fbpx
Journalism of Data : โลกออนไลน์ต้อนรับแต่บทความที่สร้างจากข้อมูล?

Hear me out ฟังฉันหน่อยคนดี

ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ถ้าสังเกตเทรนด์การพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะมีความคล้ายคลึงกันมากไม่ว่าบริษัทเหล่านั้นจะอยู่ในธุรกิจแขนงไหน อย่างแรกคืออุปกรณ์ชิ้นนั้นจะไม่ใช่ standalone product อีกต่อไป พูดอีกอย่างคือพวกมันต้องสามารถ “เชื่อมต่อ” (connected) กับสิ่งอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นอื่นหรืออย่างน้อยก็อินเทอร์เน็ต อย่างที่สองคืออุปกรณ์เหล่านี้ต้อง “ไร้สาย” (wireless) ไม่มีสายระโยงระยางยุ่งเหยิงเพื่ออำนวยความสะดวกกับชีวิตประจำวันของผู้ใช้ และสุดท้ายคืออุปกรณ์เหล่านี้สามารถเข้าใจคำสั่งและตอบสนองผู้ใช้ด้วยภาษาพูด (conversational speech) เหมือนเราพูดกับมนุษย์คนอื่นๆ

 

เมื่อประมาณสามปีก่อน มีแคมเปญอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นหนึ่งชื่อว่า “The Dash” ​บนเว็บไซต์ระดมทุนชื่อดังอย่าง Kickstarter ที่สร้างเสียงฮือฮาในสื่อออนไลน์เป็นอย่างมาก ในตอนนั้นพวกเขาถือว่าเป็นเจ้าแรกๆ ของวงการเฮดโฟนที่พยายาม “ตัด” สายเชื่อมโยงแบบเดิมระหว่างอุปกรณ์ต้นทางกับปลายทาง เชื่อมต่อกันด้วยระบบ bluetooth เพียงอย่างเดียว โดยจุดที่น่าสนใจคือพวกเขาพยายามคงคุณภาพของเสียงเอาไว้ เติมฟีเจอร์กันน้ำ วัดอัตราการเต้นของหัวใจสำหรับคนชอบออกกำลังกาย และที่สำคัญสามารถสั่งงานด้วยระบบคำสั่งผ่านเฮดโฟนโดยใช้ siri ของ iPhone อย่างการเปลี่ยนเพลง เร่งเสียง โทรออก ส่งเมสเสส ฯลฯ เมื่อแคมเปญนั้นจบลง บริษัทผู้สร้างโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาระดมทุนได้ถึง $3,390,551 (ประมาณ​ 110 ล้านบาท)

แน่นอนว่าเมื่อมีใครสักคนทำสำเร็จ ก็ย่อมมีผู้พัฒนาคนอื่นๆ ที่พยายามออกมาแข่งเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งของตลาด อุปกรณ์มีสายกำลังจะกลายเป็นอดีต อุปกรณ์ไร้สายกำลังก้าวมาแทนที่ นี่คือความจริง และมันกำลังเกิดขึ้น ผ่านมาถึงตรงนี้ แทบทุกแบรนด์ของผู้ผลิตเฮดโฟนก็ต้องปรับเปลี่ยนและตามเทคโนโลยีให้ทัน Jabra, Bose, Jaybird, Beats หรือแม้แต่สองยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอย่าง Samsung และ Apple เพราะการขวางกระแสเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีต่อยอดขายของบริษัท ตัวอย่างก็คงคล้ายกับตอนที่กล้องดิจิทัลถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงแรกๆ มีบริษัทผู้ผลิตกล้องฟิล์มที่ล้มหายหน้าไปมากมายเพราะปรับตัวไม่ทัน เพราะถึงแม้ว่าจะยังมีกลุ่มคนที่จงรักภักดีต่อเทคโนโลยีเดิมที่ตัวเองคุ้นเคย (ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่าพวกเขาเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นของกลุ่มผู้บริโภคเท่านั้นที่ไม่ยอมหมุนตามกระแสโลก

ถ้าย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้มาจากการการถือกำเนิดของสมาร์ตโฟน ซึ่งเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ทำให้พฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเจ้าอุปกรณ์สี่เหลี่ยมขนาดเท่าฝ่ามือสามารถเชื่อมต่อเรากับผู้ให้บริการฟังเพลงออนไลน์อย่าง Spotify, Apple Music หรือ Joox เมื่อการเข้าถึงเพลงหลายล้านเพลงเป็นเรื่องที่ง่ายดายเพียงสัมผัสหน้าจอ ผู้บริโภคก็สามารถเลือกที่ฟังเพลงบ่อยมากขึ้น หลากหลายแนวขึ้น และเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุปกรณ์ฟังเพลงอย่างลำโพงไร้สายหรือเฮดโฟนหรือก็เริ่มได้รับความสนใจจากบริษัทต่างๆ มากมาย โดยความฉลาดของพวกมันก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่รับสายโทรศัพท์ เรียกแท็กซี่ สั่งอาหาร หรือตอนนี้สามารถแปลภาษาแบบ real-time ได้แล้วด้วย

ความเป็นไปได้ที่มากมายเหล่านี้เองที่พิสูจน์ว่าทำไมอุปกรณ์เหล่านี้ถึงกำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ตลาดของอุปกรณ์เสียง (audio devices) กำลังเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากสถิติที่เก็บมา ในปี 2009 ลำโพงแบบไร้สายขายได้ทั่วโลกอยู่ที่ 2 แสนตัว แต่ในปี 2017 มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขจะขยับไปถึง 70 ล้านตัว ซึ่งตัวเลขยอดขายเฮดโฟนเองก็เติบโตแบบก้าวกระโดดไม่ต่างกัน

ลำโพงอัจฉริยะ (Smartspeaker) ชื่อ Echo เปิดตัวในปี 2015 โดย Amazon ซึ่งเทคโนโลยีชนิดนี้กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกเช่นกัน แค่ในปีนี้ปีเดียว อุปกรณ์ประเภทนี้ขายได้ประมาณ 24 ล้านตัว มันคือศูนย์กลางของอุปกรณ์ทุกอย่างที่เชื่อมต่อกันในเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟ แอร์ ทีวี พัดลม เครื่องเสียง หรือแม้แต่ล็อคประตูบ้าน และตัวเลขยอดขายถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกสี่เท่าตัวภายใน 5 ปีข้างหน้า เพราะเมื่อมีเจ้าลำโพงนี้ตัวหนึ่งในบ้าน ผู้ใช้ก็อยากซื้อมาเพิ่มไว้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการสั่งงานตามจุดต่างๆ ในบ้านเพิ่มขึ้นอีก (เช่นวางตัวหนึ่งในห้องน้ำเพื่อฟังเพลง อีกตัวในห้องนอนเพื่อควบคุมไฟและอุณหภูมิห้อง)

ซึ่งเจ้าอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงผู้ช่วยงานเวอร์ชั่นดิจิทัล แต่มันเป็นฐานของบริการต่างๆ ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทผู้สร้าง เพราะถ้าโดยลำพังตัวมันเองแล้ว คำสั่งหรือฟีเจอร์ที่มันสามารถทำได้ก็ค่อนข้างจำกัด (เช่นการสั่งหนังสือจาก amazon) แต่ถ้ามีบริษัทผู้ให้บริการอื่นๆ เข้ามาร่วมพัฒนา ขีดความสามารถของเจ้าลำโพงอัจฉริยะเหล่านี้เพิ่มสูงตามไปด้วย อย่างสมมติว่า IMDB (เว็บไซต์ฐานข้อมูลภาพยนตร์ออนไลน์) ถูกเพิ่มเข้าไปใน Echo แล้วเราอยากได้เรทติ้งของภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่กำลังเข้าโรง เราก็ทำได้แค่พูดถาม

“หนังเรื่อง … ได้เรทติ้งเท่าไหร่บน IMDB” “ช่วยจองตั๋วรอบทุ่มครึ่งสองใบ ตัดบัตรเครดิตได้เลย” “เรียกอูเบอร์มารับตอนหกโมงเย็น” “เช็คสภาพอากาศให้ด้วย” “แคนเซิลนัดทุกอย่างที่อยู่ในปฏิทิน” “สั่งพิซซ่าหน้าฮาวายเอี่ยนมาส่งวันเสาร์ตอนเที่ยง 1 ถาด” ฯลฯ

อุปกรณ์เหล่านี้จะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ และคงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าอีกหน่อยเราจะเห็นคนใส่เฮดโฟนแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง

แต่ถ้าดูกันตามตัวเลขและประวัติศาสตร์ สิ่งที่บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เสียง (ทั้งลำโพงไร้สายและเฮดโฟน) ต้องคำนึงไว้อย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าบริษัทจะพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้อย่างรวดเร็วทันด่วนแค่ไหน เพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ เข้าไปมากยังไง พวกเขาจะเป็นเพียงผู้ผลิตที่ต้องไล่ตามเท่านั้น เพราะบริษัทที่สร้างซอฟแวร์ที่เป็นผู้ช่วยดิจิทัลอย่าง Alexa ของ Amazon หรือ Siri ของ Apple ต่างหากที่จะเป็นทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีเพียงไม่กี่บริษัทที่กำลังเป็นผู้นำของตลาด ตลาดตรงนี้ยังพอมีพื้นที่สำหรับบริษัทอื่นๆ ที่สร้างจุดยืนของตัวเองที่แตกต่างออกไป อย่าง Cortana ของ Microsoft ที่เก่งเรื่องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและศัพท์ทางธุรกิจต่างๆ บ้างก็มุ่งเน้นไปทางระบบขนส่งอูเบอร์และการฟังเพลงออนไลน์ของบริษัท Sonos หรืออย่าง Samsung ที่มุ่งพัฒนาด้านระบบความบันเทิงในรถยนต์เป็นต้น

 

ในอนาคตอันใกล้นี้สิ่งที่เราคงได้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ คือการเชื่อมต่อกันของอุปกรณ์ต่างๆ การแลกเปลี่ยนข้อมูลจากบริการหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การแชร์ข้อมูลไปเป็นทอดๆ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาคือความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว เพราะเมื่อมีจุดเชื่อมหลายจุด ความเป็นไปได้ในความผิดพลาดก็สูงตามไปด้วย ไม่นับรวมถึงการใช้แบบผิดๆ ของเด็กที่รู้เท่าไม่ถึงการ การพูดถามข้อมูลที่คำตอบไม่ได้ถูกคัดกรองก่อนโดยผู้ปกครองหรือคนดูแล หรือแม้แต่พฤติกรรมของเด็กๆ ที่โตมากับเทคโนโลยีเหล่านี้จะกลายเป็นแบบไหน เราก็ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปได้ในเวลานี้

ชีวิตที่เชื่อมต่อกันไปหมดก็คงสะดวกดี สามารถทำงาน สั่งของ หาข้อมูลแทบทุกอย่างเพียงแค่เอ่ยปากพูด แต่พอถึงจุดหนึ่งที่ทุกอย่างเป็นแบบนั้นจริงๆ มันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า

“แล้วต่อไปเราจะเอาเวลาที่ไหนไปคุยกับมนุษย์คนอื่นกัน?”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save