fbpx

ฝากตัวรับใช้นาย : ทำอย่างไรเมื่อนายสั่งงานที่ ‘ไม่เหมาะไม่ควร’

เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอสถานการณ์ที่ชวนให้กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อถูก ‘เจ้านาย’ ผู้แสนดีใช้ให้ทำงานบางอย่างที่ดูแปลกๆ เป็นต้นว่า ให้โกหกลูกค้า เอาของที่เกรดต่ำกว่ามาขายแพงๆ หรือจงใจหาผลประโยชน์ทางลัดทั้งที่ขัดต่อหลักขององค์กร

หากคุณเป็นคนทำงานตัวเล็กๆ ที่ไม่มีปากมีเสียงหรืออำนาจอะไร การตกอยู่ในสถานการณ์อย่างว่า อาจทำนำมาซึ่งความลำบากใจของคุณเอง เพราะถ้าเอ่ยทักท้วงออกไปก็อาจเดือดร้อนได้ง่ายๆ หรือถ้าเอาไประบายกับคนอื่นก็อาจทำให้กลายเป็นที่เพ่งเล็ง สุดท้ายจึงได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานที่ได้รับมอบหมายมา พร้อมด้วยเครื่องหมายคำถามที่ค้างคาอยู่ในใจว่า–เราทำอะไรไม่ได้เลยหรือ?

คำตอบคือ ได้สิ!

และต่อไปนี้คือแนวทางปฏิบัติเบื้องต้น เมื่อคุณต้องเจอกับการสั่งงานที่ไม่ชอบมาพากล

 

1. เริ่มต้นที่นาย

ในเมื่อหัวหน้าหรือเจ้านายของคุณมอบหมายงานที่ ‘ดูแปลกๆ’ มาให้ สิ่งที่คุณควรทำในเบื้องต้นก่อนตกปากรับคำหรือปฏิบัติตามคำสั่ง ก็คือการเอ่ยทักท้วง โดยคำพูดที่คุณใช้ควรเป็นในลักษณะของการ ‘เอ่ยถามเพื่อความแน่ใจ’ เป็นต้นว่า

“หัวหน้าครับ งานที่สั่งให้ผมทำมันเหมือนจะขัดต่อหลักขององค์กรเรา หัวหน้าจะให้ผมทำจริงๆ เหรอครับ”

พอล ฟิโอเรลลี่ (Paul Fiorelli) ผู้อำนวยการของ Cintas Institute for Business Ethics ให้ข้อมูลว่า บ่อยครั้งที่หัวหน้าอาจไม่ทันได้ตระหนักว่าสิ่งที่พวกเขาสั่งให้คุณทำนั้นเป็นเรื่องผิดหรือขัดต่อหลักขององค์กร และการที่คุณเอ่ยทักท้วงพร้อมชี้แจงเหตุผลที่เฉพาะเจาะจง อาจทำให้พวกเขามองเห็นและตระหนักว่างานที่มอบหมายให้คุณทำนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมจริงๆ

นอกเหนือจากการเอ่ยทักท้วงแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งที่คุณสามารถทำได้ ก็คือการเสนอวิธีอื่นๆ ที่อาจทดแทนกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องละเมิดกฎหรือจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ

 

2. หาแนวร่วมในองค์กร

หากหัวหน้าคุณยืนยันหนักแน่นว่าต้องการให้คุณทำในสิ่งที่ผิด และคุณเองก็ไม่กล้าพอที่จะเอ่ยปากทักท้วง วิธีการต่อมาคือการมองหาความช่วยเหลือจากคนอื่นในองค์กร แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรของคุณเป็นแบบไหนด้วย

ถ้าคุณทำงานอยู่ในองค์กรใหญ่ๆ อาจมีบางแผนกที่ทำหน้าที่จัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเปิดโอกาสให้คุณยื่นเรื่องร้องเรียนได้โดยตรง แต่ถ้าคุณอยู่ในองค์กรที่มีขนาดเล็กลงมา คุณอาจเดินเข้าไปหาใครสักคนที่พร้อมรับฟังและน่าจะจัดการเรื่องนี้ได้ เช่น คนที่มีตำแหน่งสูงกว่าหัวหน้าของคุณ หัวหน้าฝ่ายบุคคล หรืออาจเป็นเพื่อนๆ พี่ๆ ที่คุณไว้ใจ ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนอื่นๆ รับรู้ว่าหัวหน้าของคุณมีพฤติกรรมหรือแนวทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม และนั่นอาจส่งผลเสียต่อองค์กร

อย่างไรก็ดี คุณควรจำให้ขึ้นใจว่าหัวหน้าของคุณย่อมไม่ชอบวิธีการนี้อย่างแน่นอน ฉะนั้นสิ่งที่คุณต้องประเมินก็คือว่า ถ้าหากคุณร้องเรียนหรือบอกให้คนอื่นรับรู้ ผลที่ตามมาจะคุ้มค่าหรือไม่

ส่วนอีกข้อที่ต้องประเมินคือ คนอื่นๆ ในองค์กรพร้อมที่จะรับฟังคุณหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าบางครั้งคนในองค์กรก็อาจชินชากับบางเรื่องที่ผิดวิสัย การร้องเรียนหรือป่าวประกาศอาจทำให้คุณตกอยู่ในสถานะของหมาหัวเน่า

 

3. ประเมินความเสี่ยง

จากผลสำรวจของ Ethics and Compliance Initiative เกี่ยวกับความโปร่งใสของกิจการในสหรัฐอเมริกา พบว่า 53% ของลูกจ้างที่เป็น ‘Whistle-blower’ หรือผู้ร้องเรียนและเปิดโปงการกระทำความผิดในองค์กร ต้องเผชิญกับแรงกดดันต่างๆ มากมาย

พูดง่ายๆ ว่าอยากท้าทาย ก็ต้องเจอดี เป็นต้นว่า โดนตัดโบนัสปลายปี ถูกประเมินต่ำกว่ามาตรฐาน ถูกบอยคอตจากเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ

แมรี่ แมคคอนแนล (Mary McConnell) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เปิดเผยว่า หนึ่งในกลุ่มตัวอย่างที่เป็น Whistle-blower เล่าให้เธอฟังว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เขาคงไม่ทำแบบนี้ เพราะมันนำมาซึ่งความยากลำบากในหน้าที่การงานของเขา ทั้งในแง่ของความก้าวหน้า และการเข้าสังคม แม้มันจะเป็นการกระทำที่เขารู้สึกว่าถูกต้องและหวังดีต่อองค์กรก็ตาม

ปัจจุบันนี้มีหลายองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส มีการจูงใจโดยการจ่ายเงินให้พนักงานที่แจ้งหรือร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมแย่ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร แต่วิธีนี้ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจทำให้เกิดการจับผิดกันจนเกินเหตุ และพนักงานบางคนอาจฉกฉวยผลประโยชน์จากการใส่ร้ายคนอื่น

 

4. ทนไม่ไหว ก็ต้องถอน

หากคุณประเมินแล้วว่าการร้องเรียนบอกกล่าวถึงเรื่องที่ผิดปกติวิสัย อาจส่งผลร้ายต่อตัวคุณเอง มากกว่าการส่งผลดีต่อองค์กร เราขอแนะนำให้คุณถอนตัวซะ

แน่นอนว่าคงไม่มีใครที่อยากจะเผชิญกับสถานการณ์อันยากลำบากนี้ แต่บางครั้งการ ‘Say No’ อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะอย่างมากคุณก็แค่โดนไล่ออก

และน่าจะดีกว่าการทนฝืนทำตามใจเจ้านายต่อไป (ครั้งแล้วครั้งเล่า) ทั้งๆ ที่ฝืนใจเราเหลือเกิน

 

อ่านเพิ่มเติม

– บทความ When the Boss Wants You to Do Something Unethical โดย DANIEL VICTOR จาก The New York Times

– บทความ Whistle Blowing จาก Ethical Systems

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save