fbpx
ตายแล้ว (จะ) ไปไหน? : 5 วิธีจบชีวิตแบบกรีนๆ ที่ดีต่อโลก

ตายแล้ว (จะ) ไปไหน? : 5 วิธีจบชีวิตแบบกรีนๆ ที่ดีต่อโลก

ในทางพุทธศาสนา ความตายถือเป็นสิ่งธรรมดาในการมีอยู่ของชีวิตที่เกิดขึ้นกับทุกคนได้ตลอดเวลา

และเมื่อชีวิตดับสูญไป พุทธศาสนสุภาษิตคำหนึ่งก็ได้บอกเอาไว้ว่า น มิยฺยมานํ ธนมนฺเวติ กิญฺจิ หรือ เมื่อตาย ทรัพย์สักนิดก็ติดตามไปไม่ได้ เพราะเราเกิดมาก็มีเพียงร่างกาย ตอนตายจะหวังกอดสมบัติด้วยคงไม่ไหว แต่ถึงเราจะเอาอะไรติดไปในโลกหลังความตาย (หากโลกนั้นมีอยู่จริง) ไม่ได้ – เราก็สามารถเลือกที่จะ ‘ทิ้ง’ อะไรไว้ให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้

หนึ่งในนั้นคือการไม่ทำให้ร่างกายของเราเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ ‘โลกร้อน’ มากขึ้นไปกว่าเดิม

 

ตามข้อมูลทางสถิติ อัตราการเสียชีวิตของคนไทยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 480,434 คน[1] ในขณะที่ถ้าลองมาดูตัวเลขที่จำลองจากโมเดลทางคณิตศาสตร์ จนถึงตอนที่เรากำลังนั่งเขียนถึงบรรทัดนี้ ทั่วทั้งโลกมีคนเสียชีวิตตั้งแต่ต้นปีไปแล้วถึง 51,904,400 คน (ลองเข้าไปจ้องตัวเลขเพื่อปลงอสุภะได้ที่นี่)

และเมื่อการตายของมนุษย์ผูกโยงกับความเชื่อและวัฒนธรรม วิธีจัดการกับความตายของคนกว่า 45 ล้านคนจึงต่างกันออกไป ไม่ว่าจะฝังตามแบบคริสต์ เผาตามแบบพุทธ แม้จะมีตัวเลือกอื่นอย่างการบริจาคร่างกายให้เป็นสาธารณกุศลสำหรับคนที่ไม่ได้เคร่งศาสนาหรือเชื่อเรื่องภพชาติมากนัก แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เราก็ยังเห็นการจัดการกับร่างผู้เสียชีวิตตามพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ อยู่ดี

แม้ร่างจะสูญสลายไปพร้อมความเศร้าของคนที่ยังอยู่ แต่สิ่งที่ฝากเอาไว้คือ ‘มลพิษ’ ที่เกิดจากวิธีจัดการกับร่างของผู้เสียชีวิตในแบบที่เราคุ้นเคย

ในสหรัฐอเมริกาที่คนส่วนใหญ่เลือกจะใช้วิธีฝังศพลงในหลุมตามแบบฉบับของศาสนาคริสต์ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการฝังร่างลงเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติเพื่อให้เปื่อยยุ่ยไปพร้อมกับดิน เพราะวิธีนี้ยังต้องใช้คอนกรีตสำหรับเทลงในหลุม ใช้ไม้และเหล็กสำหรับทำโลงศพ และใช้ฟอร์มาลดีไฮด์สำหรับดองศพเพื่อฉีดไม่ให้ศพเน่าเปื่อยเร็วแม้ร่างจะลงไปนอนในหลุมศพแล้วก็ตาม

มีการประมาณว่าในแต่ละปี พิธีฝังศพในสหรัฐอเมริกาใช้คอนกรีตทำโครงสร้างหลุมมากพอที่จะเอาไปสร้างถนนไฮเวย์สองเลนยาวได้ถึงครึ่งประเทศ

ใช้เหล็กทำโลงศพในปริมาณมากพอที่จะสร้างสะพานโกลเด้นเกทได้อีกแห่ง และถ้างัดเอาไม้จากโลงศพในสุสานขนาด 40,000 ตารางเมตรมาสร้างบ้าน ก็มากพอที่จะเอาไปสร้างได้ถึง 40 หลัง ซึ่งถ้าเราย้อนตามสายพานการผลิตกลับไป มลภาวะอาจเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น

นอกจากนี้ ฟอร์มาลดีไฮด์ (หรือฟอร์มาลีน) ยังเป็นสารมีพิษที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงให้กับคนทำงาน และเพิ่มมลพิษให้กับโลกจากกระบวนการดองด้วยขั้นตอนปล่อยของเหลวในศพ ทั้งเลือด ของเสีย ของเหลวจากอวัยวะภายใน ฯลฯ ลงสู่ท่อระบายน้ำ

ถ้าการฝังยังมีข้อเสียที่เล่ามาได้ถึงสามย่อหน้า หลายคนอาจบอกว่า ‘ก็เผาแบบคนไทยสิ’ ไม่เปลืองทรัพยากร ไม่ต้องใช้พื้นที่มากมาย เหลือไว้ดูต่างหน้าแค่อัฐิในโกศเล็กๆ เท่านั้นเอง

แต่ในการเผาศพแต่ละครั้ง เราต้องใช้น้ำมันมากถึง 28 แกลลอน ซึ่งจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 245 กิโลกรัม ไม่รวมสารพิษอย่างปรอทที่จะระเหยออกมาจากฟันของศพที่ผ่านการอุดฟันมาก่อน (จากวัสดุแบบอมัลกัมที่ทำจากปรอท เงิน ทองแดงและสังกะสี) ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่ชั้นบรรยากาศที่ถูกทำลายเท่านั้น แต่เป็นร่างกายของคนที่ยังอยู่ที่จะถูกทำลายจากการสูดดมเข้าไปด้วยเช่นกัน

 

แล้วเราจะจากโลกนี้ไปอย่างไรให้ดีต่อโลก เมื่อทั้งฝังและเผาต่างก็สร้างมลพิษต่อโลกด้วยกันทั้งนั้น?

ต่อไปนี้คือ 5 วิธีจัดการร่างไร้ชีวิตแบบกรีนๆ ที่กำลังเป็นทางเลือกใหม่ในการฝากสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับคนรุ่นหลัง เผื่อจะเป็นไอเดียเขียนเอาไว้ในพินัยกรรมให้ลูกหลานทำตามเจตนารมณ์ในอนาคต

 

ฝังแบบรักษ์โลก

ทุกวันนี้เวลาเข้าไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต เราอาจเห็นโซนที่ขายเฉพาะสินค้าออร์แกนิกที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ถ้าแนวคิดนี้จะถูกเอามาใช้กับการฝังศพ

เพราะแม้ว่าวิธีฝังแบบเก่าๆ จะสร้างมลภาวะกับโลกมากมายหลายสิ่งอย่างที่เราเล่าไป แต่สำหรับชาวคริสต์บางคนที่อาจจริงจังกับการต้องใช้วิธีฝังร่างไร้ชีวิตเท่านั้น (เนื่องจากศาสนาคริสต์บางนิกายก็ไม่เห็นด้วยกับการเผาศพ) ทว่าก็ยังอยากมีทางเลือกที่ดีกว่า ที่สหรัฐอเมริกาเลยมีหน่วยงานที่ชื่อว่า Green Burial Council ที่มาขับเคลื่อนรณรงค์การทำพิธีฝังศพที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็เคารพต่อความเชื่อทางศาสนาของแต่ละบุคคลไปพร้อมๆ กัน

หน่วยงานนี้จะทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างจริงจัง ให้เครื่องหมายรับรองกับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับงานศพที่ใช้วัตถุดิบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นสารคงสภาพศพที่ไม่เป็นพิษ ทำจากน้ำมันธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ หรือจะเป็นโลงศพที่ทำมาจากไม้ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ตัดมาจากแปลงปลูกที่ปลูกต้นไม้อย่างยั่งยืน แถมยังคัดกรองบริษัทรับจัดงานศพที่ให้บริการและใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีออกเป็นสามเกรดตามความยืดหยุ่นของตัวเลือก เพื่อเป็นชอยส์ให้กับผู้รับบริการที่อยากให้การตายของตัวเองไม่เป็นพิษต่อโลกอย่างที่เคยเป็นมา

           

แช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว

อาจฟังดูน่ากลัวไปเสียหน่อย แต่วิธีที่เรียกว่ากระบวนการ Promession ที่คิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ก็อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่มาแทนที่การเผาด้วยไฟแบบที่เราคุ้นเคย เพราะนอกจากจะไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงที่อาจปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ เรายังได้อัฐิที่ได้จากการป่นร่างที่ถูกแช่แข็งเก็บไว้เป็นที่ระลึกไม่ต่างกัน

วิธีที่ว่านี้จะใช้การแช่แข็งร่างผู้ตายที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงย้ายไปแช่ในอ่างที่มีไนโตรเจนเหลวเพื่อลดอุณหภูมิลงให้เหลือ -196 องศาเซลเซียส เมื่อร่างแข็งตัวแล้วจะถูกวางลงบนแท่นที่จะสั่นจนกลายเป็นผง นำเอาส่วนที่เป็นน้ำออกด้วยการ freeze-dried ในห้องสุญญากาศ แยกโลหะอุดฟันที่อาจเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมออกไป จนเหลือเป็นอัฐิอนุภาคเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงหนึ่งมิลลิเมตรเพื่อให้ญาตินำไปทำพิธี หรือเก็บไว้ระลึกถึงต่อไป

แม้จะฟังดูเป็นไอเดียที่ดีและไม่ปล่อยของเสียให้กับโลก แต่จนถึงปัจจุบัน วิธีนี้ยังไม่ได้รับการรับรองให้ทำได้ในมนุษย์

 

ละลายร่างในน้ำ

แต่วิธีที่ใกล้เคียงกันและเริ่มใช้แล้วในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา คือวิธีที่เรียกว่า Alkaline Hydrolysis หรือ Water Cremation (ฌาปนกิจด้วยน้ำ) ซึ่งเป็นการนำร่างผู้เสียชีวิตเข้าไปในเตาที่ด้านในจะถูกเติมด้วยสารละลายโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ จากนั้นใส่ความร้อนเข้าไปอีก 150 องศาเซลเซียสเพื่อ ‘ละลาย’ ร่างให้เหลือเพียงโครงกระดูกในเวลา 12 ชั่วโมง

ถึงเราจะใช้คำว่าละลาย ก็ไม่ได้หมายความว่านี่คือการเอาร่างกายของคนที่รักไปแช่ในอ่างน้ำกรด เพราะโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์คือสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นเบส ซึ่งมีความสามารถในการช่วยเร่งปฏิกิริยาของโมเลกุลไฮโดรเจนในน้ำให้เข้าไปสลายพันธะเคมีในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย แม้กระทั่งดีเอ็นเอก็ถูกทำลายไปด้วย เหลือเพียงโครงกระดูก โลหะจากที่อุดฟัน ฯลฯ

กระบวนการ Water Cremation ได้รับการยอมรับว่าสร้างมลพิษน้อยที่สุด เพราะสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพียงหนึ่งในสี่ของการเผาโดยทั่วไป และเพียงหนึ่งในหกเมื่อเทียบกับการฝังแบบปกติ ที่สำคัญ ของเหลวที่เหลือจากกระบวนการยังปราศจากเชื้อ ไม่สร้างมลภาวะให้กับโลกด้วย

 

เปลี่ยนร่างกายเป็นเมล็ดพันธุ์

จะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถใช้ร่างกายไร้ชีวิตของตัวเองเป็นเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ได้ – Capsula Mundi หรือ ‘แคปซูลของโลก’ คือผลงานของทีมวิศวกรจากภาควิชา Biosystens Engineering and Soil Science ที่ University of Tennessee ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวเลือกให้ ‘ความตาย’ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ชีวิต’

โลงศพรูปไข่ที่ทำมาจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติสามารถบรรจุได้ทั้งร่างของผู้ตาย (ในท่าเหมือนตอนที่เรายังอยู่ในครรภ์มารดา) หรืออาจเป็นอัฐิก็ได้ ในกรณีที่เป็นการบรรจุร่าง กระบวนการย่อยสลายใต้ดินทั่วๆ ไปมักจะมีปัญหาย่อยไม่หมด แถมยังเกิดก๊าซมีเทนด้วย เนื่องจากเป็นการย่อยแบบไม่ใช่ออกซิเจน แต่วัสดุที่ Capsula Mundi ใช้จะช่วยให้มีออกซิเจนไหลเวียนในกระบวนการย่อยสลายร่างอย่างสมบูรณ์

เมื่อนำไปฝังใต้ดินพร้อมกับปลูกต้นอ่อนของต้นไม้ที่ผู้ตายเลือกไว้ตอนยังมีชีวิต ร่างที่ย่อยสลายของผู้ตายก็จะกลายเป็นสาอาหารที่ช่วยให้ต้นไม้ด้านบนเติบโต กลายเป็นอนุสรณ์ที่ส่งต่อจากชีวิตหนึ่งที่จบลง สู่อีกชีวิตหนึ่งที่กำลังเติบใหญ่ ให้ญาติได้ระลึกถึงแทนการมองแท่นหินสลักชื่อเหมือนการฝังแบบธรรมดา

 

กลับคืนสู่ธรรมชาติ

ในขณะที่วัฒนธรรมและศาสนา (ที่เกิดขึ้นไม่นาน) ทำให้เราสร้างพิธีกรรมจัดการกับร่างไร้วิญญาณมากมายที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อโลก ย้อนกลับไปในยุคเริ่มแรกของมนุษย์ เรากลับจัดการกับความตายด้วยวิธีเรียบง่ายอย่างการนำร่างกายของผู้ตายลงสัมผัสกับหลุมบนผืนดินตามธรรมชาติ อย่างที่ไม่ต้องมีโกศ มีหินสลักชื่อในสุสาน มีฮวงซุ้ย หรือมีโลงศพหรูหราทำจากเหล็กให้วุ่นวาย

ปัจจุบัน การจัดการศพแบบธรรมชาติในสุสานที่หน้าตาเหมือนป่า หรือที่เรียกว่า Woodland Burial คือการฝังร่างหรือเถ้าถ่านของผู้เสียชีวิตลงในดิน ในพื้นที่ป่าสีเขียวที่มองจากภายนอกก็คงไม่มีใครรู้ว่าที่นี่คือสุสาน เพราะแทนที่จะมีป้ายหินบอกชื่อและล็อกที่ฝังของผู้ตาย ต้นไม้ หรือป้ายชื่อไม้ที่สามารถย่อยสลายได้จะถูกปลูกหรือปักเอาไว้ (บางทีจะบอกเป็นพิกัดจีพีเอส) เพ่ือความสะดวกในการกลับมาแสดงความเคารพศพ

ข้อกำหนดมีเพียงแค่ร่างของผู้ตายจะต้องบรรจุในวัสดุที่ย่อยสลายได้เท่านั้น สำหรับบางแห่งก็เปิดให้เข้ามาทำพิธีทางศาสนา หรือหากไม่ต้องการหรือเป็นชาวเอธีส ถ้าอยากมาฝังเฉยๆ ก็ทำได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาจบชีวิตสุดท้ายในพื้นที่ที่มีวงจรชีวิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วนเวียนอยู่ตลอดเวลา

 

เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นใคร ร่างกายของมนุษย์ก็สูญสลายกลายเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น อยู่ที่ว่าเราจะจบมันอย่างไรให้กระทบกับคนที่ยังอยู่ให้น้อยที่สุด

นั่นคือสิ่งที่ทุกคนเลือกได้ ก่อนชีวิตของตัวเองจะจบลง

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง How Your Death Affects Climate Change โดย Katrina Spade จาก Huffington Post

คลิปเรื่อง We need to change how we bury the dead โดย VOX

คำอธิบายเรื่อง W H A T   I S   G R E E N   B U R I A L? จาก Green Burial Council

บทความเรื่อง Eight Effective Ways to Dispose of a Body โดย Garry Rodgers จาก Huffington Post

บทความเรื่อง Governor Signs Law Allowing Californians to Choose to Liquefy Their Remains โดย Lesley McClurg จาก KQED Science

บทความเรื่อง The biodegradable burial pod that turns your body into a tree โดย Paula Erizanu จาก CNN

รายละเอียดการจัดการศพแบบธรรมชาติในสุสานที่หน้าตาเหมือนป่า (Woodland Burial)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save