fbpx
ห้องแล็บชุมชน : นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้

ห้องแล็บชุมชน : นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้

ความก้าวหน้าทางการเรียนรู้ในสังคมที่ก้าวหน้านั้นน่าอิจฉามากๆ นะครับ

 

ในสมัยก่อน การศึกษาเป็นเรืื่องที่ต้อง ‘ง้อรัฐ’ เพราะการศึกษาเป็นเหมือนสวัสดิการพื้นฐานของสังคมท่่ีรัฐต้องเป็นผู้จัดหาได้ ผ่านระบบโรงเรียนซึ่งก็มีปัญหาต่างๆ นานา มากมาย แม้กระทั่งในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เราก็รู้ว่ามีการหั่นงบการศึกษาไม่น้อย หลายโรงเรียนไม่มีแม้กระทั่งเงินเอามาซื้อกระดาษชำระในห้องน้ำเพราะถูกตัดงบ

แต่ในโลกยุคใหม่ การศึกษาหรือการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ไม่ต้องรอรัฐอีกต่อไปแล้ว เรามีแพล็ตฟอร์มใหม่ๆ หลายอย่างที่ช่วยให้คนสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างวิธีเรียนรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา

ตัวอย่างขององค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อการเรียนรู้ โดยใช้วิธีระดมทุนแบบ Crowdfunding ก็มีอย่างเช่น donorschoose.org ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในอเมริกา ที่เกิดขึ้นเพื่อต่อสู้ต่อกรกับการที่รัฐไม่ค่อยใส่ใจกับปัญหาเรื่องการศึกษาเท่าที่ควร โดยคนที่ก่อตั้งองค์กรนี้คือคุณชาลส์ เบสต์ (Charles Best) ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนรัฐบาลมาก่อน

ชาลส์เป็นครูสังคม สอนอยู่ที่ย่านบรองซ์ในนิวยอร์ก เขาจึงเห็นปัญหาต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ที่สุด เขากับเพื่อนก็เลยควักกระเป๋าเอง เอาเงินมาซื้ออุปกรณ์การเรียนต่างๆ ให้กับนักเรียน แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในที่สุดเขาก็เลยเลือกใช้แพล็ตฟอร์มระดมทุน เพื่อให้ ‘ชุมชน’ หรือคนสังคมแต่ละคน สามารถ ‘เชื่อมต่อ’ (connect) กับห้องเรียนที่มีความต้องการงบประมาณแต่ไม่ได้รับงบอย่างที่ควรจะเป็น

พูดอีกอย่างหนึ่ง คุณชาลส์ทำอะไรคล้ายๆ พี่ตูนของเรานี่แหละครับ เพียงแต่เป็นด้านการศึกษา และเขาลงมือทำแบบระยะยาว

จนในที่สุดก็เริ่มเป็นที่รู้จักถึงขนาดที่ โอปราห์ วินฟรีย์ เชิญไปออกรายการ และนำเสนอชาลส์ เบสต์ ในฐานะครูที่เป็น Innovative Teacher หรือครูที่มีนวัตกรรมคนหนึ่งเลยทีเดียว

องค์กรของชาลส์เริ่มต้นในปี 2000 ด้วยการควักกระเป๋าเอง แต่ในปีที่แล้ว คือปี 2016 donorschoose.org กลายเป็นองค์กรที่มีทุนมากถึง 400 ล้านเหรียญ และช่วยเหลือโครงการในห้องเรียนต่างๆ มากกว่า 750,000 แห่ง เข้าถึงนักเรียนกว่า 19 ล้านคน ในโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ

องค์กรของชาลส์เป็นตัวอย่างหนึ่งของการหาทางเลือกใหม่ให้กับการเรียนรู้ของผู้คนในสังคม โดยเป็นตัวอย่างขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แต่ก็มีองค์กรเกี่ยวกับการศึกษาที่ประกาศตัวว่า ‘แสวงหากำไร’ แต่ทำงานด้านการศึกษาที่ได้รับการยอมรับเหมือนกันนะครับ อย่างเช่นบริษัทชื่อ Kaplan, Inc. ซึ่งจริงๆ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1938 โน่นแล้ว โดยคุณสแตนลีย์ แคพแลน (Stanley Kaplan)

แคพแลนมีเป้าหมายแตกต่างไปจาก donorschoose เพราะว่าเริ่มต้นด้วยการเป็นเหมือน ‘โรงเรียนติวเด็ก’ เพื่อเข้าสอบในระดับรัฐ แต่ประสบความสำเร็จ จนในที่สุดก็สามารถเปิดสาขาต่างๆ ไปทั่วประเทศได้ จนต่อมา วอชิงตันโพสต์ก็มาซื้อบริษัทแคพแลนไป แคพแลนประสบความสำเร็จมากๆ ในทศวรรษเก้าศูนย์ และในปัจจุบันก็คิดค้นวิธีการ ‘ติว’ ใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างเช่นน่าจะเป็นเจ้าแรกที่เอา ‘เกม’ มาใช้ในการสอนเด็ก (เรียกว่าใช้ Gamification Platform) คือทำให้การเรียนการสอนนั้นมีลักษณะเป็นเกมไปในตัว พบว่าเด็กเข้าร่วมในการเรียนด้วยความสนุกสนานมากขึ้น โดยแคพแลนบอกว่า เป้าหมายในการติวเด็กนั้น ไม่ใช่แค่ให้เข้าสอบอย่างเดียว เพื่อเตรียมให้เด็กเข้าสู่การศึกษายุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ แม้กระทั่งโรงเรียนติวเด็กก็ยังต้องมีวิวัฒนาการของตัวเอง แต่กระนั้นก็ใช่ว่าแคพแลนจะสะอาดบริสุทธิ์นะครับ เพราะมีกรณีฟ้องร้องหลายรายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการฟ้องว่าครูที่มาสอนนั้นไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ทำให้นักเรียนจำนวนหนึ่งได้รับการ ‘รีฟันด์’ เอาเงินคืน

ที่เล่ามาเป็นแค่ตัวอย่างการเรียนการสอนที่ยังอิงอยู่กับระบบการศึกษาของรัฐอยู่ และเป็นการเรียนการสอนในระดับเด็กๆ

แล้วมีอะไรมากไปกว่านี้อีกล่ะ – คุณอาจสงสัย

มีสิครับ แล้วเป็นแนวโน้มในการเรียนรู้แบบใหม่ที่น่าสนใจเอามากๆ เสียด้วย เพราะเป็นการเรียนรู้ระดับสูงในแบบที่สมัยก่อน คนธรรมดาสามัญอย่างเราๆ ไม่น่าจะมีโอกาสเข้าไปสัมผัส

การเรียนรู้ที่ว่าเกิดขึ้นใน ‘ห้องแล็บชุมชน’ หรือ Community Laboratory ทีเดียวเชียวนะครับ

คุณอาจคุ้นเคยกับคำว่า Co-Working Space หรือที่ทำงานร่วมกัน จนปัจจุบันเริ่มมีการให้บริการพื้นที่แบบ Co-Living Space หรือกระทั่ง Co-Kitchen Space แล้วใช่ไหมครับ ไอ้เจ้าพื้นที่แบบ ‘โคๆ’ ทั้งหลายเหล่านี้ มันช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้บริการได้ เพราะว่าเป็นการที่คนในชุมชนหรือสังคมในละแวกนั้น มาใช้พื้นที่ร่วมกัน จึงเกิดการแชร์ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้

แต่ทีนี้แต่ลองนึกถึงคนที่อยากทดลองหรือเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้เกี่ยวพันอะไรกับองค์กร หน่วยงาน โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยดูสิครับ หลายคนไม่ได้อยากแค่ไปนั่งทำงานใน Co-Working Space เท่านั้น แต่สิ่งที่เขาสนใจยังต้องทดลอง แล้วเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์เสียด้วย แต่ครั้นจะให้มานั่งสร้างห้องแล็บทั้งห้องขึ้นมา ก็ไม่น่าจะมีเงินทุนมากพอ

ด้วยเหตุนี้และครับ จึงเกิดเทรนด์ในการเรียนรู้ใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะพูดว่าเป็นเหมือน Co-Experimenting Space ก็ได้ แต่ที่เขานิยมเรียกกันก็คือ Community Laboratory หรือพอแปลเป็นไทยแล้วฟังดูไม่น่าไปอย่างไรชอบกล – ว่า, ห้องแล็บชุมชน

ตัวอย่างของห้องแล็บที่ว่านี้ อันแรกก็คือ Genspace ซึ่งอยู่ในบรุกลิน นิวยอร์ก Genspace เป็นห้องแล็บที่ทดลองทางชีววิทยานะครับ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร โดยเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 แรกทีเดียวก็เริ่มในห้องนั่งเล่นที่บ้านกันก่อน โดยเหล่าคนที่สนใจในเทคโนโลยีชีวภาพหรือ Biotechnology มารวมตัวกัน

คนที่มารวมตัวกันเหล่านี้ไม่ได้มีแต่นักวิทยาศาสตร์นะครัับ แต่มีหลากหลายมาก ทั้้งคนที่สนใจเรื่องนี้เป็นงานอดิเรก ผู้ประกอบการที่อยากหาอะไรใหม่ๆ เพื่อมาลงทุน รวมไปถึงกระทั่งศิลปินที่อยากได้แรงบันดาลใจจากเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อเอาไปทำงานศิลปะของตัวเองด้วย

แต่ก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับ ว่าการทดลองแบบนี้ต้องใช้ห้องทดลองที่ลงทุนสูง ที่สุดคนเหล่านี้ก็เลยรวมตัวกันก่อตั้งห้องแล็บขึ้นมาในเดือนธันวาคม ปี 2010 โดยเปิดเป็นห้องแล็บในบรุกลิน มีพื้นที่ราว 750 ตารางฟุต แล้วก็เป็นห้องแล็บที่เปิดให้กับสาธารณชน ใครก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ โดยก็ต้องจ่ายเงินนั่นแหละนะครับ ไม่ใช่เข้ามาใช้ฟรีๆ แต่ว่าจ่ายในราคาถูกกว่าที่แต่ละคนจะต้องไปสร้างห้องแล็บเอาเอง โดยในแล็บจะมีอุปกรณ์ต่างๆ ครบครัน เรียกได้ว่าเป็นการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน จึงลดต้นทุนลงไปได้มาก

คุณอาจจะสงสัยว่า เปิดแล็บแบบนี้ไม่อันตรายแย่เหรอ คำตอบก็คือไม่ครับ เพราะว่าเขาทำห้องแล็บให้มีความปลอดภัย คือเป็น Biosafety Level One Laboratory คือเป็นห้องแล็บที่ไม่ได้ให้คนมาทดลองอะไรอันตราย เรื่องที่เปิดให้คนเข้ามาทดลองได้ มีตั้งแต่ชีววิทยา ชีวเทคโนโลยี ชีวสังเคราะห์ พันธุวิศวกรรมศาสตร์ ซอฟท์แวร์ต่างๆ รวมไปถึงฮาร์ดแวร์ด้วย

อีกแห่งหนึ่งที่่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือห้องแล็บชื่อ BioCurious ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของอเมริกา คืออยู่ในแคลิฟอร์เนีย ที่นี่ก่อตั้งขึ้นโดยใช้ Kickstarter ระดมทุน ซึ่งในระยะแรกก็ไม่ได้ได้เงินมากเท่าไหร่ ราวๆ แค่ 35,000 เหรียญเท่านั้น แต่ก็เพียงพอที่จะเปิดขึ้นมาเป็นห้องแล็บและห้องสมุดทางเทคนิค เพื่อให้คนที่อยากเข้าถึงการใช้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเข้ามาใช้ได้ รวมทั้งเป็นสถานที่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ คนที่สนใจด้านนี้ นักกิจกรรม รวมถึงนักเรียนนักศึกษา ได้เข้ามาใช้งานด้วย

นิตยสาร Scientific American บอกว่า BioCurious นั้น เป็นหนึ่งในห้องแล็บที่ดีที่สุดของประเทศเลยทีเดียว มีคนมาทำโปรเจ็กต์อะไรแปลกๆ หลายอย่าง เช่น ดัดแปลงพันธุกรรมต้นไม้ให้กลายเป็นต้นไม้เรืองแสง รวมถึงเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่า Biohackers ที่ดัดแปลงโน่นนั่นนี่ในทางชีวภาพ (รวมทั้งดัดแปลงร่างกายตัวเองด้วย เรียกว่าเป็น Body Modification Artist)

 

ทุกวันนี้ มีองค์กรเพื่อการเรียนรู้แบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในโลก มีแม้กระทั่งองค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อ ‘สอนครู’ (เช่น Learnzillion) เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่วิถีแห่งการเรียนรู้ในแบบที่ไม่จำเป็นต้องผูกตัวเองเข้ากับการจัดการของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ

การเรียนรู้แบบ ‘ไม่ง้อรัฐ’ อาจยากลำบากบ้างในการตั้งต้นและงบประมาณ แต่จะก่อให้เกิดแนวทางความคิดความเชื่อที่หลากหลายแตกดอกออกผลได้ไม่รู้จบในอนาคตอันใกล้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save