fbpx
ผลกระทบของ Brexit กับปัญหาขยะ

ผลกระทบของ Brexit กับปัญหาขยะ

Brexit หรือกรณีที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป ไม่ได้สร้างผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อชาวยุโรปและโลกเท่านั้น

ในด้านสิ่งแวดล้อม Brexit ก็สามารถสร้างปัญหาได้ด้วยเช่นกัน ปัญหาที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนอังกฤษเท่านั้น หากแต่ส่งผลกระทบไปทั่วยุโรปได้เลยทีเดียว

 

แต่เดิม คราวที่สหภาพยุโรปยังเป็นปึกแผ่น และอังกฤษก็ยังอยู่ในสหภาพ ประเทศต่างๆ ในสหภาพต่างมีการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนทั้งในแง่ของสินค้า วัฒนธรรม และผู้คน

หลายประเทศต่างเปิดดินแดนเพื่อให้ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านได้เข้ามาทำงาน ท่องเที่ยว หรือตั้งรกรากได้อย่างง่ายดาย

ในด้านเศรษฐกิจ แต่ละประเทศก็ได้ทำสนธิสัญญาทางการค้าหรือที่เราเรียกกันว่า ‘Free Trade Agreement’ ซึ่งทำให้แต่ละประเทศส่งออก-นำเข้าสินค้าได้อย่างอิสระและง่าย เพราะรายการสินค้าแต่ละประเภทถูกเก็บภาษีในปริมาณที่น้อยหรือแทบไม่มีเลยก็ว่าได้

รายการสินค้าชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการค้าขายและความมั่นคงทางพลังของแต่ละประเทศในสหภาพยุโรปคือ ‘ขยะ’

ขยะในที่นี้หมายถึง ขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และขยะที่สามารถนำไปเผาเพื่อให้ก่อเกิดพลังงานความร้อนที่มากพอ

หลายประเทศในสหภาพยุโรปต้องนำเข้าขยะเหล่านี้ในปริมาณมาก เพราะต้องนำไปเผาเพื่อสร้างพลังงานความร้อน รวมถึงไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่า ในบางประเทศที่มีขนาดเล็ก จนประชากรในประเทศไม่สามารถผลิตขยะได้มากพอ รัฐบาลไม่สามารถหาขยะจากในประเทศมาแปรรูปเป็นพลังงานได้มากพอ ทางออกของประเทศเหล่านี้คือ ‘การนำเข้าขยะ’

และผู้ส่งออกขยะรายใหญ่ของสหภาพยุโรปก็คือ ‘สหราชอาณาจักร’

หลังจากที่มีมติให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป สิ่งที่รัฐบาลต้องทำถัดมาคือ การฉีกข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรปที่ทำผ่านสหภาพยุโรป นั่นหมายความว่า การส่งออก- นำเข้าขยะในยุโรปก็เลยได้รับผลกระทบไปด้วย

กล่าวคือ กำแพงภาษีของการนำเข้า-ส่งออกขยะจะสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศเล็กๆ ที่ไม่รวยมากนำเข้าขยะจากสหราชอาณาจักรได้น้อยลง พร้อมๆ กับสหราชอาณาจักรก็ส่งออกสินค้าเหล่านี้ได้น้อยลงอีกด้วย

ปรากฎการณ์นี้จะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางพลังงานและด้านสิ่งแวดล้อมในสหภาพยุโรปตามมา 

สำหรับปัญหาประการแรก ประเทศเล็กๆ ที่นำเข้าขยะจากสหราชอาณาจักร จะนำเข้าขยะได้น้อยลง ซึ่งนั่นจะทำให้ประเทศตนมีขยะเพื่อใช้ในการเผาผลาญได้น้อยลง อันเป็นผลให้ทำให้การผลิตพลังงานในประเทศมีปัญหาไปด้วย ก่อเกิดเป็นวิกฤตด้านพลังงานในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา นั่นคือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ

ทางแก้ที่เป็นไปได้สำหรับกรณีนี้คือ ประเทศเล็กๆ เหล่านี้ต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับนำเข้าขยะ ซึ่งนี่จะเพิ่มปัญหาทางการคลังให้กับประเทศดังกล่าว หรืออีกวิธีการหนึ่งก็คือ การสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน เพื่อมาใช้แทนโรงงานผลิตไฟฟ้าหรือให้ความร้อนแบบเผาขยะ แต่นั่นก็หมายความว่าประเทศเหล่านี้ก็ต้องลงทุนสำหรับการวิจัยและนวัตกรรมด้านพลังงานมากขึ้น

ส่วนปัญหาประการที่สอง ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นบนเกาะอังกฤษ ต้องยอมรับว่า ประเทศอังกฤษมีอัตราการสร้างขยะต่อปีที่สูงมากๆ ซึ่งหากสหราชอาณาจักรไม่สามารถส่งออกขยะได้แล้ว ขยะก็ต้องตกค้างอยู่ในประเทศ และก็ต้องหาพื้นที่ฝังกลบขยะมากกว่าแต่ก่อน ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวก็มีน้อยอยู่แล้ว

มีการคาดการณ์กันว่าภายในไม่ถึง 10 ปี อังกฤษจะไม่เหลือพื้นที่ดังกล่าว และเมื่อถึงเวลานั้นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษจากกลิ่น และสารเคมี ก็จะรุนแรงถึงขีดสุด กล่าวคือ สภาพพื้นดินจะเสีย ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงจะมีปัญหาสุขภาพ

 

ปัญหาขยะจะทำให้ Brexit ส่งผลกระทบเชิงลบที่กว้างและอยู่ได้นานหลายทศวรรษ หากสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปยังไม่รีบหาวิธีรับมืออย่างยั่งยืน อนาคตด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางพลังงานของสหภาพยุโรปก็คงไม่ราบรื่น

ไม่แน่ว่าในอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า หน้าตาของอังกฤษอาจจะเปลี่ยนไป พื้นดินอาจเต็มไปด้วยขยะ พื้นน้ำอาจอบอวลไปด้วยกลิ่นเหม็นก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง

บทความเรื่อง We’re running out of landfill and Brexit could make it worse, says new report โดย Mike Scott จาก The Guardian

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save