fbpx
Democracy.Earth : ปฏิบัติการ ‘แฮ็ก’ ประชาธิปไตยครั้งใหม่ เพื่ออนาคตการออกเสียงทางการเมืองที่เราทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

Democracy.Earth : ปฏิบัติการ ‘แฮ็ก’ ประชาธิปไตยครั้งใหม่ เพื่ออนาคตการออกเสียงทางการเมืองที่เราทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

หลายเดือนที่ผ่านมา ชื่อของสกุลเงิน บิทคอยน์ กลายเป็นที่รู้จักของหลายคน จากข่าวมูลค่าที่ก้าวกระโดดสูงยิ่งกว่าพระกระโดดกำแพง จากหนึ่งพันกว่าดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อต้นปี มาเป็นเกือบสองหมื่นในตอนนี้ จนหลายประเทศ หลากสถาบันการเงินเกิดอาการ ‘เสียงแตก’ ว่าจะเอาอย่างไรดีกับการมาถึงของบิทคอยน์

ขณะเดียวกับที่เหล่าแมงเม่าและเจ้ามือตาลุกวาวกับมูลค่าที่ขึ้นลงอย่างกับรถไฟเหาะในแต่ละวัน เรากลับไม่ค่อยได้มาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีเบื้องหลังที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับมัน นั่นคือ บล็อกเชน ซึ่งเป็นเหมือนเสาหลักของบิทคอยน์ และทำให้มันได้ชื่อว่าเป็นสกุลเงินที่ ‘โปร่งใส’ ที่สุดในตอนนี้

ในอีกทางหนึ่ง บล็อกเชนยังเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดสกุลเงินดิจิทัลอีกเกือบพันชนิดบนโลก บ้างเกิดขึ้นเพื่อเป็นฐานให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทสตาร์ทอัปใหม่ๆ บ้างก็เป็นอย่างที่เรียกกันว่าแชร์ลูกโซ่ที่ออกมาขายฝันหลอกเอาเงินจากนักลงทุน และสกุลเงินเกิดใหม่ที่ว่าก็ถูกสร้างมาเพื่อเพิ่มผลกำไรให้กับนักลงทุนในเหรียญนั้น เมื่อเหรียญถูกนำไปใช้ในการทำงานของระบบ หากมีผู้ใช้งานมาก มูลค่าของเหรียญก็ยิ่งมากตามไปด้วย

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเกินกว่าครึ่งจึงหมุนอยู่รอบคำว่า ‘ธุรกรรมการเงิน’ เป็นส่วนใหญ่

ระหว่างที่เรากำลังถูกกระแสข่าวของเหล่าสกุลเงิน Cryptocurrencies ถาโถม ข่าวประโคมจากองค์กรในโลกจริงที่บอกว่าจะใช้เหรียญนั้นเหรียญนี้ให้ราคาขึ้นลงเรื่อยๆ ยังมีอีกหนึ่งมูลนิธิสตาร์ทอัปไม่แสวงหาผลกำไรจากประเทศอาร์เจนติน่า ที่มองบล็อกเชนต่างออกไป

พวกเขามีความฝันที่อยากเปลี่ยนโลกของระบบประชาธิปไตยให้ดียิ่งขึ้น (โดยเรียกว่าการ ‘แฮ็ก’ ใส่ระบบบล็อกเชนลงไป) ระบบประชาธิปไตยซึ่งทำงานบนโลกอินเทอร์เน็ต ที่จะสะท้อนเสียงที่แท้จริงของผู้คนมากยิ่งขึ้น ยืนยันความเป็นตัวตนของเราอย่างแท้จริง และปลอดจากการแทรกแซงของอำนาจที่มองไม่เห็น ในชื่อว่า Democracy.Earth

และถ้าเราจะบอกว่า ความฝันของพวกเขา คือการทำให้ระบบที่ว่าเป็นเสาหลักของประชาธิปไตย ในโลกอนาคตที่เรา (อาจ) อยู่ในสภาวะ ‘ไร้รัฐชาติ’ ต่างจากตอนนี้

คุณคิดว่ามันจะเป็นไปได้จริงไหม?

 

Santiago Siri อาจเป็นหนึ่งในคนหนุ่มสาวธรรมดาๆ ของสังคมอาร์เจนติน่า แต่ในปี 2012 เขาและกลุ่มเพื่อนๆ เริ่มต้นรวมตัวกันเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงระบบ ด้วยแนวคิดที่อยากจะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อ ‘แฮ็ก’ ระบบประชาธิปไตยจากข้างในให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการก่อตั้งพรรคการเมือง Partido de la Red ที่แปลตรงตัวว่า The Net Party เพื่อลงชิงตำแหน่งในสภาของเมืองบัวโนสไอเรสที่จะจัดเลือกตั้งในปี 2013

ด้วยนโยบายที่ว่า ถ้าได้เข้าไปนั่งในสภา เขาจะเป็นตัวแทนเสียงของทุกคน ด้วยการโหวตตามที่ทุกคนบนอินเทอร์เน็ตลงความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

DemocracyOS คือขั้นแรกในการแฮ็กระบบประชาธิปไตยของสิริและกลุ่มแอคทิวิสต์รุ่นใหม่ ด้วยการเป็นแพล็ตฟอร์มโอเพ่นซอร์สที่ให้ผู้สนับสนุนพรรคเข้าไปโหวตว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นต่างๆ ในสภา (ที่ต้องให้สมาชิกในสภาโหวต) หรือสามารถเขียนและสนับสนุนร่างกฏหมายที่อยากให้พรรคนำไปเสนอในสภาก็ได้เช่นกัน

แนวทางนี้ทำให้พรรค Partio de la Red ได้รับเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งจริงไปถึง 1.2% แม้จะไม่มากพอให้เข้าไปครองที่นั่งในสภาจริงๆ แต่ก็ถือว่าเยอะสำหรับพรรคหน้าใหม่โดยคนรุ่นใหม่ กับคำมั่นสัญญาเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับคนทั่วไปที่อยากเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย ในวันที่ระบบตัวแทนไม่อาจทำตามเสียงของเราได้ จากการล็อบบี้ หรือการคอร์รัปชันภายใน

การเกิดขึ้นของ DemocracyOS กลายเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกจนถูกเอาไปปรับใช้ในหลากหลายพื้นที่ แม้แต่ในบัวโนสไอเรสเอง รัฐบาลก็ทดลองนำแพล็ตฟอร์มของพวกเขาไปลองให้ผู้คนออกเสียงด้วยเช่นกัน

แต่ก้าวต่อไปของสิริและกลุ่มเพื่อนในการแฮ็กประชาธิปไตยด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน เพืี่อให้สะท้อนเสียงของปัจเจกมากขึ้น ทำให้มันโปร่งใสและตรวจสอบได้ ไม่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่เดียว เกิดขึ้นจากครั้งที่สองที่พวกเขาจะลองส่งผู้สมัครเข้าสภา แต่กลับถูกบอกว่าต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ

นั่นคือช่วงเวลาที่พวกเขาเจอบอสของจริงที่ขวางทางการพัฒนาประชาธิปไตย นั่นคือการ ‘คอร์รัปชัน’

Democracy.Earth จึงเกิดขึ้นมาด้วยเป้าหมายแบบที่เรียกว่า ‘Moonshot’ ในภาษาของเหล่านักพัฒนาจากซิลิคอนวัลลีย์ นั่นคือการทำทุกอย่างให้ดีกว่าเดิม 10 เท่า และเป้าหมายของสิริในครั้งนี้ คือการทำให้ระบบประชาธิปไตยดีกว่า 10 เท่าจากที่รัฐบาลของรัฐชาติแบบดั้งเดิมทำอยู่ ในชื่อของ Sovereign ด้วยหลักคิดที่ว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามัวสู้อยู่กับปัญหาที่อยู่ตรงหน้า แต่เราต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ปัญหาในระบบเก่าถูกกำจัดไป

 

Democracy.Earth นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ใน Sovereign เพื่อแก้ไขระบบความเชื่อใจสากลของกลไกประชาธิปไตย (ที่เปราะบางจนเกิดปัญหาคอร์รัปชันอย่างที่เป็นอยู่) นั่นคือเรื่องของการยืนยันตัวตน ระบบการใช้สิทธิ์ออกเสียง และกลไกตัวแทนที่จะไปใช้สิทธิ์แทนเรา

ย้อนกลับไปถึงระบบบล็อกเชน 101 มันคือเทคโนโลยีที่กระจายศูนย์การจัดเก็บ บันทึกข้อมูลการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ โดยใช้ระบบยืนยันตัวตนแนบไปกับข้อมูลนั้น และอัปเดตข้อมูลพร้อมกันในทุกคอมพิวเตอร์ (หรือ node) ที่เป็นคนบันทึกให้เป็นเวอร์ชั่นเดียวกัน ในระบบการเงิน บล็อกเชนถูกใช้ในการจัดเก็บรายการรับและส่งเงินให้แก้ไขไม่ได้ จึงทำให้เกิดความโปร่งใสเป็นจุดขาย

ดังนั้นหากลองนำระบบนี้มาใช้ในการออกเสียงเลือกตั้ง นั่นหมายความว่าจากการที่เราไปลงคะแนนหย่อนในหีบ และให้ใครก็ไม่รู้ที่ได้รับอำนาจจากรัฐมาเปิดและนับคะแนน คีย์ข้อมูลเข้าไปประมวลที่เซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง เมื่อใช้บล็อกเชนเข้ามาทำหน้าที่ ผลการโหวตจะถูกกระจายไปในทุก node ที่ทำงานอยู่ทันที พร้อมข้อมูลว่าใครโหวต ทำให้การเข้ามาแก้ไขผลคะแนนเป็นไปไม่ได้เลย (เพราะต้องเจาะเข้าในทุกเครื่องที่ทำงานอยู่)

เมื่อเป็นอย่างนี้ การทำงานของระบบการโหวตจึงถูกเทียบเคียงกับการเทรดเงินในแบบ Cryptocurrency หาก บิทคอยน์ มีค่าเป็นสกุลเงินเหมือนเหรียญในกระเป๋าของเรา ในระบบ Sovereign ก็มีเหรียญที่ชื่อว่า Votes ซึ่งรัฐบาลกลาง (ซึ่งอาจเป็นองค์กรเล็กๆ บอร์ดคณะบริหาร ไปจนถึงรัฐบาลในประเทศจริงๆ หรือไกลอย่างที่สิริหวัง คือการเป็นรัฐบาลโลก) แจกจ่ายออกมาให้กับสมาชิกที่มีสิทธิ์ออกเสียงเพื่อเป็นต้นทุนในการโหวตในแต่ละประเด็นเหมือนกับการออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป

แต่ต่างออกไปที่ระบบนี้ถูกเรียกว่า ‘Social Smart Contract’ ที่ตั้งอยู่บนฐานของเทคโนโลยี Ethereum1  ซึ่งทำได้มากกว่าแค่การโหวตสอบถามความคิดเห็น แต่ยังนำไปใช้ได้กับเรื่องงบประมาณรัฐได้ด้วย!

ลองจินตนาการว่าหากประเทศสมมติประเทศหนึ่งอยากให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณสาธารณะในหัวข้อ ‘รถไฟความเร็วสูง’ หากเป็นระบบทั่วไป เราก็ต้องเลือกตั้งให้ผู้แทนในสภาไปโหวตว่าจะเอาหรือไม่เอา หรือถ้าโดนเบรค ก็เป็นเพราะอำนาจจากศาล (ที่ไม่ได้ยึดโยงกับเรามากขนาดนั้น) มาตัดสิน โดยที่ประชาชนอย่างเราได้แต่เสียผลประโยชน์

แต่ในระบบ Sovereign ที่ใช้เทคโนโลยี Social Smart Contract รัฐสามารถแจกจ่ายเหรียญให้กับประชาชนเพื่อโหวตว่าจะเอาหรือไม่เอา เมื่อหมดเวลาและคะแนนเกินกึ่งหนึ่งว่า ‘เอา’ ระบบก็จะปลดล็อกงบประมาณในกระเป๋าเงินสกุล Cryptocurrency ของรัฐที่ผูกอยู่ตามงบที่ตั้งไว้ในโปรเจ็กต์นี้โดยอัตโนมัติ เพื่อส่งให้กับคลัง (หรือคู่สัญญา) เอาไว้ใช้งานเพื่อโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูง

ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ถูกบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ทั่วโลกโดยไม่ต้องมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องให้เสี่ยงกับการคอร์รัปชัน และไม่มีทางย้อนกลับเหมือนกับการส่งเหรียญบิทคอยน์ แถมยังติดตามการจ่ายเงินได้ด้วย

คำถามต่อมาคือ เราจะเชื่อมั่นในความรู้ของคนที่โหวตในประเด็นต่างๆ ได้อย่างไร และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนๆ นั้นเป็นเจ้าของเสียงโหวตตัวจริง

Liquid Democracy จึงเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ในระบบการทำงานของ Sovereign ที่เราสามารถ ‘ส่ง’ เหรียญ Votes ให้กับคนที่เราคิดว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ คล้ายกับประชาธิปไตยระบบตัวแทน แต่ในที่นี้ ตัวแทนของเราอาจเป็น ไผ่ ดาวดิน, บุ๋ม ปนัดดา, สฤณี อาชวานันทกุล, โตมร ศุขปรีชา หรือแม้แต่เพื่อนแอคทิวิสต์ หรือเพื่อนที่เป็นคนธรรมดาๆ ในมหาวิทยาลัยที่เราเรียนอยู่ก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีสถานะ ‘นักการเมือง’ เหมือนแต่ก่อน (แต่สุดท้าย ระบบก็ยังยอมให้เราในฐานะเจ้าของเหรียญก็ยังเปลี่ยนผลโหวตสุดท้ายได้อยู่ หากตัวแทนของเราเลือกในตัวเลือกที่เราไม่ต้องการ)

และเช่นเดียวกับหลักการของ Cryptocurrency ทั่วไป การยืนยันตัวตนของ Sovereign ทำงานเหมือนกับการมี ‘กระเป๋าเงิน’ ส่วนตัวในระบบบล็อกเชนเพื่อส่งเงินหากัน แต่เปลี่ยนจากการสร้าง Private Key ส่วนตัวด้วยการสุ่มตัวเลข มาเป็นการอัปโหลดวิดีโอแรกเกิดของแต่ละบุคคลเข้าสู่ระบบ (พร้อมเสียงพูดบอกชื่อ และคำยืนยันจากพ่อแม่) เพื่อแปลงเป็นตัวเลข Private Key ส่วนตัวที่ใช้เป็นกระเป๋าเก็บเหรียญ Votes ซึ่งจะไม่เหมือนกันเลยในแต่ละคน และไม่มีทางปลอมแปลงได้ (ในตอนนี้ Blockchain-Certified Global Citizen คนแรกของโลกที่มี Private Key ไว้โหวต คือ Roma Siri ลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Democracy.Earth)

เมื่อรวมทั้งการยืนยันตัวตน หลักการ Liquid Democracy ระบบการโหวต และ Social Smart Contract เข้าด้วยกัน การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนของ Sovereign และความฝันของ Democracy.Earth จึงน่าตื่นเต้น และทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ของระบบประชาธิปไตยในโลกอนาคตที่กำลังจะมาถึง

 

หากความเชื่อของ Santiago Siri และกลุ่ม Democracy.Earth เป็นจริง ในอีกไม่นาน เราอาจจะได้เห็นโลกที่ไร้ความเป็นรัฐชาติ ซึ่งประชากรโลกทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียงในวาระระดับโลก โดยอาศัยเพียงสมาร์ทโฟนในมือ (ในตอนนี้ พวกเขาลองทำ pilot project นำร่องกับการออกเสียงประชามติในโคลัมเบียเรียบร้อยแล้ว)

นั่นอาจเป็นฝันที่ดูไกลเกินจะเป็นจริงในอดีต แต่ใครจะไปรู้ เมื่อผ่านพ้นช่วงชีวิตของเรา แนวคิดเล็กๆ จากเทคโนโลยีที่เพิ่งเกิดใหม่ไม่นาน (และถูกมองว่าเป็นของเล่นทางการเงิน) ​อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองของคนในเจเนอเรชันถัดไปอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ก็ได้

ความฝันที่ประชาธิปไตยจะ ‘เข้มแข็ง’ ด้วยเสียงของประชาชน โดยไม่มีมือที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรกแซงอย่างที่เคยเป็น

 

เชิงอรรถ

1 Ethereum คือหนึ่งในเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ถูกพัฒนาแยกออกมาจากบิทคอยน์ โดยเพิ่มระบบที่มีชื่อว่า Smart Contract เข้าไป เพื่อให้นักพัฒนาสามารถสร้างเงื่อนไขสัญญาว่าถ้าได้รับเงิน (หรือเหรียญที่ถูกให้ค่าว่าเป็นคะแนนโหวต) เข้าไปในระบบ แล้วเกิดเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ระบบจะทำงานให้ผลลัพธ์อย่างที่ตั้งค่าเอาไว้โดยอัตโนมัติในระบบบล็อกเชน

 

อ่านเพิ่มเติม

เว็บไซต์ Democracy.Earth

คลิป Santiago Siri : Internet and blockchain-based technology, a revolution for Democracy

บทความ Democracy Is Getting A Reboot On The Blockchain โดย ADELE PETERS จาก fastcompany

แพล็ตฟอร์มโอเพ่นซอร์ส DemocracyOS

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save