fbpx
อะไรเป็นตัวการกำหนด ‘ความรัก’ ของมนุษย์บ้าง

อะไรเป็นตัวการกำหนด ‘ความรัก’ ของมนุษย์บ้าง

“ความรักคืออะไร ใครตอบได้ช่วยตอบที”

นี่คือท่อนหนึ่งของเพลง ‘รักทรหด’ จากวงคาราบาว

 

จนถึงตอนนี้ มนุษย์เราก็ยังหาความหมายของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’ ไม่ได้เสียที แน่ล่ะ มันก็มีหลายคนที่พยายามให้ความหมายแก่มันอย่างไม่หยุดหย่อน ทว่าความหมายเหล่านั้นก็ไม่ถูกใจ และรัดกุมเสียที

ดังนั้น การค้นหาว่าความรักคืออะไรก็คงต้องดำเนินต่อไป

แม้มนุษย์จะยังไม่สามารถหาความหมายของความรักได้ แต่พวกเราก็ยังพอค้นหาคำตอบได้ว่า อะไรที่สามารถก่อให้เกิดความรักแก่มนุษย์ได้บ้าง

และเมื่อถามว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้ความรักบังเกิดขึ้น หลายคนอาจจะบอกว่า “ก็พวกเรานั่นแหละ จะเป็นอะไรไปได้อีกล่ะ”

มีแต่เพียงมนุษย์เท่านั้นที่สามารถสร้างสัมพันธภาพระหว่างกันที่เรียกว่าความรักได้ ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เพราะว่าจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ล้วนมาจาก การพบเจอ การสบตา การพูดคุย หรือการตัดสินใจ ทั้งหมดนี้คือกิจกรรมที่กำหนดโดยมนุษย์ทั้งสิ้นนะครับ

แต่ถ้าถามว่า มีเพียงมนุษย์เท่านั้นหรือที่มีส่วนในการกำหนดความรักเท่านั้น?

คำตอบที่ได้ … “ก็คงไม่เสมอไป”

 

ความโรแมนติกกับเส้นลองติจูด

เมื่อปี 2016 William J. Chopik และ Matt Motyl นักวิชาการด้านจิตวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์บทความวิจัยชิ้นหนึ่งออกมา ชื่อว่า “Is Virginia for lovers? Geographic variation in adult attachment orientation” ในบทความนี้ นักวิชาการทั้งสองค้นพบว่า การเกิดขึ้นของความรักนั้นสัมพันธ์กับความหลากหลายของ ‘ภูมิศาสตร์’ ด้วย

ในการทำงานวิจัยชิ้นนี้ นักวิชาการทั้งสองพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายของพื้นที่และความรัก ด้วยการส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างจำนวน 130,000 คน ที่กระจายอยู่ทั่ว 50 มลรัฐทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อถามว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้สึกอย่างไรกับความสัมพันธ์ (ความรัก) ของตนเอง – พูดให้ชัดๆ ก็คือ พวกเขาจะรู้สึก ‘ขาดมันไม่ได้/โหยหา’ หรือ ‘ช่างมัน/ไม่มีมันก็ได้’ กันแน่

หลังจากการเก็บแบบสอบถามและวิเคราะห์ข้อมูลเกือบ 10 ปี ในที่สุดนักวิจัยทั้งสองก็ค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจนั่นคือ รัฐที่มีประชากรรู้สึกว่าขาดความรักไม่ได้หรือโหยหามันมากๆ มักจะอยู่ในภูมิภาคแอตแลนติคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ (รัฐฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก) ส่วนรัฐที่ประชากรไม่ค่อยสนใจความรัก มักจะอยู่ในภูมิภาคที่มีภูเขาเยอะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในส่วนตะวันตกของสหรัฐอเมริกา

ทีมวิจัยได้สังเกตเห็นว่า ความเข้มข้นของความรักนั้นแปรผันกับเส้นลองติจูด (Longitude)

กล่าวคือ ยิ่งรัฐอยู่ไปค่อนทางตะวันออก ก็ยิ่งมีประชากรที่ ‘อิน’ กับความรักมากขึ้น ในทางกลับกัน ยิ่งรัฐวางตัวไปทางตะวันตกของประเทศ ประชากรในรัฐนั้นๆ ก็จะ ‘ไม่อิน’ กับความรักไปเรื่อยๆ แต่ถึงกระนั้น ข้อมูลที่ได้ก็ยังไม่สามารถช่วยไขปริศนา และให้คำอธิบายว่าทำไมความโรแมนติกของแต่ละที่ถึงแตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยทั้งสอง จึงได้ลงลึกไปศึกษาข้อมูลด้านประชากร ไม่ว่าจะเป็น การหย่าร้าง อายุ เพศ การทำงาน ความเห็นทางการเมือง การศึกษา รวมถึงอัตราการตาย ของแต่ละมลรัฐ และนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับผลศึกษาที่พวกแกได้มาในเบื้องต้น โดยหวังว่ามันน่าจะสร้างคำอธิบายที่ดีได้ยิ่งขึ้น

 

อะไรบ้างที่ผลักดันและขัดขวางความโรแมนติก

จากการศึกษาข้อมูลด้านประชากรเพิ่มเติม พบว่ามีหลายปัจจัยที่มีผลต่อความเข้มข้นของความโรแมนติกในหมู่ประชากรของแต่ละรัฐ เรียกปัจจัยอันหลากหลายนี้ว่า ‘ความหลากหลายทางภูมิศาสตร์’ (Geographic Variation) ซึ่งสามารถแยกได้เป็นปัจจัยด้านอุณหภูมิ ด้านภูมิประเทศ ด้านการอยู่ใกล้หรือไกล ด้านการประกอบอาชีพ ด้านระดับการศึกษา ด้านความเหมือนหรือต่างระหว่างประชากร และอื่นๆ (โอ๊ย! เยอะมาก!)

อย่างไรก็ดี ในที่นี้ เราอาจจำแนก ‘ความหลากหลายทางภูมิศาสตร์’ ได้เป็น 2 กลุ่มปัจจัยใหญ่ๆ

 

เริ่มกันที่กลุ่มปัจจัยแรก คือ ‘ความแตกต่างด้านกายภาพ

นักวิจัยทั้งสองเห็นแบบแผนบางประการเกี่ยวกับอุณหภูมิกับการสร้างความสัมพันธ์ในแต่ละรัฐ โดยพวกเขาเชื่อว่า ยิ่งรัฐไหนมีอุณหภูมิที่ต่ำ การสร้างความรักก็จะยากมากขึ้น ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะในสภาพอากาศหนาวๆ การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างคนในชุมชนนั้นเกิดขึ้นน้อย พูดง่ายๆ ก็คือ ต่างคนก็ต่างอยู่ในบ้าน ไม่อยากออกไปไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ใครจะไปพบ ‘คนใหม่ๆ’ และสานความสัมพันธ์กันได้ล่ะ

อย่างไรก็ดี สำหรับเรื่องสภาพอากาศ ในบางครั้ง สภาพอากาศที่รุนแรง (อย่างหนาวหรือร้อนที่สุด – ภัยพิบัติ) ก็อาจสร้างความโรแมนติกได้ด้วยนะครับ ทั้งนี้เพราะในสถานการณ์ดังกล่าว ผู้คนในชุมชนจะต้องออกมารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน ในโอกาสนี้ หนุ่มสาวก็จะได้มีโอกาสพบปะกันอย่างใกล้ชิด

ในเรื่องภูมิประเทศก็เกี่ยวข้องเหมือนกันนะครับ Chopik และ Motyl บอกว่ายิ่งรัฐไหนมีภูเขาปกคลุมอยู่เยอะ ประชากรในรัฐนั้นก็จะดูไกลห่างจากสิ่งที่เรียกว่าความรักมากไปด้วย

เขาคิดว่าน่าจะเป็นเพราะภูเขาทำให้การสัญจรไปมาระหว่างคนในชุมชนหรือจากต่างชุมชนเป็นไปได้ยาก เป็นต้นว่า ชุมชน A อาจจะโดนกั้นด้วยภูเขาลูกหนึ่ง ทำให้ไปมาหาสู่กับชุมชน B ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของภูเขาลำบาก ด้วยเหตุนี้ ชีวิตของผู้คนที่อยู่ในภูมิประเทศแบบนี้ก็จะอยู่แบบโดดเดี่ยว เหงาๆ กันหน่อยนะครับ

 

มาดูในกลุ่มปัจจัยที่สอง มันคือ ‘ความแตกต่างด้านสังคม

เขาพบว่า ในรัฐหรือเมืองไหนมีประชากรที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกัน มีอะไรเหมือนๆ กัน ความรักจะเบิกบานในหมู่ประชากรเหล่านี้อย่างมาก เป็นต้นว่า หากในเมืองหนึ่งๆ มีประชากรที่เป็นอนุรักษ์นิยมกันเกือบทั้งหมด พวกเขาจะรู้สึกเข้าใจกัน และเป็นมิตรต่อกันได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับด้านการศึกษา หากคนในชุมชนจบการศึกษาใกล้ๆ กัน หรือ เรียนจะสาขาวิชาที่คล้ายๆ กัน พวกเขาจะรู้สึกอยากคุย อยากคบหา และสร้างความสัมพันธ์กันง่ายขึ้น – และนี่ก็จะเป็นที่มาของ ‘ความรัก’ ในที่สุด

แต่รัฐที่ประชากรรู้สึกว่าแตกต่างกันมากๆ พวกเขาจะคบหากันได้ยากขึ้น และถ้าเลวร้ายไปกว่านั้น ก็อาจมีความขัดแย้งขึ้นได้ จนเป็นชนวนไปสู่ความเกลียดชังในที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกใจที่ ยิ่งในเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำกันสูงๆ ประชากรจะรู้สึกเกลียดจนไม่มีไมตรีให้กัน ความรักก็พลอยหดแห้งตามไปด้วย แต่ยิ่งถ้าเป็นชุมชนเล็กๆ ก็มักจะมีบรรยากาศโรแมนติกเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ส่วนหนึ่งเพราะประชากรในชุมชนส่วนใหญ่จะมีความแตกต่างกันไม่มากนั่นเอง พวกเขาอาจทำอาชีพใกล้เคียงกัน จบจากโรงเรียนเดียวกัน และอาจมีแนวคิดความเชื่อทางศาสนาหรือการเมืองที่ใกล้เคียงกันอีก

 

แน่ละ ถึงแม้ความรักจะเป็นเรื่องของเราสองคน (หรืออาจจะสาม อาจจะสี่ อาจจะห้าคน) และพวกเราก็ควรเป็นคนกำหนดมัน แต่ในความเป็นจริง เราไม่ได้กำหนดมันอย่างสมบูรณ์

เราอาจจะนึกว่า รักใครเป็นเพราะ ‘เจตจำนงเสรี’ ของเราเอง แต่ลึกๆ แล้ว ความรักของเรากลับถูกบงการจากอะไรบางอย่างล่วงหน้าอย่างที่เราไม่รู้ตัวเลย

เอ๊ะ! นี่หรือเปล่านะ ที่เขาเรียกว่า ‘พรหมลิขิต’

 

เอกสารอ้างอิง

บทความวิจัยเรื่อง Is Virginia for lovers? Geographic variation in adult attachment orientation (2016) โดย William J. Chopik and Matt Motyl ในวารสาร Journal of Research in Personality 66 (2017) 38 – 45

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save