fbpx
ก่อนจะถึงรถยนต์ไร้คนขับ

ก่อนจะถึงรถยนต์ไร้คนขับ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

เรามักจะฝันหวานกันถึงรถยนต์ไร้คนขับ หรือแม้กระทั่งระบบแชร์รถยนต์โดยไม่ต้องมีใครเป็นเจ้าของรถ เวลาอยากเดินทางไปไหนเพียงกดปุ่มที่บ้าน ก็จะมีรถ (แบบไร้คนขับ) วิ่งมารับถึงบ้าน แล้วพอไปถึงที่หมายก็ไม่ต้องหาที่จอดรถให้เสียเวลา สามารถลงจากรถได้เลย แล้วรถก็ไปรับคนอื่นต่อ

 

แต่โลกแบบนั้นจะเป็นไปได้จริงในอนาคตอันใกล้นี้หรือเปล่า – ยังเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ เพราะเราคงเห็นทั้งข่าวรถยนต์ไร้คนขับที่เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต (แม้จะเป็นเหตุที่กะทันหันมากๆ ก็ตาม) รวมไปถึงผลวิจัยเชิงสังคมหลายชิ้น ที่บอกว่าคนคงยังไม่ ‘ซื้อ’ แนวคิดเรื่องการแบ่งปันรถยนต์กันใช้ถึงขนาดนั้นในเร็วๆ นี้หรอก เพราะยังคุ้นชินกับการมีรถยนต์อยู่ใกล้ๆ อุ่นใจกว่า ตามประสาคนที่เติบโตและถูกฟูมฟักมากับวัฒนธรรมรถยนต์ในหลายสิบปีที่ผ่านมา

แต่กระนั้น ทุกฝ่ายก็ชี้นิ้วตรงไปในทิศทางเดียวกันว่า – อุตสาหกรรมรถยนต์จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ยุคดิจิทัล และไล่เลยไปถึงระบบรถยนต์แบบไร้คนขับทั้งหมดในอนาคตแน่ๆ

รายงานของ World Economic Forum (ดูที่นี่) บอกว่ามูลค่าตลาดที่จะสูงมากถึง 0.67 ล้านล้านเหรียญ (อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านไปเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) และผลกระทบต่อสังคมที่มีมูลค่าสูงถึง 3.1 ล้านล้านเหรียญ (นับจากบัดนี้ไปจนถึงปี 2025) ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นอันดับแรกสุด

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะผู้ใช้งานรถยนต์เองได้เปลี่ยนจากคนธรรมดาๆ ไปเป็น ‘มนุษย์ดิจิทัล’ (Digital Natives) กันแทบจะหมดแล้ว การเป็นมนุษย์ดิจิทัลไม่ได้หมายความแค่ว่าอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในรถจะเป็นระบบดิจิทัลเท่านั้น แต่การเปลี่ยนผ่านไปเป็นดิจิทัลหมายถึงความสามารถในการเก็บรวบรวม ‘ข้อมูล’ ได้มหาศาล และอุตสาหกรรมรถยนต์นั้นถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Industry) มากที่สุดในโลก ทั้งข้อมูลของตัวรถเอง ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ข้อมูลพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน ข้อมูลจราจร ข้อมูลว่าด้วยเมืองและความหนาแน่นของเมือง รูปแบบการจราจร ระบบนำทาง เส้นทางต่างๆ ฯลฯ

อุตสาหกรรมรถยนต์ฟื้นตัวอย่างมโหฬารนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงินในปี 2008 ในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลนี่แหละครับ โดยผู้ใช้งานต้องการรถยนต์ที่มีความก้าวหน้าด้านดิจิทัลมากขึ้นด้วย ทำให้เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของรถยนต์รุ่นหลังปี 2014 เป็นต้นมาค่อนข้างมาก แต่กระนั้นก็ต้องถือว่าการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของอุตสาหกรรมรถยนต์โดยทั่วไปที่เราสัมผัสจับต้องได้ ยังอยู่ในขั้นทารกอนุบาลอยู่เลย

โลกยุคดิจิทัลไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่เทคโนโลยีรถยนต์เท่านั้นนะครับ แต่มันเปลี่ยนแปลงถึงราก ลึกลงไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทางเลยทีเดียว

สมัยก่อน เวลาจะซื้อรถยนต์สักคัน ผู้ซื้อจะเริ่มด้วยการหาข้อมูลตามหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร เพื่อดูบทวิจารณ์รถยนต์ยี่ห้อต่างๆ เปรียบเทียบ แล้วก็ไปเดินตามร้านขายรถยนต์เป็นวันๆ เพื่อทดลองขับและดูสมรรถนะต่างๆ ของรถ การเปรียบเทียบรุ่นหรืออุปกรณ์ต่างๆ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก การซื้อรถยนต์จึงเป็นเรื่องยากเรื่องใหญ่ที่ละเอียดซับซ้อนและเหน็ดเหนื่อยพอๆ กับการซื้อบ้าน

แต่ยุคดิจิทัลจะทำให้วิธีซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้บริโภคแทบไม่ต้องการเซลส์แมนขายรถอีกแล้ว แค่คลิกไม่กี่ครั้ง ก็จะได้สัมผัสประสบการณ์เหมือนกับได้สัมผัสรถยนต์จริงๆ เลย ในลอนดอน รถยนต์ยี่ห้อ Audi ได้จัดทำ Virtual Showroom ขึ้นมา ซึ่งมีรถจริงๆ อยู่ไม่กี่คัน แต่มีจอยักษ์และห้อง Simulation ขนาดใหญ่ให้ข้อมูลต่างๆ รวมทั้งสามารถทดลองใช้รถยนต์ได้เสมือนจริง ตั้งแต่เปิดประตูรถ มองดูรถทั้งภายนอกภายในได้แบบ 360 องศา แถมยังได้ยินเสียงเครื่องยนต์แบบเสมือนจริงอีกด้วย

มีรายงานของ Centric Digital บอกว่า (ดูที่นี่) ผู้ที่จะซื้อรถยนต์ในปัจจุบัน 63% จะเปรียบเทียบรถยนต์รุ่นต่างๆ บนมือถือตัวเอง และ 75% ตัดสินใจซื้อกันแบบออนไลน์เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขนาดนี้แล้ว การตัดสินใจซื้อรถยนต์ก็ยังยากอยู่ดี เพราะเป็นไปตามแนวคิดเรื่อง Paradox of Choices คือยิ่งมีตัวเลือกมากเท่าไหร่ก็ยิ่งตัดสินใจยากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นในอนาคต ผู้ซื้อรถยนต์อาจได้ใช้บริการของปัญญาประดิษฐ์หรือ A.I. เพื่อช่วยเลือกรถยนต์ให้ จริงๆ ตอนนี้ก็มีแล้วนะครับ เป็นบริการของ CarLABS ซึ่งใช้ Machine-Learning Customer Service มาให้บริการผู้ซื้อ โดยบริการนี้มีชื่อว่า Carla (หรือชื่ออื่นๆ เช่น Kian) ซึ่งจะให้คำแนะนำและข้อมูลในการชอปปิ้งรถยนต์แบบเรียลไทม์ (คล้ายๆ คุยกับเพื่อน)

เนื่องจากผู้คนเริ่มเป็นมนุษย์ดิจิทัลกันมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีคิดในการมองรถยนต์ของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อนจึงไม่เหมือนกัน คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองว่ารถยนต์เป็น ‘ผลิตภัณฑ์’ (Product) ที่ต้องมีไว้เพื่อซื้ออีกต่อไปแล้ว แต่มองว่าสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือตัว ‘การเดินทาง’ (Transportation) ที่มีรถยนต์เป็นแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญกว่าก็คือประสบการณ์ในการเคลื่อนที่ (Mobility Experience) ที่จะพาไปยังเป้าหมาย ไม่ว่าจะต้องใช้รถยนต์หนึ่งคันหรืออาจต้องใช้รูปแบบการเดินทางหลายแบบก็ตามที

รายงานของ The Economic Forum บอกว่า ทุกวันนี้คนในเมืองอย่างมอสโคว์ อิสตันบูล เม็กซิโกซิตี้ หรือริโอเดอจาเนโร เสียเวลาไปกับรถยนต์ปีละกว่า 100 ชั่วโมง และมีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่า 200,000 คน จากมลพิษทางอากาศ (ที่เกิดจากรถยนต์) ในขณะที่อุบัติเหตุก็คร่าชีวิตคนไปถึง 1.25 ล้านคนในแต่ละปี รถยนต์ยังเป็นตัวการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 30% ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบดิจิทัลที่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยียานยนต์ จึงจะช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ลงได้

โดยเทคโนลียีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องมีอาทิ Internet of Things ที่จะทำให้รถยนต์สื่อสารกับรถยนต์ด้วยกันเอง และกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษาตัวเองได้ มีงานวิจัย Machina Research (ดูที่นี่) ที่บอกว่าในปี 2020 รถยนต์ของคุณจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น เช่นในอังกฤษ มีการเก็บข้อมูลต่างๆ (เช่น การเร่งเครื่อง การเบรค การเลี้ยว และความเร็วของรถยนต์) เพื่อนำไปคำนวณเป็นค่าประกันภัย (โดยบริษัทประกันชื่อ Marmalade) ซึ่งจะทำให้คำนวณค่าประกันได้ละเอียดยิ่งขึ้น หรือรถยนต์บางแบรนด์ ก็จะใส่ระบบ Self-Learning Intelligence เข้าไปในรถยนต์ เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของคนขับ แล้วนำมาปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่รวมถึงผู้โดยสารด้วย

รถยนต์ในอนาคตจะเป็นรถยนต์ที่ ‘เชื่อมต่อ’ ตลอดเวลา (เป็น Connected Car) ซึ่งประโยชน์อย่างหนึ่งของมันก็จะสามารถสร้างความต้องการเฉพาะ (Personalization) ขึ้นมาให้ผู้ขับขี่ได้ (แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจเกิดปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่างที่เกิดอยู่กับโซเชียลมีเดียในปัจจุบันด้วย)

อย่างไรก็ตาม ยุคดิจิทัลจะไม่ได้ส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น เพราะมีการทำนายว่า ในที่สุดแล้ววิธีคิดในการมองรถยนต์ของคนรุ่นใหม่ จะทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลงไม่น้อย มีการทำนายว่าในปี 2035 ยอดขายรถยนต์ใหม่จะลดลง 30 ล้านคัน

ตอนนี้ รถยนต์หลายยี่ห้อก็กำลังหาพันธมิตร เช่น Volvo กำลังพัฒนาร่วมกับแอพ UbiGo เพื่อเป็นอินเตอร์เฟซสำหรับการเดินทางในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการแชร์รถยนต์กันใช้ด้วย Toyota ก็เพิ่งเป็นพาร์ตเนอร์กับ Uber ในขณะที่ Volkswagen เป็นพันธมิตรกับ Gett ที่เป็นแอพแชร์รถยนต์ หรือค่าย GM กับ Lyft เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเปลี่ยนแปลง (Reshape) วิธีที่เราคิดและมีปฏิสัมพันธ์ต่อรถยนต์และอุตสาหกรรมรถยนต์ไปอย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้ แม้จะมีแรงดึงจากความคุ้นชินในอดีตอยู่ แต่แรงผลักนั้นมีมากกว่า และโฉมหน้าของการเดินทางรูปแบบใหม่ๆ ก็จะมาเยือนเราในไม่ช้า

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save