จะลอยอยู่เหนือผิวน้ำทําให้ปะปนกับแพลงก์ตอนที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ผ่านปลาหรือสัตว์น้ำที่กินแพลงก์ตอนเหล่านั้น ปัจจุบันเราพบไมโครพลาสติกในกระเพาะของสัตว์หลายชนิด ตั้งแต่สัตว์ขนาดเล็กไปจนถึงปลาวาฬ มีการประมาณการณ์ว่าในมหาสมุทรมีไมโครพลาสติกโดยเฉลี่ย 63,320 ชิ้น/ตารางกิโลเมตร นอกจากอาหารทะเลแล้วยังพบไมโครพลาสติกในอาหารอื่นๆ เช่น น้ำดื่ม เบียร์ น้าผึ้ง น้ำตาล และเกลือ แม้ยังไม่มีข้อสรุปถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติก แต่ก็เป็นประเด็นที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย

ประเด็นที่น่ากังวลของการปนเปื้อนไมโครพลาสติกคือการปลดปล่อยสารพิษที่เป็นอันตราย ทั้งจากส่วนประกอบของพลาสติกเองหรือสารที่เกิดขึ้นจากการสลายตัวของพลาสติก

นอกจากนี้เม็ดพลาสติกขนาดเล็กยังทําหน้าที่เป็นตัวกลางในการสะสมและเคลื่อนย้ายสารพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น ยาฆ่าแมลง ดีดีที พีซีบี ซึ่งสารเหล่านี้เป็นพิษต่ออวัยวะในร่างกายก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพแบบเรื้อรัง รบกวนการทำงานของระบบฮอร์โมน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีน และเป็นสารก่อมะเร็ง เม็ดไมโครพลาสติกสามารถอุ้มนํ้าได้ จึงสามารถดูดซับสารต่างๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในระบบบําบัดน้ำเสียหรือแหล่งน้ำ และเป็นตัวกลางนําสารพิษเหล่านี้ออกสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เกิดการสะสมอยู่ในทะเลและชายหาดในที่สุด

 

โปรดติดตามการรับมือปัญหาไมโครพลาสติกในปัจจุบันและความท้าทายในอนาคต ตลอดจนทางเลือกของผู้บริโภคได้ใน ทางออกของขยะที่มองไม่เห็น

 

อ้างอิง

งานวิจัย Microplastic ingestion decreases energy reserves in marine worms, Wright et al. (2013)

งานวิจัย Microplastic Contamination in San Francisco Bay – Fact Sheet, San Francisco Estuary Institute (2015).

วรงค์ศิริ เข็มสวัสดิ์ (2559). ไมโครพลาสติก: จากเครื่องสําอางสู่สารปนเปื้อนในอาหาร. วารสารพิษวิทยาไทย ; 31(1) : 50-61. สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

UNEP (2016). UNEP Frontiers 2016 Report: Emerging Issues of Environmental Concern. United Nations Environment Programme, Nairobi.

ศุลีพร แสงกระจ่าง, ปัทมา พลอยสว่าง, ปริณดา พรหมหิตาธร (2556). ผลกระทบของพลาสติกต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม. วารสารพิษวิทยาไทย; 28(1): 39-50. งานระบาดวิทยาโมเลกุล กลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

ปิติพงษ์ ธาระมนต์, สุหทัย ไพรสานฑ์กุล และ นภาพร เลียดประถม (2559). การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในหอยสองฝาบริเวณชายหาดเจ้าหลาวและชายหาดคุ้งวิมาน จังหวัดจันทบุรี. แก่นเกษตร; 44 (ฉบับบพิเศษ 1): 738-744.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save