fbpx
ตายในคุก: รัฐ-ประหาร ใบสั่งตายของอำนาจนิยม?

ตายในคุก: รัฐ-ประหาร ใบสั่งตายของอำนาจนิยม?

หากวันหนึ่งคุณจะต้องตาย คุณจะเลือกตายที่ไหน?

คำตอบที่ได้อาจจะมีหลากหลาย ก็ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของแต่ละบุคคล

แต่ถ้าถามว่า สถานที่ไหนที่คุณไม่อยากจะตายที่สุด คำตอบที่จะผุดขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ คงเป็น ‘คุก’ อย่างแน่นอน

แน่นอน คนส่วนใหญ่สามารถหลีกเลี่ยงการตายในคุกได้ แต่มีเพื่อนมนุษย์ของเราจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถหนีชะตากรรมนี้

การตายในคุกมักจะนำเราไปสู่ข้อกังขามากมาย ส่วนหนึ่งเพราะว่า คุกเป็นสถานที่ปิด และมีน้อยคนนักที่จะรู้ความเป็นไปต่างๆ ภายใน การตายในคุกที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจึงมักถูกตั้งคำถามว่า มันเป็นไปโดยธรรมชาติหรือเปล่า

วันนี้จึงจะพาไปดูว่า การตายในคุกนั้นเป็นอย่างไร มีรูปแบบอย่างไร และสะท้อนอะไรต่อสังคมได้บ้าง

 

ผู้ชนะรางวัลโนเบลที่ตายในคุก

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวทั่วโลกได้รายงานข่าวการเสียชีวิตในคุกของหลิวเสี่ยวโป (Liu Xiaobo) วัย 61 ปี ความน่าสนใจของเคสนี้คือ เขาเป็นนักกิจกรรมและนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยชาวจีน และผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2010

หลายคนสงสัยกันว่า การตายของเขาเป็นความจงใจของรัฐบาลจีนหรือเปล่า ส่วนหนึ่งเพราะว่าเขาเป็นผู้ต่อต้านรัฐบาลจีนที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลเองก็พยายามหาโอกาสกำจัดเขาอยู่เสมอ

ในด้านความเคลื่อนไหวในการต่อต้านรัฐบาล หลิวเสี่ยวโป มีส่วนร่วมในทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลมา 30 ปี โดยเหตุการณ์แรกๆ ที่เขามีส่วนร่วม คือ เหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในปี 1989 ถึงแม้ว่าเขาจะสามารถเอาชีวิตรอดมาจากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับการจำคุกถึง 21 เดือน

ถึงกระนั้น หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว เขาก็พยายามต่อต้านรัฐบาลจีนผ่านการร่วมกิจกรรมและการเขียนบทความทางวิชาการเพื่อให้รัฐบาลปฏิรูปการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอีกหลายครั้ง จนกระทั่งถูกจับอีกครั้งในปี 1996 จากนั้นอีก 3 ปี ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาอีกครั้ง

หลังจากนั้น เขากลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง จนอาจกล่าวได้ว่า เขาน่าจะเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองในประเทศจีนที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลจีนที่น่านับถือที่สุดในช่วง 100 ปีเลยก็ว่าได้ เขาโดนจับอีกครั้งในปี 2009 คราวนี้เขาต้องโทษนานถึง 11 ปี

ในช่วงปีที่ผ่านมา สุขภาพของหลิวเสี่ยวโปเริ่มทรุดลง เนื่องจากอาการมะเร็งกำเริบ เขาพยายามขอร้องให้รัฐบาลจีนส่งเขาไปรักษาในต่างประเทศ แต่ก็ไร้ผล และแม้กระทั่งนักวิชาการรวมถึงรัฐบาลในประเทศตะวันตกจะเรียกร้องให้ย้ายเขาไปรักษาในสถานพยาบาลที่เหมาะสม รัฐบาลจีนก็ยังปฏิเสธอยู่ดี จนกระทั่งอาการทรุดลงเรื่อยๆ ในที่สุดเขาก็ได้เสียชีวิตในคุกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

การเสียชีวิตในคุกของหลิวเสี่ยวโปไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ในตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีการตายในคุกหลายครั้ง ที่น่าสนใจก็คือ คนที่ตายในคุกส่วนใหญ่มักมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่มีชื่อสียง จึงมักถูกปิดข่าว มีจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะตกเป็นข่าว ตัวอย่างเช่น การตายอันน่าฉงนของนาย Lei Yang อายุ 29 ปี ซึ่งเขาถือเป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคนสำคัญของประเทศจีน (หลายคนเชื่อว่าเขาน่าจะถูกซ้อมจนตาย เพราะโดยปรกติสุขภาพของเขาแข็งแรงมาก)

 

ความไม่ชอบมาพากลของการตายในคุก

การตายในคุกไม่ได้เกิดที่จีนที่เดียว

ในอียิปต์ ช่วงปี 2011-2014 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตย (แต่ในความเป็นจริง นักวิชาการหลายคนเห็นว่าอียิปต์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่วนเวียนอยู่กับระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยม) รัฐบาลได้พยายามจัดระบอบการปกครองใหม่ ด้วยการดำเนินคดีกับผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย

ในเวลานั้น มีคนที่ต้องติดคุกด้วยคำสั่งรัฐบาลหลายพันคน และภายใน 3 ปี ก็มีรายงานออกมาว่ามีผู้เสียชีวิตในคุกขั้นต่ำ 100 คน ซึ่งจากการตรวจสอบของภาคประชาสังคมก็พบอีกว่า ศพของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักจะอยู่ในสภาพที่ไม่ได้เกิดจาก ‘การตายแบบธรรมชาติ’ เช่นบางรายมีเลือดออกจากปาก หรือในช่องอก บางรายก็หน้าตาบวมผิดปรกติ บางรายก็ถึงขั้นมีรอยถลอกปอกเปิกตามทั่วร่างกาย

อีกประเทศหนึ่งที่เกิดการตายในคุกมากอย่างน่าตกใจก็คือ ประเทศรัสเซีย

จากรายงานข่าวปี 2015 พบว่าเพียงปีเดียว มีการตายในคุกถึงเกิดขึ้นถึง 200 ครั้ง ในประเทศรัสเซีย โดยในจำนวนนี้ เป็นชายมากถึง 183 คน และในด้านสาเหตุการตาย พบว่ารายงานจากทางรัฐบาล มักจะเขียนว่า มักจะตายจากสาเหตุ ‘สภาพแวดล้อมปริศนา’ (unknown circumstance)

พูดอีกอย่างก็คือ บอกไม่ได้ว่าตายด้วยอะไรนั่นเอง กับ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ในจำนวนนี้ เป็นการตายที่เกิดจากการฆ่าตัวตายถึง 60 ราย

 

อำนาจนิยมกับการตายในคุก

การตายในคุกในแต่ละประเทศก็จะมีลักษณะการตายที่แตกต่างกันไปทั้งในแง่ของรูปแบบ ปริมาณ และความน่าสงสัย

Amnesty International ชี้ว่า การตายในคุกสุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการทำลายหลักการสิทธิมนุษยชน เพราะความเป็นไปภายในคุกนั้นมักปิดลับ ไร้ความโปร่งใส จึงทำให้ระบุได้ยากว่าการตายของนักโทษนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุธรรมชาติหรือไม่

ทั้งนี้ Amnesty International บอกว่าหากต้องการดูว่าการตายในคุกกรณีใดจะกระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชน ให้ดูว่าการตายนั้นเป็นผลจากการฆ่าตัดตอนหรือไม่ สภาพศพของผู้ต้องขังได้รับการทรมานมาบ้างไหม สาเหตุการตายเป็นผลมาจากการขาดการดูแลด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมหรือเปล่า หรือการตายนั้นเกิดมาจากการใช้กำลังเกินเหตุของเจ้าหน้าที่หรือไม่

อย่างไรก็ดี การจะหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามข้างต้นก็ใช่ว่าจะง่ายเสมอไป เพราะบางครั้งรัฐบาลก็มักไม่ปล่อยข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพภายในเรือนจำและศพของผู้เสียชีวิตให้สื่อหรือประชาชนทั่วไปได้รับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นข้อมูลการตายที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ

Amnesty International ได้พยายามหาแบบแผนของของการตายในคุกที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่าเป็นอย่างไร และพบว่า คนกลุ่มที่มักจะตายในคุกแบบผิดธรรมชาติมักจะเป็นผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล หรือกลุ่มคนชาติพันธุ์ (ชนกลุ่มน้อย) ในส่วนของสถานการณ์ที่เอื้อให้เกิดการตายประเภทนี้ พบว่าการตายในคุกมักเกิดในช่วงที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน การประท้วง หรือการเลือกตั้ง และสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการตายในคุกก็คือ แผลจากการถูกยิง กรอกน้ำมัน การทรมาน และการขาดแคลนยา หรือการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม

สิ่งที่น่าสนใจกว่านี้ก็คือว่า การตายในคุกที่ผิดธรรมชาตินั้น มักเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีลักษณะการปกครองแบบอำนาจนิยม (Authoritarianism) เช่น ประเทศในเอเชียตะวันออกอย่างจีน เกาหลีเหนือ หรือประเทศกลุ่มตะวันออกกลางอย่าง อียิปต์ หรือซีเรียเป็นตัวอย่าง โดยเหยื่อส่วนมากก็คือ กลุ่มคนที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลอำนาจนิยม ส่วนรูปแบบของการตายจะอยู่ในรูปแบบที่เป็นการตายอันเกิดจากการทรมาน

นักสิทธิมนุษยชนหลายคนลงความเห็นว่า ยิ่งประเทศมีบรรยากาศอำนาจนิยมสูง เป็นต้นว่า ตัวผู้นำมีลักษณะเผด็จการ การบริหารของราชการไร้ความโปร่งใส รวมถึงสื่อถูกปิดปาก ความเสี่ยงที่จะเกิดการตายในคุกอย่างผิดธรรมชาติก็จะเกิดมากขึ้น เพราะรัฐบาลอำนาจนิยมมักใช้กฎหมายในการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง และใช้ช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรมในการในการกระชับอำนาจทางการเมืองของตน

ซึ่งผลที่ได้ก็คือ ผู้ต้องขังที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างมักจะถูกทรมานจนบาดเจ็บ บางรายก็อาจถึงขั้นเสียชีวิต

โดยส่วนมาก รัฐบาลอำนาจนิยมมักใช้การทรมานผู้ต้องขังแบบปิดลับเป็นหลัก เพื่อไม่ให้สื่อรับรู้ จนประชาชนเกิดความกลัวและไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ การฆาตกรรมผู้ต้องขังก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์ทางการเมืองอาจเป็นไปในทางที่รัฐบาลไม่ต้องการ รัฐบาลอาจต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ และวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับรัฐบาลอำนาจนิยมก็คือ ‘การสร้างความกลัว’ การฆาตกรรมผู้ต้องขัง (ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล) ในคุกจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

 

ในแง่นี้ การตายในคุกจึงสามารถสะท้อนสถานการณ์ของสังคมได้หลาย อย่าง กล่าวคือ นอกจากบอกว่ารัฐบาลไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน (ที่ช่วยคุ้มครองความเป็นคนของประชาชนจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐบาล) แล้ว หากการตายในคุกมีปริมาณมาก ก็อาจหมายความว่ารัฐบาล (อำนาจนิยม) กำลังพยายามสร้างความกลัว และสื่อสารอะไรบางอย่างกับสังคมอยุ่ก็ได้

ดังนั้น โจทย์สำคัญคือ เราจะลด ‘การตายในคุกที่ผิดปรกติ’ ได้อย่างไร

 

เอกสารอ้างอิง

ข่าว China: Democratic Voice Liu Xiaobo Dies in Custody โดย Human Rights Watch

ข่าว 200 people died in Russian police custody in 2015 โดย the Guardian

ข่าว Egypt: Rash of Deaths in Custody โดย Human Rights Watch

ข่าว Chinese Man’s Death in Custody Prompts Suspicion of Police Brutality โดย New York Times

รายงานเรื่อง Monitoring and Investigating Death in Custody โดย Amnesty International and CODESRIA

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save