fbpx
หลิ่วตา ในเมืองตาหลิ่ว : การคอร์รัปชันข้ามวัฒนธรรม

หลิ่วตา ในเมืองตาหลิ่ว : การคอร์รัปชันข้ามวัฒนธรรม

เคยได้ยินเรื่องเล่าทำนองว่า บริษัทของไทยไปคอร์รัปชันในประเทศพัฒนาแล้วบ้างไหม คงมีบ้างแหละ แต่ถ้าจะให้ลองยกตัวอย่าง หลายคนคงต้องขอเวลาไปปรึกษากูเกิ้ล ไม่แน่ว่า ปรึกษาแล้วอาจจะไม่เจอด้วยซ้ำ

 

แต่ถ้าถามกลับว่า เคยได้ยินข่าวกรณีบริษัทต่างชาติจากประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาคอร์รัปชันในเมืองไทยบ้างไหม กรณีอย่างจีที 200 และโรลส์ลอยซ์ คงเด้งเข้ามาในหัวทันที (แฮ่ม! ควรบอกไว้ด้วยว่า กรณีจีที 200 นี้ในอังกฤษเขาลงโทษคนของเขาไปแล้ว ส่วนของเราน่ะเหรอ หุหุ)

เรื่องนี้จะว่าเป็นเรื่องธรรมดาก็ว่าธรรมดา แต่เหล่าบรรดานักวิชาการก็พยายามหาเรื่องหาราวมาศึกษาอยู่จนได้ เรย์ ฟิสแมน (Ray Fisman) และมิเรียม โกลเดน (Miriam Golden) ทำการศึกษาพฤติกรรมการคอร์รัปชันแบบข้ามวัฒนธรรมพบว่า ผู้คนจากประเทศที่มีอัตราคอร์รัปชันต่ำเมื่อไปทำธุรกิจในสิ่งแวดล้อมที่มีอัตราการคอร์รัปชันสูง พวกเขามีแนวโน้มที่จะกระทำพฤติกรรมที่เข้าข่ายคอร์รัปชัน

เพราะอะไร?

ฟิสแมนและโกลเดนอธิบายว่า โดยพื้นฐานแล้วคอร์รัปชันเป็นเครื่องมือสำหรับการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมที่ช่วยให้การทำงานและความร่วมมือระหว่างบุคคล/กลุ่ม สามารถ ‘สอดประสาน’ กันอย่างราบรื่น

พูดอีกแบบคือ คอร์รัปชันเป็นวัฒนธรรมนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่แรงผลักเดียวของการคอร์รัปชัน อีกเหตุผลหนึ่งที่คนจากประเทศพัฒนากระทำการคอร์รัปชัน เป็นเพราะเชื่อว่า คนในสังคมบ้านเกิดของตัวเองนั้นจะยอมรับหรืออย่างน้อยเข้าใจสภาพยกเว้นที่ตัวเขาต้องยอมลดมาตรฐานด้านศีลธรรมนอกบ้านเกิด พร้อมกันนี้ยังเชื่อมั่นด้วยว่า เมื่อกลับมาอยู่ในบ้านเกิดแล้ว มาตรฐานการดำเนินชีวิตและศีลธรรมก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่องน่ะสิ

ฟิสแมนกับโกลเดนยังบอกต่อด้วยว่า ถึงที่สุดแล้วการปรับตัวของก็ต้องมีขีดจำกัดเหมือนกัน เมื่ออยู่ในสภาพยกเว้นที่นานพอจนถึงจุดหนึ่งสภาพยกเว้นนั้นจะเปลี่ยน ‘คุณค่า’ ที่บุคคลยึดถือไปทีละน้อยๆ สุดท้ายสภาพยกเว้นก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในที่สุด

อ่านถึงตรงนี้แล้วหลายคนอาจสงสัยว่า แล้วคนที่อยู่ในบ้านเกิดที่มาตรฐานต่ำล่ะ เมื่อไปอยู่ในที่มาตรฐานสูงแล้วจะเป็นอย่างไร? ผลลัพธ์จะเป็นเหมือนกันไหม? เป็นข่าวร้ายที่ต้องบอกว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อนและยังเต็มไปด้วยคำถาม

แอนเดรีย อิจิโน (Andrea Ichino) และ จิโอวานนี แมจจี้ (Giovani Maggi) ทำการศึกษาพฤติกรรมของพนักงานธนาคารในอิตาลี โดยศึกษาพนักงานที่ย้ายจากภาคใต้ไปภาคเหนือ และจากภาคเหนือไปภาคใต้ เพื่อทดสอบดูว่า ‘บ้านเกิด’ กับ ‘สิ่งแวดล้อมใหม่’ สิ่งไหนส่งผลต่อพฤติกรรมในการทำงานมากกว่ากัน (ต้องบอกก่อนว่า อิจิโนและแมจจี้ไม่ได้ศึกษาพฤติกรรมคอร์รัปชันโดยตรง)

ในอิตาลีเป็นที่รู้กันดีว่า ภาคใต้อยู่ในเขตปกครองของมาเฟีย มีระดับการพัฒนา การเป็นอุตสาหกรรม และเป็นระเบียบน้อยกว่าภาคเหนือซึ่งอยู่ภายใต้การรัฐสมัยใหม่ วิถีชีวิตและแบบแผนความสัมพันธ์ของผู้คนจากทั้งสองฟากฝั่งจึงแตกต่างกันไปด้วย

อิจิโนและแมจจี้พบว่า พนักงานจากภาคใต้ที่ย้ายไปทำงานในภาคเหนือมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมในการทำงานที่เที่ยงตรงมากขึ้นและผิดระเบียบน้อยลง (เช่น การไม่ขาดงานโดยไม่มีเหตุผล) ในขณะที่พนักงานจากภาคเหนือที่ย้ายไปภาคใต้มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมในการทำงานที่เที่ยงตรงน้อยลง ซึ่งจะว่าไปก็ฟังดูสมเหตุสมผลดีทีเดียว

แต่งานวิจัยชุดนี้กลับพบข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประการ ประการแรก คือ พนักงานจากภาคใต้ที่ย้ายไปทำงานในภาคเหนือนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่มีพฤติกรรมในการทำงานที่เที่ยงตรงมากกว่าพนักงานภาคใต้โดยเฉลี่ยอยู่แล้ว นั่นหมายความว่า ‘พนักงานภาคใต้ที่ดี’ มีความพยายามในการนำตัวเองไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าในภาคเหนือ

ประการที่สอง แม้พนักงานจากภาคใต้ที่ย้ายไปภาคเหนือจะมีพฤติกรรมในการทำงานที่ดีขึ้น แต่โดยเปรียบเทียบแล้ว พนักงานจากภาคใต้ที่ย้ายไปภาคเหนือก็ยังมีการทำงานที่เที่ยงตรงน้อยกว่าและผิดระเบียบมากกว่าพนักงานในภาคเหนือโดยเฉลี่ยอยู่

บทสรุปจากงานวิจัยทั้งสองชิ้นสะท้อนให้ถึงความซับซ้อนในการ ‘การหลิ่วตา เมื่อเข้าเมืองตาหลิ่ว’ ที่น่าปวดหัวคือ การหลิ่วตาในเรื่องที่แย่ดันสามารถทำได้ง่ายกว่าการหลิ่วตาในเรื่องทีดี

 

อ้างอิง

Fisman, R. & Golden, M. (2017). Corruption: What everyone needs to know. Oxford University Press, Oxford.

Ichino, A. and Maggi, A. “Work Environment and Individual Background: Explaining Regional Shirking Differentials in a Large Italian Firm,” Quarterly Journal of Economics, 115(3) (2000): 1057–90.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save