fbpx
I eat, Therefore I am. เมื่อปรัชญามาเจออาหาร

I eat, Therefore I am. เมื่อปรัชญามาเจออาหาร

“ฉันคิดฉันจึงเป็นอยู่” (I think, Therefore I am.) มาจากคำละติน “Cogito ergo sum” คำนี้ใครสนใจปรัชญามักต้องเคยประสบพบเจอ วลีนี้เป็นถ้อยคำของนักปรัชญา เรเน่ เดส์คาร์ต (René Descarte) ผู้ชี้แสดงให้เราเห็นว่า ในท้ายที่สุด หากแม้เราสามารถตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ได้ทั้งหมดดุจผีปีศาจมาหลอกเรา เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเรานั้นมีอยู่ กระนั้นเรามิอาจปฏิเสธ “การสงสัย” ของเรา ซึ่งหมายความว่า เรากำลัง “คิด” และการคิดนั้นช่วยยืนยันการมีอยู่ของเรานั่นเอง

 

แต่ในโลกหลังสมัยใหม่ เราอาจไม่ค่อย “คิด” เพื่อจะยืนยันว่าตัวเรามีอยู่หรือไม่ เพราะเราคงปล่อยให้การค้นหาความจริง (ซึ่งไม่รู้ว่ามีจริงไหม) เป็นหน้าที่ของพวกคนเรียนปรัชญา “I think, Therefore I am.” จึงกลายเป็นคำขวัญเท่ๆ พอให้เอาไปแปลงเป็นอะไรต่อมิอะไรเพื่อที่จะบอกว่า เรา/ฉันมีอยู่เพราะสิ่งเหล่านั้น เช่น I love, Therefore I am. ซึ่งบางครั้งก็ชวนอาเจียนเหลือเกิน

แต่ผู้โปรดปรานในรสอาหาร “กิน” คงเป็นสิ่งยืนยันการมีอยู่ของเขาได้ เพราะหากปราศจากการกินแล้ว ชีวิตจะมีความหมายอะไรเล่า ฉะนั้นถ้อยคำ I eat, Therefore I am. (ซึ่งเดส์คาร์ตไม่เคยกล่าว) คงจะเป็นที่ชมชอบ แต่นี่คงเป็นการกล่าวเกินไปสักหน่อย ราวกับว่าชีวิตมนุษย์จะไร้ความหมายหากปราศจากกิจกรรมที่เรียกว่ากิน และหลงลืมไปว่า มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่มัน “คิด” ได้ ไม่ใช่เพราะมันกินเป็น

ถ้อยคำเกี่ยวกับอาหารที่โด่งดังจริงและมีคนอ้างถึงกว่าวลีอุปโลกน์ข้างบนคือ “You are what you eat” “คุณเป็นอย่างที่คุณกินค่ะ/ครับ” อันแปลงมาจากวลีเยอรมัน “Der Mensch ist, was er ißt.” ของนักปรัชญาในคริสตศตวรรษที่ 19 คือ ฟอยเออร์บาค(Ludwig Andreas Feuerbach) ในงานเขียน “Concerning Spiritualism and Materialism” ของเขา ทว่าวลีเยอรมันนี้มิได้แปลว่า You are what you eat ตรงๆ แต่แปลว่า “man is what he eats” (มนุษย์เป็นอย่างที่เขากิน)

ฟอยเออร์บาคใช้วลีนี้ในความหมายว่า อาหารที่เรากินมีผลต่อทั้งสุขภาพทางกาย-ใจ แต่กว่าถ้อยคำนี้จะปรากฏในภาษาอังกฤษก็ล่วงไปถึงราวปี 1920-30 ซึ่งแนวคิดว่าอาหารมีผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจได้สืบต่อมา และวลีนี้ได้กลายเป็นวลีสำคัญในช่วง “ฮิปปี้” ราวทศวรรษที่ 60 ซึ่งความสนใจในแนวทางโภชนาการใหม่ๆ ปรากฏขึ้น เช่น แนวคิดออร์แกนิค อาหารเพื่อสุขภาพ แมคโครไบโอติก หรือการอดอาหารแบบต่างๆ

แม้ปัจจุบัน วลี “You are what you eat” จะกลายเป็นคำดาษๆ และโผล่ออกมาให้ได้ยินบ้างผ่านรายการโฆษณาขายอาหารเสริมลดความอ้วนหรือคอลัมน์สุขภาพในนิตยสารไลฟ์สไตล์ของชนชั้นกลาง ทว่าสิ่งใหม่กว่านั้นคือการตั้งคำถามเกี่ยวกับอาหารในวงการปรัชญาตะวันตก รวมทั้งประเด็นใหม่ๆ มากกว่าเรื่องโภชนาการส่วนบุคคล เช่น การปันอาหารและความมั่นคงทางอาหาร

เราคงคิดว่าเพื่อนของเราบ้า หากเพื่อนเริ่มตั้งคำถามว่า “อาหารคืออะไร ?” ทว่าในสายตาของนัก/คนเรียน-ปรัชญา คำถามนี้เป็นคำถามขั้น “พื้นฐาน” ที่สำคัญอย่างยิ่ง พอๆ กับการถามว่า “มนุษย์คืออะไร?” “ชีวิตคืออะไร ?”

แม้เราอาจหงุดหงิดเมื่อเจอคำถามที่อาจตอบโดย “สามัญสำนึก” ได้ อย่าง “อาหารก็คืออาหารไงละโว้ย” แต่หลายครั้งสามัญสำนึกไม่ใช่คำตอบหรือให้คำตอบอะไร นอกจากยิ่งจะโยนเราไปในหลุมของความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักปรัชญาตะวันตกโดยเฉพาะสาย “ปรัชญาวิเคราะห์” (Analytical Philosophy)ไม่ชอบอย่างยิ่ง ในเมื่อมนุษย์คิดในกรอบของภาษา หน้าที่ของนักปรัชญาคือทำให้มโนทัศน์และภาษา “กระจ่างและชัดแจ้ง”(clear and distinct) โดยเริ่มต้นจากการแสวงหา “นิยาม” ที่ถูกต้องเสียก่อน

หากถามว่า “อาหารมีนิยามที่ไม่ชัดแจ้งอย่างไร ก็ในเมื่ออาหารมันคือสิ่งที่เรา กิน/ทาน/ยัด/แดก/กระเดือก มันลงไปนั่นแหละ ง่ายๆ แค่นี้” แต่ต้องไม่ลืมว่า เราก็กินทาน/ยัด/แดก/กระเดือกสิ่งที่เราไม่ถือว่ามันเป็นอาหาร เช่น ยา หรือสารเคมีบางชนิดด้วยนี่ และบางครั้งสิ่งที่เราเรียกว่าอาหารเราก็ไม่ได้ “กิน” มัน เช่นการให้อาหารทางเส้นเลือด

หากนิยามเพิ่มเติมไปว่า อาหารคือสิ่งที่ให้คุณค่าทางโภชนาการไงล่ะ แต่พวกเราก็กินสิ่งซึ่งไม่ให้คุณค่าทางโภชนาการอีกมากมิใช่หรือ (ไม่ต้องยกตัวอย่างก็ได้ เพราะส่วนมากในอุตสาหกรรมอาหารล้วนมีของพวกนี้) เราก็ยังเรียกว่าอาหารอยู่ดี

แม้เลื่อนนิยามไปเกี่ยวข้องกับสังคมวัฒนธรรม เช่นอาหารคือสิ่งที่สังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ ถือว่ามันเป็นอาหาร เพราะหากไม่นิยามในกรอบทางสังคมวัฒนธรรมนั้นๆ สิ่งที่เป็นอาหารในบางวัฒนธรรม เช่นสุนัข ก็จะไม่เป็นอาหารในวัฒนธรรมอื่น แต่นิยามเช่นนี้ดูจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็นอาหารและไม่เป็นอาหารพร่าเลือนลงไปอีก

แต่การไม่พบนิยามที่สมบูรณ์แบบก็ไม่ใช่ปัญหาในปรัชญา เมื่อทุกนิยามยังคงตั้งคำถามและมีช่องโหว่ได้ หน้าที่ของเรามีเพียงปรับปรุงมันให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และตั้งคำถามต่อไปอีกอย่างไม่หยุด ความไม่สมบูรณ์แบบของความคิดต่างๆ เป็นเรื่องปกติ บางเรื่องตั้งคำถามกันมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณหลายพันปีแล้ว จนบางครั้งก็เลิกถามจะเพราะขี้เกียจหรือเทรนด์เปลี่ยนก็ตามแต่

นี่เป็นเพียงตัวอย่างขั้นพื้นฐานที่สุดที่ “ปรัชญา” ในฐานะการแสวงหา “ความคิด” พื้นฐานของสิ่งนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับ “อาหาร”

การทำงานของปรัชญาในลักษณะนี้สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็ได้ วิทยาศาสตร์ ศาสนา นิติศาสตร์ อาหาร ดนตรี กฎหมาย แม้แต่เบียร์หรือการ์ตูน (ดังมีภาควิชาปรัชญาแห่งหนึ่ง เปิดรายวิชาเหล่านี้) เพราะสุดท้ายสิ่งเหล่านี้มีก็ต้นกำเนิดก่อเกิดจาก “ความคิด” ซึ่งเป็นเรื่องที่ปรัชญาสนใจและทำงานกับมันโดยตรง

นอกจากการถามคำถามว่า “อาหารคืออะไร” อันเป็นการมุ่งแสวงหาความจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งปรัชญาเรียกพื้นที่นี้ของตัวว่า “Metaphysic” ปรัชญายังตั้งคำถามเกี่ยวกับอาหารในพื้นที่อื่นๆ เช่น เรารับรู้อาหารอย่างไร (ปัญหาทางญานวิทยา) ความอร่อยมีจริงหรือไม่อย่างไร (สุนทรียศาสตร์อาหาร) เราควรกินมังสวิรัติหรือไม่ (จริยศาสตร์อาหาร) เราควรแบ่งปันสรรพยากรอาหารอย่างไร (ปรัชญาสังคมกับอาหาร) รวมทั้งอาหารกับศาสนาและอาหารในมุมมองอื่นๆ

บทความชิ้นเล็กๆ นี้คงมิได้มุ่งหมายที่จะจาระไนเนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวกับอาหารกับปรัชญา เพราะมันคงจะต้องกลายเป็นตำราเขื่องๆ สักเล่ม แต่แค่ต้องการให้เห็นภาพกว้างของปรัชญาที่กำลังเข้าไปเปิดหม้อเปิดกระทะ และทำให้อาหารมิได้กลายเป็นเรื่องที่อยู่บนโต๊ะอาหารแต่เพียงอย่างเดียว

วิชาปรัชญากับอาหาร (Philosophy and Food) ซึ่งเป็นวิชาปรัชญาประยุกต์อันรวมเนื้อหาจากข้างต้นไว้นั้น ฝรั่งเพิ่งจะเปิดสอนกันได้ไม่นาน ส่วนในประเทศไทยคงมีเพียงแค่ภาควิชาปรัชญา ศิลปากร ทับแก้วเท่านั้นที่สอนเป็นที่แรก ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง ตำราหรือหนังสือของวิชานี้ยังไม่ผุดพรายในบรรณพิภพ แต่คงจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

ผู้เขียนเคยคุยกับมิตรสหายในที่ทำงานว่า เราน่าจะจัดชุดวิจัยทางปรัชญาในหัวข้อ “กิน ขี้ ปี้ นอน” เพราะทั้งสี่กิจกรรม “กิน” ที่รวมความถึงการเสพเสวยในมิติต่างๆ “ขี้” หรือแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งไร้ประโยชน์หรือของเสีย “ปี้” กิจกรรมทางเพศและสิ่งที่อยู่ในปริมณฑลของมัน และ “นอน” อันหมายรวมการพักผ่อนและสันทนาการ ล้วนมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่เราประสบในชีวิตประจำวันเสมอ โดยเฉพาะหาก “กิน” กับ “ขี้” และ “ปี้” เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง “เพราะกินจึงขี้ เพราะปี้จึงกิน”

 

แม้บทความจานเล็กๆ นี้เป็นอาหารเรียกน้ำย่อยที่ไม่ค่อยเข้มข้นนัก แต่หวังใจว่าจะชวนให้เกิดอาการ “อยากอาหาร” ซึ่งคงจะได้เสิร์ฟอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในจานถัดไป

Bon Appétit!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save