fbpx
คัมภีร์

คัมภีร์

[et_pb_section admin_label=”section”][et_pb_row admin_label=”row”][et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text admin_label=”box” background_layout=”light” text_orientation=”left” background_color=”#eaeaea” use_border_color=”off” border_color=”#969696″ border_style=”solid” custom_margin=”|10px||10px” custom_padding=”10px|10px|10px|10px” disabled=”off”]

‘เมื่อเวลามาถึง’ คอลัมน์ใหม่จาก ธิติ มีแต้ม หยิบแง่มุมของบทเพลงและเรื่องราวของศิลปินมาเล่าให้ลูกวัยยังไม่ถึงขวบฟัง คู่ขนานไปกับเรื่องราวของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัว เพื่อน และสังคม ท่ามกลางตำราฮาวทูเลี้ยงเด็กที่มีอยู่จำนวนมาก ผู้เขียนคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราจะลืมตำราพวกนั้น แต่เพลงจะยังบรรเลงอยู่กับพวกเราตลอดไป พบกับคอลัมน์นี้กันได้ทุกวันเสาร์สิ้นเดือน

[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”Text” background_layout=”light” text_orientation=”left” use_border_color=”off” border_color=”#ffffff” border_style=”solid”]

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ตอนที่ “เวลา” (ชื่อของลูก) คลานพลาดตกเตียงหัวโหม่งพื้นกระเบื้องแข็งๆ จนหัวปูด ลูกมีอายุได้ 7 เดือน พ่ออยู่เวียงจันทน์กับน้าเอก ไม่ได้อยู่ดูแลพร้อมกับแม่

พอเห็นข้อความเด้งขึ้นในโทรศัพท์แจ้งข่าวว่าลูกตกเตียง ใบหน้าของแม่ลอยชัดขึ้นมาราวกับโทรศัพท์มีช่องหน้าต่างวิเศษที่โผล่หน้าออกมาได้ มันทั้งซีดเผือดและหวั่นวิตก

อย่างไรก็เข้าใจได้ไม่ยากว่ากะโหลกบางๆ ของเด็ก 7 เดือนมันคงไม่แข็งเหมือนคนอายุ 30 ถ้าหากตกกระแทกกับพื้นจากความสูงเกือบเมตร ก็สุ่มเสี่ยงต่อความพิกลพิการทางสมองหรือไม่ก็นอนเป็นเจ้าหญิงนิทราไปได้

แต่โชคดี พอแม่พาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่าลูกไม่เป็นอะไรมาก ผ่านวันนั้นมายังส่งเสียงอ้อแอ้เรียกแม่ให้เอาเต้าใส่ปากได้ทุกคืน แต่รอยช้ำรอยปูดบนหน้าผากก็กินเวลาไปกว่าสัปดาห์

ไม่มีใครผิด, ลูกก็ไม่ผิดที่คลานไปแบบไม่ดูตาม้าตาเรือว่าหากเลยขอบเตียงไปจะมีหายนะรออยู่

แม่ก็ไม่ผิด เพียงแค่หันหลังให้ชั่ววินาทีเดียว แม่ก็คิดไม่ถึงว่าที่เห็นลูกนอนนิ่งๆ คุยเล่นกับหัวแม่เท้าอยู่อย่างเพลิดเพลิน จู่ๆ จะพลิกตัวเร่งสปีดถึงขอบเตียงได้ไวปานนั้น

ตอนน้าเอกเห็นรูปจากข้อความที่แม่ส่งมาในโทรศัพท์พ่อ มันไม่ถามอะไรให้ต้องออกแรงอธิบาย เวลาแบบนั้น อารมณ์แบบนั้น แค่พยักหน้าและอยู่เป็นเพื่อนกันเงียบๆ ก็ดีถมแล้ว

และโดยไม่ต้องเข้าห้องแลปพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ พ่อคิดว่ากำลังใจเงียบๆ จากมันน่าจะข้ามน้ำโขงไปถึงแม่และลูกได้

เวียงจันทน์, ธันวาคม 2017 น้าเอกชวนพ่อไปดูคอนเสิร์ต Metal Destruction ที่มีมิตรสหายคนลาวจัดขึ้น มีวงดนตรีสายโหดจากลาว จีน ญี่ปุ่น ไทย พร้อมแฟนเพลงต่างคนต่างเดินทางมารับเสียงเพลงอันหนักหน่วง อึกทึก แสบหู บรรยากาศในร้าน Go-Dunk สลัว ทึบทึม แสงไฟสีแดงและน้ำเงินบนคานเพดานร้านสลับกันสาดแสงตามเสียงดนตรีที่รัวเร็วราวกับกระสุนปืนสาดส่ายไปมาในสงคราม

ควันบุหรี่ กลิ่นอับ รอยสัก เบียร์ และอ้วกในคอนเสิร์ต ทั้งหมดทั้งปวงพ่อเรียกรวมๆ ว่ามิตรภาพ มันเร้าใจ สะใจ โดยไม่มีใครบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

คอนเสิร์ต Metal Destruction

คอนเสิร์ต Metal Destruction

น้าเอกพาให้พ่อได้รู้จัก อ้ายโจ้ หรือท้าวสุขคำทัด สุดทิวงหน่อราต ผู้ใหญ่ร่างท้วมเต็มไปด้วยรอยสักทั้งแขนและขา เว้นไว้เฉพาะใบหน้าที่เปื้อนยิ้มและคอยถามไถ่ทุกข์สุขของน้องๆ ที่มาเยือนเวียงจันทน์ตลอดเวลา

อ้ายโจ้เป็นทีมเจ้าภาพก่อตั้งงานนี้และทำให้มีงานต่อเนื่องมากว่า 7 ปี นอกจากถวายใจให้ดนตรีเมทัลถึงขั้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อนที่ลาวยังไม่มีเทป ซีดี และนิตยสารเพลงแนวนี้ขาย ต้องคอยข้ามฝั่งโขงไปฝากแผงหนังสือที่หนองคายให้สั่งซื้อให้และรอคอยราวกับรอคนรักนานแรมเดือนแล้ว อ้ายโจ้มีบ้านเปิดร้านบะหมี่ที่ทำเส้นบะหมี่เอง ร้านอยู่แถวพระธาตุดำ ถ้าลูกได้ไปเวียงจันทน์ คนแรกที่พ่ออยากให้ไปเจอคืออ้ายโจ้ และอย่าลืมชิมบะหมี่เกี๊ยวหมูแดงที่ร้านของเขา

อีกคนที่พ่ออยากให้ลองฟังเพลงของเขา คืออ้ายทูล หรือท้าวทูลวิลัย พิจิตร มือกีตาร์วง Buddhlust ที่เพลงและเสียงร้องของเขาราวกับแผดขึ้นมาจากนรก นิ้วมือของเขาเวลาเล่นอยู่บนคอกีตาร์มันหยุบหยับเหมือนหนวดอ็อกโตปุส

อ้ายทูลเล่าให้พ่อฟังว่าวงเมทัลทั่วโลกส่วนใหญ่เนื้อหาเพลงจะเป็นการปลดปล่อย ระบายอารมณ์สิ่งที่อยู่ในใจ หรือจะว่าขบถก็ใช่

เขาว่าเพลงวงเขาพูดถึงด้านมืดของคนที่นับถือศาสนาพุทธ และด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ “ศาสนาทำให้ผมมีสมาธิ แต่สำหรับหลายคนมักเข้าใจว่าศาสนาคือการทำบุญใส่บาตร เครื่องเซ่นไหว้ พิธีกรรม ชอบเอาศาสนามาบังหน้าเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง”

หลังจากเดินเล่น ดูพระอาทิตย์ตกริมโขง น้าเอกพาพ่อไปตำจอกกับอ้ายผาดี หรือ ท้าวผาดี ลุนทะปันยา นักร้องนำวง Sapphire ตำนานของเฮฟวี่ลาว ที่ได้ยินว่าในยุคที่อ้ายผาดีเริ่มทำเพลงเมื่อช่วงทศวรรษ 80 ภาพลักษณ์แบบชาวร็อคผมยาว ใส่แว่นดำ ไม่ค่อยเป็นที่จะพอใจของรัฐบาลลาวเท่าไหร่เพราะดูเหมือนเป็นการเอาอย่างฝรั่ง

“เมื่อก่อนเวลาเล่นดนตรีในประเทศตัวเอง ต้องรวบผมให้เรียบร้อย เพราะรัฐให้เหตุผลว่าเดี๋ยวจะเป็นแบบอย่างไม่ดีแก่เยาวชน”

ยุคสมัยเคลื่อนผ่าน กาลเวลาไม่หยุดยั้ง วงการร็อคและเมทัลลาวค่อยๆ คลี่คลายจากความเข้มงวดของรัฐบาลลาวมากขึ้น เพราะได้รับการยอมรับจากคนฟังมากขึ้น ไม่มีเหตุผลใดอ้างได้ว่าใครควรฟังเพลงอะไรหรือไม่ควรฟังเพลงอะไร แรงกดดันที่คล้ายจะเป็นน้ำเดือดในกาต้มน้ำก็ค่อยๆ เย็นลง

ท่าวังผา น่าน, มีนาคม 2007 พ่อกับน้าเอกขึ้นเขาไปอาศัยหลับนอนบนภูสันตะวันลับฟ้า ที่ของคนภูไพร หรือครูสมบัติ แก้วทิตย์ มือกีตาร์วงดอนผีบิน สร้างไว้เป็นศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำน่าน

แม้จะเป็นเดือนมีนาฯ กลางวันร้อนแสบจนผิว แต่พอกลางคืนความหนาวเย็นบนนั้นทำให้ต้องผิงไฟและใส่ถุงเท้านอน

ครูสมบัติเคยบอกพ่อว่าสมัยก่อนที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ทำสงคราม กองศพเรียงรายกลายเป็นดินแดนผีล่องลอย ชื่อดอนผีบินก็มาจากเรื่องราวนี้

แต่วันนี้สงครามเปลี่ยนเป็นการทำลายป่า จากสภาพเขาหัวโล้นครูสมบัติกำลังพยายามพลิกฟื้นให้มันกลับมาเขียวครึ้มใหม่อีกครั้ง และบทเพลงของดอนผีบินก็เกิดขึ้นจากบนเขานี้เป็นส่วนใหญ่

พ่ออยากเล่าให้ลูกฟังอย่างสั้นที่สุด วงดอนผีบินออกอัลบั้มแรกปี 36 ขณะนี้มี 7 อัลบั้ม ได้แก่ โลกมืด, เส้นทางสายมรณะ, อุบาทว์ อุบัติ, สองฝากฝั่ง, สัญญาณเยือน, ปรากฏการณ์-ปรากฏกาย และยูโทเปีย

รวมๆ ก็น่าจะประมาณกว่า 80 เพลง พ่อร้องเพลงของดอนผีบินได้ไม่ครบหรอก แต่รับประกันเกิน 50 เพลง โดยเฉพาะเพลงช้า ถึงไม่ต้องร้องก็จำได้ เสียงมันค้างอยู่ที่หู เอะอะปุ๊บปั๊บมาผิวปากท่อนโซโล่ได้เลย

แม้บริบทแวดล้อมคนเขาทำอย่างอื่นกันอยู่ ว่ากันสุดๆ ต่อให้อยู่ในที่อับ ต้องรักษามารยาทห้ามส่งเสียง พ่อก็เนรมิตเสียงขึ้นในโสตได้อยู่ดี เพราะมันติดค้างติดใจ มันรักใคร่นักหนา

ศิลปินเป็นร้อยที่มีเพลงเพราะจริงๆ แต่ก็หลักสิบเท่านั้นที่เสียงมันค้างอยู่ในหูผู้คนเกินทศวรรษ ดอนผีบินพิสูจน์กับพ่อว่าจริง

เพลงดอนผีบินไม่เหมือนนักสนุกเกอร์ที่ถ้าไม่เล่นไม่ซ้อมบ่อยๆ แล้วเหลี่ยมมุมมันเสีย วางแดงดำต่อกันได้ไม่เกินหนึ่งไม้ก็นั่งรอพวกไป แต่เพลงดอนผีบินไม่ได้ฟังมาเป็นปีๆ ได้ยินทีนึงแล้วซาโตริเลย มันไม่ใช่เพลงที่มีแค่ feeling แต่เพลงดอนผีบินมี passion

สมัยที่พ่อบวชเณรอยู่ต่างจังหวัด ก็แอบติดเอาเทปไป 3-4 ม้วน เป็นดอนผีบิน 3 ม้วน อีกม้วนน่าจะของน้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

มาใคร่ครวญดู ที่ท่องสวดอิติปิโสได้ไวคงเพราะเทปดอนผีบินที่ติดไปด้วย ดนตรีมันยิ่งกว่าเสียงพระเข้าโบสถ์สวดปาติโมกข์อีก

เพื่อนเณรที่หนีคดีมาบวชตอนนั้นได้ฟังแล้วสว่างไสว สงบทันตาเห็น เราแอบหลวงพ่อฟังในกุฏิด้วยกัน หูฟังคนละข้าง พอสึกเทปก็ยืดพอดี

ถ้าเป็นเพลงเร็ว ครูสมบัติและสมาชิกที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดทั้งหมด 3 คน ประเคนทั้งเสียงกลอง เบสและกีตาร์ สปีดเร็วจนถ้าหูเป็นเป้านิ่งก็กระจุย ถ้าเป็นเพลงช้าก็ได้ยินเสียงน้ำเสียงลม เมโลดี้กีตาร์มันระยิบระยับจับเกล็ดเลือด เนื้อหาเพลงทั้งหมดครูสมบัติเป็นคนเขียน ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และปรัชญา

ลูกอาจไม่เชื่อว่าคนอย่างครูสมบัติที่สร้างเสียงอันป่าเถื่อนนี้ จะเป็นครูสอนศิลปะเด็กๆ บนเขา บางครั้งยังมีผ้าขาวม้ามัดเอว จับจอบจับเสียมปลูกพืชผักปลอดสารกินเอง สารภาพตรงๆ พ่อว่าครูแกเป็นคนโรแมนติกที่สุดคนหนึ่ง

“เวลาแหงนหน้าขึ้นไปบนฟ้า เราอาจจะเห็นลายแทงขุมทรัพย์ของตัวเอง มันคือแดนดินทิพย์” ครูสมบัติเคยบอกพ่อไว้

สารภาพตรงนี้ หลายครั้งหลายช่วงที่แม่ไปทำกับข้าวให้ลูกในครัว พ่อแอบเปิดเพลงบรรเลงของดอนผีบินให้ลูกฟัง ลูกก็หลับได้ปกติดี

ส่วนน้าเอกกับพ่อดูเหมือนจะเชื่อมร้อยกันด้วยเพลงแนวที่พ่อเล่าให้ลูกฟัง มันพาให้พ่อได้เดินทาง และเสมือนเป็นคัมภีร์ติดตัวไว้ใช้ยามคืนเงียบสงัดเข้ากุมดวงใจ

น้าเอกเป็นคนอำเภอยีงอ นราธิวาส เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เราชอบฟังเพลงด้วยกันทั้งคู่

วันที่ลูกโตขึ้น หากลูกอยากเดินป่าขึ้นเขา พ่อกับน้าเอกจะพาไปภูสันตะวันลับฟ้า

ส่วนคัมภีร์นั้น ถ้าพ่อเผลอหยิบยื่นให้ในอนาคตแล้วลูกไม่ชอบใจ ลูกสามารถฉีกทิ้งได้ พ่อเชื่อว่าลูกคงพบคัมภีร์เป็นของตัวเอง

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save