fbpx
นวันที่เธอไม่ถูก ‘ล่า’ : ทราย เจริญปุระ ย้อนมอง #ล่า2017 ในอีก 23 ปีต่อมา

ในวันที่เธอไม่ถูก ‘ล่า’ : ทราย เจริญปุระ ย้อนมอง #ล่า2017 ในอีก 23 ปีต่อมา

รุ่งรวิน แสงสิงห์ เรื่อง
คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

ละครเรื่อง ‘ล่า’ ทำให้ประโยค ‘ความพยาบาทเป็นของหวาน’ กลับมาติดหูคนดูอีกครั้งหนึ่ง

23 ปีที่แล้ว ทราย เจริญปุระ เริ่มต้นเส้นทางในวงการบันเทิงด้วยการรับบทเป็น ผึ้ง ลูกสาวคนเดียวของมธุสรที่ถูกข่มขืนจนมีปัญหาทางจิตขั้นร้ายแรง และเป็นเหตุให้มธุสรต้องเริ่มออกล่าในละครเวอร์ชั่นก่อน

เมื่อมีข่าวว่าจะมีการนำละครเรื่องนี้กลับมาทำใหม่อีกครั้ง ชื่อของทรายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ผู้ชมอยากให้เธอเปลี่ยนบทบาทมารับบทเป็นมธุสรเช่นเดียวกับนักแสดงตัวแม่อีกหลายคน

ทรายในวันนี้ที่ไม่ได้เป็นทั้งมธุสรและน้องผึ้งจะมอง ล่า เปลี่ยนไปอย่างไร และจะอธิบายบทบาทของละครเรื่องนี้ในสายตาคนนอกอย่างไร

นี่คือคำตอบของเธอ ในอีก 23 ปีให้หลัง

 

ทราย เจริญปุระ

ในฐานะที่คุณเคยรับบทเป็นตัวละครหลักเมื่อเวอร์ชั่นก่อน มองการล่าครั้งนี้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ก็มีความเปลี่ยนแปลงบ้างนะ ทีมงานก็ดูจะทำการบ้านมาหนักในเรื่องนักจิตวิทยา กฎหมาย ครอบครัว มีเรื่องของโซเชียลมีเดียด้วย แต่แน่นอนว่าช่องโหว่มันก็ยังมีอยู่ เพราะเรื่องนี้มันเป็นเรื่องแฟนตาซี มันเป็นการลุกขึ้นมาต่อสู้ของผู้หญิงในโลกของผู้ชายที่ข่มขืนเธอ มันเป็นการต่อสู้กับอะไรบางอย่าง

ซึ่งในเรื่องเราเห็นว่ามันผ่านการพูดซ้ำๆ ผ่านกระบวนการมาทุกอย่างแล้ว จนมธุสรไม่เหลือความเชื่อใจอะไรในระบบแล้ว แต่ยุคนี้เราก็ไม่แน่ใจ ว่ากฎหมายมันเป็นยังไงนะ คงเปลี่ยนรายละเอียดเพื่อให้เรื่องมันดูจริงขึ้น แต่ขณะเดียวกันตัวเรื่องมันก็ยังแฟนตาซีอยู่โดยพื้นฐาน

สมัยที่คุณเล่น มีกระแสตอบรับแรงแบบครั้งนี้ไหม

มี เพราะทุกคนรู้ว่ามันไม่ถูกต้อง แต่มันฟิน! มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ด้วยแหละ แต่ความเมคเซนส์กับความถูกต้องเป็นคนละเรื่องกันนะ เราต้องแยกให้ออกว่ามันเรื่องแฟนตาซีก่อน ซึ่งทุกคนก็แยกแยะได้พอสมควร อย่างน้อยก็มีการคิดเรื่องระวังตัว แต่สุดท้ายมันก็วกกลับมาเรื่องเบลมเหยื่ออีก

มองการตีความตัวละคร ผึ้ง แตกต่างกันไหมระหว่างทั้งสองเวอร์ชั่น ความยาก ความท้าทายของการแสดงเป็นตัวละครนี้อยู่ตรงไหน

ต้องบอกก่อนกว่า ล่า เป็นผลงานเรื่องแรกในชีวิต ที่ได้เล่นตอน ม.2 เรายังไม่เข้าใจการตีความเท่าไหร่ แต่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของชีวิตที่บัดซบโดยเรื่องย่อของมัน ความกลัวเดียวในตอนนั้น คือกลัวจะเล่นไม่ได้ เพราะทุกคนในเรื่องเป็นมืออาชีพกันหมด

ความยากและความใหม่ในตอนนั้นเป็นเรื่องนี้มากกว่า อย่างการข่มขืนมันก็อยู่คู่มนุษยชาติมาตลอดแหละ มีการตำหนิเหยื่อ ทุกคนจะถามมธุสรว่าบ้านเพื่อนดีๆ ก็มี ทำไมไม่ไปอยู่ ทำไมไม่เคลียร์กับสามีก่อนแล้วย้ายบ้าน ล่า เวอร์ชั่นนี้ก็มีประเด็นคำถามแบบนี้เหมือนกัน

แต่คำถามที่สำคัญคือ ทำไมเราต้องยอมอะไรบางอย่างเพื่อให้มีชีวิตที่ดี ทั้งที่โดยปกติชีวิตมันควรจะมีทางเลือกที่มากกว่านี้

ฉากการล่าของมธุสรครั้งนี้ดูโหดขึ้นมาก ในมุมมองของคุณที่เคยเล่นเป็นเด็กที่ได้รับตุ๊กตาคนตายจากแม่ มองการถ่ายทอดความโหดร้ายนี้อย่างไร

ถ้าเอาตามสัญชาตญาณของของมนุษย์ก็โอเค ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เหมือนกฎหมายฮัมมูราบี มึงข่มขืนกู กูตัดเจี๊ยวมึง แต่การลงโทษกับความสะใจมันคนละเรื่องกัน ในละครมันเป็นเรื่องของความสะใจ เราอาจจะพูดแบบนี้ได้เพราะเราไม่เคยเจอความรุนแรงแบบมธุสร แต่ถ้าวันนึงเราเจอ เราอาจจะอยากตัดเจี๊ยว ทุกคนที่เราเจอก็ได้ แต่เราคงไม่เป็นแบบนั้น

ในวันที่เรามีรัฐ มันก็มีกระบวนการของมันซึ่งเราไม่ควรไปแทรก ตอนที่ทรายเล่นเป็นน้องผึ้งตอนนั้น คือเค้าเป็นบ้าไปแล้ว เค้าตัดขาดจากโลกและไม่ได้เชื่อมโยงกับโลก ซึ่งทุกครั้งที่แม่เอาตุ๊กตามาให้น้องผึ้ง ก็จะมีปฏิกิริยาเหมือนเชื่อมโยงกับโลกนิดนึง ในสายตาคนเป็นแม่ก็รู้สึกว่า วิธีนี้มันทำให้เค้าได้ลูกกลับคืนมา มันทำให้เค้าคิดว่าสิ่งที่ทำมันชอบธรรมแล้ว แต่ในสายตาคนนอกมองเข้าไปมันก็ไม่ถูก

ในฐานะที่เราแสดงละครและต้องเข้าใจตัวละครนั้นๆ มันทำให้เราเข้าใจนะ เพราะบทมันเป็นแบบนั้น เรารู้ว่ามันมีแรงขับเคลื่อนอะไรที่ทำให้มธุสรต้องทำแบบนั้น แต่ในหลักความเป็นจริงมันทำไม่ได้หรอก

แต่ถ้าผึ้งยังพอมีสติและเข้าใจกับสิ่งที่มธุสรทำ คุณจะอธิบายความรู้สึกของเด็กคนนี้อย่างไร

อย่างแรกคงรู้เลยว่าแม่รักเรามาก เรารู้ว่าการทุ่มเทชีวิตจิตวิญญาณของเรื่องพ่อแม่ลูกมันประเมินกันไม่ได้ แต่ว่ามันก็น่ากลัวนะ ถ้าใครทำอะไรให้เรามากๆ นึกภาพพ่อแม่ที่มีคาดหวังกับเรามาก ลูกจะต้องเป็นเจ้าคนนายคนนะ เป็นอาชีพนั้นอาชีพนี้ ต้องเรียนนั่นนี่ มันคือความปรารถนาดี ซึ่งมันเหมือนกันกับการกระทำของมธุสร เพียงแต่เป็นคนละรูปแบบ อย่างน้อยที่สุด แม่ก็รักเราแน่ๆ อันนี้ดีใจ

แต่ถ้าเราเป็นน้องผึ้ง เราคงบอกแม่ว่า พอเถอะ เราย้ายไปอยู่ที่อื่นกัน มันต้องมีใครซักคนที่ควรเริ่ม ซึ่งคนนั้นคือผึ้ง คนเดียวที่จะปลดล็อคเรื่องนี้ได้คือผึ้ง คุณตามฆ่าเค้าได้ เค้าก็ตามมาฆ่าคุณได้เหมือนกัน ชีวิตก็ต้องเดินไปข้างหน้า แต่ว่าในเรื่อง เค้าตัดขาดจากโลกและสื่อสารไม่ได้แล้ว ถ้าผึ้งยังสื่อสารได้ แล้วถามว่าจะหายโกรธมั้ย มันจะกลายเป็นอีกประเด็นโดยสิ้นเชิง

ทราย เจริญปุระ

เราสามารถบอกว่าการกระทำของมธุสรเป็นเรื่องที่ เข้าใจได้ได้หรือเปล่า

เข้าใจได้ ของแบบนี้จะตอบแทนแค่ไหนก็ไม่พอ จะติดคุกหรือถูกประหารมันก็ไม่พอ เรื่องมันเกิดไปแล้วก็คือเกิดไปแล้ว

แต่สิ่งที่เราต้องทำไม่ใช่การบอกให้มธุสรกับผึ้งขังตัวอยู่แต่ในบ้าน แต่ควรจะเป็นการทำให้โลกมันต้องดีขึ้นกว่านี้

การทำละครเพื่อตั้งคำถามว่า ทำไมโลกข้างนอกมันดีไม่พอสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวคนนึงที่จะเลี้ยงลูกให้ดีได้อย่างปลอดภัย อันนี้เป็นคำถามจริงๆ มากกว่า เพราะทุกวันนี้เราต้องยอมรับนะว่า เรามีพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยวเยอะมากในสังคม ซึ่งมันต้องมีระบบที่ดีรองรับด้วย

แล้วสิ่งที่มธุสรทำล่ะ เป็นการทวงคืนความยุติธรรมไหม

ถ้ายังอยู่ยุคสำริดน่ะ ก็ใช่ ก็ยุติธรรม ในยุคที่ไม่มีรัฐไม่มีกฎหมาย ยุติธรรม! (เน้นเสียง) แต่ในวันที่มีรัฐแล้ว คุณต้องไม่ลืมว่า มันเป็นกระบวนการของรัฐ ถ้าทำแบบนี้ จะต้อง [ได้รับการลงโทษ] อย่างนั้น แต่ถ้า [มธุสร] ยังอยู่ในยุคสำริด ก็ฆ่ากัน ถือดาบแทงกัน จบ

ถ้าไม่ทำแบบมธุสร จะมีวิธีจัดการยังไงกับความสิ้นหวังที่เกิดขึ้น

ก็มันสิ้นหวังจริงๆ นี่ สมมติถ้าเราถูกข่มขืน เราต้องนั่งจำหรือเปล่าว่าถูกข่มขืนเขตไหน เพราะตำรวจไม่รับแจ้ง [ข้ามเขต] การอยู่แต่บ้านมันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหานะ ผู้หญิงต้องอยู่แต่บ้านหรอวะ บางครั้งเราไม่ได้ทำอะไรล่อแหลมก็ยังตกเป็นเหยื่อได้ ยายแก่ๆ อยู่แต่บ้านยังโดนก็มี อย่าโทษเหยื่อ

แต่เราอยู่ในสังคมที่ไม่สามารถจัดการกับความสิ้นหวังได้เกิดขึ้นได้ กระบวนการมันไม่ฟังก์ชั่น ผู้หญิงเลยต้องระวังตัวเอง ต้องโดนเบลมจากคนผิด สังคม และระบบ แค่โดนข่มขืนคนก็เริ่มด่า ทำไมไปอยู่บ้านแบบนั้น ก็กลับมาที่ระบบอีก ก็กูไม่มีตังค์ไง เลยต้องไปอยู่บ้านแบบนั้น เราอยู่ในสังคมที่ไม่มีสวัสดิการอะไร รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ที่ที่เราอยู่ไม่ควรถูกเรียกว่ารัฐด้วยซ้ำเพราะไม่มีสวัสดิการอะไร

เราต้องมีที่ไป รัฐต้องมีที่ไปให้เรา ไม่ใช่บีบให้เราต้องไปต่อสู้กลับด้วยตัวเองเหมือนมธุสร ไม่งั้นมันก็เละ เพราะทุกคนต้อง fight back เค้าทำได้ เราก็ทำได้ เหมือนเราจะออกไปซื้อของหน้าบ้านตอนกลางคืน พอออกไป อ้าว ไม่มีไฟถนน ก็น่ากลัวมั้ย นี่เราต้องวัดใจตัวเองขนาดนี้เลยหรอ

ทราย เจริญปุระ

จะพูดว่ารัฐส่งเสริมให้มีกลุ่มคนอย่างแก๊งตัวร้ายในเรื่องได้ไหม

ก็ด้วย มันเป็นส่วนประกอบกัน เราโทษคนใดคนนึงไม่ได้ เราโทษไม่ได้ว่าเพราะคนนี้เป็นคนเลว เห็นว่ามีเหยื่อที่จะทำตัวเลวใส่แล้วก็ไปเลวใส่ได้ ทรายว่าปัญหาแบบนี้มันมีทุกที่บนโลกนั่นแหละ เรื่องทรัพยากรมนุษย์น่ะ เพราะมนุษย์มันมีความหลากหลาย เราไม่สามารถใช้ระบบเดียวเพื่อแก้ปัญหาได้ มันต้องปรับๆ ไป มันต้องมีการปรับปรุงทรัพยากรมนุษย์บ้าง โดยการปรับปรุงก็ไม่ใช่ว่าจะให้ประชาชนทำฝ่ายเดียว รัฐก็ต้องทำบ้าง มันเป็นสิ่งที่เราควรจะได้จากรัฐ เราทำงาน เราเป็นทรัพยากร รัฐต้องให้เราบ้าง เพราะมันเป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้จากรัฐไง

หลายคนบอกว่าหน้าตานักแสดงที่เล่นเป็นแก๊งตัวร้ายดีเกินไป อาจจะเป็นปัญหาหรือเปล่า

ไม่เป็นปัญหาอะไรหรอก เพราเราก็ต้องแคสต์จากนักแสดง ซึ่งนักแสดงก็จะมีหน้าตาที่โดดเด่นกว่าคนอื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม อาจจะด้านขำ ด้านแปลก ด้านหล่อ เราก็แคสต์ตามคาแรคเตอร์ เลยไม่ได้รู้สึกว่าคนหล่อขนาดนี้ จะทำอะไรก็ได้

แต่ก็มีหลายคอมเมนต์ที่บอกว่า ตัวละครหล่อไม่น่าตายเลย

มันก็ย้อนกลับไปไงว่า ทุกคนรู้แหละว่ามันเป็นแฟนตาซี แต่ในความเป็นจริง ต่อให้หล่อขนาดไหนมาข่มขืนเรา เราก็ไม่โอเคอยู่แล้ว ถ้ามองกลับกัน เราแคสต์คนหน้าตาไม่ดี แสดงว่าคนหน้าตาไม่ดีสมควรตายหรอ หน้าตาไม่ดีแล้วยังเหี้ยอีก ทุกคนก็เป็นมนุษย์ ต้องไม่หล่อเหรอถึงควรมาทำอะไรแบบนี้ คนเรามันก็เป็นได้ทุกอย่าง ถ้าเรามองว่ามันเป็นแฟนตาซี เราจะแคสต์ใครมาเล่นก็ได้

มันไม่ได้อยู่ที่หน้าตา มันอยู่ที่ว่าตัวละครมันทำอะไร

ทราย เจริญปุระ

มองตัวละครเซ็นเซย์เวอร์ชั่นนี้เป็นอย่างไรบ้าง

มันก็แฟนตาซีไง คนเรามีนิสัยชอบบริหารจัดการอยู่แล้ว เป็นนิสัยปกติของความเป็นคน เหมือนเวลามีเพื่อนมาถาม ทำอย่างนั่นสิ ทำอย่างนี้สิ ด้วยความเป็นครูในบริบทแบบไทยๆ ของตัวละครเซนเซย์ มันต้องสอน เป็นครูในเชิงคำสั่ง ซึ่งมันก็ไม่ผิด เราก็คุ้นเคย เซนเซย์สั่งมธุสรก็ทำไปสิ มันก็ไม่แปลก ถ้ามธุสรตั้งคำถามกับเซนเซย์ ละครก็จบภายในสองตอนแล้วล่ะ

ในโลกที่คนผิดหวังจากกระบวนยุติธรรม หรือแม้แต่ความยุติธรรมกลายเป็นความอยุติธรรมเสียเอง เราควรอยู่กับมันอย่างไร

ในโลกอุดมคติคือมนุษย์ต้องไม่มุ่งร้ายต่อกัน โลกแห่งความเป็นจริงขึ้นมาอีกนิดนึงคือ คนทำผิดควรได้รับโทษ โลกที่ดีสุดๆ เลยคือ คนที่ทำผิดควรได้รับโทษอย่างยุติธรรม ถามว่ามันเป็นไปได้มั้ย เป็นไปไม่ได้ เพราะความกระหายเลือดของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน บางคนแค่เฆี่ยนยังไม่พอ ต้องตัดมือ บางคนตัดมือก็ยังไม่พอ ต้องไปอีก เรารับมือกับคนอื่นไม่ได้ เราต้องรับมือกับตัวเอง

หลายคนบอกว่าความรุนแรงสะท้อนสังคม จริงๆ แล้วมันสอนและเตือนใจได้จริงรึเปล่า

มันจะเตือนใจได้ในแง่ที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐมันล้มเหลวแล้วจริงๆ ล้มเหลวถึงขนาดทำให้ผู้หญิงคนนึงมาต่อสู้แบบนี้ ต้องสิ้นหนทางขนาดไหน นางป่วยขนาดนี้แต่ก็ยังไม่ได้รักษา สามารถฆ่าคนได้ เพราะรู้ว่าสู้ทางกฎหมายมันไม่ได้ประโยชน์ รัฐมันต้องล้มเหลวขนาดไหน เราต้องปฏิรูปอะไรซักอย่างมั้ย ที่ไม่ใช่ว่า ‘ผู้หญิงต้องไม่กลับบ้านดึก’ มันเป็นคำถาม – คำตอบที่ไม่ถูกต้อง

เราไม่ได้แอนตี้การทำละครสะท้อนสังคม ถ้าคนดูคิดได้ หาปัญหาที่แท้จริงว่ามันคืออะไร อันนี้โอเค แต่ปัญหาคือคนก็จะชินกับวิธีคิดที่ว่า อ๋อ ระบบมันพึ่งไม่ได้ เป็นกูกูก็ทำ

ปัญหาคือความกึ่งจริงกึ่งแฟนตาซีของเรื่องนี้มันจะพาไปเรื่องศาลเตี้ย คนจะรู้สึกว่าความศาลเตี้ยมันพึ่งได้ ซึ่งส่วนตัวทรายไม่ได้มายด์ว่าจะมีหนังที่มีความรุนแรงออกมา แต่คนดูต้องตั้งคำถามต่อไปให้ได้

ล่า สามารถไปไกลได้อีกแค่ไหนในความคิดของคุณ

มันต้องขยี้ลงไปอีก ทั้งความรัดกุม ทั้งความสิ้นหวังของตัวละคร เพราะรัฐมันไม่ฟังก์ชั่น มันล้มเหลว ไม่ใช่ว่า เพราะมธุสรมันเป็นบ้า ในเมื่อมันพังในสถาบันหลักๆ ของเรา ก็ควรไปให้มันสุดไปเลย อย่างเรื่องกฎหมาย เธอไม่มีเงินชั้นไม่ทำให้ ทำให้มันเห็นภาพไปเลย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องจริงที่เราเห็นทั่วไป

หรือให้ตัวละครเข้าถึงทรัพยากรยากขึ้นไปอีก แต่ถ้าจะปรับให้เป็นมธุสรเป็นคนจน ทุกคนก็จะไม่เห็นปัญหา เพราะนี่มันเป็นปัญหาของคนที่มีชีวิตที่ดีไง ว่าคนที่มีชีวิตที่ดีก็มีสิทธิ์เจอกับเรื่องบัดซบพวกนี้ได้ ถ้าเป็นเรื่อง คนชายขอบ คนจน มันก็จะเป็นปัญหาอีกเรื่องไป มันก็จะเห็นภาพ ว่าคนมีชีวิตที่ดีมามีปัญหากับระบบ ชีวิตมันจะ fuck up ได้แค่ไหน

 

ยังอยากรับบทเป็นมธุสรเวอร์ชั่นหน้าอยู่ไหม

เราจะทำล่าอีกกี่รอบก็ได้ มันไม่เป็นปัญหานะ แต่เราต้องรู้ว่ามันคือแฟนตาซี ซึ่งเราต้องมีระบบในชีวิตจริงที่ดีก่อน เราต้องพึ่งระบบได้ก่อนถึงจะแยกออก เพราะถึงตอนนั้นเราจะรู้ว่าละครเรื่องนี้มันแฟนตาซีล้วนๆ

แต่ตอนนี้ เรารู้สึกว่ามันกึ่งแฟนตาซีกึ่งจริง เพราะระบบมันพี่งไม่ได้ เราก็ต้องพึ่งพาตัวเอง เหมือนยุคก็อดฟาเธอร์น่ะ เพราะระบบมันช่วยคุณไม่ได้ แล้วคุณจะต่อสู้ยังไง ถ้ามันจะทำได้คุณต้องถึงพร้อมด้วยทรัพยากรทั้งหมดทั้งมวล ซึ่งถ้ามีอีกเวอร์ชั่นอาจจะต้องสลับกันทุกอย่าง สลับเพศ กลายเป็นเรารุม sexual abuse ผู้ชาย ให้เห็นว่าทุกคนก็มีสิทธิ์ถูกทำร้ายและเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน

ถ้ามันน่าสนใจจริงๆ ก็คงเล่นนะ แต่ถึงตอนนั้นทรายอาจจะต้องเล่นเป็นเซ็นเซย์แทน

ทราย เจริญปุระ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save