fbpx
ภาษีลาเต้กับแก้วกระดาษเจ้าปัญหา

ภาษีลาเต้กับแก้วกระดาษเจ้าปัญหา

กรณิศ ตันอังสนากุล เรื่อง

 

เมื่อปีที่ผ่านมามีการถกเถียงกันอย่างจริงจังเรื่องแก้วกระดาษเจ้าปัญหาในสหราชอาณาจักร  แก้วที่ว่านี้ก็คือแก้วใส่กาแฟที่ทำจากกระดาษแบบเดียวกับที่เป็นภาชนะบรรจุกาแฟร้อนเมื่อเราสั่งแบบ to go นั่นเอง

การศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่าตั้งแต่เริ่มศตวรรณที่ 21 หรือไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมานี้ จำนวนร้านกาแฟเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า และกาแฟแบบที่เราสามารถซื้อกลับบ้านได้ก็มีวางขายอยู่ทั่วทุกที่ ทั้งในร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมัน ทำให้แก้วกาแฟประเภทนี้กลายเป็นขยะกว่า 2.5 พันล้านชิ้นต่อปี อันที่จริงแล้วชาวอังกฤษมิได้เพิกเฉยกับการสร้างขยะ ทั้งยังให้ความสำคัญกับการลดขยะมากทีเดียว แต่เหตุที่แก้วกระดาษกลายเป็นขยะมหาศาลเป็นเพราะความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสามารถในการย่อยสลายและรีไซเคิลเสียมากกว่า

 

นั่นเป็นเพราะว่าแก้วกระดาษที่มองเผินๆ ก็น่าจะย่อยสลายหรือนำไปรีไซเคิลได้ไม่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์กระดาษอื่นๆ แท้จริงแล้วด้านในของแก้วเคลือบด้วยพลาสติกบางๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติสำหรับการบรรจุเครื่องดื่ม ทำให้จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษในการแยกกระดาษออกจากพลาสติกที่ว่านี้ก่อนนำไปรีไซเคิล ขณะที่ในสหราชอาณาจักรเองมีโรงงานที่สามารถทำได้อยู่เพียงสามแห่งเท่านั้น ทำให้แก้วกระดาษชนิดนี้เกือบทั้งหมดผสมปนเปอยู่ในถังขยะตามท้องถนนและอาคารสำนักงานร่วมกับขยะรอการรีไซเคิลประเภทอื่นๆ ยังไม่รวมถึงหลอดกระดาษที่มีการเคลือบพลาสติก ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคและร้านค้าเข้าใจผิดว่าได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้

การสำรวจผู้บริโภคในปี 2011 พบว่าผู้บริโภค 8 จาก 10 คน มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าแก้วกาแฟที่ทำจากกระดาษนี้ถูกนำไปรีไซเคิล และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มีความตั้งใจที่ดีในการทิ้งแก้วชนิดนี้ลงถังสำหรับขยะรีไซเคิลอีกด้วย จริงอยู่ที่ในทางเทคนิคแล้วแก้วชนิดนี้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่ทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม แก้วเหล่านี้ถูกนำไปรีไซเคิลเพียง 0.25% (หรือจาก 400 มีเพียง 1 แก้วเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล)

ขณะที่ผู้ผลิตกระดาษรีไซเคิลรายหนึ่งให้ความเห็นว่าโรงงานของเขามีศักยภาพในการรีไซเคิลแก้วกระดาษ 500 ล้านแก้วต่อปี แต่ขยะชนิดนี้มิได้ถูกจัดเก็บและลำเลียงมาสู่โรงงานอย่างเหมาะสม จึงนับได้ว่าระบบจัดเก็บคือองค์ประกอบที่ไม่สมบูรณ์ของระบบจัดการขยะนั่นเอง บรรจุภัณฑ์ที่ระบุว่าสามารถรีไซเคิลได้แท้จริงแล้ว จะมีประโยชน์เมื่อถูกจัดเก็บไปสู่สถานที่จัดการขยะที่พร้อมไปด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การโยนแก้วกาแฟลงถังขยะเฉยๆ จึงไม่ช่วยอะไร

ขั้นตอนที่ยากในการรีไซเคิลแก้วกระดาษก็คือการแยกพลาสติกออกจากใยกระดาษ โรงงานส่วนใหญ่มิได้ลงทุนในเครื่องจักรเพื่อแยกเคลือบพลาสติกเป็นการเฉพาะ เนื่องจากแก้วกระดาษนั้นคิดเป็นเพียง 1% ของขยะบรรจุภัณฑ์ในสหราชอาณาจักรเท่านั้น นอกจากนี้โรงงานรีไซเคิลกระดาษทั่วไปมักปฏิเสธบรรจุภัณฑ์ที่ปนเปื้อนอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้นความรู้ในการจัดการขยะเบื้องต้นจึงสำคัญไม่แพ้ระบบการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ

งานวิจัยเมื่อปลายปี 2016 ทดสอบการส่งเสริมการใช้แก้วแบบนำกลับมาใช้ใหม่ พบว่าการเก็บเงินแก้วแบบใช้แล้วทิ้งเพิ่มขึ้น 25 เพนนี (ราวๆ 10-11 บาท) ทำให้มีการใช้แก้วแบบนำกลับมาใช้ใหม่เพิ่มขึ้น ขณะที่การให้ส่วนลดเมื่อนำแก้วไปเอง (ซึ่งเป็นนโยบายที่ร้านกาแฟอย่าง Starbucks และ Costa ใช้อยู่) กลับไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากมายนัก

ผู้บริโภคอย่างเรามักจะอ่อนไหวกับการเสียเงินมากกว่าการได้ส่วนลด ในทางทฤษฎีความทุกข์ใจจากการสูญเสียของสิ่งหนึ่งจะรุนแรงกว่าความสุขใจหากได้ของสิ่งเดียวกันนั้นมาถึงสองเท่า นั่นหมายความว่าหากมีภาษีลาเต้ (Latte levy) เก็บค่าแก้วกาแฟ 25 เพนนีแล้ว ผู้บริโภคจะรู้สึกสูญเสียรุนแรงกว่าการได้รับส่วนลด 25 เพนนี จากการนำแก้วส่วนตัวไปใช้ นอกจากนี้คนเรายังมีความรู้สึกที่ผูกติดกับราคาที่เราคุ้นเคยกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีที่ทำให้เราต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น เราจะใช้ความพยายามเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกสูญเสียจากการจ่ายแพงขึ้น ซึ่งความพยายามนี้จะมากกว่าความพยายามเพื่อจะได้ส่วนลดในจำนวนเดียวกันถึงสองเท่า ด้วยเหตุนี้การเก็บค่าแก้วกระดาษจึงดูจะมีประสิทธิภาพในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ดีกว่าการให้ส่วนลด โดยงานวิจัยเสนอว่าการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีแก้วกระดาษจะช่วยลดปริมาณขยะชนิดนี้ลงได้ถึง 300 ล้านชิ้นต่อปี

นอกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในคณะกรรมการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมจะพยายามผลักดันภาษีลาเต้เพื่อลดขยะ ลดมลภาวะ และตอบสนองกับเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติแล้ว ยังเสนอให้รัฐบาลตั้งเป้าหมายในการรีไซเคิลแก้วกาแฟให้ได้ 100% ภายในปี 2023 หากไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ตามเป้าหมายก็สมควรที่จะยกเลิกการใช้แก้วกระดาษเจ้าปัญหาไปเสียเลย ที่มาของข้อเสนอส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสำเร็จจากการเก็บภาษีค่าถุงพลาสติกเมื่อปี 2015 โดยการเก็บค่าถุงใบละ 5 เพนนี (ประมาณ 2-3 บาท) ทำให้การใช้ถุงพลาสติกลดลงมากกว่า 80%

อย่างไรก็ดี ทั้งภาษีลาเต้และข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้แก้วกระดาษก็ยังไม่ผ่านการเห็นชอบของรัฐบาล ซึ่งภาครัฐให้เหตุผลว่าเป้าหมายที่ดีควรท้าทายแต่เป็นไปได้ การตั้งเป้าหมายรีไซเคิลแก้วกระดาษให้ได้ทั้งหมดคงไม่ใช้เป้าหมายที่จะสามารถทำได้ (ภายในปี 2023) เพราะอย่างไรเสียภาชนะก็ต้องมีการปนเปื้อน ทั้งจากเครื่องดื่มเองหรือจากขยะชนิดอื่นที่รวมกันมา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำไปรีไซเคิล

แม้จะไม่ถูกนำมาบังคับใช้ทางกฎหมาย แต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbucks ประกาศมาตรการจัดการกับแก้วกาแฟที่ว่านี้ โดยจะทดลองเก็บค่าแก้วกระดาษ 5 เพนนี ใน 35 สาขาทั่วกรุงลอนดอนเป็นเวลา 3 เดือน โดยเงินที่ได้จากการเก็บค่าแก้วนี้จะบริหารจัดการโดย Hubbub องค์กรการกุศลเพื่อทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการมาตรการเก็บค่าแก้วนี้ ขณะที่ Starbucks เองได้ใช้มาตรการมอบส่วนลดเมื่อนำแก้วไปเองมานานกว่า 20 ปี แต่กลับสร้างการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก มีผู้บริโภคนำแก้วไปเองไม่ถึง 2%

แม้ว่าแบรนด์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้จะมิใช่ตัวการเพียงแห่งเดียว แต่มักเป็นเป้าหมายของการเรียกร้องรณรงค์อยู่เสมอ

Starbucks ใช้แก้วกาแฟทั้งกระดาษและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั่วโลกคิดเป็น 1% จาก 6 แสนล้านชิ้นต่อปี (หรือ 6 พันล้านแก้ว) ซึ่งเกือบทั้งหมดจบลงที่การฝังกลบหรือปนเปื้อนลงสู่ทะเล Starbucks ประกาศว่ามิได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้ และให้คำมั่นดำเนินการตามเป้าหมายความยั่งยืน ล่าสุดบริษัททุ่มเงิน 10 ล้านดอลลาร์ ร่วมลงทุนกับ Closed Loop Partnersพัฒนาแก้วกาแฟที่สามารถรีไซเคิลได้และย่อยสลายได้ทั้งหมด โดยตั้งเป้านำออกสู่ตลาดภายใน 3 ปี นอกจากนี้ยังสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาวัสดุทำจากพืชที่ย่อยสลายได้มาแทนพลาสติกเคลือบด้านในของแก้วอีกด้วย บริษัทเชื่อว่าการพัฒนาวัสดุบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ และการยกระดับกระบวนการรีไซเคิลและโครงสร้างพื้นฐานจะมีผลกระทบอย่างมากและยาวนานขึ้นเมื่อเทียบกับมาตรการอื่นๆ ที่เสนอเช่นการชาร์จหรือเก็บภาษีในแก้วแบบใช้แล้วทิ้ง

 

ระหว่างนี้ คอกาแฟก็คงต้องช่วยกันลดขยะจากการบริโภคกันไปก่อน เช่นเดียวกับการลดการใช้ถุงพลาสติกและหลอดพลาสติก เพราะหากคนส่วนใหญ่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและบอกเลิกความสัมพันธ์ที่ไม่ยั่งยืนกับพลาสติกใช้แล้วทิ้ง การจะมีหรือไม่มีภาษีลาเต้ก็คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ อีกต่อไป

 

อ้างอิง

https://www.independent.co.uk/news/business/news/starbucks-5p-coffee-cup-charge-public-reaction-latte-levy-video-a8236826.html

https://www.independent.co.uk/news/uk/politics/latte-levy-disposable-coffee-cups-ban-recycling-government-pollution-plastic-a8246246.html

https://www.independent.co.uk/news/business/news/coffee-cup-charge-plastic-bag-fee-to-cut-use-disposable-cardiff-university-study-recycling-a7657401.html

https://qz.com/1173081/the-behavioral-economics-that-explain-why-we-need-a-tax-on-disposable-coffee-cups/

https://www.nytimes.com/2018/01/05/world/europe/uk-coffee-cup-tax.html

https://www.independent.co.uk/environment/disposable-coffee-cups-how-big-problem-environment-landfill-recycling-incinerate-export-rubbish-a8142381.html

https://www.refinery29.com/2018/03/194206/starbucks-recyclable-coffee-cups

https://www.businessgreen.com/bg/news/3023849/starbucks-teams-up-with-hubbub-to-trial-five-pence-cup-charge

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save