fbpx
เคยเป็นไหม? ‘โรคฝันกลางวัน’ : เสพติดการเพ้อฝัน แต่ไม่ถึงขั้นเป็นบ้า

เคยเป็นไหม? ‘โรคฝันกลางวัน’ : เสพติดการเพ้อฝัน แต่ไม่ถึงขั้นเป็นบ้า

เชื่อว่าใครหลายคนคงเคยมีโมเมนต์ที่ใจลอย เผลอคิดถึงเรื่องอื่นที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้า หรือจินตนาการถึงโลกอีกใบที่สร้างขึ้นมาในหัว และหมกตัวอยู่ในนั้นตามแต่เวลาและโอกาสจะเอื้ออำนวย

 

หากมองแบบฉาบฉวย อาการที่ว่านี้ก็คือการ ‘ฝันกลางวัน’ นั่นเอง เป็นภาวะเพ้อฝันขณะลืมตาตื่น และเป็นภาวะดาษดื่นที่ใครๆ ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ

แต่คุณรู้ไหมว่า ภาวะฝันกลางวันที่ว่านี้ ถ้าเกิดขึ้นถี่จนเกินไป ก็อาจเข้าข่ายการเป็น ‘โรคฝันกลางวัน’ หรือ Maladaptive Daydreaming ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากโรคซึมเศร้าเลยทีเดียว

ว่าแต่ เจ้า ‘โรคฝันกลางวัน’ นี่มันเป็นยังไงกันแน่ ร้ายแรงแค่ไหน และถือเป็นความผิดปกติที่ควรได้รับการรักษาเช่นโรคร้ายอื่นๆ หรือไม่ ?

 

เจน บีเกลเซ่น (Jayne Bigelsen) นักวิจัยสาวชาวอเมริกันที่ศึกษาเรื่องนี้มาค่อนชีวิต เผยว่ามีคนประสบภาวะนี้อยู่ทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บงำไว้ เพราะกลัวคนอื่นมองว่าไม่ปกติ

ในบทความที่เธอเขียนลงเว็บไซต์ The Atlantic เธอเล่าย้อนถึงประสบการณ์ส่วนตัว ว่าเธอเริ่มเสพติดการฝันกลางวันตั้งแต่ประมาณ 8 ขวบ

เจนเล่าว่าทุกครั้งที่มีเวลาว่าง เธอจะออกไปนั่งๆ นอนๆ ในสนามหลังบ้าน ก่อนจะเริ่มจินตนาการถึง ‘The Brady Bunch’ ซิทคอมสัญชาติอเมริกันที่เธอหลงใหล หรือซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่เธอประทับใจ ทว่าแทนที่จะรอดูตอนต่อไปในทีวี เธอกลับสร้าง episode ใหม่ขึ้นมาในหัวเธอเอง ตั้งแต่ฉาก ตัวละคร รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ดำเนินไป

เธอบอกว่าภาพที่ปรากฏอยู่ในหัวของเธอนั้นชัดเจนราวกับได้ดูซีรีส์จริงๆ แถมยังเป็นเรื่องราวที่เธอรังสรรค์ได้ดั่งใจ และบางครั้งมันก็สนุกกว่าซีรีส์ต้นฉบับเสียด้วย!

เธออธิบายต่อด้วยว่า ทุกครั้งที่ตกอยู่ในภาวะแบบนี้ เธอมักจะเดินวนไปวนมา หรือไม่ก็กำของบางอย่างไว้ในมือเสมอ เธอบอกว่าการทำแบบนี้จะช่วยให้มีสมาธิและเห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยในแต่ละครั้ง เธอจะใช้เวลาอยู่ในภวังค์ที่ราวๆ 30 – 45 นาที

ทว่าวันหนึ่งที่เพื่อนบ้านบังเอิญผ่านมาเห็น และพบว่าเธอมีท่าทางแปลกๆ เธอจึงรีบเดินกลับเข้าบ้านทันที และเก็บงำกิจกรรมนี้ไว้แต่เพียงหลังประตูห้องนอน

สำหรับเจน นี่คือกิจกรรมที่เธอโปรดปรานยิ่งกว่าสิ่งใด และยิ่งวันเวลาผ่านไป เธอก็ยิ่งเสพติดการฝันกลางวันมากขึ้น ไม่ว่าเธอจะทำกิจกรรมอะไร ในหัวของเธอก็มักจะมีโลกอีกใบที่ซ้อนทับกันอยู่เสมอ

ในส่วนของชีวิตประจำวัน เธอก็เป็นเหมือนเด็กทั่วๆ ไป มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างที่ควรจะเป็น และก็รู้ตัวด้วยว่า จินตนาการที่เธอสร้างขึ้นมานั้นเป็นเพียงโลกเสมือน ไม่ใช่โลกความจริง และนั่นคือสิ่งเดียวที่ทำให้เธอมั่นใจ—ว่าตัวเองไม่ได้เป็นบ้า

แต่เธอหารู้ไม่ว่าในเวลาต่อมา การฝันกลางวันที่เธอหลงใหล จะกลายเป็นสิ่งที่เกินควบคุมและกลับมาทำร้ายตัวเธอเอง

 

ตอนเรียนไฮสคูล เธอเริ่มรู้สึกว่าการฝันกลางวันไม่ใช่เรื่องสนุกอีกต่อไป เพราะมันเริ่มเข้ามาแทรกแซงการใช้ชีวิตของเธอมากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร เจนจะเชื่อมโยงโลกความจริงเข้ากับโลกในจินตนาการของเสมอๆ โดยที่เธอเองก็ไม่รู้ว่าจะควบคุมมันอย่างไร

เธอเปรียบเทียบว่า “มันเหมือนกับมีทีวีที่เปิดอยู่ในหัวฉันตลอดเวลา และฉันก็หารีโมตไม่เจอ”

จากการที่ต้องทุกข์ระทมกับโลกสองใบที่ซ้อนทับกันอยู่เสมอ ส่งผลให้เธอเกิดความเครียดสะสม ประสบปัญหาในการจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและจำต้องทนอยู่กับสภาวะแบบนี้ไปอีกหลายปี—โดยที่ไม่มีใครรู้

เธอเล่าว่าครั้งหนึ่งขณะกำลังนั่งเรียนอยู่ จู่ๆ เธอก็น้ำตาไหลออกมา ด้วยเรื่องราวที่โลดแล่นอยู่ในหัวเธอนั้นดำเนินมาถึงจุดที่ดราม่าสุดๆ

ครั้นเมื่อเริ่มทนไม่ไหว เธอจึงมองหาความช่วยเหลือ โดยเริ่มจากคนใกล้ตัวอย่างพ่อแม่ของเธอซึ่งเป็นหมอ ทว่าคำตอบที่ได้ กลับไม่ได้ช่วยเธอสบายใจขึ้นแต่อย่างใด พวกเขาวินิจฉัยว่าเธอเพียงแต่มีจินตนาการที่บรรเจิดกว่าคนทั่วๆ ไปเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ในวันเวลาที่อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย เธอพยายามหาข้อมูลจากหนังสือและตำราแพทย์เท่าที่หาได้ และพบว่ามีหลายทฤษฎีที่พูดถึงการฝันกลางวัน ตั้งแต่ทฤษฎีของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่บอกว่าการหมกมุ่นในโลกส่วนตัวในวัยเด็กคือส่วนหนึ่งของการเติบโต และเด็กทุกคนก็เปรียบเสมือนยอดนักเขียนที่สามารถรังสรรค์โลกของตัวเองได้ตามใจชอบ หรือทฤษฎีเกี่ยวกับบุคลิกภาพที่เรียกว่า ‘Fantasy Prone’ ที่ใช้อธิบายลักษณะของคนที่ชอบเพ้อฝันและมีจินตนาการสูง รวมไปถึงงานวิจัยของอีริค คลิงเกอร์ (Eric Klinger) ที่พบว่าการฝันกลางวันนั้นคิดเป็นสัดส่วนราวๆ ครึ่งหนึ่งของความคิดมนุษย์

อย่างไรก็ดี เจนพบว่าไม่มีทฤษฎีหรือหลักการใดเลยที่ตรงกับอาการของเธอเลย จนกระทั่งในปี 2002 อีไล ซอมเมอร์ (Eli Somer) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยไฮฟา ประเทศอิสราเอล ได้เผยแพร่งานวิจัยว่าด้วย ‘Maladaptive Daydreaming’ หรือ ‘โรคฝันกลางวัน’ ขึ้นมา พร้อมคำอธิบายว่าเป็นภาวะฝันเฟื่องระดับรุนแรง ซึ่งเข้ามาแทรกแซงกิจวัตรปกติ รวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ

แม้การค้นพบครั้งนี้จะทำให้เธอเริ่มมีความหวัง ทว่าโรคดังกล่าวกลับยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และยังไม่มีวิธีการรักษาที่แน่ชัด มิหนำซ้ำยังเป็นที่กังขาในหมู่คนในแวดวงการแพทย์บางกลุ่มอีกด้วย

นักวิจัยบางคนตั้งข้อสังเกตว่าภาวะดังกล่าวไม่น่าจะใช่ความผิดปกติ หรือ ‘โรค’ ที่ต้องได้รับการรักษา เพราะมันเป็น ‘กลไกธรรมชาติ’ ที่เกิดกับมนุษย์ทุกคน บางคนถึงกับค่อนขอดทำนองว่า “แล้วต่อไปเราจะต้องบำบัดรักษา ‘ภาวะปกติ’ ของมนุษย์แบบไหนกันอีก”

แต่อีกมุมหนึ่ง ก็มีนักวิจัยบางคนที่ออกมาสนับสนุน พร้อมให้เหตุผลที่น่ารับฟังว่า “หากเรานับว่าการมีไข้ ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติของมนุษย์ในการเยียวยาตัวเองในระดับที่เกินปกติ ว่าเป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษา แล้วทำไมคนที่ต้องเผชิญกับการฝันกลางวันในระดับที่เกินปกติ จึงไม่ควรได้รับการรักษาด้วยเล่า?”

สำหรับเจน หลังจากตระเวนเข้ารับการบำบัดอยู่หลายครั้ง จากแพทย์หลายคน เธอก็ค้นพบยาชนิดหนึ่งซึ่งช่วยบรรเทาโรคฝันกลางวันได้ในที่สุด ก็คือยาที่มีชื่อว่า Fluvoxamine เป็นยาที่ใช้รักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) ซึ่งช่วยให้เธอควบคุมการฝันกลางวันได้ดีขึ้น และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติโดยไม่ถูกรบกวนจากภาพฝันอันไม่พึงประสงค์

 

หลายปีต่อมา เมื่อโรคฝันกลางวันไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเธออีกต่อไป และโลกของอินเทอร์เน็ตก็เอื้อให้ผู้คนแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยที่เธอยังเป็นเด็ก เจนค้นพบว่าไม่ได้มีแต่เธอเท่านั้นที่เป็นโรคนี้ เริ่มจากการที่เธอไปเจอบทความหนึ่งในเว็บไซต์ทางการแพทย์ของอินเดีย พูดถึงกรณีศึกษาของเด็กคนหนึ่งที่ไม่สามารถหยุดฝันกลางวันได้ พร้อมคำแนะนำต่างๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทว่าสิ่งที่ทำให้เธอประหลาดใจกว่าเนื้อหาในบทความ ก็คือการที่มีคนมากมายเข้าคอมเมนต์ใต้บทความนี้ ว่าพวกเขาก็มีอาการอย่างที่ว่าเหมือนกัน!

เธอบอกว่านั่นเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่โดดเดี่ยว และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เธอคิดหรือฝันไปเองคนเดียวอีกต่อไป

หนึ่งในคนที่แชร์ประสบการณ์ เล่าว่าเธอถูกศาสตราจารย์สเนป จากเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตามมาหลอกหลอนอยู่เกือบสองปีเต็มๆ ขณะที่อีกคนบอกว่า “อาการของฉันหนักถึงขั้นที่คิดว่าโลกความฝันคือโลกจริง ทำให้ฉันถวิลหามันอยู่ตลอดเวลา เหมือนคนติดเหล้าที่หยุดดื่มไม่ได้”

ท้ายที่สุดแล้ว เจนค้นพบว่ายารักษาที่ดีที่สุดนั้นอยู่ใน ‘อินเทอร์เน็ต’ เพราะมันทำให้คนที่มีอาการแบบเดียวกัน ได้ค้นพบกันและกัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตัดสินใจเผยแพร่เรื่องราวของตัวเองบ้าง โดยหวังว่ามันอาจเป็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ช่วยฉุดใครบางคนให้พ้นจากความมืด

และเพื่อบอกให้ ‘เด็กหญิงเจน’ คนนั้นได้รู้ว่าเธอไม่ใช่คนเดียวในโลกที่เจอปัญหานี้

 

ปัจจุบันนี้เรื่องราวของ ‘โรคฝันกลางวัน’ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่อยู่ดี จึงยังไม่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องออกมามากนัก

ทั้งนี้ จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ ก็มากพอที่จะทำให้เรารู้ถึงที่มาที่ไป ลักษณะอาการ รวมถึงวิธีการรักษาเบื้องต้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะ ‘งมเข็ม’ อย่างที่เจนพยายามทำอีกต่อไป

ใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองอาจจะเป็นโรคนี้ ลองมาดูกันว่าคุณมีปัจจัยบ่งชี้เหล่านี้รึเปล่า

1) ใจลอยเป็นกิจวัตร  แม้การใจลอยจะเป็นภาวะปกติ แต่ถ้าคุณเริ่มรู้สึกว่าตัวเองใจลอยบ่อยและนานจนกระทบกับการทำงานหรือกิจวัตรประจำวัน นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเป็นโรคฝันกลางวันอยู่ก็เป็นได้

2) ประสบความรุนแรงในวัยเด็ก ข้อมูลจากการสำรวจ พบว่าคนที่เป็นโรคฝันกลางวันหลายคน เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจตั้งแต่วัยเด็ก และการเพ้อฝันอยู่ในโลกส่วนตัวคือกลไกหนึ่งในการหลีกหนีความเจ็บปวด

3) มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ ตัวชี้วัดที่ตรงกันอีกอย่างหนึ่งในบรรดาคนที่เป็นโรคฝันกลางวัน ก็คือพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำในขณะที่กำลังโลดแล่นอยู่ในโลกสมมุติ ไม่ว่าจะเป็นการเดินวนไปวนมา โยน หมุน หรือเล่นสิ่งของที่อยู่ใกล้มือ

4) เห็นภาพแบบละเอียดยิบ คนที่เป็นโรคฝันกลางวัน จะมีลักษณะเหมือนกันคือมองเห็นรายละเอียดต่างๆ ที่สร้างขึ้นในหัวได้อย่างชัดเจนจนน่าตกใจ และสามารถจมอยู่กับภาพและเรื่องราวเหล่านั้นได้คราวละนานๆ ไม่ต่างจากการได้ดูหนังจริงๆ

5) เพ้อฝัน แต่ไม่ถึงขั้นเป็นบ้า แม้จะเสพติดการเพ้อฝัน แต่ก็ยังแยกแยะได้ว่าอันไหนคือความจริง อันไหนคือความฝัน เรียกว่ารู้ตัวและมีสติเต็มที่ แต่ก็ยังหยุดความคิดหรือห้ามการเพ้อฝันไม่ได้อยู่ดี

 

นอกจากปัจจัยที่ว่ามา ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่ภาวะฝันกลางวันได้ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การปล่อยให้หัวว่างระหว่างวัน หรือการพบเจอสิ่งเร้าที่ทำให้คุณนึกถึงเรื่องราวบางอย่าง ซึ่งแต่ละคนอาจมีปัจจัยและสิ่งเร้าที่ต่างกันออกไป

ในส่วนของการรักษา เนื่องจากว่าโรคดังกล่าวยังไม่ได้รับการยอมรับในฐานะของอาการป่วย จึงยังไม่มีวิธีรักษาหรือตัวยาที่ใช้กับโรคนี้แบบตายตัว แต่ก็สามารถป้องกัน/บรรเทาได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

1) การจดบันทึก จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในชุมชนออนไลน์ พบว่าหนึ่งในวิธียอดฮิตที่สามารถบรรเทาอาการฝันกลางวันได้อย่างดี ก็คือการจดบันทึกสิ่งที่เราหรือฝันลงไปซะ เพราะการกลั่นสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาเป็นตัวอักษร นอกจากจะทำให้คุณเห็นและรู้เท่าทันความคิดของตัวเองแล้ว ยังทำให้คุณจดจ่อและมีสมาธิมากขึ้นอีกด้วย

2) ฝันให้เป็นประโยชน์ ไหนๆ จะใช้จินตนาการทั้งที ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ซะเลย ยิ่งใครที่ทำงานในสายศิลปะหรือการขีดๆ เขียนๆ อยู่แล้ว คุณอาจได้พล็อตเด็ดๆ มาโดยไม่คาดคิดก็เป็นได้

3) หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า หากคุณพบว่าการฝันกลางวันของคุณนั้นไม่ใช่เรื่องสนุกเสมอไป เราขอแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงสิ่งของหรือสถานที่จะทำให้คุณนึกถึงเรื่องราวอันไม่พึงประสงค์ หรือเลี่ยงไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน

4) ตั้งเป้าหมายให้ชัด โฟกัสให้ถูกจุด การใช้ชีวิตอย่างล่องลอย ไร้จุดหมาย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเราหลีกหนีสู่โลกความฝันได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นการตั้งเป้าหมายให้ชัดว่าในแต่ละวันจะทำอะไรบ้าง ก็เป็นทางแก้ที่ดี หรือถ้าคุณว่างจนไม่รู้จะทำอะไร ก็ควรหากิจกรรมสักอย่างทำ เพื่อไม่ให้หัวของคุณว่างจนเกินไป จะได้ไม่ฟุ้งซ่าน

5) หาแนวร่วมในโลกออนไลน์ วิธีนี้จะทำให้คุณได้พบกับคนที่มีอาการเดียวกับคุณ และพร้อมจะแลกเปลี่ยน/ช่วยเหลือคุณในฐานะของคนหัวอกเดียวกัน อย่างน้อยคุณก็จะรู้ว่าตัวเองไม่ได้เผชิญปัญหานี้อยู่คนเดียว ทว่ายังมีอีกเป็นร้อยเป็นพันคน–ทั่วโลก

6) ปรึกษาจิตแพทย์ แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าอาการของคุณหนักหนาเกินกว่าจะเยียวยาด้วยตัวเอง เราแนะนำให้ลองไปปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไป รวมถึงเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่อาจซับซ้อนกว่านั้น

สำหรับใครที่อยากรู้จัก ‘โรคฝันกลางวัน’ ให้มากขึ้นกว่านี้ หรืออยากทดสอบว่าตัวเองมีอาการที่เข้าข่ายหรือไม่ ลองเข้าไปสำรวจกันเล่นๆ ได้ที่ Wild Mild Network และ Quibblo

 

อ่านเพิ่มเติม

– บทความ ‘Maladaptive Daydreaming – What is it?’ จาก Medical Daily

– บทความ ‘When daydreaming replaces real life’ จาก The Atlantic

– งานวิจัย ‘Maladaptive Daydreaming : A Qualitative Inquiry’ โดย Eli Somer

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save