fbpx
ทาสแมวจงฟัง เลี้ยงแมวอย่างไรไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ทาสแมวจงฟัง เลี้ยงแมวอย่างไรไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  

ใครๆ ก็รักแมว แมวน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีบุคลิกน่าสนใจที่สุดในโลก แมวเป็นสัตว์ที่รักอิสระ น่ารักน่าเอ็นดู บางทีดูเย่อหยิ่ง ไม่ยินดียินร้าย แต่ก็มีเสน่ห์และพลังดึงดูดที่ทำให้หลายคนต้องศิโรราบกลายเป็นทาสแมวกันเป็นแถว

 

ความรักอิสระทำให้มีแมวหลุดรอดออกไปหากินในธรรมชาติเป็นจำนวนมหาศาล จำนวนไม่น้อยกลายเป็นแมวเร่ร่อนที่อาศัยในสิ่งแวดล้อมแบบเปิด คืออาจมีเจ้าของดูแลบ้าง หากินเองบ้าง เป็นแมววัด แมวประจำหมู่บ้าน แมวร่อนเร่ หรือบางทีก็ปรับตัวกลายเป็นแมวป่าไปเลย

สิ่งหนึ่งที่ทาสแมวทั้งหลายอาจจะไม่ตระหนักก็คือเห็นน่ารักๆ อย่างนี้ แมวบ้านเป็นนักล่าและเป็นสัตว์ที่ได้ชื่อว่าทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอันดับหนึ่งของโลก (คงจะเป็นรองเพียงแค่เจ้าของ หรือมนุษย์เท่านั้น) นักวิทยาศาสตร์หลายคนถึงกับขนานนามว่าแมวคือหายนะของระบบนิเวศ และเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่หกในปัจจุบัน

ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่ได้เกินจริงไปนัก เพราะตามสถิติในสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่ามีแมวที่มีเจ้าของประมาณ 84 ล้านตัว ในขณะเดียวกันก็มีแมวที่ไม่มีเจ้าของรวมๆ กันอีกราว 30-80 ล้านตัว ซึ่งนับว่ามีจำนวนมหาศาล นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสมิธโซเนียนได้ประมาณว่าแต่ละปีเฉพาะในสหรัฐอเมริกาแมวบ้านฆ่านกราว 2-4 พันล้านตัว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอีกราว 7 พันล้าน ถึง 2 หมื่นล้านตัว!!

งานวิจัยจากประเทศออสเตรเลียล่าสุดเปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อยกว่ากันว่าคือโดยรวมแล้ว แมวล่านกวันละ 1 ล้านตัว เกือบทั้งหมดคือนกประจำถิ่นที่พบในธรรมชาติและเป็นชนิดนกที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กว่า 70 ชนิด โดยเฉลี่ยแมวจรจัดล่านกถึงปีละ 316 ล้านตัว ส่วนแมวที่มีเจ้าของล่านกปีละ 61 ล้านตัว ฝั่งอังกฤษก็ไม่น้อยหน้า โดยมีสถิติว่ามีคนที่เลี้ยงแมวเป็นสัตว์เลี้ยงราว 7.2 ล้านตัว สมาคมอนุรักษ์นกของสหราชอาณาจักร (RSPB)  ประเมินว่าแต่ละปีแมวฆ่านกในธรรมชาติไปปีละมากกว่า 27 ล้านตัว

 

ภาพจากเว็บไซต์ The Guardian

 

สำหรับในประเทศไทยเรายังไม่มีข้อมูลว่าปีๆ หนึ่งแมวบ้านและแมวจรจัดของเราล่านกและสัตว์ในธรรมชาติปีละกี่ตัวและมีผลกระทบกว้างไกลขนาดไหน

งานวิจัยสำคัญอีกชิ้นที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วพบว่า แมวบ้านและแมวจรจัดคือสัตว์ต่างถิ่นที่คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพอันดับหนึ่ง โดยคุกคามความอยู่รอดของสัตว์อื่นๆ ในธรรมชาติอย่างน้อย 430 ชนิดไม่ว่าจะเป็นนก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ในจำนวนนี้หลายชนิดเป็นชนิดที่มีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และที่สำคัญแมวจัดว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ชนิดต่างๆ สูญพันธุ์ไปแล้วถึง 63 ชนิด ในรอบ 500 ปีที่ผ่านมา

เจ้าแมวเหมียวที่ดูเชื่องๆ ไร้พิษสง ความจริงคือเครื่องจักรนักฆ่าที่ได้รับการออกแบบโดยธรรมชาติมาอย่างสมบูรณ์

ต่อไปนี้คือคำแนะนำ 5 ข้อต่อบรรดาทาสแมว ที่ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายธรรมชาติรอบตัวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

 

1.เลี้ยงแมวในบ้าน และไม่ปล่อยให้แมวออกนอกบ้านโดยลำพัง

 

การป้องกันแมวไม่ให้ออกไปล่าสัตว์ชนิดอื่นที่ดีที่สุดก็คือการเก็บแมวอยู่ในบ้าน แมวหลายตัวถูกฝึกมาให้ชินอยู่กับการอยู่ในบ้านตลอดเวลา จึงไม่เปิดโอกาสให้สัญชาตญาณนักล่าในธรรมชาติได้ทำงาน นานๆ ไปก็อาจจะเชื่องและไม่ว่องไวพอที่จะไปทำร้ายสัตว์อื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตามกรณีที่ปล่อยให้แมวออกไปนอกบ้านบางเวลาก็ไม่ควรปล่อยให้คลาดสายตา หากรักษ์โลกและอยากมีแมวเป็นสัตว์เลี้ยงขอให้พิจารณาทางเลือกนี้เป็นข้อแรก

 

2. ทำหมันแมว และพิจารณารับแมวจรจัดมาเลี้ยง

 

ถ้าคุณไม่ได้เลี้ยงแมวเพื่อเพาะพันธุ์ขาย คุณควรจะทำหมันแมวตั้งแต่เริ่มต้นเลี้ยง เพราะปัจจุบันมีแมวจรจัดจำนวนมากในสิ่งแวดล้อมซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการจัดการอย่างยิ่ง แม้พวกมันจะไม่ได้สร้างความรำคาญเหมือนสุนัขจรจัด แต่ความจริงแมวไร้เจ้าของที่ออกหากินด้วยตัวเองนับเป็นนักล่าเบอร์หนึ่งสำหรับนกและสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ ในธรรมชาติ ดังนั้นหากแมวของคุณไม่ทำหมันและหลุดออกไปในธรรมชาติ ย่อมมีโอกาสผสมพันธุ์และเพิ่มปริมาณแมวจรจัดให้มากยิ่งขึ้นไปอีก อีกวิธีหนึ่งที่คุณช่วยแก้ปัญหาได้คือการรับแมวจรจัดจากสถานสงเคราะห์สัตว์มาเลี้ยงแทน แล้วถ้าให้ดีที่สุดก็คือรับมาเลี้ยงแบบอยู่ในบ้าน

3. ถ้าคุณมีแมวที่ชอบอยู่นอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ ขอให้ผูกกระดิ่ง ให้อาหารอย่างเพียงพอและกำหนดเวลาเคอร์ฟิว

 

ภาพจากเว็บไซต์ rspb

 

ต้องยอมรับว่าหลายคนกลายเป็นคนเลี้ยงแมวด้วยเหตุบังเอิญ นั่นคืออาจมีแมวที่พลัดหลงจากเจ้าของ หรือแมวจรจัด มาเยี่ยมเยียนขอข้าวขอน้ำ ไปๆ มาๆ กลายมาเป็นแมวขาประจำ รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นสัตว์เลี้ยงของเราไปแล้ว แมวกลุ่มนี้มักจะไม่คุ้นที่จะถูกจำกัดบริเวณอยู่ในบ้าน และเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บมันไว้ในบ้านตลอดเวลา

ข้อแนะนำที่ง่ายที่สุดคือการผูกกระดิ่งที่คอแมว มีงานวิจัยพบว่าการที่แมวมีกระดิ่งผูกจะช่วยลดอัตราการล่าลงไปได้ถึงหนึ่งในสาม เป็นเพราะเหยื่อมีโอกาสไหวตัวได้ทันจากเสียงกระดิ่ง อย่างไรก็ตามวิธีนี้ใช้ไม่ได้กับแมวทุกตัว บางตัวปฏิเสธที่จะมีกระดิ่งผูกคอ ซึ่งการขัดขืนและความพยายามเอาปลอกคอออกอาจเป็นอันตรายต่อแมวเอง แมวสุดเกรียนหลายตัวยังสามารถเรียนรู้ที่จะล่าโดยทำเสียงกระดิ่งให้เบาที่สุดก่อนจู่โจมเหยื่อ

นอกจากนี้เราควรต้องมีมาตรการ “ขุนให้อิ่ม” และกำหนดเวลา “เคอร์ฟิว” ที่จะเอาแมวเข้าบ้านอีกด้วย แน่นอนว่าหากแมวได้กินอิ่มเต็มที่ความอยากล่าก็จะลดลง นัยว่ามีความขี้เกียจเพิ่มขึ้น แต่ด้วยสัญชาตญาณนักล่าของแมว Outdoor วิธีการนี้ควรใช้ควบคู่กับการกำหนดเวลาเคอร์ฟิวที่จะเก็บแมวไว้ในบ้าน นั่นคือช่วงเวลาหัวรุ่งและย่ำค่ำ จากการศึกษาพบว่าช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกนี่เองที่แมวประสบความสำเร็จในการล่าเหยื่อมากที่สุดเพราะเป็นเวลาที่นกและสัตว์หลายชนิดออกหากิน หากไม่อยากให้แมวของเราเป็นนักฆ่าเราจึงควรเก็บแมวไว้ในบ้านในช่วงเวลาดังกล่าว หรือหากเป็นไปได้ควรเก็บแมวไว้ในบ้านตลอดคืนก็จะช่วยได้มากเช่นกัน

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมแมวจึงชอบล่านกหรือสัตว์อื่นๆ มากองไว้หน้าประตูบ้าน ความจริงพวกมันทำไปเพื่อประจบเจ้านายนั่นเอง ซึ่งเจ้าของต้องแสดงออกให้แมวเห็นว่าเป็นสิ่งที่เจ้านายไม่ปลื้มและไม่ควรทำ นักวิทยาศาสตร์พบว่าแมวที่ทำหมันจะยิ่งพยายามอ้อนเจ้าของมากขึ้นเพราะไม่มีลูก และวิธีหนึ่งที่พวกมันอยากเอาใจก็คือออกไปจับสัตว์ต่างๆ มาบรรณาการนั่นเอง

 

4. ทดลองติดอุปกรณ์เสริมที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อขัดขวางการล่าโดยเฉพาะเช่น CatBib หรือ Birdsbesafe

 

CatBib ลักษณะเหมือนผ้ากันเปื้อนทำจากแผ่นยาง Neoprene ผสมไนล่อน ผ่านการวิจัยมาแล้วว่าสามารถหยุดการล่าเหยื่อของแมวไปได้ถึง 81%

 

ปัจจุบันมีการคิดค้นปลอกคอแมวแบบใหม่ที่ช่วยป้องกันไม่ให้แมวตะครุบเหยื่อได้อย่างสะดวกเรียกว่า CatBib ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากโอเรกอนในสหรัฐอเมริกา ที่มีลักษณะเหมือนผ้ากันเปื้อนทำจากแผ่นยาง Neoprene ผสมไนล่อน ผ่านการวิจัยมาแล้วว่าสามารถหยุดการล่าเหยื่อของแมวไปได้ถึง 81% เพราะ CatBib อยู่ในตำแหน่งที่กีดขวางการตะครุบเหยื่อของขาหน้าพอดี เจ้าของแมวหลายคนพอใจเพราะสามารถแก้ปัญหาได้ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ ถ้าไม่นับว่ามันดูเกะกะอยู่บ้าง ผู้ผลิตยืนยันว่าแมวที่ใส่ CatBib สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

ปลอกคออีกแบบที่เริ่มได้รับความนิยมเช่นกันคือปลอกคอผ้าขนาดใหญ่ที่มีสีสันสดใสเป็นพิเศษ เป็นนวัตกรรมจากเวอร์มอนต์ในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน โดยตั้งชื่อแบบตรงๆ ใสๆ เลยว่า Birdsbesafe สีสันสดใสของปลอกคอขนาดใหญ่ ช่วยให้นกและสัตว์อื่นๆ สามารถมองเห็นแมวได้จากระยะไกล และพิสูจน์ว่า ช่วยลดการล่าลงไปได้ถึง 87% ใครอยากให้แมวตัวเองโดดเด่นดูน่ารักน่าชัง นำแฟชั่นลองใช้ดูได้

Birdsbesafe สีสันสดใสของปลอกคอขนาดใหญ่ ช่วยให้นกและสัตว์อื่นๆ สามารถมองเห็นแมวได้จากระยะไกล และพิสูจน์ว่า ช่วยลดการล่าลงไปได้ถึง 87% | ภาพจากเว็บไซต์ birdsbesafe

 

5. ถ้าเป็นแมวที่ฝึกไม่ได้ อาจพิจารณานำส่งสถานสงเคราะห์สัตว์เลี้ยงและให้การสนับสนุนเลี้ยงดู

 

แมวที่อาศัยอยู่นอกบ้านทุกตัวทำหน้าที่เหมือนกับสัตว์ผู้ล่าต่างถิ่น แม้จะมีคนคอยให้อาหารแต่สัญชาตญาณนักล่าของแมวทำให้พวกมันออกล่าโดยไม่เลือก และเมื่อสัตว์ผู้ล่าเหล่านี้มีจำนวนมากเกินไป ย่อมคุกคามความอยู่รอดของชนิดพันธุ์ท้องถิ่นโดยเฉพาะนกและสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศนั้นๆ แม้แต่ในเมือง การนำส่งสถานสงเคราะห์สัตว์เลี้ยงแม้อาจจะไม่ใช่ทางออกที่สมบูรณ์แบบ แต่ข้อน่าพิจารณาประกอบอีกอย่างก็คือมีตัวเลขว่าอายุโดยเฉลี่ยของแมวจรจัดในธรรมชาติอยู่ที่ 2-3 ปีเท่านั้นในขณะที่แมวที่เลี้ยงในร่มอาจมีอายุถึง 12-18 ปี การนำแมวมาเลี้ยงในสถานที่ที่มีขอบเขตชัดเจนจึงช่วยยืดอายุของแมวได้มาก

สถานสงเคราะห์สัตว์หลายแห่งในบ้านเรายังขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลือ คุณอาจเป็นผู้หนึ่งที่ให้การสนับสนุนให้มีการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ในสถานสงเคราะห์เหล่านี้ให้ดีขึ้นได้ นับเป็นการช่วยเหลือสัตว์และธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง

 

การที่แมวกลายเป็นมาเป็นวายร้ายของความหลากหลายทางชีวภาพก็เพราะความนิยมในการนำแมวมาเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างแพร่หลายของมนุษย์ ดังนั้นไม่ว่าแมวของคุณจะเป็นแมวแบบไหน นอกจากจะดูแลแมวให้ดีที่สุดสมกับเป็นทาสแมวที่ดีแล้ว ยังต้องช่วยรับผิดชอบแมวไม่ให้ไปทำอันตรายสัตว์อื่นๆ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจอีกด้วย

 

 

อ้างอิง

บทความเรื่อง Cats kill 1 million Australian birds a day, study shows จาก The Guardian

Doherty, T.S. et al 2016 Invasive predators and global biodiversity loss. PNAS. Vol 113 no.40 11261-11265

Dick, J.T. et al. 2017. Invader Relative Impact Potential: a new metric to understand and predict the ecological impacts of existing, emerging and future invasive alien species. Journal of Applied Ecology. Vol 54, 1259–1267

บทความเรื่อง Feral cats are an ecological disaster โดย Maddie Stone จาก gizmodo

บทความเรื่อง Invasive predators are eating the worlds animals to extinction and the worst is close to home จาก The Conversa

บทความเรื่อง Protect Backyard Birds From Cats โดย MELISSA MAYNTZ จาก The Spruce

บทความเรื่อง RSPB’s tips on how to stop your cat making a meal of birds in your garden โดย Celia Cole จาก The Guardian

บทความเรื่อง Stop cats catching and killing birds จาก rspb

บทความเรื่อง 5 Ways To Stop Your Cat From Killing Birds and Other Wildlife จาก Tyrant Farms

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save