fbpx
ประวัติศาสตร์เพลงคริสต์มาสกับวิทยาศาสตร์ข้อมูล

ประวัติศาสตร์เพลงคริสต์มาสกับวิทยาศาสตร์ข้อมูล

1

ตอนที่มารายห์ คาเรย์ ออกอัลบั้มเพลงคริสต์มาสในปี 1994 นั้น เป็นช่วงที่ศิลปินไม่ค่อยออกอัลบั้มคริสต์มาสกันเท่าไหร่ แม้แต่ตัวมารายห์เอง ก็ไม่ค่อยอยากจะออก เพราะเธอคิดว่ามัน ‘เชย’ น่าดูชม มีแต่คนแก่ๆ เท่านั้้นที่ทำอัลบั้มเพลงคริสต์มาสออกมา

ที่จริงถ้าจะให้แฟร์ ต้องบอกคุณว่า ตอนที่ ‘คนแก่ๆ’ ทำอัลบั้มคริสต์มาสกันนั้น พวกเขาและเธอไม่ได้แก่เท่าไหร่หรอกนะครับ อย่างอัลบั้มคริสต์มาสของบาร์บรา สไตรแซนด์ เธอก็ทำตอนอายุแค่ 25 ปี เหมือนกัน อัลบั้ม Christmas Portrait ของคาร์เพนเตอร์ส ก็ออกมาตอนคาเรน คาร์เพนเตอร์ อายุ 28 ปี นับว่าไม่เยอะเท่าไหร่ ถ้าจะมีเยอะก็คือบิง ครอสบี้ ที่ทำอัลบั้มเพลงคริสต์มาสตอนอายุ 42 ปี

ที่ทำให้ผมสนใจก็คือ อัลบั้มเพลงคริสต์มาสของมารายห์ กลายเป็นอัลบั้มคริสต์มาสที่คนจดจำมากที่สุดอัลบั้มหนึ่งมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบมากมาย จนตอนหลัง นักวิจารณ์ที่เคยด่าเธอยังต้องหวนกลับมา ‘วิเคราะห์’ กันเลยครับ ว่าเพราะอะไรอัลบั้มของเธอถึงดังขนาดนั้น

หลายคนวิเคราะห์ว่า ที่อัลบั้มของมารายห์โด่งดัง เป็นเพราะเธอทำออกมาในช่วงที่ไม่มีใครทำ พูดง่ายๆ ก็คือ เธอ (จริงๆ คือโปรดิวเซอร์ของเธอ) จับจังหวะของเทรนด์ถูกต้อง คิือไปจับจังหวะการออกอัลบั้มในช่วงที่เพลงคริสต์มาส (Christmas Music หรือ Holiday Music) กำลังตกต่ำที่สุด และรอคอยอะไรบางอย่างมากระตุ้นให้พุ่งสูงปรี๊ดขึ้นไปอีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง

ดังนั้น เมื่อออกมาในจังหวะที่ถูกต้อง อัลบั้มของมารายห์ก็เลยพุ่งไปไกลลิบ

นั่นทำให้ผมต้องย้อนกลับมาดู ‘ประวัติศาสตร์ของเพลงคริสต์มาส’ ว่าในแต่ละช่วง มันเกิดความนิยมในเพลงคริสต์มาสอย่างไร และมีวิวัฒนาการความนิยมอย่างไร

ถ้าสนใจ – ตามผมมาเลยครับ!

 

2

ที่จริงแล้ว เพลงคริสต์มาสนั้นมีที่มาตั้งแต่ยุคกลางเลยนะครับ หลายเพลงที่เราได้ยินในปัจจุบัน มีที่มาตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 18 อีก อย่างเช่นเพลง What Child is This? หรือ O Come, O Come Emmanuel แต่ก็จะมีกลิ่นอายของเพลงที่ฟังดูโบราณๆ หน่อยๆ

ยิ่งถ้าจะนับรวมเอาเพลง Christmas Carol หรือเพลงขับร้องประสานเสียงเข้าไปด้วย ก็ต้องย้อนเวลากลับไปถึงศตวรรษที่ 13 โน่นแน่ะครับ โดยคนแรกที่ทำให้เกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นมา ก็คือนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี ซึ่งท่านไม่ได้แต่งเพลงคริสต์มาสนะครับ แต่เป็นคนแรกที่คิดสร้าง ‘ถ้ำพระกุมาร’ (ฝรั่งเรียกว่า Nativity Scene) ขึ้นมาในปี 1223 ที่อิตาลี เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการภาวนาต่อพระเยซู ซึ่งต้องใช้เพลงสวด (Chant) มาประกอบด้วย หลังจากนั้น เพลงประสานเสียงทำนองนี้จึงค่อยๆ เกิดขึ้น ทั้งในอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และในอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ตอนที่อังกฤษเคร่งศาสนาแบบ Puritan มากๆ คือในยุคของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ปรากฏว่าชาวเพียวริแทนบอกว่า การฉลองคริสต์มาสนี่มันปีศาจชัดๆ เพราะมีรูปเคารพ แล้วก็มีพิธีกรรมแปลกๆ ชาวเพียวริแทนในอังกฤษจึงเรียกคริสต์มาสว่าเป็นพิธีกรรมของพวกนอกศาสนา (Pagan) และห้ามฉลองคริสต์มาสในอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 17 ตอนที่อังกฤษเป็นสาธารณรัฐ จนกระทั่งพระเจ้าชาลส์ที่สอง กลับคืนมาครองบัลลังก์อังกฤษอีกครั้ง การฉลองคริสต์มาสถึงได้กลับมา

ช่วงศตวรรษที่ 17 นี่แหละครับ เพลงคริสต์มาสเริ่มดังขึ้น เพราะคีตกวีอย่าง จอร์จ เฟรเดอริก แฮนเดล แต่งเพลงคริสต์มาสไว้หลายเพลง ที่เราต้องรู้จักกันแน่ๆ ก็คือ Joy to the World, Angels We Have Heard On High และ O Come All Ye Faithful เพลงพวกน้ีจึงถือเป็นเพลงเก่าแก่มาก

อย่างไรก็ตาม คริสต์มาสในอังกฤษก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากเท่าไหร่ จนกระทั่งถึงยุควิคตอเรียน เมื่อราชินีวิคตอเรียครองบัลลังก์อังกฤษ แต่ไม่ใช่เพราะพระนางนิยมชมชอบคริสต์มาสมากหรอกนะครับ เป็นพระสวามี คือเจ้าชายอัลเบิร์ตต่างหากที่นำคริสต์มาสเข้ามาในอังกฤษ

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นเยอรมัน (ที่จริงต้องบอกว่า ควีนวิคตอเรียก็มีสายเลือดเยอรมันอยู่เยอะมากเหมือนกัน) และในตอนนั้น เยอรมนีมีการฉลองในช่วงคริสต์มาส เรียกว่าเทศกาล Yule (ซึ่งแปลว่าขอนไม้ เราจะเห็นว่า ในช่วงคริสต์มาสมีการทำเค้กเป็นรูปขอนไม้กันเยอะ ก็เพราะอิทธิพลจากเยอรมนีนี่แหละครับ) นอกจากนี้ ธรรมเนียมฉลองคริสต์มาสแบบเยอรมันยังมีการแลกของขวัญ หรือการส่งการ์ดอวยพรคริสต์มาสให้กัน รวมถึงการร้องเพลงประสานเสียงที่เรียกว่า Christmas Carol และที่สำคัญก็คือต้นคริสต์มาส (เรียกว่า Tannenbaum) ด้วย

คริสต์มาสจึงเริ่มเป็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันในปี 1840 เป็นต้นมา

ในศตวรรษที่ 19 (คือปี 1800s) เริ่มเกิดเพลงคริสต์มาสเพราะๆ ที่ยังร้องกันมาถึงทุกวันนี้หลายเพลง เช่น Silent Night (1863), O Holy Night (1855) และเพลงสำคัญคือ Jingle Bells (1857) ซึ่งเพลงหลังนี้ จริงๆ แต่งขึ้นเพื่อใช้ในเทศกาลขอบคุณพระเจ้าของคนอเมริกันก่อน

ความนิยมในเพลงคริสต์มาสนั้นมีลุ่มๆ ดอนๆ ข้ึนๆ ลงๆ อยู่ตลอดนะครับ แล้วก็อย่างที่บอกว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่ง เพลงคริสต์มาสเองก็เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจด้วยเหมือนกัน เพราะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ The Great Depression ในอเมริกา (คือช่วงทศวรรษ 1930s) ปรากฏว่าช่วงนั้นเป็น ‘ยุคทอง’ ของเพลงคริสต์มาสเลย

มีคนวิเคราะห์ว่า เพราะผู้คนหดหู่ เพลงคริสต์มาสจึงเป็นเหมือนหนึ่งในวิธี ‘หนี’ ออกจากความเป็นจริง เพลงคริสต์มาสจะมีความหวัง ความรัก ความบริสุทธิ์ ความอบอุ่น รวมถึงความรู้สึกหรูหราบางอย่างซ่อนอยู่ในนั้น แม้จะไม่ใช่ความหรูหราจริง (ลองนึกถึงของประดับต้นคริสต์มาสที่วิบวับแต่ไม่ใช่เพชรทองราคาแพงดูก็ได้ครับ คริสต์มาสให้ความรู้สึกแบบนั้น) ดังนั้น เพลงคริสต์มาสในยุคนี้จึงดังมาก โดยเฉพาะในปี 1934 เกิดเพลงอย่าง Santa Claus is Comin’ to Town และ Winter Wonderland ขึ้นมา และในปี 1938 ก็มีเพลงดังสุดๆ อีกเพลงหนึ่ง คือ Rudolph the Red-Nosed Reindeer เกิดขึ้นตามมาด้วย

ยิ่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง นักร้องแนวให้กำลังใจทหารหาญอย่าง บิง ครอสบี้ และเฟร็ด แอสแตร์ ก็ทำให้เกิดเพลงคริสต์มาสดังๆ ขึ้นมาหลายเพลงในช่วงปี 1942 เช่นเพลงที่ให้กำลังใจทหารว่า จะได้กลับบ้านในช่วงคริสต์มาส อย่างเพลง I’ll Be Home for Christmas หรือเพลงที่ทำให้ทหารที่ออกรบได้คิดถึงความงามของหิมะช่วงคริสต์มาสอย่าง White Christmas หรือในปี 1944 กับ Have yourself a Merry Little Christmas ที่จูดี้ การ์แลนด์ ร้องไว้ในหนังเรื่อง Meet Me in St. Louis

เป็นช่วงนี้แหละครับ ที่คนอเมริกันใช้เพลงคริสต์มาส (ร่วมกับเพลงอื่นๆ) มา ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ เพื่อทำให้คนเกิดความรู้สึกรักบ้านเกิดเมืองนอน จึงมีการเปิดเพลงคริสต์มาสตามวิทยุต่างๆ ทั่วประเทศ และน่าจะเป็นครั้งแรกที่เกิดการ ‘ให้นิยาม’ คริสต์มาสด้วยเพลงคริสต์มาส

หลังสงคราม เพลงคริสต์มาสติดลมบนไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีเพลงที่ดังที่สุดตลอดกาลอย่าง The Christmas Song (ที่ร้องว่า Chestnuts Roasting on an Open Fire ซึ่งผู้แต่งแต่งในเดือนที่ร้อนที่สุดของปี) เกิดขึ้น มีข้อมูลบอกว่า ปี 1946 ยังเป็นปีที่บริษัท Hallmark ขายบัตรอวยพรช่วงเทศกาล (Season’s Greetings) ได้ถึงหลักล้านใบเป็นครั้งแรกด้วย

หลังจากยุคนี้ผ่านไปแล้ว ยุคหลังๆ มา ดูเหมือนเพลงคริสต์มาสใหม่ๆ จะไม่ค่อยมีมนต์ขลังเหมือนเพลงคริสต์มาสที่แต่งขึ้นในยุคก่อน ไม่ว่าจะเป็น Blue Chirstmas ของเอลวิส เพรสลีย์ หรือกระทั่งอัลบั้มคริสต์มาสแสนเหงาของชาร์ลี บราวน์ (คือ A Chrlie Brown Christmas) ที่แต่งโดยวง The Vince Guaraldi Trio รวมไปถึงจอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ ที่ทำอัลบั้ม Happy Xmas (War is Over) ออกมา

ยิ่งในยุค 1980s เพลงคริสต์มาสใหม่ๆ กลายเป็นเพลงแนวป๊อบมากขึ้น เลยทำให้ความ ‘ขลัง’ ของเพลงคริสต์มาสใหม่ๆ ค่อยๆ ลดน้อยลง

มีคนไปทำสถิติออกมาบอกว่า เพลงอันดับหนึ่งในช่วงคริสต์มาสระหว่างปี 1970-1989 มีถึง 35% ที่เป็นเพลงที่เกี่ยวข้องกับคริสต์มาส แต่ในช่วงปี 1990-2016 มีเพลงคริสต์มาสขึ้นอันดับหนึ่งในช่วงคริสต์มาสแค่ 7% เท่านั้นเอง ซึ่งช่วงนี้นี่แหละครับ เป็นยุคที่มารายห์ แครีย์ ‘เสียบ’ อัลบั้มเพลงคริสต์มาสของเธอเข้ามา และทำให้กระแสเพลงคริสต์มาสหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ศิลปินรุ่นใหม่ๆ เริ่มทำเพลงคริสต์มาสกันออกมา เช่น My Only Wish ของบริตนีย์ สเปียร์ส (2000) หรือ Merry Christmas, Happy Holidays ของ N’Sync (1998) เป็นต้น

อลิซ เชา (Alice Zhao) ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เขียนไว้ในบล็อกของเธอ ดูที่นี่ ว่าด้วยเพลงคริสต์มาสเอาไว้น่าสนใจมากครับ

เธอสงสัยว่า อะไรทำให้เพลงคริสต์มาสยุคเก่าๆ ยังคงดำรงอยู่ไม่ถูกเพลงคริสต์มาสยุคใหม่ๆ เขี่ยตกบัลลังก์ไป ก็เลยลองเอาข้อมูลเพลงคริสต์มาสต่างๆ มาพล็อต

เธอพบว่าเพลงคริสต์มาสถูกแต่งขึ้นมากที่สุดในช่วงทศวรรษ 1940s หลังจากนั้น เวลาจะออกอัลบั้มเพลงคริสต์มาส คนก็จะเอาเพลงในช่วง 1940s มาใช้ แล้วแต่งเพลงใหม่เสริมเข้าไป ทำให้เพลงในช่วงนั้นกลายเป็นเพลงที่ ‘ไร้กาลเวลา’

เธอยังพบด้วยว่า เพลงคริสต์มาสยุคเก่า (คือยุคสี่ศูนย์) จะมีธีมของเพลงที่พูดถึงเรื่องการอยู่ร่วมกันในความหนาวเย็น (ทำให้เกิดความอบอุ่น) มาก รวมไปถึงการอวยพรกัน และการอยู่บ้าน แต่ถ้าเป็นยุคหลังๆ เพลงถึงจะเริ่มพูดถึงความรักมากขึ้น เช่นเพลง Last Christmas นั้น ถ้าตัดคำว่าคริสต์มาสออกไป ก็แทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคริสต์มาสเลย รวมไปถึงเพลงดังของมาราย์ แครีย์ อย่าง All I Want for Christmas is You ที่คนเข้าใจว่าหมายถึงคนรัก (แต่มารายห์บอกว่า You ในเพลงนี้คือหมาของเธอ) ด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ เธอลองนับจำนวนคำ (Unique Words ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่าไม่ได้นับคำซ้ำ) ในเพลงคริสต์มาสดังๆ พบว่าค่ากลางของจำนวนคำในเพลงคริสต์มาสอยู่ที่ 69 คำ แต่เพลง All I Want for Christmas is You ของมารายห์ แครีย์ มีจำนวนคำอยู่ที่ 108 คำ คือมากที่สุดเท่าที่เคยมีเพลงคริสต์มาสมา (เพลง White Chirsmas มีแค่ 41 คำ เพลง I’ll Be Home for Christmas มีแค่ 29 คำ) ซึ่งก็อาจเป็นคำอธิบายหนึ่ง ว่าทำไมเพลงคริสต์มาสของมารายห์ ถึงได้เป็นที่นิยมอย่างมากในยุคหลัง เรียกว่าโด่งดังเทียบเท่ากับเพลงคริสต์มาสยุคสี่ศูนย์ก็ว่าได้

 

ความนิยมขึ้นลงของเพลงคริสต์มาสบอกอะไรเราหลายอย่างที่เกี่ยวพันไปถึงทั้งเรื่องราวทางศาสนา การเมือง และกระทั่งเศรษฐกิจ

มาดูกันว่า เทรนด์เพลงคริสต์มาสของปีนี้จะเป็นอย่างไร?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save