fbpx
มาทำสวนของเรากันเถอะ : แมลงในสวน (อังกฤษ) หลังบ้าน

มาทำสวนของเรากันเถอะ : แมลงในสวน (อังกฤษ) หลังบ้าน

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

จะซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน หรือทำสวนไปทำไม ถ้าคุณคิดว่าพรุ่งนี้อาจเกิดปฏิวัติรัฐประหารขึ้นมา

Harry Mount

ผู้เขียนหนังสือ How England Made the English

สวนอังกฤษ (English Garden) เป็นสวนรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมตลอดมา ใครๆ ก็รู้ว่าคนอังกฤษบ้าสวนกันขนาดไหน

ถ้าคุณคลิกเข้าไปดูใน Netflix ในตอนนี้ คุณจะเห็นรายการทำสวนสองรายการ คือ Big Dreams, Small Spaces ซึ่งมีมอนตี้ ดอน (Monty Don) นักจัดสวนชาวอังกฤษเป็นเหมือน ‘กูรู’ ที่มาให้คำแนะนำกับนักจัดสวนมือสมัครเล่นที่บ้าน กับอีกรายการหนึ่งคือ Love Your Garden รายการนี้ก็มี อลัน ทิตช์มาร์ช (Alan Titchmarsh) นักจัดสวนชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งเป็นศูนย์กลางของรายการ

ทั้งคู่ได้ชื่อว่าเป็นนักจัดสวน (ทั้งในนามของ Gardener และ Horticulturer) ผู้เป็น ‘ที่รัก’ ของชาวอังกฤษ

ผมเคยสัมภาษณ์คนทำสวน (Gardener) ชาวอังกฤษคนหนึ่งที่เมืองเฮย์ และจำได้ไม่ลืมถึงบุคลิกพิเศษเฉพาะตัวของเขา เขาเหมือนคนที่ลุ่มหลงและทุ่มเทให้กับการทำสวนตามแบบฉบับของคนอังกฤษแท้ๆ ซึ่งก็เหมือนกับมอนตี้ ดอน และอลัน ทิตช์มาร์ช ด้วย โดยสิ่งที่คนเหล่านี้มีเหมือนกันก็คือ พวกเขาไม่ได้จัดสวนแค่เพื่อความสวยงามภายนอกเท่านั้น แต่สวนของพวกเขามีความหมายที่ย่ิ่งใหญ่และลึกซึ้ง ทั้งต่อตัวของเขาเอง และหยั่งรากลึกลงไปในประวัติศาสตร์ของคนอังกฤษ

ในหนังสือ The Brother Gardeners ของ แอนเดรีย วูลฟ์ (Andrea Wulf) ผู้เขียนเล่าถึงประวัติความเป็นมาของ ‘ความบ้า’ ทำสวนของคนอังกฤษ ว่ามันไม่ได้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น แต่เริ่มหยั่งรากลึกจริงๆ ในช่วงหลังค้นพบทวีปอเมริกาแล้ว และคนอังกฤษใช้การเดินเรือตระเวนไปทั่วโลก จนกลายเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน

ความยิ่งใหญ่ของอังกฤษ ทำให้คนอังกฤษสามารถ ‘เก็บรวบรวม’ พืชพันธุ์สิ่งมีชีวิตต่างๆ นำมารวมไว้บนเกาะอังกฤษได้มากมายมหาศาล รวมทั้งมีการแข่งขันกันว่าจ้างคนให้เสาะหาพืชพรรณแปลกๆ มา อังกฤษจึงกลายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยพรรณไม้ โดยเฉพาะไม้ดอกและไม้ที่ให้น้ำหวาน หนังสือ The Brother Gardeners เล่าถึงช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทำให้อังกฤษกลายมาเป็น A Nation of Gardeners หรือ ‘ประเทศแห่งคนสวน’ ที่ใครๆ ก็ลุกขึ้นมาทำสวนกัน และที่สุดก็ส่งให้ผลสวนแบบอังกฤษกลายเป็นสวนที่ลือชื่อตลอดกาล

สวนอังกฤษไม่ได้มีดีแค่สวยเท่านั้นหรอกนะครับ แต่ต้องบอกคุณก่อนว่า ดั้งเดิมทีเดียวนั้น เกาะอังกฤษไม่ได้มีความหลากหลายทางชีวภาพมากเท่าไหร่นัก แต่พอมีการรวบรวมพืชพรรณต่างๆ เข้ามาไว้บนเกาะแห่งนี้ ทำให้เกาะอังกฤษมีความหลากหลายทางชีวภาพ (ในสวน) มากขึ้นมหาศาลเลยทีเดียว

พูดแบบนี้คุณอาจจะไม่เชื่อเท่าไหร่ ก็สวนเล็กๆ จะไปมีความหลากหลายทางชีวภาพอะไรนักหนาเล่า แต่เรื่องนี้ เจนนิเฟอร์ โอเวน (Jennifer Owen) ซึ่ีงเป็นอาจารย์สอนนิเวศวิทยา ได้ลงมือ ‘ทดลอง’ กับบ้านของตัวเองเลยทีเดียว

โอเวนเคยไปสอนหนังสืออยู่ที่อูกันดาและเซียราลีโอน ในช่วงทศวรรษหกศูนย์ แล้วพอเธอกลับบ้านที่เมืองเลสเตอร์ เธอก็เริ่มสังเกตเห็นว่า สวนหลังบ้านของเธอนั้น มีความหลากหลายของสายพันธุ์ผีเสื้อมากกว่าในแอฟริกาเสียอีก ทั้งที่โดยทฤษฎีแล้ว แอฟริกาที่เป็นประเทศเขตร้อน ควรจะมีความหลากหลายของผีเสื้อมากกว่า

เธอก็เลยสงสัยว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น และในฐานะนักนิเวศวิทยา รวมทั้งเป็นนักสัตววิทยาด้วย เธอก็เลยเริ่มทำสิ่งหนึ่ง นั่นก็คือการจำแนกและระบุว่าในสวนหลังบ้านของเธอมีสัตว์อยู่กี่ชนิด มีอะไรบ้าง

เรื่องนี้ไม่ใช่ง่ายนะครับ เพราะโอเวนต้องใช้เวลารวบรวมยาวนานมาก แต่เนื่องจากเป็นบ้านของเธอเอง เธอก็เลยค่อยๆ เก็บสะสมรวบรวมข้อมูลได้ โดยใช้เวลากว่า 30 ปี แล้วก็พบว่าในสวนสวยที่มีการจัดแต่งอย่างประณีตบรรจง (คือไม่ใช่สวนป่าที่แลดูรกเรื้อ) เธอพบสิ่งมีชีวิตมากมายถึง 2,673 สปีชีส์ โดยในจำรนวนนี้เป็นพืช 474 สปีชีส์ เป็นแมลง 1,997 สปีชีส์ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เช่น แมงมุม อีก 138 สปีชีส์ สัตว์มีกระดูกสันหลังมี 64 สปีชีส์ รวมถึงนก 54 สปีชีส์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 7 สปีชีส์

ประมาณว่า ถ้าเธอมีเวลามากกว่านี้ สุดท้ายแล้วเธอน่าจะพบว่ามีสัตว์ต่างๆ แวะเวียนมาที่สวนหลังบ้านของเธอมากกว่า 8,000 สปีชีส์เลยทีเดียว ทั้งที่พื้นที่สวนของเธอก็แค่เจ็ดร้อยกว่าตารางเมตรเท่านั้น

คำถามก็คือ – ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

หลายคนอาจคิดว่า โอ้โห – ขนาดในสวนหลังบ้านยังมีสัตว์เยอะแยะขนาดนี้ ถ้าเป็นป่าหรือเป็นพื้นที่อื่นๆ เลยเขตบ้านออกไปล่ะ มิมีสัตว์เยอะกว่านี้โขหรอกหรือ

แต่ที่จริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้นเลยครับ เพราะเขาพบว่าความหลากหลายของชีวิตบนเกาะอังกฤษนั้น มันชุกชุมอยู่ใน ‘สวน’ มากกว่าอยู่ในสภาพธรรมชาติ

นี่คือเรื่องที่กลับกันโดยสิ้นเชิงกับป่าเขตร้อน!

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะสวนเหล่านี้ (ที่เรียกว่าเป็น City Gardens หรือสวนในบ้านในเมืองธรรมดาๆ นี่แหละ) จะได้รับการดูแลจากเจ้าของถึงขั้นทะนุถนอมกันเลยทีเดียว เพราะการดูแลสวนนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในสายเลือดของคนอังกฤษ ทำให้สวนหลังบ้านเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์สำหรับทั้งพืชและสัตว์ มากกว่าในท้องทุ่งที่ล้อมรอบเมืองอยู่

ทั่วอังกฤษ สวนแบบนี้ได้วิวัฒนาการผ่านเวลาเป็นร้อยๆ ปี กับต้นไม้ที่เติบโตสูงใหญ่ กระทั่งกลายเป็นสวรรค์สำหรับชีวิตสัตว์ป่า เขาบอกว่า สุนัขจิ้งจอกเพิ่งมาอาศัยอยู่ในแถบลอนดอนเมื่อราวแปดสิบปีมานี้นี่เอง ก่อนหน้านี้ไม่มีนะครับ หรือกวางก็เหมือนกัน ประชากรกวางเพิ่มขึ้นสองเท่ากลายเป็นสองล้านตัวในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยจำนวนมากจะเดินเข้ามาในเมืองโดยผ่านทางรางรถไฟที่เลิกใช้แล้ว ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนเส้นทางสีเขียวตัดสู่เมือง สัตว์ป่าจึงใช้สัญจรเป็นทางด่านได้

พืชพรรณในสวนอังกฤษนั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่พืชพื้นเมืองของอังกฤษนะครับ แต่มาจากทั่วโลกเลย เช่น ถั่ว Runner Beans มาจากอเมริกาใต้, ถั่ว Sweet Pea มาจากซิซิลี, ผัก Spinach มาจากเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือดอกแมริโกลด์ก็มาจากเม็กซิโก เป็นต้น แต่เมื่อมีการนำเข้ามาแล้ว พวกมันกลับเติบโตได้เป็นอย่างดีในเนื้อดินที่อุดมสมบูรณ์ของอังกฤษอย่างไม่น่าเชื่อ

เขาบอกว่ากระทั่งสิ่งที่เป็นมลพิษต่อพืช เช่นเกลือ ก็ยังกระตุ้นให้ต้นไม้บางชนิดเติบโตได้ดี เช่นในช่วงฤดูหนาวของบางปีที่หนาวจัดจนต้องโรยเกลือจำนวนมากลงบนพื้นถนน ปรากฏว่าเกลือเหล่านี้ทำให้พืชที่เรียกว่า Sandwort, กุหลาบหิน และไธม์ป่า งอกงามดี บางชนิดก็เติบโตได้ดีในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อนหน้าที่จะมีแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นเติบโตได้ในดินที่มีตะกั่ว (จากน้ำมันรถยนต์) สูง เป็นต้น

ที่จริงแล้ว ความรักในการทำสวนของคนอังกฤษไม่ได้มีที่มาจากความหลงใหลในพืชพรรณอย่างเดียวนะครับ แต่เป็นเพราะวัฒนธรรมอังกฤษทำให้คนอังกฤษไม่ค่อยยุ่งวุ่นวายเรื่องชาวบ้าน และการทำสวนของตัวเอง คือต่างคนต่างทำกันไป ก็เป็นการสร้างพื้นที่ส่วนตัวให้ตัวเอง คนอังกฤษชอบข่าวกอสซิปนะครับ แต่ไม่ชอบให้ใครมายุ่มย่ามในพื้นที่ส่วนตัว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือหวงแหน Privacy มากกว่าคนชาติอื่น ดังนั้น การทำสวนจึงสอดคล้องกับอุปนิสัย วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ ซึ่งก็ก่อให้เกิดผลดีในทางนิเวศวิทยาตามมา

ที่สำคัญที่สุด มีคำอธิบายอีกอย่างหนึ่งบอกด้วยว่า การทำสวนนั้นต้องลงแรงของตัวเองมาก ดังนั้นถ้าไม่รู้สึกว่าที่นี่เป็น ‘บ้าน’ ที่จะอยู่กันไปจนชั่วชีวิตละก็ รับรองได้ว่าไม่มีใครลงแรงทำสวนหรอก การที่อังกฤษเป็นประเทศแห่งสวน จึงบอกเป็นนัยว่าคนอังกฤษรู้สึกว่าเกาะอังกฤษเป็นที่อยู่ชั่วชีวิตของตัวเอง แต่การที่เป็นแบบนั้นได้ เป็นเพราะอังกฤษเป็นเกาะที่อยู่ปลายสุดของทวีปยุโรป อังกฤษจึงค่อนข้าง ‘ปลอดภัย’ จากภัยสงคราม และมีระบบการเมืองการปกครองที่ค่อนข้างสงบเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่มีปฏิวัติรัฐประหารอะไรกันบ่อยๆ สวนจึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความรักในผืนแผ่นดินของตัวเองออกมาเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ความรักที่พ่นออกมาจากแค่ลมปาก

ด้วยเหตุนี้ สวนอังกฤษจึงบอกอะไรเราหลายเรื่อง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมถึงความรักที่เผยตัวออกมาให้เห็นเป็นรูปร่าง

อ่านแล้วไม่รู้ว่าคุณสนใจจะลองทำสวนดูบ้างไหมครับ

หวังใจว่าคำตอบจะเป็นใช่ แต่ถ้าคำตอบคือไม่ – บางทีเราก็อาจต้องลองพิจารณากันดูอีกทีให้ถ้วนถี่ ว่าเพราะอะไรเราถึงทำสวนไม่ได้เหมือนคนอังกฤษหนอ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save