fbpx

Life : Editor’s Note “Summer Issue”

ฤดูร้อนของแต่ละคนมีความหมายต่างกัน

สำหรับบางคน เมื่อต้นหูกวางปลิดใบจนใกล้หมดต้น ก็ถึงเวลาร่ำลากับเพื่อนๆ เพื่อที่ต่างคนต่างจะแยกย้ายไปใช้ชีวิตนอกโรงเรียนในยามปิดเทอมใหญ่

สำหรับอีกบางคน ฤดูร้อนหมายถึงกิจกรรมกลางแจ้ง หมายถึงการปล่อยให้เวลาไหลเอื่อยไปอ้อยอิ่ง จมจ่อมอยู่ริมลำธารหรือผืนทะเล และเรียนรู้ศิลปะแห่งการไม่ทำอะไร

สำหรับบางคน ฤดูร้อนคือการหลบแดดแผดเผาอยู่ในบ้าน ใช้ช่วงวันหยุดยาวอยู่กับครอบครัว ทำอาหารกินกัน ร้องเพลงแห่งวันหยุดในแบบที่ไม่เคยได้ร้องมาตลอดปี

แต่ไม่ว่ารูปแบบของฤดูร้อนจะหลากหลายเพียงใด เรื่องหนึ่งที่หลายคนน่าจะเห็นพ้องต้องกัน ก็คือฤดูร้อนมีนัยแห่งความแช่มช้า การหยุดพัก อาจเพราะร่างกายของเราอ่อนล้าลงเมื่ออากาศร้อนขึ้น

เคยมีคนทำสำรวจพบว่าในที่ที่ร้อน (เช่นฟลอริดาในฤดูร้อน ซึ่งอากาศจะร้อนเหมือนบ้านเรา หรือในบางคราวก็ร้อนกว่า) ผู้คนจะ ‘ตัดสินใจ’ ทำสิ่งต่างๆ ได้ยากกว่าเมื่ออยู่ในฤดูหนาว ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะสมองของเราก็คือ ‘อวัยวะ’ อย่างหนึ่ง และอวัยวะก็ย่อมต้องการพลังงานเหมือนอวัยวะทั้งหลาย

แล้วถ้าถามว่า ร่างกายได้พลังงานจากไหน คำตอบพื้นฐานที่สุดก็คือจากน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวอย่างกลูโคส ซึ่งเป็นผลผลิตจากการย่อย ไม่ว่าเราจะทำอะไร กลูโคสจะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญเสมอ เราใช้กลูโคสตั้งแต่การเดิน พูด หายใจ แต่ที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงก็คือ กระทั่ง ‘การคิด’ เราก็ต้องใช้กลูโคสด้วยเหมือนกัน เพราะการคิดหรือการทำงานของสมองนั้นใช้พลังงาน และใช้พลังงานไม่น้อยด้วย

สิ่งหนึ่งที่ร่างกายของเราต้องทำก็คือการรักษาอุณหภูมิให้คงที่ ถ้าอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เช่น เย็นเกินไปหรือร้อนเกินไป สิ่งที่ร่างกายของเราต้องทำก็คือการ ‘ใช้พลังงาน’ เพื่อรักษาอุณหภูมิ

เรามักคิดว่าเวลาอากาศเย็นๆ ร่างกายจะใช้พลังงานเพื่อรักษาอุณหภูมิให้อุ่นมากกว่าเวลาอากาศร้อน แต่ที่จริงแล้วผิดนะครับ เพราะการจัดการกับความร้อนส่วนเกิน (คือการทำให้ร่างกายเย็นลง) เป็นเรื่องที่ใช้พลังงานมากกว่าการทำให้ร่างกายอบอุ่น

ด้วยเหตุนี้ เวลาอากาศร้อนๆ เราจึงสูญเสียพลังงานออกไปมากกว่าเวลาอากาศหนาวเย็น เมื่อร่างกายใช้พลังงานมาก แปลว่าต้องใช้กลูโคสมากด้วย ดังนั้น กลูโคสที่เคยต้องไปหล่อเลี้ยงสมองในกระบวนการคิด จึงมีน้อยลง ผลลัพธ์ก็คือ ในที่ร้อนๆ (หรือในฤดูร้อน) มนุษย์เราจะ ‘เซื่องซึมทางความคิด’ มากกว่าเวลาอากาศหนาวๆ นั่นทำให้กระบวนการตัดสินใจหรือที่เรียกว่า Decision Making เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าเวลาอากาศหนาว (หรือที่ดีกว่าก็คืออากาศปกติ ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป)

มีการทำวิจัยเรื่องนี้หลายรูปแบบ เช่นสำรวจการตัดสินใจซื้อขายของในหลายที่หลายแบบ พบว่าถ้า ‘ตัวเลือก’ ในการซื้อของมีมาก ยอดขายจะตกลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เป็นต้น แต่ตัวเลขอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นเป็นตัวเลขของฝรั่งนะครับ คือเขาบอกว่าอุณหภูมิที่คนเราจะสบายเนื้อสบายตัวที่สุด อยู่ที่ราว 22 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นไปถึง 25 องศาเซลเซียส ก็จะเริ่มมีผลต่อความสามารถในการตัดสินใจแล้ว

อย่างไรก็ตาม คนแต่ละท้องถิ่นจะมี ‘ความไว’ ต่ออุณหภูมิแตกต่างกันนะครับ เช่น 25 องศาเซลเซียสนี่ อาจมีผลต่อคนตะวันตกในถิ่นหนาวแล้ว แต่ถ้าเป็นคนในเขตร้อน อาจคุ้นชินกับอุณหภูมิที่สูงกว่านั้น ดังนั้นตัวขีดจำกัด (Threshold) ที่จะส่งผลต่อการทำงานของสมองก็จะต่างกันไปด้วย

ฤดูร้อนของแต่ละคนจึงมี ‘ความหมาย’ ต่างกัน ทั้งความหมายที่อยู่ในใจ และความหมายของความร้อนที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย

 

ขอให้มีความสุขกับฤดูร้อนนี้นะครับ

MOST READ

editor's note

9 Mar 2022

‘นโยบายสาธารณะ’ ไทยในโลกใหม่: เปิดตัว ‘101 PUB’ – 101 Public Policy Think Tank

101 เปิดตัว 101 PUB ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทำงานบนฐานวิชาการ การพัฒนา และประชาธิปไตย

ปกป้อง จันวิทย์

9 Mar 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save