fbpx
พวกเขากำลังทำอะไรอยู่ : เมื่อดนตรีไม่ใช่แค่ดนตรีอีกต่อไป

พวกเขากำลังทำอะไรอยู่ : เมื่อดนตรีไม่ใช่แค่ดนตรีอีกต่อไป

ลองดูยูทูปนี้นะครับ

 

YouTube video

 

ดูแล้วคุณเดาออกไหม – ว่าตาคนนี้กำลังทำอะไรอยู่

ผู้ชายคนนี้ชื่อ ไดโตะ มะนะเบะ (Daito Manabe) หรือมีชื่อเล่นว่าโกะ เขาเกิดในปี 1976 ถ้าถามว่าเขาทำงานอะไร คำตอบนั้นสุดแสนจะเป็น ‘อาชีพแห่งศตวรรษที่ 21’ อย่างยิ่ง เพราะเขาเป็นทั้งศิลปิน นักแต่งเพลง โปรแกรมเมอร์ ดีไซเนอร์ เป็นดีเจ แล้วก็เป็นวีเจด้วย

แต่ไม่ใช่แค่นี้นะครับ เพราะเขายังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มชื่อ Rhizomatiks ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวบรวมผู้คนครีเอทีฟเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก ศิลปินด้านวิชวลอาร์ต ศิลปินด้านสื่อ นักออกแบบ นักดนตรี วิศวกร และโปรแกรมเมอร์

คนที่มาดูแลกลุ่มนี้ให้ คือโมโตอิ อิชิบาชิ (Motoi Ishibashi) ซึ่งเป็นทั้งศิลปินและวิศวกร (ใครจะคิดว่าสองอาชีพนี้มารวมกันได้) เขาร่ำเรียนมาด้านวิศวกรรมควบคุมระบบ รวมถึงวิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมด้านการโปรเซสภาพ (ซึ่งผมไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร แต่เขาเรียกว่า Image Processing Engineering) เขาพบกับมะนะเบะสมัยเรียน แล้วก็เลยทำงานร่วมกัน โดยงานที่ทำก็คือการหาวิธีทางศิลปะใหม่ๆ ที่จะนำเอาศิลปะมารวมกับวิศวกรรม เพื่อให้เกิดงานศิลปะประเภทที่เป็นอินเทอร์แอ็คทีฟในพื้นที่สาธารณะ

ฟังดูยากๆ งงๆ ยังไงชอบกล แต่ถ้าคุณลองคลิกเข้าไปดูยูทูปข้างบน คุณจะเข้าใจ

ข้างบนนี้คือมะนะเบะ ที่นำเอาเรื่องของ ‘ผัสสะ’ ผ่านการต่อขั้วไฟฟ้าเข้ากับร่างกาย แล้วแปลงสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดจากการขยับของกล้ามเนื้อออกมาเป็นเสียง (ซึ่งก็ฟังไม่เหมือนเสียงดนตรีสักเท่าไหร่) แล้วเอาเสียงพวกนั้นมาประกอบกัน กระทั่งกลายมาเป็นดนตรีที่ค่อยๆ ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการขยับกล้ามเนื้อใบหน้าที่ค่อยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกที ดูแล้วคล้ายๆ วงประสานเสียงที่ไม่ต้องใช้ดนตรีประกอบ แต่นี่เป็นเสียงที่เกิดจากการทำงานของสัญญาณไฟฟ้าในร่างกายล้วนๆ

แนวคิดหลักของ Rhizomatiks ก็คือการ ‘ข้าม’ พรมแดนมันเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นศิลปะกับวิทยาศาสตร์ หรือศิลปะกับการค้าขาย

พวกเขาอยากทำให้ Rhizomatiks เป็นเหมือนเลเบลแผ่นเสียงที่ใครจะเข้ามาร่วมก็ได้ ตอนหลังจึงไปรวมตัวกับกลุ่มนักเต้นชื่อ Elevenplay ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานด้วย (ลองดูที่นี่ นี่คือการเต้นรำร่วมกับโดรน)

นอกจากความ ‘ก้าวหน้า’ ที่ดูล้ำโลกอย่าง Rhizomatiks แล้ว ย้อนกลับมาดูโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านดนตรี ความคึกคักอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือการตั้งวงดนตรีที่เรียกว่า Laptop Orchestra ขึ้นมา

อะไรคือ Laptop Orchestra?

ถ้าอยากรู้ ลองเข้าไปดูคลิปนี้ ซึ่งเป็นของวง Princeton Laptop Orchestra

พูดแบบหยาบๆ วง Laptop Orchestra ก็คือวงดนตรีที่ใช้แล็ปท็อปเล่นนั่นแหละครับ แต่ว่ามันไม่ได้มีแค่แล็ปท็อปหรือคอมพิวเตอร์เท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วยังต้องมีลำโพงแบบรอบทิศทาง และอุปกรณ์ควบคุมอื่นๆ เช่น คีย์บอร์ด เซนเซอร์ ฯลฯ ประกอบด้วย ขึ้นอยู่กับว่า วง ‘ดนตรี’ นั้น มีความซับซ้อนมากน้อยแค่ไหน

วงที่ดังมากๆ มีอยู่ด้วยกันสองวง คือ Concordia Laptop Orchestra หรือ CLOrk ซึ่งเป็นวงของมหาวิทยาลัย Concordia จากมอนทรีอัล แคนาดา กับอีกวงหนึ่ง (ที่อยู่ในยูทูป) คือ Princeton Laptop Orchestra หรือ PLOrk

วงหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เพื่อดูว่าคอมพิวเตอร์จะเข้าไปผสานรวมกับบริบทในการสร้างสรรค์งานดนตรีได้อย่างไรบ้าง โดยจะใช้คนราว 12-15 คน มาเป็น ‘นักดนตรี’ เพื่อเล่นวง ‘ออร์เคสตร้า’ (ในความหมายกว้าง) ร่วมกัน

ที่จริง วงนี้ไม่ใช่ของใหม่นะครับ เพราะก่อตั้งกันมาตั้งแต่ปี 2005 แล้ว โดยมีอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาโทมาร่วมมือกัน ได้ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยโดยตรง โดยมีการใช้ ‘ภาษา’ ใหม่ ที่เรียกว่าภาษา ChucK ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมมิ่งที่ใช้สำหรับงานดนตรีโดยเฉพาะ

ปรากฏการณ์ทางดนตรีสองแบบที่ว่ามานี้ เป็นเพียงเทรนด์ย่อยๆ ของเทรนด์ใหญ่ทางดนตรีสองอย่าง โดยเฉพาะดนตรีประเภทคลาสสิก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นดนตรีที่แต่งโดยโมซาร์ตหรือบีโธเฟนอะไรทำนองนั้นนะครับ เพราะดนตรีคลาสสิกของศตวรรษที่ 21 นั้น ถือเป็น Contemporary Music ที่ก้าวล้ำนำหน้าไปมากๆ

เทรนด์แรกก็คือ การแสดงดนตรีทุกวันนี้ ต้องเน้นเรื่อง ‘ความหลากหลาย’ หรือ Diversity ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องของผู้แสดงเท่านั้น แต่สไตล์ดนตรีก็สำคัญ ดนตรีแห่งศตวรรษที่ 21 นั้น มีทั้งแบบที่เป็น Postmodernism คือดนตรีที่เป็นไปตามปรัชญาโพสต์โมเดิร์น เช่นงานของ Terry Riley, Bradley Joseph, John Adams หรือ Michael Nyman เป็นต้น แต่คนที่โด่งดังที่สุดน่าจะเป็น John Cage

ดนตรีอีกแบบหนึ่งที่เป็นที่จับตาดูไม่แพ้กันก็คือดนตรีประเภทที่เรียกว่า Polystylism ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการนำเอาดนตรีหลากสไตล์มารวมไว้ด้วยกัน นักประพันธ์เพลงในแนวนี้ที่ดังๆ มีอาทิ Peter Maxwell Davies, Django Bates, Lev Zhurbin เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีดนตรีที่เรียกว่า Ecelcticism ซึ่งเป็นการนำดนตรียุคต่างๆ มาคละเคล้าเข้าด้วยกัน (จนบางทีก็ถูกกล่าวหาว่าผู้ประพันธ์ไม่ได้มี Originality)

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าดนตรีทั้ง Postmodernism, Polystylism และ Eclecticsm นั้น ล้วนแต่เน้นไปที่ความหลากหลายของวิธีคิดในทางดนตรีทั้งสิ้น

เทรนด์ที่สองก็คือการเน้นไปที่ประสบการณ์ของผู้ฟัง (Audience Experience) เนื่องจากดนตรีในปัจจุบันต้องเน้นไปที่การแสดงสด ดังนั้นประสบการณ์ของผู้ฟังจึงสำคัญมาก

ประสบการณ์ที่ว่า ไม่ใช่แค่ประสบการณ์ในตอนฟังเท่านั้น แต่เริ่มตั้งแต่ตอนซื้อตั๋ว ระบบการจองตั๋ว การระบุเรื่องการแต่งกาย การจัดที่นั่งให้เหมาะสมกับผู้ชม การจัดเวที การขายของที่ระลึก ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่การทำแบบขอไปที แต่ต้อง ‘คิด’ ตั้งแต่ต้นจนจบ ว่าประสบการณ์ที่ผู้ชมจะได้รับ มันเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไรกับงานดนตรีที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยประสบการณ์ที่ว่านั้น ต้องไปขับเน้นให้ประสบการณ์ดนตรีที่ได้รับยิ่งลึกซึ้งขึ้นไปด้วย ดังนั้น ประสบการณ์ของผู้ฟังจึงกลายเป็นสิ่งที่นักจัดคอนเสิร์ต ผู้จัดละครและการแสดงต่างๆ ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นว่า งานของ Rhizomatiks หรือการแสดงดนตรีแบบ Laptop Orchestra คือการนำสองเทรนด์ที่ว่านี้มาผสมผสานกัน ตั้งแต่การสร้างประสบการณ์ทางดนตรีที่แปลกใหม่ ผสมเข้ากับความแตกต่างหลากหลายของศาสตร์ต่างๆ

 

สิ่งที่พวกเขาทำ จึงทำให้ดนตรีไม่ใช่แค่ดนตรี แต่คือการแสดงให้เราเห็นว่า โลกแห่งศตวรรษที่ 21 ต้องการอะไร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save