fbpx
Facebook ที่ไร้ Mark Zuckerberg

Facebook ที่ไร้ Mark Zuckerberg

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

Mark Zuckerberg คือบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในโลกธุรกิจในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เขาไม่แค่เพียงเป็นผู้นำของบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคนบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ เขายังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่ถือสิทธิ์การโหวตออกเสียงมากที่สุด มีอำนาจควบคุมบอร์ดบริหารทั้งหมด เขาไม่จำเป็นต้องรับคำสั่งจากใคร อยากทำอะไรไม่มีใครสามารถห้ามได้ และนั้นหมายความว่าเขาถูกปลดออกจากตำแหน่งไม่ได้แม้คนอื่นเห็นสมควร สิ่งที่เขาทำได้คือการสละเก้าอี้แล้วเดินจากไปจากตำแหน่ง

และนั่นอาจจะเป็นสิ่งเดียวที่เขาต้องทำ

 

การลาออกจากตำแหน่งสามารถเปิดโอกาสอีกครั้งเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและกอบกู้ชื่อเสียงคืนกลับมา ไม่ใช่เพียงแค่ในส่วนตัวของเขาเองแต่ของบริษัทอีกด้วย และที่สำคัญกว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โลกทั้งใบนั้นแหละที่น่าจะได้รับผลประโยชน์

ถึงตอนนี้คงไม่มีใครเถียงว่าเฟซบุ๊กนั้นมาไกลมากจากเว็บไซต์ที่เอาไว้ให้เด็กมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดเชื่อมโยงหากัน เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ตรงนั้นและลามไปทั่วโลกภายในเวลาไม่กี่ปี การเติบโตของเฟซบุ๊กเป็นเรื่องที่ต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของยุคแห่งข้อมูลและโลกอินเทอร์เน็ต มันกลายเป็นจุดศูนย์กลางของทุกอย่าง ตั้งแต่การส่งข้อความ แชร์รูปภาพกับเพื่อน ไปจนถึงการเช็คอินว่าตัวเองนั้นปลอดภัยจากภัยธรรมชาติใหญ่ที่เกิดขึ้น สำหรับบางคนแล้วเฟซบุ๊กก็คืออินเทอร์เน็ตนั้นแหละ

“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” คือไอเดียพื้นฐานของโซเชียลมีเดีย เราต้องการเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนอยากทำกันนัก เฟซบุ๊กได้กำจัดจุดอ่อนตรงนั้น ใครต้องการโพสต์อะไรหรือแชร์มันกับใครก็เป็นเรื่องง่าย ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่ส่วนตัวและสามารถจำกัดขอบเขตของการแพร่กระจายข้อมูลต่างๆ ได้ (ถ้าต้องการ) และนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมกดไลก์ใคร่แชร์ที่เป็นรากฐานสำคัญของเฟซบุ๊กมาจนถึงตอนนี้

แต่ ณ เวลานี้ เฟซบุ๊กกำลังเผชิญปัญหาในลักษณะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก กระอักกระอ่วนเป็นช่วงพายุโหมเข้ามาไม่เว้นจังหวะให้หายใจหายคอ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ CEO ที่ดีนั้นจะถือโอกาสมองตัวเองในกระจก แล้วตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นผู้นำและการตัดสินใจลงมือทำ (และไม่ทำ) อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต่อไปต้องทำยังไง และที่สำคัญมากที่สุดคือต้องถามตัวเองว่าจะรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้นยังไง โดยเฉพาะคนที่เป็นทั้งประธานบริหารและ CEO ต้องคิดแล้วว่าสไตล์การทำงานหรือตัวตนของเขานั้นสามารถสร้างประโยชน์ต่อไปได้ไหม หรือบางทีการสละตำแหน่งอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ารึเปล่า?

นี่คือช่วงเวลาที่ว่า ที่ผ่านมา Mark Zuckerberg เป็นคนคอยออกมาขอโทษขอโพยเสมอถึงความผิดพลาดในสิ่งที่เกิดขึ้น ผลกระทบหลายสิ่งที่เฟซบุ๊กได้ก่อให้เกิดขึ้นจากคำขวัญบริษัท “Move Fast and Break Things” ซึ่งตอนนี้เหมือนกับว่าพวกเขา “Move too fast and Break too many things” ไปซะแล้ว การที่เขาออกมากล่าวขอโทษถึงข่าวการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้กว่า 87 ล้านคนให้กับ Cambridge Analytica ในตอนนี้ ก็เหมือนว่ามันจะสายเกินไปเสียแล้ว

อย่างที่ Tim Cook CEO ของ Apple บอกว่า “ตอนนี้สายเกินไปแล้วที่จะเชื่อใจให้ Zuckerberg แก้ปัญหานี้”

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Mark Zuckerberg ถูกมัดมือมัดเท้าแล้วไม่สามารถทำอะไรได้เลย ที่จริงแล้วมีหลายอย่างด้วยซ้ำที่เขาทำได้…และอาจจะต้องทำ (เต็มใจหรือไม่ก็ตาม) อย่างแรกเลยคือเขาต้องเริ่มเขียนแผนการใหม่ของเฟซบุ๊กวางเส้นทางว่าต่อไปควรไปทางไหน ต้องทำยังไงถึงจะให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานมากขึ้นกว่าเดิมและลดโฟกัสไปที่บริษัทโฆษณา ต่อจากนั้นก็เลือกบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ CEO ต่อจากเขา และสุดท้ายก็เดินออกมาแล้วปล่อยให้คนนั้นทำงานอย่างเต็มที่

ถ้าเป็นเกมนี่ก็คงเหมือนการกดปุ่ม reset ให้เฟซบุ๊กเริ่มใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นการหมุนแกนเพื่อเหวี่ยงโมเมนตัมให้กลับมาอยู่ในฝั่งของตัวเองอีกครั้งหนึ่งเฟซบุ๊กขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทที่มองลูกค้าเป็นเพียงข้อมูลดิบเพื่อสร้างเม็ดเงินจากการโฆษณาต่างๆ มาโดยตลอด ในตอนนี้ต้องกลับมามองภาพที่กว้างขึ้นว่าแท้จริงแล้วพวกเขายังคงอยู่รอดได้เพราะมีผู้ใช้งานอยู่ เพราะฉะนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ควรถูกให้ความสำคัญมากที่สุด ควรป้อนสิ่งที่มีค่าแก่พวกเขา (ข่าวคุณภาพ, อัพเดท, ความปลอดภัย, กลุ่มเพื่อนฝูง, ความสัมพันธ์) และในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพการเป็นส่วนตัวของพวกเขาด้วย อีกอย่างที่ต้องทำคือการคัดกรองสิ่งที่เป็นขยะออก (ข่าวปลอม, โฆษณาแบบ Clickbait, โฆษณาที่ใช้ข้อมูลส่วนตัวที่ละเอียดอ่อน เช่น ศาสนา ความเชื่อ หรือ เพศสภาพ) การขายโฆษณาไม่ได้ผิด เพราะที่จริงเราก็อยู่กับมันมาตลอด แต่วิธีการใช้ข้อมูลอันละเอียดอ่อนเกินไปเพื่อเจาะกลุ่มเฉพาะต่างหากที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกถูกล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว และผู้นำคนต่อไปต้องใช้โอกาสในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะวางผู้ใช้งานเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้พวกเขากลับมาเชื่อมั่นใน Facebook อีกครั้งแทนที่จะมองบนแล้วบึนปากใส่ปิดบัญชีแล้วย้ายไปเฮฮากันที่แพล็ตฟอร์มอื่น

ถ้าใครติดตาม Zuckerberg ก็คงพอจะรู้อยู่แล้วว่าจุดเด่นของเขาคือความฉลาดหลักแหลมแต่ไม่ใช่เรื่องการแสดงความรู้สึกที่อยู่ด้านใน และด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้การบอกเพียงว่า “เราจะให้ความสำคัญกับผู้ใช้เป็นอันดับแรก” เพียงอย่างเดียวมันไม่เพียงอีกต่อไป ผู้ใช้งานทุกคนต้องเชื่อในสิ่งที่คุณพูดด้วย ผู้นำคนต่อไป (ไม่ว่าจะยังเป็น Zuckerberg หรือไม่) ต้องมีความสามารถในการสร้างความมั่นใจ แสดงความจริงใจ และสำคัญที่สุดสามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้ได้อย่างไม่บกพร่อง

อีกประเด็นหนึ่งที่เฟซบุ๊กต้องกลับมาทำการบ้านกันอย่างหนักคือเรื่องข้อกฎหมายสำหรับแต่ละประเทศ เพราะแน่นอนว่ารัฐบาลของแต่ละที่นั้นมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน การทำงานของเฟซบุ๊กเองก็ต้องยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ทำไปเรื่อยๆ พอถูกจับผิดได้ก็ออกมาขอโทษแล้วก็ทำใหม่อีกเรื่อยๆ ในที่อื่น กลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะที่นับวันความน่าเชื่อถือน้อยลงไปทุกที จนวันนี้ถ้า Zuckerberg ออกมาตะโกน “หมาป่า” เสียงดังลั่น ชาวบ้านก็เริ่มไม่สนใจและเบือนหน้าหนีกันแล้ว

แน่นอนว่าถ้าเฟซบุ๊กต้องไร้เงาของ Mark Zuckerberg ฐานะของผู้นำจริงคงเป็นเรื่องที่น่าใจหายไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความน่าตื่นเต้นของการเริ่มต้นใหม่เช่นเดียวกัน เรายังจำเฟซบุ๊กในยุคแรกๆ ที่ผู้ใช้งานมีความสุขในการเข้าไปอ่านข่าวที่รวดเร็ว ดูอัพเดทของเพื่อน ได้หัวเราะ ได้ยินดี ไปพูดคุย ได้กลับไปติดต่อกับเพื่อนเก่า การได้เชื่อมโยงกับคนสำคัญ สิ่งเหล่านี้ถูกลบเลือนหายไปพร้อมกับโฆษณาและข่าวสารปลอมๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดึงความสนใจและในบางสถานการณ์ถึงขั้นสร้างความแตกแยก การเริ่มใหม่อีกครั้งและหันเข็มทิศกลับมาหาผู้ใช้อย่างที่เคยก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อย

 

การเดินตามเส้นทางนี้จะทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทนั้นลดต่ำลงไปสักพัก แต่ในเวลานี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายมากนัก เพราะถ้ามองในระยะยาวแล้วตราบใดที่ยังมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กต่อไปโดยไม่ทิ้งไปที่อื่น ก็ถือเป็นความสำเร็จและสามารถดึงบริษัทกลับมาสู่จุดยืนที่ Zuckerberg เคยกล่าวเอาไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นตอนเข้าตลาดหุ้นว่า

“เฟซบุ๊กไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นบริษัท มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบความต้องการของสังคม เพื่อให้โลกนั้นเปิดกว้างและเชื่อมโยงหากัน เราไม่ได้สร้างบริการนี้ขึ้นมาเพื่อทำเงิน แต่เราทำเงินเพื่อสร้างบริการที่ดีขึ้น”

คำถามต่อมาคือเขาจะตัดสินใจยังไง? และถ้าเขายอมสละตำแหน่งผู้นำแล้วใครกันที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้? มันเป็นคำถามที่มีผู้รู้คำตอบเพียงสองคน – พระเจ้า และ Mark Zuckerberg

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save