fbpx
DRIES : ก็ (ไม่) แฟชั่นอะ!

DRIES : ก็ (ไม่) แฟชั่นอะ!

เสื้อผ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ก็จริง แต่พอได้ยินคำว่า ‘แฟชั่น’ ขึ้นมา ทำไมมันฟังดูไกลตัวอย่างไรไม่รู้

 

สารภาพตามตรง ทุกวันนี้ผมยังไม่เข้าใจเลยว่าทำไมการนับไซเคิลแฟชั่นโชว์ในแต่ละฤดูกาลถึงต้องทำล่วงหน้ากันหลายคอลเล็กชั่นขนาดนั้น และชุดแปลกๆ บางตัวของบางแบรนด์ที่ทำออกมาให้เหล่านายแบบนางแบบใส่ออกมาเดินโชว์ ใครกันแน่ที่บ้าพอจะซื้อไปใส่ในการใช้ชีวิตประจำวัน (ที่เห็นนางแบบยุคนี้เดินหน้าบึ้ง จริงๆ อาจเป็นเพราะบางชุดพวกเขาก็ไม่ได้อยากใส่ (ฮา))

มาจนถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางคนที่เป็นสายแฟชั่นคงเบ้ปากใส่แล้วบอกว่า ‘หึ งี้แหละนะ พวกไร้รสนิยม’

คงต้องยอมรับโดยดุษฎี เพราะทุกวันนี้ชีวิตจะย่างกรายไปใกล้กับคำว่าแฟชั่นมากที่สุดก็ด้วยการเดินเข้าไปตามร้านดาษๆ ประเภท ‘แดกด่วน’ แบรนด์แมสๆ คุ้ยหาเสื้อลดราคา มากกว่าจะเดินเข้าห้องเสื้อหรูหราที่เป็นขาประจำในงานแฟชั่นโชว์ เลือกเสื้อผ้าที่ดู ‘มีสไตล์’ ในแบบโว้กแมกกาซีนมาใส่เพื่อบอกความเป็นตัวเอง

แต่อย่างที่ มิแรนด้า พรีสต์ลีย์ ตบหน้าเราเอาไว้ใน The Devil Wears Prada (David Frankel, 2015) ว่า “มันตลกนะถ้าจะบอกว่าที่เธอซื้อเสื้อผ้าบ้านๆ ตามร้านมาใส่ เพราะไม่อยากจะเอาตัวเองมาเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นหรูหรา ทั้งที่จริงๆ แล้ว สเว็ตเตอร์สีฟ้าบนตัวของเธอที่ซื้อมาตอนลดราคา ก็พวกฉัน [คนแฟชั่น] นี่ล่ะ ที่เป็นคนกำหนดเทรนด์จากของแพงๆ แปลกๆ ที่เธอบอก”

หากโลกแฟชั่นบนรันเวย์กำหนดเทรนด์การแต่งกายตั้งแต่ต้นยันปลายน้ำ และเปลี่ยนไปไวจนเรานับไม่ทัน (และนับไม่ถูก) – ในประเทศเล็กๆ อย่างเบลเยี่ยม ที่ไม่ได้โด่งดังเรื่องแฟชั่นเท่าปารีสหรือนิวยอร์ก ยังมีดีไซเนอร์อีกคนที่ไม่เชื่อการทำแฟชั่นให้หมุนไวจนต้องโยนทิ้งทุกหกเดือนอย่างที่อีกหลายแบรนด์กำลังทำตามๆ กัน และตั้งปณิธานว่าเขาจะทำเสื้อผ้าที่ได้ชื่อว่า ‘ไร้กาลเวลา’

ชื่อของเขาคือ ดรีส แวน โนเทน

 

YouTube video

 

DRIES (Reiner Holzemer, 2017) พาเราตามไปดูการทำงานและการใช้ชีวิตของดรีส ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Dries Van Noten ที่เขาเป็นคนก่อตั้ง ตั้งแต่การเตรียมงานหลังเวทีที่ดรีสยืนจัดชุดบนตัวนางแบบก่อนพวกเธอจะเดินออกไป จนกลับมาที่ออฟฟิศเพื่อคุยงานกับทีม เตรียมตัวออกแบบเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นต่อไป แอบแวะไปดูชีวิตส่วนตัวของเขาที่บ้านกับสามี ตัดสลับกับความทรงจำในแต่ละโชว์ที่ดรีสมาเล่าให้เราฟัง

ตามประสาคนไม่ได้ติดตาม ผมไม่เคยได้ยินชื่อของดรีสและแบรนด์ของเขามาก่อน

ยิ่งเห็นในตัวอย่างภาพยนตร์ที่ดูมาก่อนจะเข้าไปดู ก็ยิ่งสงสัยว่าอะไรที่ทำให้ชีวิตของคุณลุงเท่ๆ วัย 59 คนนี้เป็นซับเจ็กต์ที่น่าสนใจมากพอจะทำให้ผู้กำกับเลือกจะพาเราไปรู้จักตัวตน แต่พอได้เห็นดรีสปรากฏตัวในเชิ้ตสีฟ้าอ่อนสวมคู่กางเกงชิโนสีเข้มแบบพนักงานออฟฟิศย่านสีลม (ต่างกับภาพแฟชั่นดีไซเนอร์ในจินตนาการที่ต้องดูเปรี้ยวๆ แต่งตัวจัด) คู่กับผลงานการออกแบบของเขา ก็ทำให้ผมเริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวได้ว่า ‘ทำไม’

เขาคือคนทำงานในโลกของแฟชั่น ที่ไม่ได้มองโลกอย่างคนในโลกใบเดียวกันคนอื่นๆ

แทนที่จะขายบริษัทให้กลุ่มทุนลักซ์ชัวรี่ใหญ่ๆ ตามอย่างแบรนด์เสื้อผ้าหรูอื่นๆ เขาเลือกเป็นดีไซเนอร์อิสระเพราะจะได้ไม่ต้องกังวลกับอำนาจในการกำหนดงานออกแบบให้ขายได้, แทนที่จะออกแบบบนกระดาษ เขาเลือกจะเอาเนื้อผ้าหลายๆ แบบ ลายปรินต์หลายๆ ลายมาทาบลงบนตัวนายแบบที่เป็นมนุษย์จริงๆ เพื่อทดลองว่าแบบไหนเข้าท่ามากที่สุด, แทนที่จะเลือกออกแบบตามกระแสแฟชั่นแบบมินิมัลในช่วงทศวรรษ 90s เขาเลือกออกแบบในสไตล์ตัวเองที่เน้นเนื้อผ้าแบบแปลกๆ ลายปักที่ดูเยอะสิ่ง สีฉูดฉาดแหวกกระแส จนคอลเล็กชั่นช่วงนั้นขายแทบไม่ออก

“ผมไม่ชอบคำว่าแฟชั่น” คือคำพูดจากปากของดรีส

ถึงเขาจะพูดประโยคนั้นออกมาในบริบทของความไม่อยากวิ่งไล่ตามเทรนด์ที่พร้อมหมดอายุ ใส่ความหรูหรา เยอะ แปลกแหวกแนวให้ได้เป็นที่พูดถึง เหมือนอย่างคำว่า ‘แฟชั่น’ ในความหมายของคนอื่นๆ แต่การได้เห็นชีวิตของเขาทุกแง่มุมใน DRIES ก็ทำให้ผมได้รู้ว่าความ ‘ไม่ชอบ’ แฟชั่นที่ออกมาจากปากแฟชั่นดีไซเนอร์อย่างเขา ล้วนอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิต

ในบ้านหลังใหญ่กลางสวนมหึมาแต่ดูร่มรื่นปลีกวิเวก ดรีสใช้ชีวิตอยู่กับคู่ชีวิตของเขาที่นั่น สิ่งที่เราเห็นบนจอคือความเวรี่ยุโรปภายในบ้าน ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ เดินออกไปตัดดอกไม้ในสวนมาใส่แจกัน ขุดบีทรูทมาทำกับข้าว และเล่นกับหมา – พูดอย่างง่ายที่สุด ชีวิตของเขาช่างเรียบง่าย (ที่ไม่ได้หมายถึงความใหญ่โต) ซึ่งก็น่าตลกที่มันช่างขัดกับความไวของเวลาในวงการที่เขาทำงานเลี้ยงชีพ

รุ่นพี่คนหนึ่งที่ได้ไปดูหนังเรื่องนี้ด้วยกัน มาคอมเมนต์ใต้โพสต์ที่ผมพูดถึงดรีสว่า ‘เป็นคนน่าเบื่อคนนึง ตามแบบฉบับคนเฟลมมิช (คำเรียกชาวเบลเยี่ยมเชื้อสายเยอรมัน)’ ซึ่งถ้าจะตัดสินจากเรื่องราวที่เห็น ผมคิดว่าก็ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าจะเรียกเขาอย่างนั้น เพราะชีวิตสโลว์ๆ นอกออฟฟิศของเขาก็ดูน่าเบื่อตามประสาคนวัยเข้าเลขหกจริงๆ นั่นแหละ

 

แต่เมื่อมานึกดูอีกที สิ่งที่ทำให้เสื้อผ้าของเขาแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ คือความกล้าที่จะทลายเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความอุบาทว์ กับความมีเทสท์ และเอามันมาผสมเข้าด้วยกันจนออกมาเป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเอง จนคนชอบเรียกเขาว่า ‘Master of Deconstruction’ ผู้สร้างงานศิลปะที่มีลายเซ็นต์เฉพาะตัว ให้เราซื้อไปเก็บในคอลเล็กชั่นของตัวเอง

ซึ่งผมเชื่อว่า ยูนิฟอร์มเชิ้ตสีฟ้าคู่กับกางเกงชิโนสีดำ และไลฟ์สไตล์สโลว์ๆ ดูน่าเบื่อของดรีส คงเป็นศิลปะแห่งความไม่เข้ากันในคอลเล็กชั่นการใช้ชีวิตขั้วตรงข้ามกับงานที่ทำ ในแบบ ‘ไม่แฟชั่นอะ’ ของเขาเหมือนกัน

 

อ้างอิง

เว็บไซต์ของดรีส แวน โนเทน

DRIES (ดรีส) โดย Documentary Club Thailand

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save