fbpx
e-Resident อนาคตอยู่ที่นี่แล้ว แค่เรายังไปไม่ถึงเท่านั้นเอง

e-Resident อนาคตอยู่ที่นี่แล้ว แค่เรายังไปไม่ถึงเท่านั้นเอง

เหล่า Digital Nomad ผู้แสวงหาโอกาสประกอบธุรกิจที่ทำได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มุ่งมาที่ประเทศเอสโตเนียเพื่อริเริ่มธุรกิจและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ระบบในประเทศของตนยังไม่เอื้อหรือรองรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในยุคใหม่มากพอ เช่น ภายหลังจากการลงประชามติ Brexit ใบสมัคร e-resident ที่มาจากสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า!

 

นอกจากนี้ ยังมีผู้มีชื่อเสียงทั้งทางธุรกิจ การเมือง และสื่อมวลชนมากมาย ที่เป็น e-resident ของประเทศเอสโตเนีย เช่น เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ค นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะของญี่ปุ่น โดยปัจจุบันมี e-resident อยู่ราว 24,400 คน จาก 138 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย (ซึ่งเท่าที่ทราบมีอยู่ 2 คน คือตัวผู้เขียนสมัครและได้รับรองในเดือนมิถุนายนปี 2015 และคุณดอน สัมพันธารักษ์ หรือ @smartbrain ในทวิตเตอร์ อดีตผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ TelecomAsia และบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าว disruptive.asia ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่อง e-residency แล้วในไทยพับลิกาที่สมัครและได้รับการรับรองในเดือนมกราคม 2016)

การสมัครเป็น e-resident เริ่มจากการเข้าไปกรอกใบสมัครที่ https://apply.gov.ee/ ตอบคำถามที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเขียนจดหมายแสดงความสนใจ (Motivation Letter) ถึงเหตุผลที่ทำให้ต้องการสมัครเข้าเป็น e-Resident ของเอสโตเนีย รวมถึงยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องแนบไปโดยการสแกน/ถ่ายภาพไฟล์ดิจิทัล ได้แก่

 

  • เอกสารยืนยันตัวตน แนะนำว่าควรเป็นหนังสือเดินทาง
  • เอกสารยืนยันแรงจูงใจในการสมัคร เช่น หนังสือจดทะเบียนบริษัท ใบทะเบียนพาณิชย์ หนังสือรับรองการทำงาน หนังสือรับรองสถานภาพการศึกษา เอกสารทางศาสนา เป็นต้น

 

เมื่อกรอกข้อมูลและเอกสารยืนยันทั้งหมดแล้ว จะเข้าสู่การจ่ายเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 100 ยูโร (เดิมระยะแรก 50.99 ยูโร) โดยสามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิต Visa/Mastercard หลังจากนั้น ทางระบบจะยืนยันว่าได้รับใบสมัครของเรา และตอบกลับมาทางอีเมลที่เราสมัครไว้ภายใน 2-3 วัน หากต้องการเอกสารเพิ่มเติม เราสามารถส่งเอกสารแนบไฟล์ผ่านอีเมลไปได้ทันที และทางหน่วยงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของเอสโตเนีย (Politsei- ja Piirivalveamet) จะยืนยันว่าเราได้รับอนุมัติให้เป็น e-resident หรือไม่ ภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์ นับจากวันสมัคร

เมื่อยืนยันการได้รับสถานะ e-resident แล้ว ลำดับต่อไปคือรออีเมลแจ้งการรับบัตรประจำตัว e-residency ซึ่งจะส่งไปยังสถานทูตเอสโตเนียประจำประเทศที่เราเลือกไว้ขณะลงทะเบียนสมัครภายใน 2 เดือน โดยสำหรับคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย สถานทูตเอสโตเนียที่สามารถไปรับบัตรประจำตัวได้สะดวกที่สุดในปัจจุบันอยู่ที่สิงคโปร์ ส่วนผู้เขียนเลือกรับบัตรที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในปี 2015 เอสโตเนียยังไม่ได้เปิดสถานทูตที่สิงคโปร์

การรับบัตรประจำตัวจำเป็นต้องนัดหมายกับกงสุลประจำสถานทูตก่อนทางอีเมล ซึ่งกงสุลประจำสถานทูตเอสโตเนียให้ความเป็นกันเองกับผู้ติดต่ออย่างมาก สามารถนัดวัน เวลา ตามที่สะดวกเหมาะสมจากตารางเวลาที่ทางกงสุลแจ้ง และอาจจะเลื่อนการรับบัตรหากมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจากเวลานัด โดยสามารถรับบัตรประจำตัวได้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอีเมลยืนยันว่าบัตรประจำตัวส่งมาถึงสถานทูตที่เลือกไว้แล้ว มิฉะนั้นบัตรจะถูกทำลายและผู้สมัครต้องยื่นขอรับบัตรประจำตัวใบใหม่ตามขั้นตอนเดิม

เมื่อถึงเวลานัดรับบัตรประจำตัวที่สถานทูตเอสโตเนีย เราสามารถกดกริ่งแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อติดต่อและรอรับบัตร ที่สถานทูตเอสโตเนียในกรุงโตเกียวซึ่งผู้เขียนได้ไปรับบัตรประจำตัว e-resident เป็นบ้านหลังขนาดกะทัดรัดในย่านฮาราจูกุ เขตชิบุยะ โดยสามารถเดินจากสถานีฮาราจูกุบนรถไฟเจอาร์สายยามาโนะเตะ, สถานีเซนดะกายะบนสายจูโอ หรือสถานีโคคุริทสึ-เคียวงิโจบนรถไฟใต้ดินสายโอะเอโดะใกล้สวนสาธารณะศาลเจ้าเมจิได้ภายใน 10 นาที (พิกัดสถานทูตเอสโตเนียในกรุงโตเกียว)

ขั้นตอนการรับบัตร e-resident ทำโดยการยืนยันตัวบุคคล ยืนยันเอกสารประจำตัวและเอกสารลงทะเบียน สามารถเปิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เคลื่อนที่ทั้งโทรศัพท์มือถือหรือแทเบล็ทได้โดยไม่ต้องพิมพ์เป็นเอกสารกระดาษ จากนั้นกงสุลจะให้เราพิมพ์ลายนิ้วมือบนเครื่องอ่านลายนิ้วมือเลเซอร์ เพื่อบันทึกลงในไมโครชิปที่อยู่ในบัตร เริ่มจากนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และทั้งห้านิ้วซ้ายขวาตามลำดับ ก่อนที่กงสุลจะขึ้นทะเบียนเรากับระบบฐานข้อมูลตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของเอสโตเนียออนไลน์ เสร็จสิ้นภายในเวลา 15 นาที แล้วกงสุลจะมอบชุดเอกสารบัตรประจำตัวพลเมืองดิจิทัล e-resident ในกล่องของขวัญสวยงามให้เรา ได้แก่

 

  • บัตรประจำตัว Smart ID
  • เครื่องอ่านชิปแบบ USB
  • ซองใส่รหัส PIN1 และ PIN2
  • เอกสารอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิและการใช้งาน e-Residency

 

ก่อนจะลาจากกัน กงสุลอาจเชิญเราร่วมดื่มน้ำชาสนทนากันสักพัก ก่อนจะกลับออกจากสถานทูตอย่างเรียบง่ายเป็นกันเองและประทับใจ

ภายหลังขั้นตอนทั้งหมดเสร็จสิ้น เราจะได้รับอีเมลจากรัฐบาลเอสโตเนียว่าได้เป็น e-resident แล้วและลิงค์เพื่อดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ที่จำเป็นต่อการใช้งานระบบ และซอฟต์แวร์สนับสนุน ได้แก่

 

1. ID Card Utility เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ยืนยันตัวตน เปลี่ยนหรือแก้ไขรหัส PIN ตั้งค่าอีเมล โดยจะระบุจำนวนครั้งที่ใช้รหัสอย่างชัดเจน โดยสามารถอ่านล็อกไฟล์ของการใช้งานย้อนหลัง รวมถึงรับแจ้งกรณีที่หน่วยงานรัฐขอข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปใช้

2.DigiDoc Client เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้เซ็นเอกสารดิจิทัล โดยเอกสารที่เซ็นโดยซอฟต์แวร์นี้ จะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายเสมือนการลงลายมือชื่อในกระดาษตามกฎหมายเอสโตเนียและสหภาพยุโรป โดยไม่ต้องยืนยันซ้ำในชั้นศาล นับแต่ 1 กรกฎาคม 2016

3.DigiDoc Crypto เป็นซอฟต์แวร์เข้ารหัสเอกสารและอ่านเอกสารเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัย และส่งผ่านระบบอีเมล ee ที่ผูกกับบัตรประจำตัว ซึ่งใช้ระบบ Blockchain ในการเข้ารหัสและอ่านรหัส จึงมีความปลอดภัยสูงมาก และได้รับการรับรองตามกฎหมาย

 

เมื่อดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ และยืนยันตัวตนทั้งหมดแล้ว เราจะสามารถใช้งานระบบรัฐการของเอสโตเนีย เสมือนว่าเป็นพลเมืองเอสโตเนียได้ ผ่านเว็บไซต์ (เลือกภาษาอังกฤษ) โดยบริการที่เราเลือกใช้ได้ในฐานะ e-resident ที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป มีค่อนข้างจำกัดกว่าผู้ที่อยู่ในยูโรโซน แต่บริการสำคัญอย่างจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนั้นใช้ได้เต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ระบบยืนยันตัวตนของ e-resident ยังนำไปใช้กับการเข้าระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Banking) โดยใช้การอ่านบัตรและ PIN1 ยืนยันตัวตนเข้าใช้งาน และ PIN2 ในการยืนยันการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องรอพาสเวิร์ดหรือ OTP ทางโทรศัพท์ที่เสี่ยงต่อการดักจับข้อมูลกลางทาง (Man-in-the-middle) ล่าสุด ธนาคาร Holvi ได้สนับสนุนการเปิดบัญชีออนไลน์หลังจากการแก้กฎหมายในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้สามารถเปิดบัญชีธนาคารแบบกระแสรายวันเพื่อธุรกิจได้โดยไม่ต้องไปถึงแผ่นดินเอสโตเนีย

สำหรับนักเรียนนักศึกษา ระบบ e-resident สามารถใช้ยืนยันตัวตนและข้อมูลส่วนบุคคลในการสมัครเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาของเอสโตเนีย ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นแนวหน้าในการเรียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ต และปัญญาประดิษฐ์ ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ รัฐบาลเอสโตเนียและสหภาพยุโรปได้ให้ทุนสนับสนุนค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนในสาขาที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถยื่นใบสมัครเข้าศึกษาต่อได้ผ่านเว็บไซต์ แบบครบวงจรทุกมหาวิทยาลัย ส่งเอกสารพื้นฐานและยื่นหลักฐานพร้อมกันในครั้งเดียว โดยสาขาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์, ปัญญาประดิษฐ์, การออกแบบและจัดการเกม (Games Design and Management), การจัดการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government management), ส่วนผู้เขียนสนใจและสมัครเข้าเรียนสาขาวิชากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Law) ที่มหาวิทยาลัยตาร์ตู ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาระบบตุลาการปัญญาประดิษฐ์ (AI Judge)

การเข้าร่วมเป็น e-Resident และได้ใช้งานระบบรัฐการของเอสโตเนีย ทำให้เราได้เห็นว่าการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐสามารถทำได้รวดเร็ว โปร่งใส และง่ายดาย จนเหมือนอยู่คนละโลกกับสิ่งที่เราพบเจอกันในชีวิตประจำวัน ทำให้หวนคิดถึงคำของวิลเลียม กิ๊บสัน นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกันที่กล่าวไว้ว่า

“อนาคตอยู่ตรงนี้แล้ว – แค่ยังไม่ถูกแบ่งปันให้เท่ากันเท่านั้นเอง”

(The future is already here – It’s just not evenly distribute)

ติดตามเรื่องราวของเอสโตเนียได้ที่นี่

พยัคฆ์ทะยาน โครงการก้าวกระโดดแบบเอสโตเนีย จิตวิญญาณสตาร์ทอัพระดับประเทศ

e-Residency “สาธารณรัฐคนกันเอง” ความฝันใหญ่ของเอสโตเนีย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save