fbpx
หวานมันฉันแคร์โลก ไอศกรีมกับความยั่งยืน

หวานมันฉันแคร์โลก ไอศกรีมกับความยั่งยืน

ไอศกรีมน่าจะเป็นของหวานแสนโปรดของคนค่อนโลก ไอศกรีมรสชาติหลากหลายทำจากวัตถุดิบนานาชนิดเลือกได้ตามใจชอบ แต่แล้วเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ของหวานคลายร้อนยอดนิยมชนิดนี้มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร มากน้อยขนาดไหน แล้วจะเลือกกินให้ยั่งยืนได้หรือเปล่า

ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไอศกรีมเองก็สร้างผลกระทบต่อโลกของเราเช่นเดียวกัน หากจะตอบคำถามข้างต้นคงต้องเริ่มจากการย้อนรอยไปดูส่วนผสมของไอศกรีมแต่ละชนิดเสียก่อนว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แล้วกว่าจะมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ การเดินทางของไอศกรีมนั้นยาวไกลและคดเคี้ยวขนาดไหน

แน่นอนว่าวัตถุดิบหลักของไอศกรีมก็คือนม คงจะไม่ใช่ข้อมูลใหม่อะไรที่ว่าตัวการสำคัญของสภาวะโลกร้อนคือก๊าซเรือนกระจกและส่วนหนึ่งก็มาจากวัว ที่เป็นผู้ผลิตก๊าซมีเทนซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยอาหารของมันนั่นเอง มีเทนมีศักยภาพในการทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า ขณะที่ความเกี่ยวพันระหว่างการทำฟาร์มสัตว์และระบบนิเวศนั้นมีความซับซ้อน ทั้งยังขึ้นอยู่กับสถานที่และการจัดการการผลิต

อย่างไรก็ดี การทำฟาร์มปศุสัตว์นั้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติเข้มข้น การเลี้ยงสัตว์เป็นกิจกรรมที่ใช้พื้นที่มากที่สุดกิจกรรมหนึ่งในโลก เมื่อพิจารณาทั้งการใช้พื้นที่เลี้ยงสัตว์และการใช้พื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ (ซึ่งอย่างหลังคิดเป็น 80% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดบนโลก)

นอกจากการวัดรอยเท้าคาร์บอนแล้ว ปริมาณการใช้น้ำก็เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการศึกษาอย่างแพร่หลาย รอยเท้าน้ำ (Water footprint) เป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ถูกกล่าวถึงไม่น้อยสำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ รอยเท้าน้ำคือการวัดปริมาณน้ำที่ใช้ (และน้ำเสียที่ปล่อย) จากการผลิตสินค้าหรือบริการแต่ละชนิด ซึ่งข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ในการวางแผนการจัดการใช้สรรทรัพยากรน้ำและการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ พื้นที่ที่มีน้ำจำกัดยิ่งมีโอกาสเกิดข้อพิพาทการแย่งชิงทรัพยากระหว่างธุรกิจและชุมชน

น้ำเป็นปัจจัยหลักหล่อเลี้ยงกิจกรรมปศุสัตว์ ทั้งการใช้ในการเลี้ยงวัวและปลูกพืชอาหารสัตว์ การศึกษารอยเท้าน้ำในการผลิตอาหารชนิดต่างๆ พบว่าการผลิตไอศกรีม 1 ลูก ใช้น้ำถึง 42 แกลลอน (1 แกลลอนประมาณ 3.79 ลิตร) เทียบกับนมถั่วเหลือง 1 แก้ว ใช้น้ำ 9 แกลลอน นม 1 แก้ว ใช้น้ำ 30 แกลลอน นอกจากนี้ขั้นตอนการผลิตนมสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนโดยรอบ จากการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำและทางเดินน้ำ ก่อให้เกิดมลพิษสู่แหล่งน้ำจากการปล่อยของเสียต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำและน้ำใต้ดิน การจัดการมูลวัวอย่างไม่รับผิดชอบนับเป็นตัวการหลักของน้ำเสียและปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น (eutrophication)

นอกจากนมแล้วไอศกรีมยังประกอบไปด้วยวัตถุดิบนานาชนิดจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล กาแฟ ถั่ว และช็อกโกแลต ส่วนผสมต่างๆ อาจมาจากพื้นที่ที่เป็นบ้านของสัตว์ป่าและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด หนึ่งในวัตถุดิบที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางก็คือน้ำมันปาล์ม วัตถุดิบที่เป็นภัยคุมคามอย่างร้ายกาจต่อป่าฝนเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ทั้งพืชและสัตว์

น้ำมันปาล์ม (palm oil) ไม่ได้ปรากฏเป็นส่วนผสมแค่ในไอศกรีมเท่านัน แต่ยังใช้อย่างแพร่หลายในขนมขบเขี้ยวหลากชนิด ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ปลูกได้ดีในพื้นที่ป่าเขตร้อน ประมาณ 85% ของน้ำมันปาล์มในโลกผลิตจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ป่าฝนในบริเวณนี้ทำหน้าที่กักเก็บก๊าซเรือนกระจกไว้ในดิน และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หายากหลายชนิด เช่น อุรังอุตัง แรด เสือโคร่ง และช้าง การทำลายป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันนอกจากซ้ำเติมภาวะโลกร้อนแล้วยังเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศที่ประเมินค่าไม่ได้ นอกจากนี้การเผาป่าพรุในมาเลเซียและอินโดนีเซียเพื่อนำที่ดินไปปลูกปาล์มน้ำมันยังเป็นที่มาของปัญหาหมอกควันในภูมิภาคและปรากฎเป็นข้อพิพาทกับสิงคโปร์อีกด้วย

น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันพืชที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก

กว่าครึ่งของอาหารที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตมีส่วนประกอบของน้ำมันปาล์ม นอกจากจะถูกนำมาใช้ในการผลิตภัณฑ์อาหารและขนมขบเคี้ยวแล้ว น้ำมันปาล์มยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่พบได้ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาทำความสะอาด และลิปสติก

ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีว่าผู้ผลิตไอศกรีมยักษ์ใหญ่กำลังปรับตัวและปรับปรุงกิจกรรมการผลิตตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การขนส่ง การจัดเก็บ ตลอดจนเร่งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบทางสังคม Ben & Jerry’s ไอศกรีมชื่อดังจากรัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตรายแรกและรายเดียวในปัจจุบันที่ทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment – LCA) เพื่อวางแผนกลยุทธ์ความยั่งยืนที่มุ่งลดรอยเท้านิเวศในทุกด้าน โดยให้เหตุผลว่าบริษัทจะไม่สามารถวางแผนจัดการอะไรได้ หากไม่วัดเสียก่อน

CoClear คือบริษัทที่ได้รับการจัดตั้งเพื่อจัดทำการตรวจสอบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยตั้งแต่ขั้นวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต การขนส่ง และค้าปลีก ของไอศกรีม Ben & Jerry’s 21 รสชาติ โดยหากทราบว่ากิจกรรมใดปล่อยก๊าซในสัดส่วนเท่าไร ก็จะสามารถวางกลยุทธ์จัดการได้อย่างเหมาะสมต่อไป

Ben and Jerry Footprint of your pint life cycle analysis

สิ่งที่ CoClear ค้นพบคือไอศกรีม 1 ไพนท์ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2 ปอนด์ (โดยเฉลี่ยรถยนต์ 4 ที่นั่ง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ปอนด์ต่อการเคลื่อนที่ 1 ไมล์) เมื่อพิจารณาการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละส่วนของการผลิตพบว่า กิจกรรมจัดหาวัตถุดิบรวมถึงการเพาะปลูกและผลิตส่วนผสมคิดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 54% การขนส่ง 17% การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ด้วยการแช่แข็ง 10% ขณะที่ขั้นตอนการผลิตในโรงงานคิดเป็น 7% จากข้อมูลนี้ทำให้ทราบว่ากว่า 40% ของรอยเท้าคาร์บอนมาจากขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบที่เป็นนม ซึ่งรวมถึงการเลี้ยงวัวและส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างพืชอาหารสัตว์

แน่นอนว่าหากต้องการทำให้การผลิตไอศกรีมมีความยั่งยืนขึ้นคงต้องหันกลับไปตั้งต้นที่วัตถุดิบหลักคือนม และมุ่งพัฒนาการทำฟาร์มนมที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

มาที่ฝั่ง Unilever บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีไลน์การผลิตไอศกรีมสายมหาชนอย่าง Wall’s ก็ได้เริ่มกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนในผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม เช่น ในเว็บไซต์ไอศกรีม Magnum ได้บอกเล่าที่มาการเดินทางของช็อกโกแลต ตั้งแต่เมล็ดโกโก้จนมากลายเป็นไอศกรีม from bean to bite โดยเน้นความร่วมมือกับ Rainforest Alliance องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ที่ออกมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าเขตร้อน

ทุกวันนี้ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลรุนแรงต่อพืชพรรณนานาชนิด วัตถุดิบในการปรุงอาหารรวมถึงไอศกรีมที่มาจากพืชเหล่านี้ล้วนประสบความเสี่ยงด้านผลผลิต กาแฟ ช็อกโกแลต หรือถั่วหลากชนิดก็ดี ต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศ

กาแฟซึ่งเป็นพืชที่เจริญเติบโตตามเขตสภาพภูมิอากาศ การที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเพียงแค่ 0.5 องศาสามารถส่งผลต่อปริมาณผลผลิตได้ ความชื้นที่ผันผวนและศัตรูพืชที่เพิ่มปริมาณอันเป็นผลจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงก็เป็นภัยคุกคามที่อันตรายยิ่ง งานวิจัยเมื่อปี 2012 ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้พื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกกาแฟลดลง 65-100%

ช็อกโกแลตก็ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเช่นกัน การศึกษาคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น 2.3 องศาเซลเซียสในแอฟริกาตะวันตกจะทำให้บริเวณดังกล่าวไม่เหมาะแก่การปลูกโกโก้อีกต่อไป รายงานอีกชิ้นระบุว่าการปลูกโกโก้แบบไม่ยั่งยืนในช่วง 4 ศตวรรษที่ผ่านมาได้ใช้ที่ดินที่เหมาะสมแก่การปลูกพืชชนิดนี้ไปแล้วกว่า 40% โดยผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศและอุปสรรคในการปรับปรุงวิถีการเพาะปลูกอาจทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน วัตถุดิบประเภทถั่วอย่างวอลนัทและพิตซาชิโอต้องอาศัยฤดูหนาวในการเจริญเติบโต ฤดูกาลที่ผันผวนและฤดูหนาวที่สั้นลงในพื้นที่เพาะปลูกทำให้ผลผลิตลดลง ขณะที่การย้ายพื้นที่เพราะปลูกทำได้ไม่ง่ายนักเพราะเป็นพืชที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะถึงอายุเก็บเกี่ยวนั่นเอง

ที่ผ่านมาการทำเกษตรกรรมแบบไม่รับผิดชอบและไม่ยั่งยืนเป็นการตอกย้ำและยิ่งทำให้ปัญหาต่างๆ รุนแรงขึ้น ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหาต่างๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็เป็นการจัดการความเสี่ยงด้านวัตถุดิบของบริษัทเอง

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ อาจยังไม่มีคำตอบสั้นๆ สำหรับไอศกรีมสายรักษ์โลก เอาเป็นว่า เราคงต้องติดตามและตรวจสอบความพยายามของผู้ผลิตรายต่างๆ ในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเสาะแสวงหาวัตถุดิบที่ได้มาจากการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

อ้างอิง

A Life Cycle Analysis Study of Some of Our Flavors โดย ben&jerry’s

Who Knew Ben & Jerry’s Could Save the World Through Ice Cream? โดย Renee Farris จาก Triple Pundit

Ben & Jerry’s Flavors We May Lose to Climate Change โดย ben&jerry’s

What is a water footprint? จาก Water Footprint Network

บทความ Methane emissions from cattle are 11% higher than estimated โดย Agence France-Presse จาก The Guardian

Which Everyday Products Contain Palm Oil? จาก World Wild Life (WWF)

Ice cream’s impact on the environment จาก World Wild Life (WWF)

บทความ It Takes HOW Much Water to Make Greek Yogurt?! โดย ALEX PARK AND JULIA LURIE จาก Mother Jones

Livestock and the environment จาก LIVESTOCK IN THE BALANCE THE STATE OF FOOD AND AGRICULTURE 2009

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save