fbpx
อีสานป๊อป (1) - เมื่อเพลงอีสานทลายกำแพงวัฒนธรรม

อีสานป๊อป (1) – เมื่อเพลงอีสานทลายกำแพงวัฒนธรรม

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมื่อพูดถึงยอดวิวเพลงไทยในยูทูปที่ถล่มทลายในตอนนี้ หลายคนอาจนึกถึงเพลง วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ของ แมกซ์ เจนมานะ แต่ถ้าลองดูตัวเลขจริงๆ จะพบว่าใน 5 อันดับเพลงไทยที่มียอดวิวสูงสุดนั้น มีเพลงอีสานติดอยู่ถึง 3 เพลง ยังไม่รวมยอดการฟังเพลงอีสานที่ที่ยอดวิวเกิน 100 ล้าน อยู่อีกหลายสิบเพลง

ถ้าพูดชื่อของ นกน้อย อุไรพร, ไมค์ ภิรมย์พร, ตั๊กแตน ชลดา หรือศิริพร อำไพพงษ์ คิดว่าน้อยคนจะไม่รู้จัก แม้แต่คนที่ไม่สนใจฟังเพลงอีสานเลย ก็น่าจะเคยได้ยินเพลง ผู้สาวขาเลาะ, คำแพง, คู่คอง, ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน มาบ้าง เพลงเหล่านี้มียอดเข้าชมในยูทูปติดอันดับต้นๆ ของเพลงไทย และติดอันดับ google trend หมวดเพลงที่ได้รับความนิยม ในปี 2017

เพลงไทยที่มียอดวิวสูงสุดใน YouTube 5 อันดับ ปี 2561

นับตั้งแต่การปรากฏของ ไอดิน อภินันท์, วงทอแสง, เพชร สหรัตน์, ก้อง ห้วยไร่, เปิ้ล ปทุมราช, แซ็ค ชุมแพ และลำไย ไหทองคำ  เพลง ‘อีสานอินดี้’ ที่หยิบเอาคำร้องอีสานมารวมกับดนตรีสมัยใหม่ โดยฝีมือค่ายเพลงขนาดเล็ก กลายเป็นความ ‘ป๊อป’ ที่ค่อยๆ รุกคืบเข้าสู่ความโด่งดังทั่วประเทศ

เพราะอะไรวัฒนธรรมอีสานที่เคยอยู่วงนอกความนิยม จึงข้ามกำแพงมาเจิดจ้าโดดเด่น สิ่งนี้สะท้อนว่าเส้นแบ่งวัฒนธรรมกำลังเลือนรางลงหรือไม่ อีสานยุคใหม่ทำเพลงแบบไหนจึงมีทำนองติดหูผู้คนได้จำนวนมาก และการประยุกต์เอาวัฒนธรรมที่แตกต่างมารวมกันจนได้รับความนิยม จะทำให้เราเห็นอนาคตของความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือไม่

อีสานปะทุ

เสียงแหบห้าวของนักร้องอีสานดังผ่านลำโพงขนาดเล็กบนรถเข็นขายส้มตำแถวสนามหลวง รถราวิ่งขวักไขว่ในตอนหัวค่ำ ผู้คนยืนต่อคิวซื้อส้มตำท่ามกลางควันโขมงจากเตาปิ้งไก่ แม้บรรยากาศจะดูวุ่นวาย แต่ทุกคนผ่อนคลายไปกับเสียงเพลงที่ต่อจากโทรศัพท์เครื่องเล็กๆ

บ่แม่นหมาวัด แล้วกะไม่ได้ใจนาง

หว่านแหลงดาง กะดักใจนางไว้บ่ได้

เฮ็ดดีป่านได๋ เฮ็ดดีป่านได๋ เจ้ากะบ่หัวซา

ถ้าไม่ใช่คนอีสาน คงมีน้อยคนที่จะเข้าใจความหมายของเพลงนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไร เพลง คำแพง ของ แซ็ค ชุมแพ ก็มียอดวิวในยูทูปกว่า 400  ล้านวิว (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มีนาคม 2561)  สิ่งที่น่าสนใจคือ เบื้องหลังยอดวิวถล่มทลายนี้ เป็นผลงานของ Tonmai Music & Studio ค่ายเพลงเล็กๆ ในอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น พวกเขาแต่งเนื้อร้อง ทำนอง อัดเสียง มิกซ์เสียง และอัพวิดีโอในยูทูปทั้งหมดที่นั่น

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เพลงจากนักร้องอีสานขึ้นมาตีตลาดในวงการเพลงไทยอย่างน่าจับตามอง สิ่งที่แตกต่างจากความโด่งดังของเพลงอีสานในอดีตคือ เพลงเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียง ‘เพลงอีสาน เพื่อคนอีสาน’ อีกต่อไป แต่เป็นเพลงอีสานสไตล์ใหม่ที่ทุกคนฟังได้ ถึงแม้จะแปลเนื้อร้องไม่ได้ทั้งหมด แต่ท่วงทำนองที่ติดหูก็กระจายเข้าไปสู่ความนิยมของผู้คน

เพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ของ ก้อง ห้วยไร่ มีคนนำไปโคฟเวอร์หลายเวอร์ชัน และปะทุความดังขึ้นมาอีกเมื่อ ไข่มุก รุ่งรัตน์ นำไปร้องประกวดใน The Voice Thailand season 4  และล่าสุด หน้ากากลูกโป่ง ก็นำเพลงนี้ไปร้องใน The Mask Singer 4 ยอดวิวยังไต่ระดับอย่างต่อเนื่อง  ยังไม่นับรวม ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน เวอร์ชันสรภัญญะและเวอร์ชันแปลงไทย

หลังจากนั้น ก้อง ห้วยไร่ ทำเพลง คู่คอง ประกอบละครช่อง 3 เรื่อง นาคี ว่าด้วยเรื่องราวรักต้องห้ามของคนกับพญานาคที่ข้ามชาติภพมาเพื่อรักกัน เนื้อเพลงเป็นภาษาอีสานทั้งหมด สะท้อนความรักที่จำต้องพลัดพราก  คำว่า ‘คอง’ ที่ไม่มี ร.เรือ นี้ ตรงกันข้ามกับคำว่า ‘ครอง’ โดยสิ้นเชิง ทั้งสองไม่ได้ ‘ครองรัก’ แต่ต้อง ‘คองถ่า’ หรือรอคอยกันตลอดไป

ด้วยเนื้อร้องและทำนองที่คล้องจอง บวกกับเนื้อหาละครที่มีเรื่องความเชื่อเรื่องพญานาคและการกลับชาติมาเกิด ทำให้เพลง คู่คอง โด่งดัง และผลักให้ ก้อง ห้วยไร่ กลายเป็นนักร้องอีสานชื่อดังคนต่อมา

เมื่อเพลงอีสานสามารถเข้าไปอยู่ในละครหลังข่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ prime time ของการออกอากาศทางโทรทัศน์แล้ว ก็มีกลุ่มคนทำเพลงในต่างจังหวัด ผลิตเพลงเองในอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่นเพลง คำแพง ของแซ็ค ชุมแพ และ ผู้สาวขาเลาะ ของ ลำไย ไหทองคำ ที่ ‘ก๊ดดัน’ กันทั้งประเทศ และเช่นเดียวกัน หน้ากากหนอนชาเขียว หรือ บอย พีชเมกเกอร์ ก็นำเพลง คำแพง ไปร้องในรายการ The Mask Singer 3 ยังไม่รวมเวอร์ชั่นแปลงเป็นภาษากลางในอีกหลายคลิป

ในงาน 48 ปีช่อง 3 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน นักแสดงระดับแถวหน้าของเมืองไทยร่วมกันร้องและเต้นเพลง ผู้สาวขาเลาะ ท่ามกลางสายตาผู้ชมกว่าหมื่นชีวิต และเวทีเดียวกันนั้นเองที่นักแสดงร้องและเต้นเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ของ BNK48 เคียงกันไป

ในยุคโลกาภิวัตน์เราอาจไม่แปลกใจที่วัฒนธรรมทุกอย่างจะเลื่อนไหลไปมาได้อย่างอิสระ เราเห็นพนักงานออฟฟิศที่กรุงเทพฯ นั่งกินส้มตำริมทางจากฝีมือแม่ค้ายโสธร หรือได้ยินเสียงเพลงจากห้องอัดในอีสานดังในห้องพักกลางกรุงสักแห่ง  ความเลื่อนไหลของวัฒนธรรมที่หลากหลายทะลักเข้ามาผ่านเทคโนโลยีที่ทุกคนมีอยู่ในมือ ไม่ว่าเพลงนั้นจะเขียนขึ้นกลางทุ่งนา หรือเขียนบนอาคารสูงเสียดฟ้าก็ตาม

วัฒนธรรมอีสานได้เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมส่วนกลาง และได้รับการยอมรับอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จนเรียกได้ว่ากลายเป็น ‘วัฒนธรรมป๊อป’ ที่เข้าถึงผู้คนทุกผู้ทุกวัย

จากการฟังหมอลำ คำผญา ในอดีต ตอนนี้เพลงอีสานได้ประยุกต์วัฒนธรรมดั้งเดิมเข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การลงลึกไปถึงประเด็นของ ‘งานศิลปะ’ และ ‘วัฒนธรรมดั้งเดิม’ ของคนอีสานจึงน่าจะช่วยขยายให้เห็นปรากฏการณ์นี้ชัดขึ้น

เนื้อเพลงที่แฝงฝังในใจ

“เพลงลาวอีสานมีฐานแน่นมากในวิธีมองว่าคนคิดยังไง ถ้ารักแล้วยังไง ผิดหวังแล้วยังไง มีความเชื่อเรื่องบุญวาสนาชะตาชีวิตมาจากศาสนา วรรณกรรมโบราณ ชาดก เพราะฉะนั้นถ้าเพลงไหนดึงเอาคำเหล่านี้มาใช้ได้ คนจะเข้าใจทันที”

ชัชวาลย์ โคตรสงคราม ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง ทะเลน้ำนม (เข้ารอบ shortlist รางวัลซีไรต์ปี 2552) และนักวิชาการลุ่มน้ำโขงผู้ศึกษาวัฒนธรรมลาว-อีสานอย่างจริงจัง พูดถึงแก่นของเพลงอีสานและพื้นเพเดิมของชาวลาวอีสานไว้อย่างนั้น

ความเห็นนี้สอดคล้องกับเนื้อเพลง คู่คอง ของ ก้อง ห้วยไร่ ที่ว่า

ในวันนี้เฮาเจอกันแล้ว 

ยังบ่แคล้วจำต้องจากลา 

คนที่เฮาตามหา เป็นหยังคือบ่สมใจ

ให้คองถ่าอีกกี่พันปี

ให้อยู่ตรงนี้อีกนานเท่าไหร่ 

ขอเพียงแค่ เธอจำฉันได้

ชาติไหนก็รอเธอ

เมื่อวางเรียงในรูปแบบฉันทลักษณ์ เนื้อเพลง คู่คอง ใกล้เคียงกับกลอนแปดทั้งสัมผัสและจังหวะ  ยิ่งเมื่อมองให้ลึกถึงความหมาย ยิ่งน่าสนใจ  ชัชวาลย์วิเคราะห์ว่า “พันปีเป็นความฝันของมนุษย์”

“มโนทัศน์ของเพลงนี้ พูดถึงชาติก่อน ชาตินี้ และชาติหน้า เป็นคำที่ให้ความคิดย้อนไปในอดีต แล้วก็ไปสู่อนาคตได้ คำว่าพันปีเป็นมายาคติที่ลึกซึ้งมาก”

ชัชวาลย์ โคตรสงคราม
ชัชวาลย์ โคตรสงคราม

วิธีการเขียนเพลงแบบนี้ไม่ได้เพิ่งมี แต่ในอดีตมีเพลงที่มีเนื้อหาเปรียบเทียบความยาวนานของกาลเวลาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ชื่อ สัจจาหญิง ของนกน้อย อุไรพร ปัจจุบัน ศิริพร อำไพพงษ์ นำมาร้องใหม่

พี่ฮักน้องมาแต่ดนนาน

ตั้งแต่หนองหานยังบ่ทันหล่ม

มาส่างเว้าเอาน้ำตาลมาจ่ม

ตั้งแต่ธาตุพนมยังบ่ทันก่อ

เนื้อเพลงเปรียบเทียบความรักที่ยาวนานก่อนสร้างพระธาตุพนม ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อคนในนครพนมมาก จนกลายเป็นภาพจำลองความรักอันยิ่งใหญ่

ชัชวาลย์ขยายความต่อว่า เพลงเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกันคือ ใช้วิธีเล่าเหมือนเรื่องสั้น มีตัวละคร ฉาก สถานที่ เหตุการณ์ และที่สำคัญยังใช้ภาษาที่ไพเราะ จนทำให้เพลงเข้าไปอยู่ในใจของคน

สิ่งที่โดดเด่นอย่างมากในเพลงอีสานที่ ‘ป๊อป’ ตอนนี้ คือเป็นการแทรกเอาคำอีสานเข้าไปอยู่ในท่วงทำนองเพลงต่างประเทศ ที่ทำให้เรา ‘เข้าถึง’ และ ‘สนุก’

“วิธีคิดเรื่องทำนองของตะวันตกน่าสนใจมาก เขาเขียนโน้ตเพื่อให้เป็นกลุ่มความคิด  เวลาเราฟังเพลงสากล บางทีฟังภาษาเขาไม่ออก แต่ทำไมรู้สึกเข้าถึงจังหวะทำนอง เพราะเขาเขียนทำนองเพลงให้เข้าทางจิตวิทยา  พอกลับมาดูเพลงอีสานที่ฮิตก็เป็นแบบนี้ เช่น เพลง คำแพง นักร้องเล่นโน้ตทุกคำ ทุกวลี วรรณยุกต์เสียงตามโน้ตเลย พอเป็นแบบนี้ ก็เข้าถึงใจคน”

คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วเพราะอะไรเพลงอีสานในยุคก่อนหน้าจึงไม่ได้เป็นที่นิยมโดยทั่วไปเหมือนเช่นตอนนี้ นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนช่วยในการเข้าถึงสื่อแล้ว ยังมีเรื่องที่ลึกกว่านั้นหรือไม่  ชัชวาลย์อธิบายว่า เพลงลูกทุ่งอีสานส่วนมาก มักจะมีรูปแบบทำนองที่เรียบง่าย มีขนบเป็นของตัวเอง ไม่ได้แปลกใหม่มากนัก

“เพลงขึ้นมาก็รู้แล้วจะไปคีย์ไหนต่อ มาโน้ตนี้ ต้องตามด้วยโน้ตนี้ เป็นแบบแผนไป ฟังแล้วไม่ตื่นเต้น” ชัชวาลย์ขยายความอย่างเห็นภาพ

ย้อนกลับไปมองประวัติเพลงลาวอีสาน มีตั้งแต่การขับกลอนลำ ลำเต้ย ลำเพลิน เพลงลุกทุ่ง จนมาถึงยุคหมอลำซิ่ง ที่ประยุกต์เอาลำเรื่องต่อกลอนมาใส่ดนตรีจังหวะสนุกสนาน ในปัจจุบันเพลงกลอนลำในลาวอีสานค่อนข้างหยุดนิ่ง ไม่พัฒนาหรือประยุกต์ไปในแนวดนตรีอื่น แต่เพลงในประเทศลาว ยังมีการปรับเปลี่ยนทำนองให้หลากหลายขึ้น เป็นเพลงสลับลำ และประยุกต์เอาดนตรีหลายแบบมารวมกัน

ชัชวาลย์เล่าต่อว่า แม้จะเห็นได้ชัดว่าเพลงลูกทุ่งอีสานในปัจจุบันขยับปรับเปลี่ยนท่วงทำนองให้ ‘ทันยุค ทันสมัย’ จนต่างจากการร้องกลอนลำ คำผญาของลาวอีสานสมัยก่อนแล้ว แต่เพลงลูกทุ่งลาวอีสานสมัยใหม่ ส่วนมากก็ดูจะยังไม่ ‘ใหม่’ พอ ยังคงวนเวียนอยู่กับเนื้อหาและท่วงทำนองแบบเดิม คือ “อกหักรักสาว ยากจนเขาไม่สนใจ เขาไปมีใหม่ กินเหล้าเมา แล้วก็ไปงานแต่ง”

“ผมมองว่าข้อด้อยอย่างหนึ่งของเพลงลูกทุ่งอีสาน คือมักพูดถึงเปลือก ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องคิดในเชิงปัญญาสุนทรียะอะไรที่ลึกซึ้ง คนก็รับง่าย เข้าใจความหมายทันที ก็ตอบสนองอารมณ์ แต่ถ้าเราไปศึกษาเรื่องวรรณกรรม ผญา กลอนลำ บทเพลงเก่า จะพบว่าเนื้อหาก็พูดถึง ความรัก ผิดหวัง สมหวัง ความยากจน นรก สวรรค์ บาปบุญ ความงาม เรื่องตลก เรื่องเพศ นี่แหละ แต่มีชั้นเชิงในการเขียนกว่ามาก

“ผมจะไม่ฟูมฟายเรื่องศีลธรรมในเพลงสองแง่สองง่ามนะ เพราะเป็นเรื่องของมนุษย์ แต่ถ้าจะเล่น ต้องเล่นให้มีศิลปะ มีชั้นเชิงลีลาที่ลึกซึ้ง เพลงอีสานอยู่ภายใต้อิทธิพลของมุมมองและโลกทัศน์แบบผี พราหมณ์ พุทธ จะวนอยู่อย่างนี้แหละ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางศิลปะหรือวรรณกรรม กระทบไปถึงพฤติกรรมและแนวคิดมนุษย์ที่มีต่อสังคม ธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมด้วย

“เพลงอีสานได้รับการยอมรับก็จริง แต่ข้อด้อยนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงภาวะไร้ทางออกของศิลปะ ความไม่กล้าหาญของคนเขียน ภาวะไร้การเรียนรู้ในทางสร้างสรรค์ แล้วก็จะลดทอนความเข้มแข็งของสติปัญญาคน”

พัฒนาการของเพลงอีสานขยับมาเรื่อยๆ แม้จะเชื่องช้า แต่ก็ยังเห็นว่ามีกลุ่มคนที่ทำอะไรใหม่ๆ อยู่ และไม่ยึดติดกับกรอบเดิม มีบ้างที่เนื้อหาวนเวียนอยู่กับความรัก แต่สิ่งที่ปรับเปลี่ยนคือชั้นเชิงในการเขียนเพลงเข้ากับทำนองที่แปลกใหม่

“เพลงอย่าง คู่คอง หรือ คำแพง ค่อนข้างคลาสสิก เขียนได้นิ่ง จำง่าย ทำนองจับใจ ยังมีคนกล้าหาญที่จะเขียนอยู่

“ต่อให้มีการทำลายหรือสกัดกั้น ก็สกัดเพลงเหล่านี้ไม่ได้หรอก จะกลายเป็นเพลงที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน เพลงอีสานเป็นอย่างนี้แหละ เช่น เพลง ผู้ใหญ่ลี เป็นต้น”

นอกจากความงามของศิลปะแล้ว สภาพสังคมการเมืองก็เข้ามาช่วยขับเน้นให้เพลงมีความหมายขึ้นมาด้วย  แน่นอนว่าเนื้อเพลงที่ลุ่มลึกคือตัวเชื่อมโยงความรู้สึกของมนุษย์ แต่สภาพสังคมการเมืองที่บีบคั้นในปัจจุบันก็เป็นตัวผลักดันให้คนแสวงหาทางออก ดังนั้น ศิลปะ เช่นเพลงและวรรณกรรมจึงช่วยเกาะเกี่ยวมนุษย์เอาไว้

“ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 สังคมถูกบีบมาก วนเวียนซ้ำซากอยู่กับข่าวการเมือง การต่อสู้ระหว่างอำนาจการเมืองของเสื้อสีต่างๆ เพราะฉะนั้นคนเราต้องเสาะแสวงหาอะไรฟัง คนเขียนเพลงก็ต้องหาทางออกเหมือนกัน เมื่อทำส่วนของเขาจบก็ส่งผ่านออกมาสู่สาธารณะ”

เมื่ออยู่ในจังหวะที่โลกสามารถเผยแพร่สื่อได้เร็วในชั่ววินาที เพลงเหล่านี้จึงออกไปได้ไว ไกล และลึกมาก พร้อมกันนั้นก็ต้องเข้าใจว่าเป็นกระแสที่มีขึ้นมีลง มาแล้วก็ไป

“เราต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมเพลงเป็นเรื่องการค้า การผลิต เพียงแต่เป็นการผลิตอุตสาหกรรมทางด้านศิลปะ ประกอบไปด้วยหลายส่วนตั้งแต่ภาษา ทำนอง ดนตรี จังหวะ เสียง เพราะฉะนั้นการประกอบสร้างวาทกรรมนี้ภายใต้กลไกการค้าก็จะทำให้เกิดความแฝงเร้นของอำนาจเงินและอำนาจความเป็นมนุษย์ ผสมผสานหล่อหลอมกันมา ทำให้ผู้สร้างและผู้เสพหลงใหลได้ปลื้ม มีขึ้นและจบลงได้ เป็นความบันเทิงทางสังคม ต้องมองอย่างเข้าใจ”

แต่นอกจากมองในแง่อุตสาหกรรมเพลงแล้ว ถ้ามองในแง่ศิลปะก็จะเห็นแง่งามของเพลงเหล่านี้ซ่อนอยู่ด้วย

“เพลงพวกนี้เป็นบทเรียนทางสังคม เช่น เพลง คำแพง สอนให้รับสภาพความผิดหวัง  สังคมไทยมีเรื่องความรุนแรงทางเพศด้วย เพลงช่วยหยุดยั้งได้ กระตุกได้ คุณต้องยอมรับความจริงว่าเขาไม่รักคุณ ต้องถอยออกมา แล้วแสดงความปรารถนาดี เป็นเพื่อนต่อเขา ไม่ใช่พอเขาไม่รักไม่ชอบ ก็ไปบังคับข่มขืนเขา เพลงจะมีผลต่อวิธีคิดของคนในระดับหนึ่ง แล้วก็ทำความเข้าใจผู้หญิงด้วยนะ ว่าคิดยังไง สุดท้ายมานั่งปลอบตัวเอง เพลงนี้ไม่ธรรมดานะ ถ้าเราอธิบายให้เด็กฟัง เขาก็จะเกิดความคิด

“หรืออย่างเพลงคู่คอง ถ้านานๆ ไปแล้วกลับมาฟัง ยังซึ้งอยู่นะ ฟังทีไรก็มีความหมายที่ซ่อนแฝงอยู่ เป็นเพลงอมตะ เด็กๆ ก็ร้องได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเพลงเหล่านี้ถึงดัง

“มโนทัศน์ของคนลาวอีสานที่เติบโตขึ้นมาในรัฐชาตินิยมไทยคือ เราเป็นพลเมืองที่ถูกกดไว้ มีคนรุ่นหนึ่งที่จู่ๆ ต้องมาขึ้นตรงกับรัฐชาตินิยมไทย คล้ายๆ ว่า พอตื่นเช้ามาก็กลายเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นความคิดอะไรต่างๆ ที่เปลี่ยนจากลาว เป็นไทยจะมีแรงกดดันมาก

“คนลาวอีสานทุกวันนี้ถูกกลืนเข้าไปในหลุมกลางของความมั่นคง แล้วเราก็ค่อยๆ ปล่อยอัตลักษณ์ทางจิตใจและวิญญาณไปกับการเปลี่ยนแปลง ทีนี้ถ้ามีเพลงหรือประโยคที่สามารถกระตุ้นให้เรารู้สึกดี ปลอบประโลมในความเป็นลาวที่สูญหาย สิ่งนั้นก็จะมีความสำคัญขึ้นมาทันที”

อีสานป๊อป

จากการเปลี่ยนแปลงของวิถีลาวอีสาน มาจนถึงอีสานป๊อป จึงเกิดคำถามที่ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นงานศิลปะรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นใหม่ หรือ ความเป็นอีสานกำลังถูกกลืนกินกันแน่

“อีสานปรับตัวเยอะ ทิ้งบางอย่างเพื่อทำใหม่ ประยุกต์ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น เพลงอีสานอินดี้ที่ดังอยู่ หรือวงรัศมี อีสานโซลที่เอาหมอลำมาร้องแบบโซล ปรากฏการณ์นี้ทลายทุกกรอบศิลปะ ไม่ต้องอยู่แบบเดิม เป็นความหวังว่าจะมีสำนึกบางอย่างขึ้นมา ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ต้องไปประกาศว่า ดิฉันมีสำนึกลาวอีสาน แต่ทุกอย่างเล่าจะผ่านศิลปะ วรรณกรรม ที่เราฟังได้ สัมผัสได้

“โดยธรรมชาติของศิลปะ วัฒนธรรม หรือวรรณกรรม ไม่ได้มีแค่แบบเดียว เช่น ถ้าเป็นวรรณกรรมก็ต้องเป็นของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ อย่างมติชนหรืออมรินทร์เท่านั้น แต่ยังมีคนเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ อยู่นอกวงข่าวสารอยู่ เหมือนเพลงที่ไม่ดังนี่แหละ เพลงดีๆ ที่ฟังอยู่เฉพาะในจังหวัดก็มีนะ ผมเห็นที่หลวงพระบางมีกลุ่มศิลปินประยุกต์เอาขับทุ้มหลวงพระบางเข้ากับทำนองป๊อป แต่เขาฟังกันอยู่แค่นั้น

“วัฒนธรรมอีสานมีความร่ำรวยทางภาษาและวิธีนำเสนอมาก แต่อย่างอื่นยังด้อยอยู่ เพราะยังขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดความกล้าหาญที่จะแสดงออก วัฒนธรรมป๊อปของอีสานยังขาดๆ เกินๆ ต้องกล้าหาญ ยอมรับตัวเองให้เต็มที่ก่อน

“เมื่อมีเสรีภาพมากขึ้น เอกลักษณ์ของชาติพันธุ์จะถูกยกขึ้นมาใหม่ด้วย ความเป็นรัฐชาตินิยมอาจจะต้องลดทอนตัวเองลงไป คนถึงกันหมด ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว ไม่มีอะไรที่ไม่รู้  กระแสยุคหลังสมัยใหม่ของลาวอีสานจะเป็นแบบนี้ มีความกล้าหาญ มีสำนึกความเป็นลาวและชาติพันธุ์มากขึ้น”

 

มุมมองต่อการทำเพลงแบบ อีสานอินดี้ ของแซ็ค ชุมแพ

เด็กหนุ่มที่โตมากับวิทยุธานินทร์

 

“ตอนแรกผมกังวล แต่เรามีใจรัก แล้วคนทำแนวนี้น้อย ก็เลยตัดสินใจทำ ไม่ได้คิดว่าจะมาถึงตอนนี้  ผมว่าที่เพลง คำแพง ดังเพราะ หนึ่ง โลกโซเชียล และสอง เมโลดี้ที่แปลกใหม่ เป็นการผสมผสานเพลงอีสานกับดนตรีร็อก พยายามทำให้โน้ตเพลงกับเสียงร้องไปในทางเดียวกัน”

มุมมองของนักร้องหนุ่ม แซ็ค ชุมแพ เจ้าของเพลง คำแพง หนึ่งในภาพตัวแทนความสำเร็จของนักร้องอีสานในยุคปัจจุบัน ที่ร่วมทำเพลงกับ เอ๊ะ สายชล แผ่นผา โปรดิวเซอร์และผู้แต่งเพลง ค่าย Tonmai Music & Studio ที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น  แซ็ค บอกว่า นอกเหนือจากองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบของเพลงแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ‘โชคชะตา’

แซ็ค ชุมแพ
แซ็ค ชุมแพ

เรานัดสัมภาษณ์กันที่สตูดิโอแถวลาดพร้าว แซ็คมีงานต้องถ่ายรายการโทรทัศน์ตั้งแต่เช้ามืด และมีคิวงานอีกยาวเหยียด เขาทักทายด้วยรอยยิ้มแม้ดูเหนื่อยอยู่บ้าง เสียงแหบอย่างที่ได้ยินในเพลง มีท่าทีของเด็กหนุ่มที่ถ่อมตัวและมีความเป็นอีสานเต็มเปี่ยม เป็นภาพของศิลปินตัวเล็กที่ขยายศิลปะออกไปอย่างกว้างไกลที่น่าพูดคุย

เขายอมรับว่าในตอนทำเพลง คำแพง ก็มีความกังวลอยู่บ้างว่าภาษาอีสานอาจยากไปสำหรับคนภาคอื่น เพราะแม้แต่เด็กอีสานรุ่นใหม่ๆ ก็อาจยังไม่รู้ศัพท์ที่อยู่ในเพลง อย่างไรก็ตามเขากับทีมก็ตัดสินใจทำออกมาจนเสร็จ

“ปล่อยเพลงไปเดือนแรก ได้ 1 ล้านวิว แต่ภายในสองเดือนขยับมาเกือบ 40 ล้าน ตอนนั้นแปลกใจมากครับ  ตอนที่ได้ 12 ล้านวิว ผมไม่ได้อยู่บ้าน ยังทำเฟอร์นิเจอร์อยู่กับพ่อที่กรุงเทพฯ ไม่รู้เรื่องอะไร พี่เอ๊ะ คนแต่งเพลงก็โทรมาหาว่า รีบกลับมาบ้านหน่อย มีคนโทรมาจ้างงานไปเล่นคอนเสิร์ต แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้รับงานนะ ยังทำเฟอร์นิเจอร์อยู่  ยอดวิวในยูทูปก็ขึ้นเรื่อยๆ วันละ 1-3 ล้าน ตอนนี้ 400 กว่าล้านวิว ผมก็ไม่คิดว่าจะมาได้ขนาดนี้”

จากเด็กที่ประกวดร้องเพลงตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ช่วงปิดเทอมเข้ากรุงเทพฯ มาช่วยพ่อทำเฟอร์นิเจอร์ ประกวด 20 กว่าเวทีไม่เคยชนะเลย จนเขาคิดว่าการร้องเพลงไม่ใช่ทางของตัวเอง

“ผมเลิกร้องเพลงไป 6 ปี ไม่ได้จับไมค์เลย ไปทำงานกับพ่อ ไม่ได้กลับมาชุมแพ จนวันหนึ่งมีโอกาสกลับบ้าน ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำให้ไปออดิชั่นในรายการ กิ๊กดู๋ สงครามเพลง ก็ลองไปดู ปรากฏว่าได้เป็นตัวแทนของจังหวัดขอนแก่นเข้ากรุงเทพฯ มาประกวดร้องเพลง จนได้แชมป์

“สมัยเด็กผมชอบฟังไมค์ ภิรมย์พร เป็นแนวเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิต ไม่เคยคิดว่าจะได้มาร้องเพลงแนวนี้ (อีสานอินดี้) เหมือนกัน แต่ก่อนไม่ค่อยชอบ พูดง่ายๆ ว่าไม่ค่อยมีคนรู้จัก ศิลปินแนวนี้มีแค่ไม่กี่คน มีแค่ไอดิน อภินันท์, วงทอแสง, เพชร สหรัตน์, ก้อง ห้วยไร่, เปิ้ล ปทุมราช ต่อมาก็เป็นผม”

ก่อนเขาจะเป็นนักร้องอีสานอินดี้คนใหม่ แซ็คเล่าว่า ชีวิตวัยเด็กส่วนมากมักจะอยู่ตามท้องไร่ท้องนา พกวิทยุธานินทร์ของยายติดตัวไปด้วย นอนฟังเพลงที่มีคนขอมาทางวิทยุ เขาไม่ชอบตลาด และไม่ชอบกรุงเทพฯ แต่ก็จำเป็นต้องลงมาทำงานช่วยพ่อ จนวันหนึ่งที่เด็กอีสานกลายเป็นที่รู้จักในชั่วข้ามคืน เขาจึงหลีกเลี่ยงกรุงเทพฯ ไม่ได้

“ผมไม่ชอบกรุงเทพฯ พอดังแล้วต้องอยู่แต่ในกรุงเทพฯ แต่การเป็นนักร้องก็เป็นความใฝ่ฝันของผม  กว่าจะถึงจุดนี้ก็ลำบากมาเยอะ อุปสรรคเยอะมาก ส่วนมากจะเป็นเรื่องเงินมาทำเพลง ทำเอ็มวี ถ้าไม่ได้เงินจากรายการกิ๊กดู๋ อาจจะไม่มีเพลงคำแพงก็ได้ เพราะการทำเพลงต้องใช้เงิน ตอนนั้นผมทำทุกอย่าง ตื่นตีสาม นึ่งข้าว ทอดไข่ไปกินเอง เพื่อจะไปทำเอ็มวี”

ก่อนที่จะมีเพลงคำแพงออกมา แซ็คเคยไปช่วยถ่ายเอ็มวีกับพี่ที่รู้จักกัน และเพลง คำแพง ก็เคยทำเป็นเอ็มวีมาก่อนที่จะเป็นคลิป audio อันโด่งดังในยูทูปนี้ แซ็คเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดเพลงคำแพงให้ฟัง เขาพูดหลายครั้งว่า คิดไว้ตอนแรกว่าทำไปก็ไม่ดัง แต่เอ๊ะ คนแต่งเพลง บอกเขาด้วยความมั่นใจ ถ้าไม่ดัง ทำเพลงใหม่ ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องย่อท้อ ต้องมีเพลงใดเพลงหนึ่งแหละที่ดัง”

“หลังจากผมประกวดรายการกิ๊กดู๋ ก็มารู้จักกับพี่เอ๊ะ แกถามว่าอยากเป็นนักร้องมั้ย ผมอยากเป็น หลังจากนั้น 1-2 วัน เขาก็โทรมาว่าอยากได้เพลงแนวไหน ผมก็เลยบอกว่าอยากได้เพลงแนวอกหัก พูดถึงความรักที่ผู้ชายคนหนึ่งทุ่มเทให้ผู้หญิง ทำดีแค่ไหน ทำทุกสิ่งทุกอย่าง สุดท้ายแล้วผู้หญิงคนนั้นก็ไม่เคยใยดี ไม่เคยสนใจ เห็นเราเป็นหมาตัวหนึ่ง อันนี้ไม่ได้เป็นชีวิตจริงนะครับ แต่อยากให้เพลงออกมาแบบนั้น พี่เอ๊ะก็เลยจับใจความ เรียบเรียงเหตุการณ์ แล้วออกมาเป็นเพลง คำแพง

“เนื้อเพลงพูดถึง ผู้ชายที่มีฐานะที่ดี บ่แม่นหมาวัด (ร้องเพลง) คอยทำทุกสิ่งทุกอย่าง คอยทะนุถนอมผู้หญิง เฮ็ดดีป่านได๋ ยอมตายได้ สุดท้ายแล้ว ก็ไม่ได้ผู้หญิงคนนี้ แต่สักวันหนึ่ง ถ้าเธอเห็นความดีความงามของพี่ พี่ก็จะรออยู่ที่นี่ที่เดิม ไม่หนีไปไหน

“หว่านแหลงดาง ก็ดักใจนางไว้บ่ได้ ถ้าแปลเป็นไทย แหก็คือแห ดางก็คือตาข่าย เฮ็ดทุกสิ่งทุกอย่าง หว่านแหก็แล้ว ใส่ดางก็แล้ว ใส่ข้อง ใส่ไซแล้วก็แล้ว ทำทุกสิ่งทุกอย่างแล้วเพื่อจะดักใจผู้หญิงคนนี้ สุดท้ายแล้วเธอก็ลอดปล่องออกไป”

คงไม่ต้องอธิบายต่อว่าหลังจากเพลงนี้ปล่อยออกมาแล้วได้รับผลตอบรับถล่มทลายขนาดไหน เนื้อหาเรียบง่ายที่ว่าด้วยความผิดหวังของชายหนุ่มที่มีต่อหญิงสาวที่เขารักสุดหัวใจ ผ่านท่วงทำนองและคำที่คล้องจองกลายเป็นสิ่งที่เอื้อมถึงหัวใจคน

ตอนนี้แซ็คกำลังทำเพลงใหม่ และก็ยังเชื่อในแนวทางของอีสานอินดี้ แม้ว่าเขาจะมองว่าวงการเพลงจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน

“ตอนนี้คนกำลังนิยมเพลงลูกทุ่งอีสานหรืออีสานอินดี้ แต่ผมว่ามันอยู่ในช่วงของเพลงแบบนี้ แต่สิบปีต่อๆ ไป หรือปีหน้า อาจจะมีเพลงแนวอื่นมาดังด้วยก็ได้ ค่านิยมแตกต่างกันไป ไม่รู้ว่าแนวเพลงนี้จะอยู่ในสังคมนี้ได้นานเท่าไหร่ ไม่แน่ปีหน้าเพลงใต้อาจดังขึ้นมาอีกเหมือนสิบปีที่แล้ว คนอีสานก็อาจต้องแต่งเพลงใต้ลงยูทูป ต่อไปเพลงสากลก็อาจกลับมาดัง หมุนเป็นวัฏจักร แค่ช่วง 4-5 ปีนี้เป็นยุคของเพลงอีสานเท่านั้นเอง”

“ผมก็งงเหมือนกัน ทำไมเพลงอีสานถึงกลับมาดัง อาจเพราะแต่ก่อนไม่เคยมีคนทำแนวเพลงแบบนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องลงตัวกัน ดนตรี เนื้อร้อง ทำนอง คนร้อง แล้วก็โชคชะตา มี 5 อย่างนี้รวมกันก็ดัง ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

“ภาษาอีสานเป็นภาษาที่สวยงาม เอาไปไว้ตรงไหน ในดนตรีไหนก็ได้ ตอนนี้ผมภูมิใจตั้งแต่เพลงพี่ก้อง ห้วยไร่ เขาทำเพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ไว้ดีมาก จุดกำเนิดที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศรู้จักเพลงอีสานอินดี้ แล้วก็ภูมิใจแทนศิลปินทุกคนที่ทำเพลงสไตล์นี้ มีคนยอมรับว่าเพลงแนวนี้สามารถอยู่ในสังคมนี้ได้”

แน่นอนว่าแซ็คและนักร้องอีสานคนอื่นๆ กำลังวิ่งหาสิ่งใหม่ แต่การนำวัฒนธรรมอีสานเก่ามาใช้ด้วย ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่แฝงฝังอยู่ในตัวพวกเขา ที่สำคัญเขาไม่มองว่าการเอากลอนลำสมัยก่อนมาประยุกต์ใส่ดนตรีใหม่จะทำให้สูญเสียความเป็นตัวตนของอีสาน

“ผมมองเป็นการประยุกต์ให้ทันสมัย ถามว่ามีคนเอาคำผญามาแต่งเป็นเพลงมั้ย ก็มีครับ แต่ว่ายังไม่มีคนได้ยิน ถ้าวันไหนทุกคนได้ฟัง อาจจะมองว่ามันเพอร์เฟ็กต์ สนุก ทำไปได้ยังไงก็ได้

“เพลงทุกเพลงของคนอีสานในปัจจุบัน บางทีต้องเอาคำเก่าๆ ของผญา กลอนลำ คำของคนเฒ่าแก่มาประยุกต์ในเพลงเพื่อให้กินใจ แล้วก็เอาเมโลดี้หมอลำมาใส่ ก็จะเพราะขึ้น เช่นในเพลง คำแพง แต่งให้คล้องจองกัน เขามีความหมายกับเจ้า เจ้ามีความหมายต่ออ้าย เจ้าให้เขาหมดใจหมดกาย อ้ายก็ยอมตายให้เจ้าได้คือกัน จะเห็นว่า ‘กาย’ กับ ‘ตาย’ คล้องจองกัน เป็นต้นครับ

ตอนนี้สิ่งที่คนแก่เฒ่าคิดไว้ต้องมีคนสืบสานอย่างแน่นอน สิ่งเหล่านี้หายจากคนอีสานไม่ได้

ติดตามต่อได้ใน อีสานป๊อบ (2) – ลงลึกไปใต้ภูเขาน้ำแข็ง ‘อีสาน’

รู้จักอีสานใหม่ในมุมมองเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save