fbpx
จากเมล็ดข้าวถึงแท่งพลาสติก : การเดินทางแสนยาวไกลของ ‘ที่ตรวจการตั้งครรภ์’

จากเมล็ดข้าวถึงแท่งพลาสติก : การเดินทางแสนยาวไกลของ ‘ที่ตรวจการตั้งครรภ์’

สำหรับผู้หญิงในโลกปัจจุบัน วิธีการหาคำตอบว่าพวกเธอตั้งครรภ์ชัวร์หรือมั่วนิ่มไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร แค่เดินออกไปร้านสะดวกซื้อใกล้ๆ สอดส่ายสายตาไปที่ชั้นขายยา แค่นี้ก็ได้ชุดตรวจการตั้งครรภ์ราคาถูกแสนถูกมาเทสต์ให้มั่นใจว่าท้องจริงหรือท้องลม

 

แต่รู้หรือเปล่าว่าวิธีการในการตรวจสอบว่าท้องหรือไม่ท้องไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นมาด้วยวิทยาการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด เพราะถ้าเราลองสืบย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ การตรวจสอบการตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทำกันมาทุกยุค

แม้วิธีการจะต่างออกไปบ้าง แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันไม่ว่าจะยุคไหน คือสารตั้งต้นอย่างของเหลวสีเหลืองที่เข้มข้นไปด้วยฮอร์โมนของความเป็น ‘แม่’

 

มอง (ด้วย) ตาก็รู้ว่าตั้งครรภ์

ย้อนกลับไปในยุคอียิปต์โบราณ (ประมาณ 1,350 ปีก่อนคริสต์กาล) วิธีการทดสอบการตั้งครรภ์ของคุณแม่ชาวอียิปต์ถูกจดบันทึกไว้ในกระดาษปาปิรุสเอาไว้ว่า พวกเธอจะต้องนั่งลง และปัสสาวะลงบนเมล็ดพืชสองชนิด หนึ่งคือเมล็ดข้าวบาร์เล่ย์ สองคือเมล็ดข้าวสาลี รอเวลาสักหน่อยแล้วสังเกตดูว่าเมล็ดไหนจะงอกออกมา โบราณท่าน (ในอียิปต์) ว่า หากเมล็ดบาร์เลย์งอกจะได้ลูกชาย ถ้าเมล็ดข้าวสาลีงอกลูกในท้องจะเป็นหญิง แต่ถ้าไม่มีเมล็ดไหนงอกเลย ก็ให้ลองใหม่อีกทีเพราะรอบนี้ดูท่าจะยังไม่สมหวัง

จริงๆ แล้ววิธีนี้ฟังดูโบร่ำโบราณเหมือนใช้ความเชื่อมาเป็นตัวชี้วัดทางวิทยาศาสตร์ซะอย่างนั้น แต่เอาเข้าจริงนวัตกรรมเมล็ดข้าวที่ว่าก็มีส่วนจริงอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะจากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์เมื่อปี 1963 พวกเขาพบว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์น่าจะมีส่วนช่วยให้เมล็ดข้าวเติบโตขึ้นจริงโดยมีโอกาสงอกถึง 70% ในขณะที่ปัสสาวะของชายหญิงทั่วๆ ไปไม่สามารถทำอะไรอย่างนี้ได้

ข้ามเวลามาถึงประมาณศตวรรษที่ 17 ในยุคกลางของยุโรปก็มีความเชื่อกันว่าปัสสาวะของว่าที่คุณแม่จะมีลักษณะหน้าตาที่ต่างกับปัสสาวะของคนธรรมดาๆ หากพวกเธออยากรู้ว่าจะท้องจริงหรือเปล่า ก็ต้องขับถ่ายของเหลวไปให้คนที่เรียกว่าเป็น Piss Prophet หรือนักปัสสาวะพยากรณ์ตรวจดูลักษณะทางกายภาพต่างๆ (จริงๆ แล้วอาชีพนี้ทำนายโรคอื่นๆ ด้วยนอกจากการตรวจว่าท้องจริงหรือเปล่าด้วยนะ)

ในตำราการตรวจฉี่ของบรรดา Piss Prophet ได้เขียนเอาไว้ว่าลักษณะของเหลวจากหญิงตั้งครรภ์นั้นจะเหมือนกับ ‘สีเหลืองของเลม่อนแบบจางๆ ค่อนไปทางขาวใส และมีก้อนขุ่นๆ เหมือนเมฆลอยปกคลุมอยู่’

วิธีการแบบบ้านๆ อย่างนี้จะว่าไปแล้วก็พอเข้าใจได้ เพราะกว่าที่เราจะรู้จักสารเคมีที่เรียกกันว่า ‘ฮอร์โมน’ ที่ร่างกายหลั่งออกมาควบคุมการทำงานต่างๆ ก็ปาเข้าไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แถมก่อนหน้านี้ยังมีทฤษฎีที่ว่าในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์มีผลึกหรือแบคทีเรียชนิดพิเศษที่คนทั่วไปไม่มีและเห็นได้จากการส่องกล้องจุลทรรศน์อยู่เลยนะเออ

 

ตรวจหาชีวิตด้วย ชีวิต

หลังนักวิทยาศาสตร์ค้นพบฮอร์โมนชื่อว่า hCG หรือ human Chorionic Gonadotropin ที่ถูกสร้างขึ้นจากรกหลังเอ็มบริโอฝังตัวในมดลูกของผู้หญิง วิธีการในการตรวจการตั้งครรภ์ก็เริ่มพัฒนาจากการคาดเดาและสังเกตด้วยตาเปล่ามาเป็นการทดสอบด้วยการชีวิตของสัตว์น้อยใหญ่

ปี 1927 Selmar Aschheim และ Bernhard Zondek สองนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันทดลองฉีดปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์เข้าไปในหนูทดลองที่ยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และพบว่าพวกมันจะเข้าสู่สภาวะพร้อมผสมพันธ์ุแม้จะยังเป็นหนูอายุน้อย ด้วยฮอร์โมน hCG ที่พบในหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น การทดสอบนี้ถูกตั้งชื่อว่า A-Z Test ตามชื่อของผู้คิดค้น และต่อมา จากที่ฉีดใส่หนูทดลอง การทดสอบตั้งครรภ์ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้กระต่ายแทน

การใช้กระต่ายมาจับฉีดปัสสาวะเข้าไปเพื่อตรวจว่าท้องจริงหรือเปล่ากลายเป็นความเชื่อของผู้คนในโลกตะวันตกที่ว่า ถ้ากระต่ายตายหลังจากฉีดปัสสาวะเข้าไป นั่นหมายถึงพวกเธอตั้งครรภ์จริง ความเชื่อนี้ลามมาถึงการสร้างประโยคฮิตไว้ใช้บอกสามีเวลาท้องที่ว่า ‘กระต่ายตายแล้วค่ะคุณ’ ไว้แทนที่จะบอกตรงๆ (คาดว่าอาจทำให้ฟังดูตกใจน้อยลงกว่าบอกว่าท้องตรงๆ) ซึ่งอันที่จริงไม่ว่าจะท้องหรือไม่ ชีวิตของกระต่ายก็ต้องถูกสังเวยอยู่แล้ว เพราะพวกมันต้องถูกผ่าท้องดูรังไข่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า

มีสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ถูกฉีดปัสสาวะเข้ากระแสเลือด นั่นคือกบสายพันธุ์ Xenopus laevis ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา แต่ในช่วงทศวรรษ 1930 นักสัตววิทยาชาวอังกฤษนามว่า Lancelot Hogben ก็จับมันมาฉีดสารเคมีที่สกัดจากต่อมใต้สมองของวัวตัวผู้ และพบว่ากบเริ่มออกไข่ ประจวบเหมาะกับที่มีคนพบว่าในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ก็มีฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองเหมือนกัน

ด้วยความที่การทดสอบนี้ไม่จำเป็นต้องฆ่าหนูฆ่ากระต่าย แม่นยำ ใช้เวลารวดเร็วประมาณ 12 ชั่วโมง แถมเอากบกลับมาใช้ใหม่ได้อีก Hogben Test จึงเริ่มกลายเป็นกระแส มีการประมาณการว่าในช่วงเวลาระหว่างปี 1940 – 1960 มีกบ Xenopus ถึงหนึ่งหมื่นตัวที่ถูกฉีดปัสสาวะตรวจตั้งครรภ์ให้ว่าที่คุณแม่ทั้งหลาย!

 

กบสายพันธุ์ Xenopus laevis

 

ตรวจเองได้ ไม่ต้องพึ่งหมอ

หลังจากที่บรรดาสัตว์ต้องโดนฉีดปัสสาวะเข้าตัวมาระยะเวลาหนึ่ง ความพยายามหาวิธีทดสอบหาฮอร์โมน hCG ที่ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตอื่นก็เริ่มพัฒนาขึ้น จากการตรวจหาด้วยวิธีคล้ายการตรวจกรุ๊ปเลือดจากแอนติบอดี้ (เรียกว่าวิธี immunoessays) พัฒนามาจนสามารถวัดความเข้มข้นของฮอร์โมนได้เพื่อความแม่นยำมากขึ้น

แต่ถึงจะพัฒนาขึ้นแค่ไหน การที่ผู้หญิงยังต้องเก็บตัวอย่างปัสสาวะใส่ขวดและส่งไปที่ห้องแล็บ ก็ยังแสดงถึงอำนาจในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ที่ยังคงอยู่ในมือของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์อยู่ดี

ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยแห่งการปลดแอกเสรีภาพทางร่างกายของผู้หญิง หลังชุดอุปกรณ์ตรวจสอบตั้งครรภ์ในแล็บหลายๆ แห่งเริ่มมีรูปร่างเล็กลงและตรวจผลได้ในเวลาสองชั่วโมง (แต่ยังถูกใช้แค่ในแล็บโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น) และการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ในปี 1977 e.p.t หรือ Early Pregnancy Test ก็ผ่านการตรวจสอบจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ และเริ่มวางขายให้กับว่าที่คุณแม่ได้ลองซื้อไปตรวจด้วยตัวเอง ก่อนจะตามมาด้วยยี่ห้ออื่นๆ อีกมากมายตามมา

 

 

หน้าตาของที่ตรวจการตั้งครรภ์ในยุคแรกยังคงคล้ายอุปกรณ์ในห้องแล็บ ประกอบไปด้วยหลอดทดลอง ที่หยดปัสสาวะ แท่นวางพร้อมกระจกเพื่อดูผล ในราคา 10 ดอลล่าร์หรือประมาณ 200 บาทนิดๆ และความเจ๋งของการตลาดในแมกกาซีนผู้หญิงหัวต่างๆ อย่าง Vogue ที่เขียนรีวิวให้กับอุปกรณ์ชิ้นใหม่นี้คือการพูดถึงข้อดีอย่าง ‘สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องรอนาน’ หรือ ‘ถ้าผลออกมาว่าท้อง ก็ทำให้คุณเริ่มดูแลตัวเองพร้อมเป็นคุณแม่ หรือไม่อย่างนั้น ก็จะได้เตรียมตัวยุติการตั้งครรภ์แต่เนิ่นๆ’ ที่ฟังดูทันสมัยสุดๆ ในยุคนั้น

กว่าจะกลายมาเป็นที่ตรวจการตั้งครรภ์แบบแท่งที่รู้ผลได้ภายในไม่กี่นาทีและราคาไม่ถึงร้อยบาทอย่างในปัจจุบันก็ปาเข้าไปถึงช่วงทศวรรษ 1990 จากที่บอกผลเป็นขีด บางยี่ห้อก็เปลี่ยนมาใช้จอบอกผลเป็นตัวอักษรให้รู้ผลไปเลยแบบไม่ต้องกลัวว่าขีดจะไม่ชัด และล่าสุดก็เพิ่งมีความพยายามเปลี่ยนดีไซน์และวัสดุจากแท่งพลาสติกเป็นกระดาษที่สามารถโยนทิ้งชักโครกได้เพื่อลดปริมาณขยะ เพิ่มความเป็นส่วนตัว หรือถ้าคุณแม่คนไหนจะเก็บไว้ติดลงไดอารี่ก็แปะไว้ได้แบบเก๋ๆ อีกต่างหาก

 

https://www.youtube.com/watch?v=dcljzOM21HQ

 

การเดินทางของสิ่งเล็กๆ อย่างที่ตรวจการตั้งครรภ์ของผู้หญิง นอกจากจะทำให้เราเห็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ความแปลกประหลาดของวิธีการ จนมาถึงความง่ายดายในการตรวจที่เดินหาซื้อได้ง่ายดายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป อีกนัยหนึ่ง มันคือสิ่งเล็กๆ ที่ช่วยประกาศพลังของผู้หญิงถึงอำนาจของพวกเธอในการรับรู้ เลือกเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเองในเรื่องใหญ่อย่างการตั้งครรภ์และความเป็นแม่

ที่ไม่จำเป็นต้องฝากเอาไว้กับเมล็ดข้าว นักพยากรณ์ปัสสาวะ กระต่าย กบ และผู้ชายสวมโค้ตในห้องแล็บอีกต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม

– A Timeline of Pregnancy Testing จาก National Institutes of Health

– บทความ Before There Were Home Pregnancy Tests โดย Cari Romm จาก The Atlantic

– บทความ The Rabbit Test จาก Snopes

– บทความ How a Frog Became the First Mainstream Pregnancy Test โดย Ed yong จาก The Atlantic

– อุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ CRANE, MARGARET, INVENTOR—THE FIRST HOME PREGNANCY TEST จาก bonhams

– บทความ Who Made That Home Pregnancy Test? โดย PAGAN KENNEDY จาก The New York Times Magazine

– บทความ The Pregnancy Test Of The Future Is Flushable, Private, And Sustainable โดย JOHN PAUL TITLOW จาก fastcompany

MOST READ

Life & Culture

20 Mar 2024

๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ : ขอบคุณนะคะที่กล้าจะสอน

ว่ากันว่า ประวัติศาสตร์นั้นมีสองด้านเสมอ ชวนสำรวจประวัติศาสตร์แบบ ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ (2024) แอนิเมชั่นที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ด้วยการหยิบประวัติศาสตร์กระแสหลักมาเล่าใหม่ และเลนส์การมองการคัดง้างทางอำนาจของการเมืองไทยแบบฝั่งธรรมะ-อธรรม รวมทั้งผู้สอน-ผู้ถูกสอนด้วย

พิมพ์ชนก พุกสุข

20 Mar 2024

Life & Culture

31 Mar 2024

ประเทศไทยจะแต่งตัวยังไง? ขายรสนิยมแบบไหน?  คุยกับ ‘กมลนาถ องค์วรรณดี’ ถึง 3 เดือน ในตำแหน่งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่น

101 สนทนากับ กมลนาถ องค์วรรณดี ถึงประสบการณ์ 3 เดือนของการทำงานในฐานะคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่น และอนาคตของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย

กองบรรณาธิการ

31 Mar 2024

Life & Culture

26 Mar 2024

ไม่ยาก ถ้าอยากเป็น ‘วัยรุ่นเทสต์ดี’ : เข้าใจจักรวาลซื้อขายรูป กับการพยายามอยากเป็น ‘คนอื่น’ บนโลกออนไลน์

101 พาเข้าใจจักรวาลซื้อขายรูป ‘เทสต์ดี’ จักรวาลที่เปิดโอกาสให้ทุกคนซื้อและขายรูป ‘ชีวิตดีย์’ ทุกรูปแบบ พร้อมชวนตั้งคำถามว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนสังคมอย่างไร

ชลธิชา ทักษิณาเวศน์

26 Mar 2024

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save