fbpx
ไม่ว่าจะสูง… แค่ไหนก็สร้างถึง : ทำไมประเทศเผด็จการถึงชอบสร้างอะไรสูงๆ

ไม่ว่าจะสูง… แค่ไหนก็สร้างถึง : ทำไมประเทศเผด็จการถึงชอบสร้างอะไรสูงๆ

คงไม่ผิดนักถ้าเราจะบอกว่าหนึ่งในสัญลักษณ์บ่งบอกถึงอำนาจ คือความใหญ่โตของสิ่งปลูกสร้าง

ตั้งแต่ในยุคที่ฝรั่งเศสยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ พระราชวังแวร์ซายส์สุดหรูหราก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักของกษัตริย์และเหล่าขุนนาง ด้วยราคาที่ประมาณกันว่าสูงถึงสองพันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเมื่อไม่นานมานี้ที่อังการา เมืองหลวงของประเทศตุรกี ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิบ แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) ก็เพิ่งทุ่มเงินถึง 615 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างบ้านพักสำหรับประธานาธิบดีที่มีห้องภายในกว่า 1,150 ห้อง ในพื้นที่สามแสนตารางเมตร

ความเหมือนกันของทั้งแวร์ซายส์และบ้านพักในตุรกี ไม่ใช่แค่ความกว้างใหญ่ แต่เป็นการใช้เงินภาษีจากประชาชนเพื่อสร้างสัญลักษณ์ของอำนาจให้กับตัวเอง มากกว่าจะใช้เพื่อสร้างประโยชน์โดยรวมกับประชาชน

 

นอกจากความใหญ่โต ‘ความสูง’ ของอาคารก็เป็นอีกเครื่องชี้วัดหนึ่งที่หลายประเทศแข่งขันกันเพื่อวัดว่าใครเป็น ‘เจ้าโลก’ ตัวจริง แต่นอกจากความสูงจะเป็นตัวเลขที่แข่งกันสร้างให้คนเงยหน้าขึ้นไปมอง มันจะบอกอะไรกับเรามากกว่านั้นได้ไหม?

คาร์ล เฮนริก คนุตเซ่น และ โฮคน ยาโลฟ สองนักวิจัยชาวนอร์เวย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล เพิ่งตีพิมพ์งานวิจัยในหัวข้อ Autocrats and Skyscrapers: Modern White Elephants in Dictatorships ที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเภทของรัฐบาลในแต่ละประเทศว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการก่อสร้างตึกสูง

พวกเขาเปรียบเทียบข้อมูลตึกสูงจากฐานข้อมูลของ Council on Tall Buildings and Urban Habitat (CTBUH) และข้อมูลด้านประชาธิปไตยจากองค์กร Variety of Democracy (V-Dem) ทั้งจำนวนพรรคการเมือง ข้อมูลด้านการคอร์รัปชัน และเสรีภาพสื่อภายในประเทศ และพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศรัฐบาลเผด็จการจะสร้างตึกที่มีความสูงโดยเฉลี่ยต่อปีสูงกว่าประเทศรัฐบาลประชาธิปไตยอยู่ประมาณ 150 เมตร

เมื่อลองดูแต่ละตึกที่แข่งกันที่ความสูง – Jeddah Tower ตึกสูง 1,000 เมตร ที่ซาอุดิอาระเบียกำลังจะก่อสร้างด้วยมูลค่าสูงถึง 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ, The Tower ตึกสูง 928 เมตร ราคาหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ Ryugyong Hotel โรงแรมทรงพีระมิดสูง 330 เมตรที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพักในเกาหลีเหนือ (เพราะภายในไม่มีอะไรเลย มีแต่โครงตึก) ต่างเป็นอาคารสูงภายใต้ประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการทั้งสิ้น

 

แต่เอาเข้าจริงในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเผด็จการหรือประชาธิปไตย ก็ล้วนแล้วแต่ต้องการสร้างตึกสูงเพื่อเป็นหน้าตาให้กับประเทศของตัวเองทั้งนั้น แล้วความแตกต่างของตึกสูงในสองระบบการปกครองนี้ต่างกันตรงไหน?

คำตอบอยู่ที่ ‘สาเหตุ’ ในการสร้างตึกสูง

ในประเทศประชาธิปไตย การสร้างตึกสูงจะเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านการพัฒนาเมือง เมื่อคนอาศัยในเมืองมากขึ้น รายได้ประชากรมากขึ้น การสร้างที่อยู่บนตึกสูงก็เหมือนกับการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐศาสตร์ นั่นคือจะใช้พื้นที่ในเมืองอย่างไรให้คนเข้าไปอยู่อาศัยได้มากที่สุด ในขณะที่เมื่อมองจากมุมของประเทศเผด็จการ ตึกสูงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ตัวแทนอำนาจของผู้ปกครอง ที่ใช้เงินภาษีไปกับการสร้างตึกสูงที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่อย่างที่ควรเป็น

ตึก Burj Khalifa อันโด่งดังของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เอง แม้จะสูงถึง 828 เมตร จนกลายเป็นหนึ่งในตึกสูงติดอันดับโลก แต่พื้นที่กว่า 29% ของตึกกลับถูกกันไว้ให้ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มประโยชน์ และเช่นเดียวกันกับความสูง 150 เมตรต่อปีที่ประเทศเผด็จการจะสร้างตึกให้สูงกว่าประเทศประชาธิปไตย

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ประเทศเผด็จการยังสร้างให้ตึกสูงของพวกเขาใช้พื้นที่ต่อชั้นมากกว่าตึกสูงในประเทศประชาธิปไตยเช่นกัน (นั่นหมายความว่าความสูงที่แข่งกันไม่ได้เพิ่ม ‘พื้นที่ใช้งานจริง’ ให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย)

 

สิ่งที่น่าสนใจคือมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้รัฐบาลประเทศประชาธิปไตยสร้างตึกสูงที่แสดงถึงอำนาจ (ในงานวิจัยเรียกว่าหอคอยงาช้าง หรือ ‘white elephant’)  แบบประเทศเผด็จการได้ยาก เจ้าของงานวิจัยชิ้นนี้บอกว่ามีปัจจัยสามประการที่เป็นไปได้

หนึ่ง, ประชาธิปไตยสร้างระบบแข่งขันและจัดการผู้ปกครองได้ดีกว่า การตรวจสอบจากสื่อ เวทีสาธารณะต่างๆ ทำให้ประชาชนรู้ทันการใช้งบประมาณของรัฐบาลได้มากขึ้น เมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้น รัฐบาลที่ ‘เอาแต่ใจ’ จึงไม่สามารถแข่งขันกับตัวเลือกอื่นๆ ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้

สอง, ระบบการคานอำนาจของประชาธิปไตยทำให้การสร้าง ‘หอคอยงาช้าง’ เป็นไปได้ยาก การจะผ่านงบประมาณจำเป็นต้องผ่านการรับรองจากหลายฝ่าย นอกเหนือจากคณะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่บริหาร ซึ่งถ้าเห็นว่าไม่คุ้มค่า ก็ปัดข้อเสนองบประมาณในสิ่งไม่จำเป็นทิ้งไปได้ง่าย ต่างกับรัฐบาลเผด็จการ

สาม, รัฐบาลเผด็จการจำเป็นต้องสร้างตึกสูงเพื่อ ‘เอาใจ’ กลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์และผู้สนับสนุนของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเช่นเหล่านักธุรกิจ นักลงทุน ฯลฯ การสร้างตึกสูงราคาต้นทุนแพงๆ จึงเป็นการคงอำนาจของตัวเองด้วยการกระจายรายได้จากภาษีประชาชนไปสู่กลุ่มผู้สนับสนุน หรือแม้ว่าตึกนั้นจะเป็นเงินของเอกชน แต่ก็ยังได้รับประโยชน์จากนโยบายต่างๆ ที่รัฐเผด็จการจะมอบให้อยู่ดี ซึ่งต่างกันกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ต้องแคร์ฐานเสียงจากประชาชนมากกว่า

 

แต่ประเทศไทยเราไม่เหมือนใคร เพราะแม้คนปากไม่ดีหลายคนจะกล่าวหาว่าเราอยู่ในยุคเผด็จการทหาร แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้อยากแข่งกับประเทศอื่นๆ ในแง่ของความสูงเสียหน่อย

เราอยากแข่งในแง่ความต่ำ (กว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง) ต่างหากเล่า

ก็ ‘เรือดำน้ำ’ นั่นไง!

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง Why Do Autocracies Build Taller Skyscrapers? โดย Andrew Small จาก City Lab, 

งานวิจัยเรื่อง Autocrats and Skyscrapers: Modern White Elephants in Dictatorships โดย Haakon Gjerlow และ Carl Henrik Knutsen จาก SSRN, April 12, 2017

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018