fbpx
ความลึกซึ้งซับซ้อนของกราฟิกโนเวล

ความลึกซึ้งซับซ้อนของกราฟิกโนเวล

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

1

ยามตะวันโปรยแสง

ความเศร้าซุกซ่อนในเงาเข้ม

ตราบจนม่านดำคลี่คลุม

ทุกข์โศกจึงร่าเริงตามท้องถนน*

 

ไม่รู้ว่าคุณชอบอ่านกราฟิกโนเวลไหม

กราฟิกโนเวลไม่ใช่การ์ตูน ไม่ใช่หนังสือนิทานภาพ และไม่ใช่นิยายที่เต็มไปด้วยตัวอักษร แต่มันคือเนื้อหาซึ่งเรียงร้อยด้วยความคิดอันลึกซึ้งกว่าที่เราพบได้ในหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็ก ประกอบไปด้วยภาพวาดของเจ้าของเรื่อง หรือไม่ก็อาจเป็นนักวาดภาพประกอบอีกคนหนึ่งก็ได้ แต่ภาพประกอบนั้นไม่ใช่ภาพประกอบแบบ Illustration หรือมีไว้เพียงเพื่อ ‘ประกอบ’ เรื่องเท่านั้น ทว่าต้องมีส่วนสำคัญในการ ‘เล่าเรื่อง’ ด้วย

ดังนั้น กราฟิกโนเวลจึงเป็น ‘เรื่องเล่า’ ที่มีทั้งตัวอักษรและภาพ ในอัตราส่วนที่สมดุลกัน

กราฟิกโนเวลเป็นงานศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งที่มักถูกมองข้าม ค่าที่มันอยู่บน ‘พรมแดน’ ระหว่างการ์ตูนและตัวอักษร บางครั้งผู้อ่านจึงไม่แน่ใจว่ามันคืออะไรกันแน่

คนที่คิดค้นคำว่า กราฟิกโนเวล (Graphic Novel) ขึ้นมา คือริชาร์ด ไคล์ (Richard Kyle) ในปี 1964 คำนี้ไม่ได้ ‘ฮิต’ ในทันที แต่เป็นคำที่ได้รับความนิยมหมู่คนรักการ์ตูนแบบ Comics หลังเกิดกราฟิกโนเวลของค่าย Marvel ขึ้นในปี 1982 แล้วหลังจากนั้นก็เป็นคำที่แพร่หลายต่อสาธารณชน แต่กว่าจะกลายมาเป็น Category หนึ่งในร้านหนังสือเป็นครั้งแรก ก็ในปี 2001

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ผู้คนคุ้นเคยกับกราฟิกโนเวลแบบ Marvel หลายคนจึงนึกภาพกราฟิกโนเวลแบบอื่นๆ ไม่ออก ทั้งที่จริงๆ แล้วกราฟิกโนเวลก็เหมือนโลกของโนเวลหรือนวนิยายนั่นแหละครับ – คือมันเต็มไปด้วยความหลากหลาย

ในไทยมีนักเขียนแนวกราฟิกโนเวลอยู่หลายคน แต่ที่อยากแนะนำให้คุณรู้จัก (ถ้าหากว่าคุณไม่ได้รู้จักอยู่ก่อนแล้วน่ะนะครับ) ก็คือ – องอาจ ชัยชาญชีพ

เขาเป็นที่รู้จักจากการ์ตูนชุด ‘หัวแตงโม’ ซึ่งมีด้วยกันหลายเล่ม เช่น ‘เมื่อหัวข้าพเจ้ากลายเป็นแตงโม’ ‘หัวเปลี่ยนไป ใจเปลี่ยนแปลง’ หรือ ‘ใจบันดาลแรง’ เป็นต้น

หนังสือหลายเล่มของเขาเป็นกราฟิกโนเวลที่มีรูปภาพมากกว่าถ้อยคำ แต่บางเล่มก็เกือบจะพูดได้ว่ามีถ้อยคำ (ทั้งลายมือเขียนและพิมพ์) มากกว่ารูปภาพ แต่ที่เหมือนกันเสมอ ก็คือความลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ภายใน

เล่มหนึ่งคือหนังสือชื่อ The Last Breakfast อันเป็นเรื่องของไฮอัง สิ่งมีชีวิตน่ารักที่อาศัยอยู่บนดาวดวงหนึ่ง ไฮอังเขียนบทกวีในความคิดขณะกำลังกินข้าวเช้าที่ประกอบไปด้วยข้าวสวยหอมมะลิ บลูชีส แตงกวาดอง และน้ำซุปเต้าหู้ แต่แล้วเธอก็หายตัวไปสู่ป่าประหลาด ที่ซึ่งการผจญภัยของเธอได้เริ่มต้นขึ้น

 

เมื่อโลกหมุนเวลาจึงผัน

เงาในน้ำมิใช่ดวงจันทร์แท้

แต่ไขว่คว้ายากกว่าจันทราเบื้องบน *

 

เขาเขียนอะไรอย่างนี้ไว้ในเรื่องเล่าเล่มนี้ เล่มที่เป็นการเดินทางประหลาดของสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ซึ่งกว่าจะพานพบปลายทางของตอนจบ ก็ต้องผ่านเรื่องราวหลากหลาย ทั้งฝูงกระต่ายที่กลุ้มรุมทำร้ายกระต่ายต่างสี และนักต่อสู้เพื่อโลกเสรีที่ไม่ยอมปล่อยให้ผู้อื่นเสรี

สำคัญกว่านั้น การเดินทางของไฮอังทำให้ผู้เดินทางต้องตั้งคำถามว่า – การเดินทางนี้คือความฝันหรือเปล่า

หรือที่ที่ไฮอังจากมา ที่ที่เธอทิ้งอาหารเช้าเคล้าแดดอุ่นเอาไว้บนโต๊ะแห่งนั้นกันแน่-ที่คือความฝัน

กราฟิกโนเวลเล่มนี้ไม่เหมือนกราฟิกโนเวลของ Marvel ที่สนุกสนานฉูดฉาด หรืออาจเต็มไปด้วยแอ็คชั่น ทว่าหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนตัวละครในหนังสือเล่มนี้ ตัวละครที่เขียนบทกวีบทแล้วบทเล่า เนิบช้าอ้อยอิ่งด้วยจังหวะเดียวกับลมหายใจ แล้วปล่อยออกไป…ปล่อยออกไป

หวังเพียงให้หนึ่งในนั้นไปถึงใครบางคนบนดาวที่จากมา *

 

2

อีกเล่มหนึ่ง คือหนังสือที่มีรูปภาพน้อยกว่าตัวอักษร มันคือหนังสือชื่อ ‘วิชาตัวเรา’ มันเป็นหนังสือที่ว่าด้วย ‘วิชา’ ต่างๆ ในชีวิตที่ผู้เขียนพบพาน เราจะได้ละเลียดเรียนรู้วิชาต่างๆ ที่ผู้เขียนเขียนไว้ทีละบท ก่อนจะจบลงที่บทสุดท้าย บทที่ว่าด้วยการจากลาอันแสนจริงแท้บทน้ัน

บทสุดท้ายของหนังสือเป็นเรื่องราวการเดินทางของผู้ชายคนหนึ่งที่ได้พบพานกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง ชายผู้แสนเหงา ชายผู้อยู่ลำพังในบ้านที่ผิดที่ผิดทางแห่งหนึ่ง

ความสัมพันธ์ของพวกเขาเริ่มขึ้นเงียบๆ ในฐานะเจ้าบ้านผู้เปิดบ้านให้เช่า กับลูกค้าที่มาค้างคืนเพียงคืนเดียว กับการนั่งดื่มด้วยกันเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่กระนั้น ช่วงเวลาเล็กน้อยเหล่านี้ก็เผยแสดงให้เห็นว่า – ลึกลงไปภายใน ใครคนหนึ่งเปล่าดายมากเพียงใด

 

เขาแล่ปลาแช่มช้า บอกให้ผมรอข้าวสวยที่กำลังหุงอีกสักพัก แล้วก็เปรยขึ้นมาว่าถ้ากลับเที่ยวรถบัสตามที่ผมตั้งใจไว้ไม่ทันก็เปลี่ยนเป็นกลับรถไฟในช่วงบ่ายก็ได้นี่นา

“ค่าตั๋วรถไฟมันแพงกว่ารถบัส” ผมบอกเขา

“ผมออกค่ารถไฟให้ก็ได้” เขาเสนอ

ผมส่ายหน้าแล้วยิ้มให้เขา**

 

เรื่องเป็นเช่นเดียวกับการเดินทางของผู้คนที่ร่อนเร่ไปพบพานใครอีกคนหนึ่ง เมื่อน้ำค้างยามเช้าระเหยแห้งไป การอำลาก็ต้องเกิดขึ้น เหมือนความรู้สึกของการทอดทิ้งทะเลสาบใสแจ๋ว กบกระโดด และดอกไม้อัลไพน์ดอกจิ๋วที่เพิ่งเริ่มผลิไว้ที่มุมหนึ่งของโลก โดยรู้ดีกว่าจะไม่ได้พบกันอีก

ชีวิตเป็นแบบนี้นี่เอง

 

3

‘วิชาตัวเรา’ อาจไม่ค่อยเป็นกราฟิกโนเวลสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เล่าไว้ในย่อหน้าข้างบน ในอีกด้าน หนังสือที่ผมชอบมากที่สุดของเขาก็อาจถือว่าเป็นกราฟิกโนเวลได้ยากอยู่สักหน่อย เพราะมันเป็นการ์ตูนหัวแตงโมชุดพิเศษ ที่เป็นเหมือนหนังสือรวมภาพประกอบถ้อยคำมากกว่าจะเป็นโนเวลในความหมายของมัน แต่กระนั้นก็ลึกซึ้งอย่างยิ่ง

หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า Slow But Grow

ในงาน Thai Rise ที่แฟรงค์เฟิร์ตบุ๊คแฟร์เมื่อปี 2015 หนังสือเล่มนี้ได้รับการคัดเลือกไปจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย โดยมีคำนิยมว่า

 

เล่มนี้เป็นการ์ตูนหัวแตงโมชุดพิเศษ ที่มีชื่อว่า Slow But Grow เป็นหนังสือภาพประกอบที่ให้แง่คิดลึกซึ้งคมคาย ด้วยภาพการ์ตูนง่ายๆ แต่สวยงาม ประกอบกับคำพูดเพียงเล็กน้อย ทว่ากระตุกความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของเราให้เห็นด้วย ต่อต้าน และตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่

ภาพจากหนังสือที่คัดสรรมานี้ แสดงให้เห็นถึงแนวคิดหลักของหัวแตงโม คือการแสดงให้เห็นว่า ความแตกต่างหลากหลายไม่ใช่ความแปลกประหลาด มิตรภาพสามารถเกิดขึ้นได้ในความหลากหลายของตัวตน การผลักดันให้ผู้อ่านมีความกล้าหาญที่จะทดลองใช้ชีวิต มีความคิดฝันเพื่อก้าวไปข้างหน้า และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ระหว่างตัวเองกับผู้อื่น และระหว่างตัวเองกับตัวเอง โดยมองความเป็นไปต่างๆ ด้วยสายตาที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ หยั่งทะลุเห็นความเป็นจริงของชีวิต แฝงเร้นไว้ด้วยปรัชญาของการใช้ชีวิตโดยไม่มีท่าทีสูงส่ง แม้จะไม่มีเรื่องเล่าเป็นแกนหลักของเล่ม แต่หนังสือเล่มนี้กลับฉุดผู้อ่านให้ครุ่นคิดถึงเรื่องต่างๆ ผ่านการใช้ถ้อยคำเพียงเล็กน้อย พูดได้ว่า นั่นคือจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้

 

จะเห็นได้ว่า หนังสือแนวกราฟิกโนเวลนั้น เป็นหนังสือที่มีความลึกซึ้งซับซ้อนไม่แพ้งานวรรณกรรมดีๆ เลย ซ้ำยังใช้ภาพสวยงามมานำเสนอด้วย

ถ้าใครยังไม่คุ้นเคย ลองหยิบกราฟิกโนเวลสักเล่มมาอ่านดูสิครับ

แล้วคุณจะติดใจ

 

เชิงอรรถ

* ข้อความจากหนังสือ The Last Breakfast

** ข้อความจากหนังสือ วิชาตัวเรา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save