fbpx
สายธารการค้าแห่งหังโจว ต้าหยุนเหอถึงอาลีบาบา

สายธารการค้าแห่งหังโจว ต้าหยุนเหอถึงอาลีบาบา

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่องและภาพ

การมาเยือนของแจ็คหม่า หรือหม่าหยุน นักธุรกิจมหาเศรษฐีแห่งเมืองจีน เจ้าของบริษัทเครืออาลีบาบา สร้างความฮือฮาให้กับวงการการค้าไทยอย่างมาก ด้วยกระแสอีคอมเมิร์ซและสังคมไร้เงินสดในจีนที่จะเข้ามารุกตลาดไทยอย่างเต็มตัวพร้อมกับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของรัฐบาลไทย ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า โดยเฉพาะการค้าระบบออนไลน์ให้เติบโตทั้งระบบ

ความคาดหวังทางธุรกิจนั้นจะเป็นจริงได้แค่ไหน เราอาจจะต้องข้ามแผ่นดินไปดูการเติบโตของนครหังโจว เมืองบ้านเกิดของแจ็คหม่า และฐานทัพใหญ่ศูนย์กลางนวัตกรรมและสำนักงานธุรกิจของอาลีบาบากรุ๊ปสักหน่อย

หังโจวเป็นเมืองหลักและศูนย์กลางการปกครองของมณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องยาวนานกว่าห้าพันปี ค้นพบการตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำเฉียนถังในยุคหินใหม่จนถึงยุคสำริด โดยมีโบราณวัตถุสำคัญคือแผ่นหยกกลมที่ใช้เป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าและเครื่องรางทำนาย เรียกรวมว่าเป็นกลุ่มอารยธรรมเหลียงจู หลังจากนั้นมีการตั้งบ้านเรือนของชนเผ่าไป๋เยว่ และได้ขยายขนาดเป็นเมืองมีหลักฐานบันทึกในยุคราชวงศ์สุ่ยเป็นต้นมา

ด้วยภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเกษตรและการค้า ในต้นศตวรรษที่ 7 จักรพรรดิสุ่ยหยางตี้ได้บัญชาให้เกณฑ์แรงงานขุดคลองลัดเชื่อมแม่น้ำต่างๆ เพื่อขนส่งอาหารไปแก้ปัญหาทุพภิกขภัยที่เกิดบ่อยครั้ง โดยหังโจวได้เป็นต้นสายของการขุดคลองใหญ่ต้าหยุนเหอที่จะลำเลียงธัญพืชและเสบียงจากดินแดนเจียงหนานอันอุดมสมบูรณ์ขึ้นไปสู่จีนภาคเหนือ นับแต่นั้น หังโจวก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีนมากว่าพันสี่ร้อยปี

พิพิธภัณฑ์คลองต้าหยุนเหอแห่งหังโจว 杭州京杭大运河博物馆

ท่ามกลางตึกสูงสมัยใหม่ คลองโบราณอายุพันปียังมีเรือท่องเที่ยวและเรือสินค้าล่องไปมาเป็นปกติไม่ต่างจากในยุคราชวงศ์ถัง-ซ่ง ที่จุดประตูน้ำต้นกำเนิดคลอง มีพิพิธภัณฑ์คลองต้าหยุนเหอแห่งหังโจว 杭州京杭大运河博物馆 (หังโจวจิ่งหังต้าหยุนเหอป๋ออู้ก่วน) ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของเส้นทางการค้าที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยแรงงานและความคิดของตนเองอย่างอหังการ ด้วยการเปรียบเทียบคลองขุดที่มนุษย์สร้างขึ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คลองต้าหยุนเหอที่มีความยาวกว่า 1,776 กิโลเมตร เป็นอันดับหนึ่งเหนือคลองสุเอซและคลองปานามาอย่างเทียบไม่ติด

พิพิธภัณฑ์คลองต้าหยุนเหอแห่งหังโจว 杭州京杭大运河博物馆

พิพิธภัณฑ์คลองต้าหยุนเหอแห่งหังโจว 杭州京杭大运河博物馆

ภายในพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติศาสตร์การค้าภายในประเทศจีนตามสองฝั่งคลองที่กว้างใหญ่ตลอดพันสี่ร้อยปี ตำนานของมาร์โคโปโลที่ได้มาพบนครหังโจวในวันที่รุ่งเรืองที่สุด สายธารประวัติศาสตร์ของสายน้ำนำเงินตราและการค้าของจีนมาบรรจบกันที่นครหังโจว สร้างวัฒนธรรมและประเพณีที่ยิ่งใหญ่สืบทอดต่อเนื่องยาวนาน ทั้งงิ้วคุนชวี่ เครื่องปั้นดินเผา ยาและการแพทย์แผนจีน การดื่มชา การทำกระดาษและพัด ดังยังปรากฏให้เห็นบนถนนย่านการค้าโบราณข้างคลองที่ถูกปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย สมกับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ AAAAA ของจีนและมรดกโลก

พิพิธภัณฑ์คลองต้าหยุนเหอแห่งหังโจว 杭州京杭大运河博物馆

ตู้กดน้ำ

พิพิธภัณฑ์คลองต้าหยุนเหอแห่งหังโจว 杭州京杭大运河博物馆

นครหังโจวพบกับความซบเซาลงในปลายยุคราชวงศ์ชิง เมื่อการค้าทางทะเลรุ่งเรืองขึ้น ประกอบกับการขนส่งด้วยรถไฟสามารถทดแทนการค้าภายในผ่านคลองขุด การดูแลรักษาคลองต้าหยุนเหอก็เป็นภาระทางงบประมาณไม่คุ้มค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่ได้รับ เมืองเซี่ยงไฮ้ที่อยู่ห่างออกไปทางชายฝั่งทะเลตะวันออกกลายเป็นเมืองท่าการค้าหลักทดแทน ทำให้สภาพโดยรวมของหังโจวทรุดโทรมลง แม้กระทั่งวัดหลิงอิ่น ศาลงักฮุย ทะเลสาบซีหู ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันงดงามของจีนมากว่าพันปีก็ขาดการบำรุงรักษา เจดีย์เหลยเฟิงที่เป็นตำนานรักของนิทานพื้นบ้าน “นางพญางูขาว” ถล่มลงจากภัยแผ่นดินไหวก็ไม่ได้รับการซ่อมแซม และยิ่งเมื่อผจญกับการปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้โบราณสถานและโบราณวัตถุถูกรื้อทุบทำลายไปเป็นจำนวนมาก

นครหังโจวเพิ่งกลับมาได้รับการฟื้นฟูและพบกับช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์อีกครั้ง ภายหลังนโยบายสี่ทันสมัยและการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีของเติ้งเสี่ยวผิง โดยหังโจวถูกกำหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในปี 1993 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทค เทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และการแปรรูปอาหาร และนั่นคือจุดกำเนิดของอาลีบาบากรุ๊ป

ป้ายหิน Alibaba

ด้วยความทุ่มเทสนับสนุนของภาครัฐ สถาบันการศึกษาในหังโจวกลายเป็นแหล่งรวมความรู้และการค้นคว้าวิจัย ตั้งแต่ระดับวิทยาลัยครูจนถึงมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ประวัติศาสตร์การค้ายาวนานของหังโจวเป็นแหล่งภูมิปัญญาเพื่อค้นคว้าต่อยอดจากรากฐานดั้งเดิมไปพร้อมกับโลกอินเทอร์เน็ตสมัยใหม่

ในปี 1995 แจ็คหม่าเดินทางไปสหรัฐอเมริกาและพบความมหัศจรรย์ของอินเทอร์เน็ตที่สามารถติดต่อหาสินค้ากับชาวจีนในอเมริกาที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอย่างง่ายดาย แต่เมื่อเขาค้นหาเกี่ยวกับเมืองจีนในอินเทอร์เน็ตกลับไม่พบสิ่งที่เขาต้องการเลย ทำให้เขาตัดสินใจสร้างบริษัทและเว็บไซต์จีนขึ้นมาและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว หลังจากแจ็คหม่าลาออกจากงานในบริษัทของศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (CIECC) กระทรวงพาณิชย์จีน เขาได้ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบาขึ้นในปี 1999 ที่หังโจว บ้านเกิดของเขาเอง โดยใช้แนวคิดการเป็นตลาดให้แก่ผู้ค้ารายย่อย เช่นเดียวกับ amazon.com ทำในสหรัฐอเมริกา อาลีบาบาอาศัยข้อได้เปรียบของหังโจวที่เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจไฮเทค ซึ่งขั้นตอนระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ น้อยกว่า อีกทั้งใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพจากการศึกษาชั้นสูงดึงดูดความก้าวหน้าให้เกิดขึ้น

เครือข่ายการค้าผ่านเว็บไซต์ของอาลีบาบาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้ง Taobao.com, Tmall และได้เปลี่ยนระบบการรับจ่ายเงินของชาวจีนด้วยระบบ Alipay จนในปัจจุบัน นครหังโจวนับว่าเป็นเมืองที่ก้าวหน้าที่สุดในเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน ด้วยระบบจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์ตั้งแต่รถประจำทางไปจนถึงร้านขายของรถเข็นริมทะเลสาบซีหู และยังมีร้านค้าอัตโนมัติที่ปราศจากพนักงานเพื่อทดลองระบบปัญญาประดิษฐ์ให้บริการ

สำนักงานใหญ่ของอาลีบาบากรุ๊ปตั้งอยู่เขตเมืองใหม่อวี้หังทางตะวันตกของหังโจว ใกล้กับเขตอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำซีซี พื้นที่กว้างใหญ่กว่า 150,000 ตารางเมตร ออกแบบสถาปัตยกรรมโดย Hassel Studio เป็นเหมือนเครื่องหมายแทนความเจริญของการค้ายุคใหม่ในระดับโลกของนครเก่าแก่อายุพันปีแห่งนี้

ออฟฟิศ Alibaba

ถ้าพันสี่ร้อยปีก่อน สุ่ยหยางตี้บัญชาขุดคลองใหญ่ด้วยปณิธานเช่นใด ในยุคนี้ สีจิ้นผิงก็คงบัญชาการสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงและ Belt-Road Initiative ด้วยปณิธานไม่ต่างกัน หังโจวในยุคอาลีบาบา รุ่งเรืองยิ่งไปกว่าในยุคต้าหยุนเหอ เพราะกลายเป็นต้นสายของการค้าสมัยใหม่ในระบบออนไลน์ ที่สร้างเงินตรารายได้ให้หลั่งไหลไปทั่วแผ่นดินจีน และทั่วโลก พร้อมกับการขนส่งผ่านโครงข่ายรถไฟและท่าเรือจีน

หากทว่า จุดจบของสีสิ้นผิง จะเป็นเช่นเดียวกับความทะเยอทะยานของสุ่ยหยางตี้หรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นคำตอบ

แต่แม้อนาคตจะจบลงอย่างไร แจ็คหม่าและความรุ่งเรืองของหังโจวจากสายธารการค้าอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบาคงไม่สิ้นไปโดยง่าย เฉกเช่นเดียวกับสายน้ำเฉียนถังที่ล่องไหลสู่คลองใหญ่ต้าหยุนเหอมาจนปัจจุบัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save