fbpx
จากกระดานดำถึงไอแพด Apple จะเปลี่ยนโลกการศึกษาได้ไหม

จากกระดานดำถึงไอแพด Apple จะเปลี่ยนโลกการศึกษาได้ไหม

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

 

ผมสูดหายใจลึกมากก่อนเขียนเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ขัดกับความรู้สึกกับ Mac User อย่างผม แต่ก็คิดว่า พอเรารักชอบอะไร ก็อาจยิ่งต้องบอก

การประกาศเปิดตัวไอแพดใหม่ (iPad) ที่รองรับแอปเปิลเพนซิล (Apple Pencil) ในราคาที่ดูเหมือนจะเอื้อมถึงได้มากขึ้น พร้อมกับตอกย้ำโปรแกรม “ใครๆ ก็สร้างสรรค์ได้” หลักสูตรฟรีหลักสูตรใหม่ซึ่งแอปเปิลโฆษณาว่าทำให้ครูผู้สอนบูรณาการการสอนทั้ง การวาดภาพ ดนตรี การสร้างภาพยนตร์หรือการถ่ายภาพให้เข้ากับแผนการสอนที่มีอยู่ได้อย่างง่ายดาย แอปเปิลยังย้ำว่า การนำไอแพดมาใช้ในการเรียนการสอนนั้นเป็นช่องทางที่สะดวกกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ เนื่องจากทั้งครูผู้สอนและนักเรียนสามารถเข้าถึงแอพฯ ที่เกี่ยวกับการศึกษาผ่านทางแอพสโตร์ (App Store) ไอทูนยู (iTune U) และ Books นับล้านๆ แอพได้โดยง่ายดาย

ในงานที่จัดขึ้นที่ชิคาโก้คราวนี้ Philip Schiller รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดทั่วโลกของ แอปเปิลยังบอกด้วยว่า ความคิดสร้างสรรค์จุดประกายการมีส่วนร่วมของนักเรียนให้ลึกลงไปอีกขั้น ซึ่งเราก็ตื่นเต้นที่ได้ช่วยครูผู้สอนนำความคิดสร้างสรรค์นั้นออกมาในห้องเรียนและเมื่อคุณผสานพลังของไอแพด ความคิดสร้างสรรค์ของแอปเปิลเพนซิลและแอพสำหรับ iPad มากกว่าล้านแอพใน แอพสโตร์ หลักสูตรที่เข้มข้นใน “ใครๆ ก็เขียนโค้ดได้” และ “ใครๆ ก็สร้างสรรค์ได้” และแอพห้องเรียนที่ไม่เหมือนใคร ที่สนับสนุนนักเรียนและช่วยโรงเรียนจัดการเทคโนโลยีในห้องเรียน เราเชื่อว่าเราจะเสริมการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ได้ในแบบที่มีแต่ Apple เท่านั้นที่ทำได้”

“ใครๆ ก็สร้างสรรค์ได้” เป็นส่วนหนึ่งของเซสชั่น Today at Apple ที่จัดขึ้นสำหรับนักการศึกษา ร้านค้าของ Apple ทั้ง 501 สาขาใน 21 ประเทศได้เริ่มสอนเซสชั่น Teacher Tuesday แบบลงมือปฏิบัติจริงแล้วเกือบ 5,000 เซสชั่นในหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโค้ด การออกแบบแอพ การสร้างภาพยนตร์และดนตรี รวมถึงการนำเสนอหรือสเปรดชีต

แอปเปิลยังออกแอพสำหรับใช้ในห้องเรียนอย่าง Schoolwork แอพห้องเรียน ที่จะช่วยจัดการ ไอแพดของนักเรียนและแนะนำนักเรียนผ่านบทเรียน ช่วยนักเรียนให้ติดตามบทเรียนได้ทัน และแบ่งปันงาน แอพนี้จะช่วยให้ผู้สอนสามารถเปิดแอพ หนังสือและเว็บเพจบนอุปกรณ์ทั้งหมดของนักเรียนได้พร้อมกันหรือส่งรับเอกสารได้อย่างง่ายดาย แอพห้องเรียนให้ครูผู้สอนดูหน้าจอของนักเรียนในระหว่างการเรียนได้เพื่อช่วยให้นักเรียนมีสมาธิ เลือกไอแพดบางเครื่องให้นักเรียนใช้งานร่วมกันในชั้นเรียนหรือแม้แต่รีเซ็ตรหัสผ่านของนักเรียนก็ทำได้ แถมยังมี iCloud ให้ใช้ได้ฟรี 200GB จัดเก็บเอกสารและโครงงานสร้างสรรค์ของนักเรียนอย่างปลอดภัย เป็นปัจจุบัน ปลอดภัย และเข้าถึงได้จากอุปกรณ์ทุกชิ้น

ผมสูดหายใจลึกๆ อีกเฮือก

ยอมรับว่าพอฟังเผินๆ มันดูเป็นโครงการที่ “มีอนาคต” สำหรับแอปเปิลและน่าสนใจไม่น้อยนะครับเมื่อคิดถึงความใหญ่โตของตลาดการศึกษาซึ่งเฉพาะในสหรัฐเองก็มีมูลค่าไม่รู้กี่ล้านล้านเหรียญ แต่ในฐานะที่ผมเป็นแฟนแอปเปิลและมีพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูง พัวพันอยู่กับธุรกิจการศึกษาหลากหลายบทบาทและฐานะ หลังจากที่คุยๆ กันแล้วก็พบว่าทั้งหมดที่ว่ามานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะเปลี่ยนธุรกิจการศึกษาที่ครึ่งหนึ่งยังเป็นโลกของอนาล็อกมาเป็นโลกดิจิทัลทั้งหมดและสิ่งที่แอปเปิลฝัน ก็อาจดูเป็นฝันเฟื่องที่ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกกี่ปีถึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้จริง

เรามาเริ่มจากตลาดในบ้านของแอปเปิลเอง อย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศที่สินค้าส่งออกสำคัญอย่างหนึ่งก็คือธุรกิจการศึกษา ความท้าท้ายของแอลเปิลคือยังไงเสียไอแพดก็ไม่สามารถเข้ามาแทนหนังสือเรียนได้จริงๆ ไม่ใช่เพราะไอแพดเข้าถึงยาก แต่เพราะว่าธุรกิจการทำหนังสือตำราเรียน ไม่แตกต่างจากธุรกิจใหญ่ๆ อื่นๆ นั่นคือ มันเป็นสินค้าผูกขาดที่ทำกันอยู่ไม่กี่บริษัท รวมถึงระบบการจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุดตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การจัดหาหนังสือเรียนให้กับนักเรียนชั้นประถม ฯลฯ เหล่านี้มีผู้เล่นที่ทำอยู่แล้ว หากว่าจะให้โรงเรียนทดแทนหนังสือเรียนเหล่านี้ด้วยไอแพด แอปเปิลน่าจะต้องเริ่มด้วยการซื้อบริษัทเหล่านี้ แล้วทำให้หนังสือเรียนเหล่านี้เป็นของฟรีที่หาได้ในไอแพด และปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรีนั่นแหละถึงจะเวิร์ก

อย่าลืมว่าความได้เปรียบของหนังสืออย่างหนึ่งก็คือ มันเป็นของที่ถูกส่งต่อกันโดยธรรมชาติ โรงเรียนหลายแห่งก็ซื้อหนังสือเรียนหนเดียวเพื่อใช้ต่อๆ กันไปหลายๆ ปี จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งไอแพดไม่สามารถทดแทนธรรมชาติของหนังสือได้ แม้ว่าแอปเปิลบอกว่าหนังสือเรียนที่อยู่ในแอพ Books หรือ iTune U จะถูกทำให้ราคาถูกลงแล้วก็ตาม แต่ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่การเก็บและการส่งต่อนั้นยังเป็นข้อข้องใจของคนในแวดวงการศึกษาว่า มันคุ้มจริงๆ ไหมกับการซื้อไอแพด เพราะนอกจากต้องซื้อเครื่องแล้ว อาจต้องซื้อคลาวด์เพิ่มและอาจยังต้องซื้อหนังสือที่การส่งต่อนั้นทำได้ยากกว่าการส่งต่อหนังสือเล่มที่แค่ยื่นให้กันก็ได้แล้ว

ประการถัดมา เรื่องที่ว่าแอปเปิลให้ความสำคัญกับการติดอาวุธให้กับคุณครู ทั้งการจัดการเรียนการสอน การออกแบบโปรแกรมต่างๆ ที่อินเตอร์เฟซดูน่าใช้และใช้งานง่าย

แต่เมื่อคิดถึงสภาพการทำงานของอาชีพครูหนึ่งคนที่ต้องดูแลนักเรียน 20-30 คน ทั้งวัน เวลาทั้งหมดหมดไปกับการดูแลนักเรียน เตรียมการสอน การทำรายงาน ฯลฯ เครื่องมือใหม่ๆ ของแอปเปิลอาจเป็นเพียงแค่ของที่ ‘Nice to have’ แต่ไม่ใช่แรงจูงใจมากพอที่จะทำให้เหล่าคุณครูในสหรัฐอเมริกาที่มีงานรัดตัวเหล่านี้หันมาสนใจ (ซึ่งนั่นหมายถึงเพิ่มงานให้ตัวเองมากขึ้นไปอีก) ถ้าคิดในแง่บวกอีกนิดสมมติว่าโรงเรียนจัดหาเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ ก็ยังมีข้อจำกัดอีกว่า โรงเรียนหรือแอปเปิลจะบังคับครูเหล่านี้อย่างไรให้เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในขณะที่งานของพวกเขาล้นมือ

สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง แอปเปิลไม่ได้เป็นผู้เล่นรายแรกที่เข้าสู่ธุรกิจการศึกษา

ณ ตอนนี้มีการประเมินกันว่ากูเกิลเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดทั้งในแง่ของซอฟท์แวร์อย่าง G-Suit และฮาร์ดแวร์อย่าง Chromebook ซึ่งได้รับความนิยมมากในสหรัฐ เนื่องจากราคาดี และครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดตลาดอยู่ราวครึ่งหนึ่ง ตามมาด้วยไมโครซอฟท์และแอปเปิล ทั้งกูเกิลและไมโครซอฟท์สามารถ plug-in บริการต่างๆ ของเขาให้เข้ากับเทคโนโลยีของบริษัทที่เกี่ยวข้องในการให้บริการทางการศึกษามานานกว่าแอปเปิล

จริงๆ แล้วแอปเปิลก็มีความพยายามมาตลอดนะครับในการเข้าสู่ธุรกิจการศึกษา ซึ่งก็ทำสำเร็จในบางส่วน เช่นในสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างสรรค์ แต่ข้อจำกัดใหญ่หลวงของแอปเปิลก็คือราคาที่สูงกว่าคู่แข่งและการใช้งานที่ค่อนข้างจำเพาะเจาะจงผู้ใช้งานมากเกินไป แต่ข้อดีก็คือระบบมีเสถียรภาพมากกว่าและปลอดภัย การออกสินค้าและบริการของแอปเปิลที่ดู “ใจกว้าง” ขึ้นนั้นเราก็หวังว่ามันจะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับแอปเปิลได้มากขึ้น

ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิลกล่าวไว้บนเวทีว่า เขาต้องการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางความคิดเรื่องการศึกษาและอยากให้แอปเปิลเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษานั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายแม้ว่าแอปเปิลจะเป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อว่ารวยที่สุดในโลก แต่การจะเข้าไปเปลี่ยนทุกองคาพยพของธุรกิจการศึกษาเพื่อให้นักเรียนทิ้งกระดาน สมุด ปากกา ไม่ต้องไปห้องสมุดมาอยู่บนไอแพดได้นั้น ผมคิดว่าพวกเขาก็ต้องทำการบ้านอีกมาก ไม่แตกต่างจากนักเรียนที่เพิ่งกระโจนเข้าห้องเรียนใหม่ โดยเฉพาะคำตอบของคำถามที่ว่าไอแพดเป็นเครื่องมือเหมาะสมแล้วหรือยังในเวลานี้

ทั้งหมดนี่แค่มองบนพื้นฐานของประเทศที่พัฒนาแล้วนะครับ ส่วนในตลาดโลกนี่ไม่ต้องพูดถึง ผมคิดว่าอีกไกลกว่าที่แอปเปิลจะเข้าไปอยู่ในธุรกิจนี้ได้อย่างเต็มรูปแบบ ใจคิดว่าตราบเท่าที่แอปเปิลยังไม่สามารถซื้อเนื้อหาจากผู้ผลิตหนังสือเรียนมาบริหารได้แบบเบ็ดเสร็จ (พูดง่ายๆ คือแจกฟรีให้ในเครื่อง) เมื่อนั้นก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่

 

สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือความวิตกกังวลของพ่อแม่เรื่องของการใช้ “จอ” ของเด็ก ซึ่งมีแนวโน้มว่าพ่อแม่ที่มีการศึกษาดีในประเทศที่เจริญแล้ว เริ่มเข้มงวดกับการใช้จอของเด็กและข่าวที่ไม่ค่อยสู้ดีนักของเด็กติดจอที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เริ่มทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมของการใช้งาน

มีงานวิจัยออกมาแล้วว่าการให้เด็กใช้งานหรืออยู่ใกล้เครื่องมือที่ปล่อยแสงสีฟ้ามากเกินไป อาจไม่ได้ส่งผลดีกับพัฒนาการของเด็ก มีการทดลองในหนูทดลองพบว่าหนูที่ได้รับแสงสีฟ้าที่ออกมาจากจอในช่วงเด็ก เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน ก็อาจกระทบกับพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็ก โดยเฉพาะสมองส่วน EF หรือ Executive Function แสงสีฟ้าจะไปกระตุ้นให้เด็กมีความกล้ามากขึ้น ควบคุมตัวเองได้ไม่ดีพอ สมาธิสั้นและก้าวร้าว กว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ได้ใช้งาน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เมืองไทยไม่ต้องรีบเป็นห่วงไปก็ได้ครับ เพราะเมื่อวัดจากที่เราเคยๆ ทำ 1 Tablet 1 Child ในสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ก็พอจะบอกได้ว่าคงอีกนานมาก กว่าเราจะหายอกหัก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save